xs
xsm
sm
md
lg

คาดปีงบฯ 64 เริ่มเก็บภาษี e-Businees “สรรพากร” ตั้งเป้ารายได้ปีแรกที่ 4 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“เอกนิติ” เผยนายกฯ เร่ง “สรรพากร” ออกกฎหมาย e-Business เก็บภาษีซื้อขายสินค้าออนไลน์ระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางภาษีให้ผู้ประกอบการไทย ส่วนสรรพากร คาดปี 64 จะเริ่มจัดเก็บภาษีนี้ได้เป็นปีแรกซึ่งจะมีมูลค่าราว 4 พันล้านบาท รวมทั้งได้ตั้งกองทุนสำรวจธุรกิจนอกระบบ เพื่อใช้ติดตามการทำธุรกิจการค้าออนไลน์ภายในประเทศไทย หวังดึงเข้าสู่ระบบการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ตั้งเป้าปี 63 จะดึงผู้ค้าออนไลน์เข้าสู่ระบบการเสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 แสนราย คาดจะมีรายได้จัดเก็บภาษมากกว่า 1 พันล้านบาท

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. …. เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) จากผู้ให้บริการในต่างประเทศ เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) จากผู้ให้บริการในต่างประเทศว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อการจัดทำกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้เป็นอย่างมาก และได้เร่งให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษี e-Business ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อต้องการให้เกิดความเป็นธรมทางภาษีให้แก่ผู้ประกอบการในไทยที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และผู้ขายสินค้า-บริการผ่านระบบออนไลน์และไม่มีการจัดตั้งบริษัทอยู่ในประเทศไทย ที่ควรต้องเสียภาษีในลักษณะเดียวกันกับผู้ประกอบการไทยด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา กรมสรรพากรไม่สามารถดำเนินการจัดเก็บภาษีได้

ส่วนความคืบหน้าในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฯ ดังกล่าว ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ต้องมีการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบ โดยหลังจากผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว จึงจะเสนอให้บรรจุเข้าวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อออกเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป ทั้งนี้ อธิบดีกรมสรรพากรคาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ได้ภายในเดือน ก.ย.64 ซึ่งจะมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ภาษี e-Business ในปีงบประมาณ 64 และกรมสรรพากรตั้งเป้าการจัดเก็บปีแรกไว้ที่ 4 พันล้านบาท

ด้านการจัดเก็บภาษีจากการทำธุรกิจออนไลน์หรือค้าขายออนไลน์ในประเทศไทย (e-commerce) นั้น นายเอกนิติ ย้ำว่า ปัจจุบันกรมสรรพากรได้ทำการจัดตั้งกองสำรวจธุรกิจนอกระบบ เพื่อติดตามผู้ทำธุรกิจทั้งใน Facebook Lazada รวมถึงตามช่องทางอื่นๆ ของการทำธุรกิจออนไลน์ด้วยว่า ผู้ประกอบการเสียภาษีให้กรมสรรพากรอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งหากยังมีผู้ประกอบการ e-Commerce รายใดที่ยังไม่ได้เข้ามาอยู่ในระบบการเสียภาษีอย่างถูกต้องแล้ว กรมสรรพากรจะเรียกผู้ประกอบการมาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจและให้ดำเนินการชำระภาษีอย่างถูกต้องต่อไป

นายเอกนิติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในปัจจุบันจะมีทั้งกลุ่มการค้าออนไลน์ที่ได้เสียภาษีและไม่เสียภาษี รวมถึงกลุ่มที่อาศัยช่องโหว่จากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท เพื่อมาขายในประเทศโดยไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้แก่กรมสรรพากร ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรย้ำว่า เพื่อสร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกันทางภาษีให้แก่ผู้ประกอบการทุกรายแล้ว กรมสรรพากรจะยกเลิกเงื่อนไขการยกเว้นสำหรับสินค้าดังกล่าวนี้ด้วย ทั้งนี้ อธิบดีกรมสรรพากรยังได้ย้ำเพิ่มเติมถึงผู้ประกอบการที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท แม้จะไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้กรมสรรพากร แต่ก็ยังต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สำหรับในปีงบประมาณ 62 นั้น กรมสรรพากรได้ดึงผู้ค้าออนไลน์เข้าสู่ระบบภาษีด้วยการให้ดำเนินการยื่นแสดงรายได้ต่อกรมสรรพากรได้แล้ว 1 แสนราย โดยได้มีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับผู้ค้าออนไลน์กลุ่มนี้แล้วประมาณ 1 พันล้านบาท ส่วนในปีงบฯ 63 กรมสรรพากรตั้งเป้าจะดึงผู้ค้าออนไลน์เข้าสู่ระบบภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 170,000 ราย และเชื่อว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีจากผู้ค้าออนไลน์ได้มากกว่า 1 พันล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น