xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 'บางซื่อ-ท่าพระ' มีอะไร?

เผยแพร่:



วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2562 จะเปิดการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ จากเดิมเปิดช่วงถึงสถานีสิรินธร ขยายไปถึงสถานีท่าพระ (ชานชาลา 3 และ 4) ทำให้เดินรถเป็นวงกลมตลอดสาย ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปสถานีจรัญ 13 ไฟฉาย บางขุนนนท์ บางยี่ขัน ไปถึงบางซื่อ โดยเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีนี้

ในช่วงแรกจะทดลองให้บริการฟรีตั้งแต่ 10.00-16.00 น. โดยไม่เก็บค่าโดยสารถึงวันที่ 29 มีนาคม 2563 หากมีความพร้อมก็จะทยอยขยายเวลาให้บริการ ก่อนจะเก็บค่าโดยสารในวันที่ 30 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ความน่าสนใจตรงที่แนวเส้นทางบนถนนจรัญสนิทวงศ์ มีสถานที่สำคัญอะไร และจะเชื่อมต่อการเดินทางได้มากน้อยขนาดไหน

ลักษณะการเดินรถ จะวิ่งจากสถานีท่าพระ ชานชาลา 3 หรือ 4 ชั้นบนสุดของสถานี ไปตามถนนจรัญสนิทวงศ์ เริ่มจากสถานีจรัญ 13 (BL02) ปากทางถนนพาณิชยการธนบุรี (ทางออก 2) ในซอยจะมีรถสองแถวไปสี่แยกทศกัณฐ์ สถานที่สำคัญ ได้แก่ เทสโก้ โลตัส ซุปเปอร์มาร์เก็ต (ทางออก 2) และโฮมโปร จรัญสนิทวงศ์ (ทางออก 4)

ภาพ : PR MRTA Official
จากนั้นจะพบกับโครงสร้างเหล็กทางวิ่ง ก่อนเข้าสู่สถานีไฟฉาย (BL03) ปากทางถนนพรานนก (ทางออก 1) เข้าไปด้านในต่อรถประจำทางสาย 81, 91, 146 และ 157 ไปโรงพยาบาลศิริราชได้ สถานที่สำคัญได้แก่ ตลาดบางขุนศรี (ทางออก 3) ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต (ทางออก 4) และมีโรงพยาบาลวิชัยเวชแยกไฟฉาย (ทางออก 4)

ตามมาด้วยสถานีบางขุนนนท์ (BL04) มีจุดตัดทางรถไฟ ป้ายหยุดรถจรัญสนิทวงศ์ (ทางออก 2) สามารถต่อรถไฟไปสถานีศาลายาได้ และทางออกเดียวกันนี้มีป้ายรถเมล์หน้าคอนโดมิเนียมไอดิโอโมบิจรัญ-อินเตอร์เชนจ์ ต่อรถสองแถวที่จะเลี้ยวซ้ายเข้าถนนบางขุนนนท์ได้ มีร้านสตาร์บัคส์ คอฟฟี่ และแมกซ์แวลู ทันใจ ที่ชั้นล่างของคอนโดฯ

รถไฟฟ้าจะข้ามทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี เข้าสู่สถานีบางยี่ขัน (BL05) สถานีนี้อยู่ห่างไกลจากแยกบรมราชชนนีสักเล็กน้อย มีป้ายรถเมล์ด้านล่างสถานี (ทางออก 3 หรือ 4) ต่อรถประจำทางสาย 203 ไปพาต้าปิ่นเกล้า และสนามหลวง หรือสาย 28, 66, 170 ไปถนนบรมราชชนนี เซ็นทรัลปิ่นเกล้า และเมเจอร์ปิ่นเกล้าได้

ภาพ : PR MRTA Official
สถานีที่วิวสวยแห่งหนึ่งของรถไฟฟ้าสายนี้ คือ สถานีสิรินธร (BL06) ที่มีโครงสร้างเหล็กทางวิ่งด้านทิศเหนือ มีทางออกบริเวณแยกบางพลัดหลายทาง ต่อรถประจำทางที่ป้ายหน้าปั๊มบางจาก (ทางออก 3E) สาย 18, 28, 108, 515, 539 ไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือป้ายหน้ามินิบิ๊กซี (ทางออก 3F) สาย 515 และ 539 ไปถนนบรมราชชนนี

ต่อกันด้วยสถานีบางพลัด (BL07) อยู่ใกล้สำนักงานเขตบางพลัด (ทางออก 2) มีห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส จรัญสนิทวงศ์ และร้านดีแคทลอน (ทางออก 4) ห่างจากตัวสถานีประมาณ 700 เมตร ถ้าเดินไม่ไหวสามารถขึ้นรถเมล์ที่ป้ายจรัญสนิทวงศ์ 74/1 (ทางออก 3 หรือ 4) ไปอีก 1 ป้ายรถเมล์ก็ได้

สถานีบางอ้อ (BL08) ซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายของถนนจรัญสนิทวงศ์ ก่อนจะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา มีป้ายรถเมล์ใต้สถานี (ทางออก 2 หรือ 3) ต่อรถประจำทางสาย 110 ไปสะพานพระราม 7 หรือสาย 203 ไปมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถานที่สำคัญได้แก่ โรงพยาบาลยันฮี (ทางออก 4)

ภาพ : PR MRTA Official
เมื่อข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว เข้าสู่สถานีบางโพ (BL09) ใกล้ท่าเรือบางโพ (ทางออก 1A หรือ 1C ยังไม่เปิดให้บริการ) สถานีนี้อยู่ที่แยกบางโพ มีรถประจำทางสายที่ผ่านได้แก่ สาย 16, 32, 33, 49, 90 และ 117 (ขาออกเมืองใช้ทางออก 2A ไปตามถนนสามเสน ขาเข้าเมืองใช้ทางออก 3A ไปตามถนนสามเสน)

สถานที่สำคัญได้แก่ โรงเรียนทหารพลาธิการ (ทางออก 1B) ศูนย์การค้าเกตเวย์ แอท บางซื่อ (ทางออก 3A) เดินเท้าไปตามถนนประชาราษฎร์สาย 2 ประมาณ 250 เมตร ซึ่งมีแมกเนตหลักได้แก่ บิ๊กซี ฟู้ดเพลส, โฮมโปร เอส และโรงภายนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และร้านค้าชั้นนำต่างๆ เปิดตั้งแต่ 10.00-22.00 น.

จากนั้นจึงมาถึงสถานีเตาปูน (BL10) จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) ซึ่งจะมีรถไฟไปสถานีปลายทางคลองบางไผ่ เที่ยวแรก 06.00 น. (วันเสาร์-อาทิตย์ 06.18 น.) เที่ยวสุดท้าย 23.24 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที ต่อจากนั้นจะถึงสถานีบางซื่อ (BL11) จุดเชื่อมต่อสถานีกลางบางซื่อของการรถไฟฯ ในอนาคต



นับตั้งแต่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค พบว่าจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 มีผู้โดยสารเฉลี่ย 416,000 เที่ยวต่อวัน รายได้ค่าโดยสารเฉลี่ย 11.18 ล้านบาทต่อวัน โดยเฉพาะวันธรรมดามีผู้โดยสารเฉลี่ย 459,000 เที่ยวต่อวัน รายได้ค่าโดยสารเฉลี่ย 12.33 ล้านบาทต่อวัน

หากเปิดให้บริการตลอดสาย มีแนวโน้มที่ผู้โดยสารทะลุถึง 500,000 คนต่อวันอยู่ไม่ไกล เหนือสิ่งอื่นใดคือการมีส่วนช่วยแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ลดใช้รถส่วนตัว หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา ค่าโดยสารยังคงคิดตามระยะทาง เริ่มต้นที่ 16 บาท สูงสุด 42 บาท (หากเชื่อมต่อสายสีม่วง สูงสุด 70 บาท)

ความเจริญตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยเฉพาะถนนเพชรเกษม และถนนจรัญสนิทวงศ์ มีโครงการคอนโดมิเนียมใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก คุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะฝั่งธนบุรีจะเปลี่ยนไปหรือไม่ คงต้องใช้ระยะเวลา เหมือนย่านสุขุมวิท บางนา และย่านบางเขน สะพานใหม่ ที่กำลังค่อยๆ เติบโตเสมือนเมืองบริวารในขณะนี้

(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)
กำลังโหลดความคิดเห็น