xs
xsm
sm
md
lg

จ่ายไหวมั้ย?... ค่ารถเมล์ 30 บาท ฟื้นฟู ขสมก.-ปลดหนี้แสนล้าน “เลิกโกง...ก็ไม่เจ๊ง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



แม้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แล้วเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2562 แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็น “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ที่มาพร้อมกับแนวคิดและนโยบายการลดราคาค่าโดยสารรถเมล์ลงเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน และลดภาระงบประมาณในการอุดหนุนและชดเชยขาดทุน ลดปัญหามลพิษทางอากาศ และแก้ปัญหาจราจร

แผนฟื้นฟู ขสมก.เดิมถือว่าดีระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงยังมีเรื่องที่ต้องปรับปรุง เช่น การบริหารหนี้ การบริหารต้นทุน ตัวเลขทางการเงินที่ต้องชัดเจนกว่านี้ ส่วนแผนการจัดหารถใหม่นั้นจะต้องปรับปรุงเช่นกัน โดยต้องพิจารณาเรื่องเส้นทางเดินรถ และบูรณาการกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ในลักษณะเป็น Feeder เพื่อเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้า เรือด่วน เป็นต้น รวมถึงรถร่วมเอกชนด้วย ไม่ให้มีการทับซ้อนกัน เพื่อเป็นการเดินรถให้บริการมีประสิทธิภาพสูงสุด

แผนเดิม ขสมก.ซื้อ/เช่ารถปรับอากาศใหม่ - ปรับขึ้นค่าโดยสารประมาณ 1 บาท

ย้อนกลับไปดูแผนฟื้นฟู ขสมก.ที่ ครม.มติเห็นชอบแล้วนั้น จะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านบุคลากร และการเดินรถ แก้ปัญหาหนี้สินสะสมของ ขสมก.ประมาณ 1.18 แสนล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูจะทำให้ ขสมก.หารายได้เลี้ยงตัวเองและกลับมามีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) ในปี 2566

โดยจะต้องจัดหารถใหม่ 3,000 คัน วงเงิน 2.12 หมื่นล้านบาท ซึ่งแผนหารถใหม่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนจะเสนอ ครม.ทบทวนมติเดิม ที่ก่อนหน้านี้ ครม.ได้เคยอนุมัติให้ ขสมก.จัดหารถจำนวน 3,183 คัน วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้มีการซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน วงเงิน 1.89 พันล้านบาทไปแล้วล็อตแรก

ที่เหลือแบ่งเป็นปี 2562 จะเป็นการปรับปรุงสภาพรถโดยสาร NGV (เดิม) จำนวน 323 คัน วงเงิน 138.5 ล้านบาท ซึ่งประมูลหาผู้รับจ้างแล้ว หาก ครม.ทบทวนมติเดิมจะเซ็นสัญญาเริ่มงานในเดือน ต.ค. 62 ใช้เวลา 1 ปี นอกจากนี้จะติดตั้งฟรีไวไฟ และเริ่มรับใบอนุญาตเดินรถ 137 เส้นทางตามแผนปฏิรูป

ปี 2563 ช่วงเดือน มิ.ย.เริ่มแผนจัดซื้อรถไฟฟ้า ( EV) จำนวน 35 คัน พร้อมสถานีเติมก๊าซ วงเงิน 466.94 ล้านบาท, เช่ารถโดยสารใหม่ 700 คัน วงเงินรวม 7,000 ล้านบาท (เช่ารถไฮบริด 400 คันวงเงิน 4,800 ล้านบาท, เช่ารถ NGV 300 คันวงเงิน 2,200 ล้านบาท) โดยขณะนี้ได้จัดทำร่าง TOR คู่ขนานไว้แล้ว

ปี 2564 จัดซื้อรถโดยสารไฮบริด จำนวน 700 คัน และ 2565 จัดซื้อรถโดยสารไฮบริด จำนวน 753 คัน

นอกจากนี้ยังมีปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ใช้ ระบบ E-Ticket ชำระค่าโดยสารด้วย QR-Code, ติดตั้งระบบ GPS, ให้บริการไวไฟบนรถ เป็นต้น, ปรับปรุงเส้นทางเดินรถ ขสมก.ตามแผนปฏิรูปรถเมล์ ให้ ขสมก.รับผิดชอบ 137 เส้นทาง, เพิ่มรายได้ จากการธุรกิจ TOD จากการพัฒนาพื้นที่อู่บางเขน และอู่มีนบุรี และลดค่าใช้จ่ายด้านซ่อมบำรุงและค่าเชื้อเพลิง

ขณะที่ ขสมก.จะปรับปรุงโครงสร้าง ลดค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน เช่น โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (แบบสมัครใจ) ใช้งบ 6,000 ล้านบาท มีเป้าหมายลดพนักงานจาก 13,599 คนในปัจจุบัน เหลือ 7,949 คน โดยในปี 63 เปิดเออร์รีฯ 655 คน ปี 64 จำนวน 2,198 คน และปี 65 จำนวน 2,198 คน โดยมีเป้าหมายลดอัตราพนักงานต่อรถ 1 คันจาก 5.14 คน เป็น 2.75 คน

โดยเมื่อมีรถใหม่เข้ามาให้บริการ จำเป็นจะต้องปรับค่าโดยสารให้สอดคล้องกับต้นทุน ซึ่งตั้งเป้าว่าในปี 2567 จะมีการปรับขึ้นประมาณ 1 บาท

ค่าโดยสาร ยึดตามอัตราที่คณะกรรมการขนส่งทางบกกลางอนุมัติ สำหรับรถใหม่ กำหนดอัตราค่าโดยสาร 4 กม.แรกที่ 15 บาท กม.ที่ 4- 16 อัตรา 20 บาท และ กม.ที่ 16 ขึ้นไป เก็บอัตราที่ 25 บาท คาดว่าส่วนใหญ่จะเดินทางในอัตราที่ 20 บาท และจากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ ประเมินค่าเฉลี่ยการเดินทางอยู่ที่ 2.4 เที่ยว/วัน หรือมีค่าใช้จ่ายที่ 48 บาท/วัน ถือว่าค่อนข้างสูง

ปรับแผนใหม่ ...ยกเลิกซื้อรถ เปลี่ยนเป็นจ้างเอกชนวิ่งแทน

เมื่อโจทย์ใหญ่ คือ ต้องลดค่าโดยสารลงอีก การจัดหารถ 3,000 คันในรูปแบบเดิมจึงไม่ใช่คำตอบ ขสมก.และคณะทำงานของกระทรวงคมนาคม จึงยกเลิกแผนจัดซื้อรถเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย

เมื่อไม่ซื้อรถเอง การเดินรถจะต้องเปลี่ยนเป็นการจ้างเอกชนเข้ามาวิ่งแทน โดยผลักภาระการจัดหารถไปให้เอกชน โดยรัฐเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน ตัวรถ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง มีระบบ E-Ticket GPS และกำหนดตารางการเดินรถ กำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพการให้บริการ รวมถึงค่าปรับในกรณีต่างๆ เช่น รถเสีย เป็นต้น

ฝ่ายนโยบายมองว่า จ้างเอกชนวิ่ง คุมต้นทุนได้ เพราะเอกชนมีต้นทุนประมาณ 31 บาทต่อ กม. ส่วน ขสมก.ด้วยความเป็นองค์กรใหญ่ จึงมีต้นทุนสูงถึง 50 บาทต่อ กม.

โดยจะกำหนดค่าโดยสาร 2 แบบ คือ ตั๋วเหมาหรือตั๋ววัน ขึ้นกี่สายกี่ครั้งได้ไม่จำกัดเที่ยว ราคาที่ 30 บาท ส่วนผู้ที่เดินทางเที่ยวเดียว จะใช้โครงสร้าง ที่ 4 กม.แรก 15 บาท, กม.ที่ 4- 16 อัตรา 20 บาท และ กม.ที่ 16 ขึ้นไป 25 บาท

“แต่เรื่องค่าโดยสาร อาจจะยังไม่ถูกใจฝ่ายนโยบาย”

สหภาพ ขสมก.ประท้วง อัด “ศักดิ์สยาม” จ้องแปรรูป

เมื่อจ้างเอกชนวิ่ง ไม่ต่างอะไรจากแปรรูปหรือไม่... เป็นข้อกังวลของพนักงาน ขสมก. ไม่มีรถก็เท่ากับไม่ต้องมีคนขับ กระเป๋า ช่างซ่อม ฯลฯ

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. สหภาพฯ ขสมก.กว่าร้อยคนจึงบุกกระทรวงคมนาคม ประท้วงนโยบาย “ศักดิ์สยาม” ที่จะให้จ้างเอกชนวิ่งรถแทน เพราะเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ขสมก.

“บุญมา ป๋งมา” ประธานสหภาพ ขสมก. ยื่นหนังสือคัดค้านนโยบายทบทวนแก้ไขแผนฟื้นฟู โดยให้เดินหน้าจัดหา รถโดยสารจำนวน 3,000 คัน ตามมติ ครม.เดิม และให้ ขสมก.เดินรถเอง จำนวน 137 เส้นทาง

ด้าน “สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล” ผู้อำนวยการ ขสมก.ระบุว่า พนักงานเข้าใจผิด ซึ่งอาจเกิดการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน ยืนยันว่าแผนฟื้นฟู ขสมก.มี 7 เรื่องเหมือนเดิม โดยมีการแก้ไข 2 เรื่อง คือ การจัดหารถโดยสารใหม่ 3,000 คัน จะปรับปรุงวิธีเป็นการเช่ารถโดยสารใช้พร้อมบริการ โดยจ่ายตามระยะทาง (กม.) บริการเชิงคุณภาพ (Performance Based Contract : PBC) วิธีนี้ลดต้นทุน ลดค่าซ่อม มีความยืดหยุ่นในการปรับแผนดินรถในอนาคต ไม่เป็นภาระรัฐบาล และที่สำคัญใช้พนักงาน ขสมก.ขับรถเหมือนเดิม

“ไม่ได้จ้างเอกชนมาวิ่ง เป็นการเช่ารถมาใช้ และไม่ใช่การให้เอกชนร่วมทุนแต่อย่างใด”

ด้าน “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” นั้นเสียดายที่ต้องเลื่อนการทำ work shop เพราะทำให้การฟื้นฟู ขสมก.ต้องล่าช้าออกไปอีก จึงให้ ผอ.ขสมก.เร่งไปทำความเข้าใจกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจว่าต้องการสิ่งใด แต่ขอให้เป็นประโยชน์กับประชาชนและการฟื้นฟูกิจการ ขสมก. เพื่อทำ work shop ใหม่โดยเร็ว

ขสมก.เชื่อว่า การเช่ารถวิ่งไม่ก่อหนี้สาธารณะ เพราะไม่มีการซื้อรถ แต่จะใช้วิธีบริหารจัดการจ้างรถมาวิ่งแทนซึ่งจะไม่มีภาระซ่อมบำรุงและค่าซื้อรถ และทำให้ค่าโดยสารถูกลง โดยสามารถเดินทางด้วยรถ ขสมก.ทั้งระบบในราคาวันละ 30 บาทตลอดทั้งวัน ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว จำนวนสายรถ และหากเป็นตั๋วรายเดือนจะราคาเพียง 750 บาท หรือคิดเป็นวันละ 25 บาท

โดยการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ใหม่ จากเดิม 208 เส้นทาง มี 269 เส้นทาง เพิ่มขึ้นเพราะมีการตัดระยะทางการวิ่งให้สั้นลง ลดการวิ่งทับซ้อนกัน โดยเดินรถในลักษณะ Feeder Liner (เชื่อมเข้าสู่ระบบราง) และ Circle (วิ่งเป็นวงกลม) ทำให้ ขสมก.สามารถหมุนเวียนรถ มาให้บริการได้มากขึ้น ผู้ใช้บริการใช้เวลารอคอยรถโดยสาร ไม่เกิน 5-10 นาที และจะสามารถลดจำนวนรถเมล์ ซึ่งเดิมจดทะเบียนอนุญาตไว้ ประมาณ 6,000 คัน เหลือเพียง 3,000-3,500 คัน

ขสมก.เห็นว่า ตั๋วเหมารายวัน 30 บาท ขึ้นได้ทุกสาย ไม่จำกัดเที่ยว จะตอบโจทย์และตรงใจประชาชน และเป็นราคาที่เหมาะสมกับต้นทุน

ต้องถามประชาชนว่า ค่ารถเมล์วันละ 30 บาท จ่ายไหวหรือไม่...

ขณะที่ต้องยอมรับว่า หนี้สะสมกว่า 1 แสนล้านบาทของ ขสมก. ส่วนใหญ่มาจากการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลในการให้บริการผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ค่าโดยสารรถเมล์ที่ผ่านมาจึงไม่สะท้อนต้นทุนจริงเลย

และยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องหาโมเดลให้เหมาะสม เช่น กลุ่มคนที่นั่งรถเมล์แค่วันละเที่ยว แต่ต้องจ่ายค่าโดยสาร 30 บาท ถือว่าแพงมาก...ดังนั้น ค่าโดยสารเหมา 30 บาท จึงไม่ใช่คำตอบของคนทุกกลุ่ม

ขณะที่ผู้ประกอบการรถร่วมเอกชนฯ ซึ่งเป็นเอกชนรายย่อย มีปัญหาขาดทุน มีหนี้กับ ขสมก. ทำให้ไม่มีเงินทุนในการซื้อรถใหม่ ล่าสุด รถร่วมฯกว่า 30 ราย ได้ทยอยขายกิจการให้กับ บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด นายทุนรายใหญ่ ที่จะเข้ามาเป็นผู้ประกอบการเดินรถเอกชนรายใหม่ ซึ่งการรวมกลุ่มของเอกชนทั้งในแง่เงินทุน และการบริหาร ทำให้รัฐสามารถผนวกเอารถเอกชนเข้ามาอยู่ในระบบภายใต้มาตรฐาน คุณภาพบริการเดียวกันได้ง่ายกว่าเดิมแน่นอน

ที่ผ่านมา ขสมก.มีโครงการจัดหารถเมล์ใหม่ แต่มีปัญหาเรื่องล็อกสเปก ราคากลางสูง ...มีการฟ้องร้องกันกับเอกชนวุ่นวาย สุดท้าย “จ่ายแพง ...แถมได้รถไม่ดี” รถใหม่ แต่...ทำไมเสียบ่อย!!!

ส่วนเรื่องเช่ารถ ทำสัญญาการให้บริการเชิงคุณภาพ หรือ PBC (Performance Base Contract) ไม่ใช่เรื่องใหม่ ขสมก.ทำมานานแล้ว ดังนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่วิธีซื้อ/เช่า แต่เป็นเรื่องความไม่โปร่งใส...ซุ่มหมกเม็ด...ล็อกสเปก...งาบเงินทอน...เหมือนอดีต

ถึงเวลาหรือยังที่จะทำเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน... ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูป ขสมก.อย่างจริงจัง ที่ไม่ใช่แค่เพียงปฏิรูปเส้นทางรถเมล์...ไม่ใช่เพียงปฏิรูปองค์กร ...แต่ผู้บริหาร ขสมก....คณะกรรมการ ขสมก....รวมไปถึงนักการเมือง ผู้มีอำนาจ รมต.ผู้กำกับนโยบาย ก็ต้องปฏิรูปตัวเองด้วย เพื่อ “คนกรุง...จะได้ไม่ฝันค้างซ้ำๆ อีก”











กำลังโหลดความคิดเห็น