xs
xsm
sm
md
lg

ห้ามทิ้ง!! ฮีโร่ตัวจริงงัดเทคโนโลยีลดขยะอาหาร

เผยแพร่:


ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในซิดนีย์นำอาหารส่วนเกินที่ยังกินได้ที่ผู้ประกอบการต่างๆ เตรียมส่งไปทิ้ง รวมทั้งอาหารที่มีผู้บริจาค มาแจกฟรีหรือผู้รับสามารถจ่ายตามตามกำลัง นับเป็นหนึ่งในไอเดียสร้างสรรค์เพื่อลดขยะอาหาร
สตาร์ทอัพไฮเทคหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังปรับใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อลดขยะอาหาร เช่น การใช้ถังขยะ AI วิเคราะห์ประเภทและปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งเพื่อให้ร้านอาหารนำไปปรับแผนจัดการสต็อกต่อไป หรือแพล็ตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้บริโภคซื้ออาหารส่วนเกินจากร้านอาหารและร้านกาแฟในราคาถูกลง เนื่องจากสตาร์ทอัพเหล่านี้ตระหนักว่า การลดขยะอาหารจะเป็นการต่อสู้กับความอดอยาก ความยากจน ปัญหาโลกร้อน ช่วยสงวนรักษาทรัพยากร และปรับปรุงความมั่นคงด้านอาหารไปพร้อมกัน

จากรายงานดัชนีความหิวโหยทั่วโลก (GHI) ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อปีที่แล้วระบุว่า หากปราศจากมาตรการแทรกแซง จะมีถึง 50 ประเทศที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ของสหประชาชาติ (UN) ในการแก้ปัญหาความหิวโหยอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2030

ที่สำคัญความมั่นคงด้านอาหารของโลกยังถูกคุกคามจากความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาธรรมาภิบาล

ขณะเดียวกัน แม้จำนวนผู้อดอยากและภาวะโภชนาการต่ำในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ลดลงตั้งแต่ปี 2000 บ่งชี้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนนับล้าน กระนั้น ยังมีประชากรอีกมากมายในภูมิภาคนี้ที่ยังขาดแคลนอาหาร
ขยะอาหารเกลื่อนโลก

การศึกษาขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า อาหารเกือบ 1 ใน 3 ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อการบริโภคของมนุษย์ถูกทิ้งเป็นขยะ ขณะที่การวิจัยของบอสตัน คอลซัลติ้ง กรุ๊ป (BCG) ระบุว่า แต่ละปีทั่วโลกมีขยะอาหารมากถึง 1,600 ล้านตัน และภายในปี 2030 ขยะอาหารจะเพิ่มเป็น 2,100 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ และหากอิงกับตัวเลขของฟิวเจอร์ ไดเร็กชันส์ อินเตอร์เนชันแนล (FDI) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเชิงกลยุทธ์ที่ไม่หวังผลกำไร จะเห็นได้ว่า เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สร้างขยะอาหารถึง 25% ของทั่วโลก

สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์ (NEA) รายงานว่า ในปี 2017 อาหารกว่า 809,800 ตันถูกทิ้งลงถังขยะ ขณะที่มาเลเซียสร้างขยะอาหารวันละ 38,000 ตัน โดยที่ 3,000 ตันในจำนวนนี้ยังกินได้อยู่และสามารถเลี้ยงดูประชาชนอย่างน้อย 2 ล้านคน และจากรายงานของอิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (EIU) อินโดนีเซียเป็นประเทศที่สร้างขยะอาหารอันดับ 2 ของโลก โดยมีอาหารที่สูญเปล่าถึง 300 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

ขยะอาหารมากมายเหล่านี้ที่ไปจบลงที่หลุมฝังกลบจะถูกเผาหรือปล่อยให้ย่อยสลาย และสร้างก๊าซมีเทนที่มีศักยภาพในการทำให้โลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 21 เท่า ดังนั้น การต่อสู้กับขยะอาหารจึงเป็นการต่อสู้กับความอดอยาก ความยากจน และปัญหาโลกร้อนไปพร้อมกัน

หลายฝ่ายต่างร่วมกันแก้วิกฤตขยะอาหาร เช่น เทสโก้ มาเลเซียที่บริจาคอาหารที่ขายออกไม่ทัน 610 ตันให้สถานสงเคราะห์ ชุมชน และโรงเรียนในท้องถิ่น 130 แห่ง

สตาร์ทอัพฮีโร่
สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีและองค์กรเพื่อสังคมหลายแห่งกำลังมองหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อลดขยะอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตัวอย่างเช่น การ์ดา ปันกัน สตาร์ทอัพอินโดนีเซีย ที่นำอาหารส่วนเกินจากอุตสาหกรรมการบริการและโรงแรมไปบริจาคให้แก่ผู้ยากไร้หรือส่งให้เกษตรกรนำไปหมักปุ๋ย

อีวา บัคเทียร์ ผู้ร่วมก่อตั้งการ์ดา ปันกัน บอกว่า หลายบริษัทลังเลที่จะบริจาคอาหารที่เกินความต้องการเนื่องจากการทิ้งง่ายกว่าและเสี่ยงน้อยกว่าการถูกฟ้องร้องจากกรณีอาหารเป็นพิษ การ์ดา ปันกันจึงต้องการเป็นตัวกลางระหว่างผู้ที่มีอาหารเกินความต้องการกับกลุ่มคนที่ขาดแคลนอาหาร เพื่อนำอาหารเหล่านั้นไปแจกจ่ายอย่างเหมาะสม

การ์ดา ปันกันซึ่งก่อตั้งขึ้นในรูปธนาคารอาหาร ยังต้องการให้ความรู้ผู้บริโภคเกี่ยวกับการสูญเสียทางเศรษฐกิจและอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะอาหาร

กรับ ไซเคิลคือสตาร์ทอัพอีกแห่งที่ต้องการกระตุ้นจิตสำนึกด้านขยะอาหาร บริษัทมาเลเซียแห่งนี้พัฒนาแพล็ตฟอร์มดิจิตอลเพื่อช่วยซูเปอร์มาร์เก็ต เกษตรกร และร้านอาหารลดขยะอาหาร

เริ่มจากแอป “กรับ ไบต์ส” ที่ช่วยให้ผู้บริโภคซื้ออาหารส่วนเกินจากร้านอาหารและร้านกาแฟในราคาถูกลง นอกจากนั้นยังมีแอป “กรับ โกรเซอรีส์” ขายอาหารใกล้หมดอายุ และ “กรับ โมบาย” รับอาหารส่วนเกินไปแจกจ่ายให้ชุมชนที่มีรายได้น้อย

นับจากก่อตั้ง กรับ ไซเคิลช่วยลดขยะอาหารได้ถึง 7,000 กิโลกรัม

กู๊ด ฟอร์ ฟู้ด คือสตาร์ทอัพสิงคโปร์ที่ติดตามขยะอาหารผ่าน “ถังขยะอัจฉริยะ” ที่ชื่อว่า “อินไซต์” เพื่อช่วยให้ร้านอาหารต่างๆ ลดขยะและจัดการสต็อกอาหารอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อินไซต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ big data เพื่อวิเคราะห์ประเภทและปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งเพื่อให้ร้านอาหารนำไปปรับแผนจัดการสต็อกอาหารต่อไป

เรย์เนอร์ ลอย ผู้ร่วมก่อตั้งกู๊ด ฟอร์ ฟู้ด บอกว่า ภายในเวลา 4-5 เดือนแรกที่ใช้อินไซต์ ร้านอาหารต่างๆ สามารถลดขยะอาหารได้เกือบ 1 ใน 3

นอกจากนั้นยังมีอั๊กลี่ฟู้ดจากสิงคโปร์เช่นเดียวกัน สตาร์ทอัพแห่งนี้ช่วยลดขยะอาหารด้วยการปลุกจิตสำนึกเพื่อแก้ไขทัศนคติผิดๆ เกี่ยวกับอาหาร เช่น อาหารหน้าตาดีเท่านั้นที่อร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการ

วิธีการของอั๊กลี่ฟู้ดคือเข้าหาผู้ค้าส่ง ผู้จัดจำหน่าย และเจ้าของแผงลอยในตลาด เพื่อเก็บอาหารสดที่กำลังจะถูกทิ้งไปแปลงสภาพเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น