คนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นประจำ คงจะคุ้นเคยกับ "บัตรแรบบิท" ซึ่งมาแทนที่บัตรโดยสารบีทีเอส ตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 เป็นต้นมา นอกจากจะใช้เดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส รถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที และรถประจำทางสมาร์ทบัสแล้ว ยังใช้จ่ายแทนเงินสดตามร้านค้าชั้นนำต่างๆ ที่รองรับบัตรแรบบิทได้อีกด้วย
ที่ผ่านมาการเติมเงินลงในบัตรแรบบิท ที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารบีทีเอส บีอาร์ที ร้านแมคโดนัลด์ มินิบิ๊กซี และร้านค้าอื่นๆ ที่ร่วมรายการ กำหนดให้เติมเป็นจำนวนเท่าของ 100 บาท สูงสุดไม่เกิน 4,000 บาท แต่ในขณะนี้ได้พัฒนาเครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติ ให้สามารถเติมเงินลงในบัตรแรบบิท ขั้นต่ำเพียง 20 บาทเท่านั้น
สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บีทีเอสดำเนินการติดตั้ง "เครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสาร" ที่สามารถรองรับการชำระเงินได้หลากหลายรูปแบบ สามารถเติมเงิน เติมเที่ยวโดยสารได้ด้วยตนเอง โดยดำเนินการติดตั้งแล้ว 127 เครื่องใน 48 สถานี รวมส่วนต่อขยาย
ในอนาคตเมื่อส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ เปิดให้บริการถึงสถานีคูคต จะทำให้มีเครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติเพิ่มอีก 55 เครื่อง ทำให้มีเครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติ รวมทั้งสิ้น 182 เครื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
จากการสำรวจของ Ibusiness review พบว่า "เครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสาร" หรือ TVM (Ticket Vending Machine) ติดตั้งในสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทุกสถานี สลับกับเครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสารหยอดเหรียญ สังเกตได้ง่ายก็คือ ขนาดเครื่องจะใหญ่กว่า ทำรายการผ่านจอทัชสกรีนขนาดใหญ่ มีเครื่องสอดธนบัตรและกล่องใส่บัตรโดยสาร
โดยบัตรแรบบิทที่สามารถเติมเงินได้ จะต้องเป็นบัตรที่ลงทะเบียนแล้วเท่านั้น โดยนำบัตรแรบบิทและบัตรประชาชนตัวจริงไปที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารบีทีเอสทุกสถานี โดยแจ้งพนักงานว่า "ลงทะเบียนยืนยันตัวตนบัตรแรบบิท" เจ้าหน้าที่จะทำการสอบถามหมายเลขโทรศัพท์ ก่อนรับบัตรแรบบิทและบัตรประชาชนคืน เป็นอันสำเร็จ
ส่วนวิธีการเติมเงินก็ทำได้ง่ายดาย เพียงแค่นำบัตรแรบบิทใส่ในกล่องที่เขียนว่า "ใส่บัตรโดยสาร" ด้านล่างขวามือ หน้าจอแสดงข้อมูลการใช้บัตร ชนิดของบัตรโดยสาร มูลค่าคงเหลือ จากนั้นให้กดคำว่า "เติมเงิน" หน้าจอจะแสดงข้อความ "กรุณาใส่ธนบัตร" ให้ใส่ธนบัตรทีละใบ รองรับเฉพาะ 20, 50, 100, 500 และ 1,000 บาท (ไม่รับเหรียญ)
เมื่อสอดธนบัตรทีละใบตามต้องการเรียบร้อยแล้ว ให้กด "ตกลง" ก่อนที่หน้าจอจะขึ้นข้อความ "ขอบคุณที่ใช้บริการ กรุณารับบัตรโดยสาร" จึงหยิบบัตรโดยสารออกจากกล่องเป็นอันสำเร็จ สามารถนำบัตรที่เติมมูลค่าเรียบร้อยแล้วไปใช้เดินทางด้วยบีทีเอส หรือนำไปใช้จ่ายแทนเงินสดตามร้านค้าชั้นนำที่ร่วมรายการได้
บัตรแรบบิทที่สามารถเติมเงินได้ คือ บัตรแรบบิทมาตรฐาน ปัจจุบันจำหน่ายราคา 200 บาท โดยมีมูลค่าเริ่มต้นในบัตรแรบบิท 100 บาท รวมทั้งบัตรแรบบิทโฆษณา บัตรแรบบิทพิเศษ บัตรแรบบิทสำหรับองค์กร บัตรแรบบิทร่วมแบรนด์ ยกเว้นบัตรแรบบิทที่ผูกกับบริการแรบบิทไลน์เพย์ (Rabbit LinePay) ไม่สามารถทำรายการได้
ข้อควรระวังก็คือ การเติมเงินผ่านช่องทางนี้ ไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินได้ หากต้องการใบเสร็จรับเงิน ให้เติมเงินที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารบีทีเอสทุกสถานี ขั้นต่ำ 100 บาท ตามปกติ
ข้อดีของการกำหนดขั้นต่ำในการเติมเงินเพียง 20 บาทก็คือ หลายคนอาจไม่สะดวกที่จะเติมเงินครั้งละ 100 บาท ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ แต่ละวันใช้ขึ้น-ลงไม่กี่สถานี ไม่อยากดองมูลค่าในบัตรเอาไว้ บางคนต้องการควบคุมค่าใช้จ่าย หรือมีเงินเหลือในบัตรอยู่แล้ว ต้องการเติมเงินบางส่วนเพื่อให้พอดีกับการใช้จ่ายแต่ละครั้ง เป็นต้น
ปัจจุบัน มีจำนวนผู้ถือบัตรแรบบิทมากกว่า 13 ล้านใบ มีร้านค้าพันธมิตรมากกว่า 300 ร้านค้า จุดชำระเงินผ่านบัตรที่ครอบคลุมกว่า 12,000 จุดทั่วประเทศ ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอส มีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 1.61 ล้านครั้งต่อเดือน 3 สถานีแรกที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด ได้แก่ สถานีสยาม สถานีห้าแยกลาดพร้าว และสถานีสุรศักดิ์
อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2563 บัตรแรบบิทมีแผนที่จะพัฒนาบริการ ให้สามารถเติมเงินผ่านแอปพลิเคชันของแรบบิท หรือผ่านโมบายแบงกิ้งของธนาคารต่างๆ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย ถือเป็นอีกทางเลือกของคนกรุงเทพฯ ในการใช้จ่ายผ่านบัตรเพื่อเข้ากับสังคมไร้เงินสดที่ภาครัฐกำลังผลักดันในขณะนี้
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)