แต่ก่อนตอนคิดอยากมีแฟน คนโสดส่วนใหญ่จะสนใจรูปร่างหน้าตา นิสัย รายได้ และไลฟ์สไตล์เป็นหลัก แต่สำหรับตอนนี้สิ่งแรกที่ผู้ใช้แอปหาคู่ในฮ่องกงปักธงขอเช็คเป็นอย่างแรกคือ จุดยืนทางการเมือง
โสดมากว่า 2 ปี โจ หนุ่มวัย 30 ดีใจจนเนื้อเต้นเมื่อเดตแรกที่เกิดขึ้นช่วงเดือนสิงหาคมสุดแสนเพอร์เฟ็กต์
เขาและเธอพบกันบนแอปหาคู่ บัมเบิล และคุยกันถูกคอจนกระทั่งชายหนุ่มที่ทำงานในแผนกทรัพยากรบุคคลผู้นี้คิดว่า คงได้เริ่มปลูกต้นรักอีกครั้ง
แต่ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ฝ่ายหญิงกลับส่งข้อความมาบอกว่า ไม่อยากไปต่อแล้ว
แม้ผิดหวัง แต่โจ (ชื่อสมมติ) เดาว่า คงเป็นเพราะเขาประกาศตัวต่อต้านตำรวจและเป็นพวก “เหลืองอ่อนๆ” หรือฝ่ายผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพวก “น้ำเงิน” ซึ่งหมายถึงผู้สนับสนุนสถาบันคือรัฐบาลฮ่องกงและปักกิ่ง
โจบอกว่า ไม่เคยคิดมาก่อนว่า ทัศนคติทางการเมืองจะกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางทางรัก
เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์รายงานว่า ขณะที่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลในฮ่องกงดำเนินมาถึงเดือนที่ 7 บรรดาคนโสดที่พึ่งบริการหาคู่ออนไลน์เริ่มระบุจุดยืนทางการเมืองในโปรไฟล์ บางคนบอกไม่อ้อมค้อมว่า ไม่สนใจฝ่ายที่มีอุดมการณ์ตรงข้าม บ้างโพสต์คำขวัญการประท้วงหรือภาพตัวเองเข้าร่วมการประท้วง จากเดิมที่คนมักบรรยายรสนิยมของตัวเอง หนังหรือเพลงที่ชอบ หรือสิ่งที่ต้องการจากคนรัก
โจคิดว่า การเปิดเผยจุดยืนทางการเมืองกลายเป็นเงื่อนไขบังคับบนแอปหาคู่ไปแล้ว ตัวเขาเองตอนนี้ประกาศในโปรไฟล์ว่า ไม่อยากคบคนที่สนับสนุนตำรวจ
เทรนด์นี้พบได้ทั่วไปในแพล็ตฟอร์มหาคู่ เช่น ทินเดอร์, โอเคคิวปิด และคอฟฟี่ มีตส์ เบเกิล
ยูบี หว่อง คา-ยู ผู้ก่อตั้งเอชเค โรแมนซ์ เดทติ้ง บริษัทหาคู่ที่ช่วยให้คนได้พบกันจริงๆ โดยไม่ใช้แอปนัดเดต บอกว่า กังวลกับเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเช่น คนมักระแวดระวังน้อยลงถ้าอีกฝ่ายบอกว่า มีมุมมองทางการเมืองเหมือนกัน โดยไม่เฉลียวใจว่า อาจเป็นพวกนักต้มตุ๋นที่แอบส่องโปรไฟล์ผู้ใช้แอปหาคู่
สำหรับโจเชื่อว่า ที่เขาถูกปฏิเสธเป็นเพราะคู่เดตรู้ว่า มีคู่รักมากมายทะเลาะกันเรื่องการเมืองและไม่อยากจบแบบนั้น
เขาเล่าว่า จะคุยเรื่องการเมืองเฉพาะเมื่อเจอกัน เช่นระหว่างดินเนอร์ และเธอบอกว่า ตัวเอง “เป็นกลาง” เรื่องการประท้วง
ความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวคู่นี้ค่อนข้างแฮปปี้เพราะพวกเขาพยายามไม่ตัดสินว่า ฝ่ายไหนถูกหรือฝ่ายไหนผิด ทั้งคู่ยังคงติดต่อกันอีกราวสองสัปดาห์จนกระทั่งโจโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเชิญชวนคนที่สนับสนุนตำรวจให้อันเฟรนด์ตน
ปรากฏว่า คู่เดตของโจเป็นหนึ่งในคนที่บล็อกเขาบนเฟซบุ๊ก ก่อนที่จะส่งข้อความขอเลิกติดต่อ
โจสำทับว่า เขาใช้แอปหาคู่มาสองปีและสนใจน้อยมากเกี่ยวกับทัศนคติทางการเมืองของว่าที่คู่เดต แต่ให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์มากกว่า เช่น ดื่มหนักหรือชอบเที่ยวกลางคืนหรือเปล่า และจนถึงตอนนี้เขาก็ยังไม่เชื่อว่า จุดยืนทางการเมืองควรเป็นปัจจัยชี้ขาดในความสัมพันธ์
ผิดกับเบน (ชื่อสมมติ) ผู้ใช้ทินเดอร์ที่บอกว่า สิ่งแรกที่เช็คคือจุดยืนในการประท้วงของว่าที่คู่เดต จากก่อนหน้านี้ที่เขาสนใจแต่หน้าตาและงานอดิเรก ขณะที่โปรไฟล์ของเขาเอง นอกจากข้อมูลส่วนตัวและเพลงโปรดแล้ว ยังมีสโลแกนในการประท้วง เช่น “ปลดปล่อยฮ่องกง ปฏิวัติยุคสมัยของเรา” เขายังย้ำว่า ชีวิตนี้จะแต่งงานกับผู้ประท้วงแถวหน้าเท่านั้น
หว่อง เจ้าของบริษัทหาคู่ที่มีสมาชิกราว 20,000 คน ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 28-36 ปี บอกว่า แต่เดิมคนโสดฮ่องกงจะมองหาคนที่มีรายได้และการศึกษาระดับเดียวกันเนื่องจากถูกกดดันจากพ่อแม่ แต่วันนี้เธอคิดว่า ลูกค้าราว 10% ขอคัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองออกเป็นอันดับแรก
เธอเสริมว่า ปรากฏการณ์นี้สะท้อนค่านิยมด้านครอบครัวที่เข้มแข็งของฮ่องกง เพราะคนมักคิดว่า ถ้าคู่ครองมีมุมมองทางการเมืองเหมือนกัน การสร้างครอบครัวและอบรมบ่มนิสัยลูกจะราบรื่นกว่า
หว่องแนะนำให้ลูกค้าหลีกเลี่ยงการพูดคุยประเด็นอ่อนไหวใน 3 เดตแรก ซึ่งรวมถึงการถามเกี่ยวกับแฟนเก่า ศาสนา และการเมือง รวมทั้งห้ามยัดเยียดความคิดของตัวเอง แต่ควรพยายามหาจุดยืนร่วมกัน เพราะความรักคือการยอมรับและการทำความเข้าใจกันและกัน
แฟรงก์ เหลียง กิง-ไว่ นักจิตวิทยาและที่ปรึกษา ชี้ว่า หนุ่มสาวฮ่องกงให้ความสำคัญกับนิสัยใจคอและค่านิยมของคนที่จะมาเป็นคู่ชีวิตหรือคู่รักมาโดยตลอด และการประท้วงขณะนี้ทำให้ปัจจัยหลังมีความสำคัญมากขึ้น เขายังเห็นว่า การพูดคุยเรื่องการประท้วงเป็นเรื่องดีเพราะอาจลดความเป็นไปได้ในการขัดแย้งกันในอนาคต เช่น ถ้าคนสองคนมีวุฒิภาวะเพียงพอและหาจุดกึ่งกลางได้จะทำให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
ซัลลี สาวฮ่องกงวัย 24 ปี กับไมค์ หนุ่มสิงคโปร์วัย 30 ปี (ชื่อสมมติทั้งคู่) ต้องร่วมกันฝ่าฟันปัญหาเหล่านี้ ทั้งคู่พบกันผ่านแอปโอเคคิวปิดในปีนี้และตกลงคบหาเป็นแฟนกัน โดยไมค์เป็นฝ่ายบินไปหาซัลลีที่ฮ่องกง
ซัลลีที่บรรยายว่า ตัวเองต่อต้านตำรวจ แต่รักสงบ และไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง บอกว่า เธอรู้ว่า ไมค์เอนเอียงไปทางสนับสนุนสถาบันเนื่องจากเคยเป็นทหารมาก่อน แต่ไม่คิดว่า เป็นเรื่องใหญ่
ทั้งคู่เล่าว่า เคยทะเลาะกันครั้งหนึ่งตอนไปเดินเล่นแถวจิมซาจุ่ยแล้วเจอตำรวจกำลังไล่จับกลุ่มผู้ประท้วง และซัลลีไม่อยากเข้าไปใกล้ๆ เพราะไม่ชอบการเผชิญหน้า รวมทั้งอยากให้ไมค์เคารพการตัดสินใจของเธอ
ด้านไมค์ที่วันนั้นบังเอิญใส่เสื้อยืดดำซึ่งเป็นสีประจำของกลุ่มผู้ประท้วง ไม่เห็นเหตุผลว่า ทำไมต้องหลบ เพราะถ้าไม่ได้ทำผิดก็ไม่จำเป็นต้องกลัวตำรวจ
หลังจากนั้นทั้งคู่ปรับความเข้าใจกัน โดยซัลลีบอกว่า มุมมองเกี่ยวกับการประท้วงหรือการเมืองไม่ได้หมายถึงตัวตนทั้งหมดของคนๆ นั้นเสมอไป ส่วนไมค์บอกว่า ถึงคิดไม่เหมือนกัน แต่เขาไม่เคยเลี่ยงที่จะไม่คุยเรื่องการเมืองฮ่องกงกับซัลลี
“การเป็นแฟนกันหมายความว่า คนสองคนแชร์เรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะซับซ้อนแค่ไหน คุณแค่ต้องอดทนมากพอ เห็นด้วยที่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย และนั่นทำให้เรายังอยู่ด้วยกัน” ไมค์สรุป