xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นสายการบินวิกฤตหนัก 9 เดือนปี 62 ขาดทุนถ้วนหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



หุ้นกลุ่มสายการบินถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ผลงานไม่สู้ดีนักสำหรับปี 2562 โดยทั้ง 4 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศผลงานไตรมาส 3 ออกมาขาดทุนสุทธิ 3 ใน 4 บริษัท ขณะภาพรวม 9 เดือนขาดทุนทุกแห่ง เหตุเพราะสภาวะเศรษฐกิจ ความผันผวนของราคาน้ำมัน การแข็งค่าของค่าเงินบาท และการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม อีกทั้งมีคู่แข่งรายใหม่เพิ่ม


จากปัญหาดังกล่าวทำให้ทุกบริษัทสายการบินเดินหน้าลดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ มากขึ้นเพื่อประคองธุรกิจ พร้อมรวมตัวหารือภาครัฐช่วยปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันสำหรับเครื่องบิน จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.726 บาทต่อลิตร โดยเสนอให้เปลี่ยนไปใช้เป็นขั้นบันไดตามค่าเงินบาท แม้การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เคยปรับรอบใหญ่เมื่อปี 2560 ในทุกประเภทน้ำมัน เพื่อให้ราคาสะท้อนภาวะและเป็นการปรับขึ้นเพื่อให้เกิดความยุติธรรม

ไม่เพียงเท่านี้ นอกจากผลการดำเนินงานวิกฤตธุรกิจสายการบินยังสะท้อนออกมาจากราคาหุ้นของบริษัทที่ปรับตัวลงอย่างมากจนต่ำกว่าราคา IPO ที่เคยเปิดซื้อขาย เริ่มที่ บมจ.การบินไทย (THAI) ปัจจุบัน (23 พ.ย.) อยู่ที่ 7.50 บาทต่อหุ้นจากราคา IPO ที่ระดับ 60 บาท/หุ้น ลดลง 52.50 บาท หรือ 87.50% ตามด้วย BA ราคาปัจจุบัน 7.25 บาท/หุ้น จากราคา IPO ระดับ 25.00 บาท/หุ้น ลดลง 17.75 บาท หรือ 71% ขณะที่ AAV ราคาปัจจุบัน 2.20 บาท/หุ้น จากราคา IPO ระดับ 3.70 บาท/หุ้น ลดลง 1.50 บาท หรือ 40.54% และ NOK ราคาปัจจุบัน 2.00 บาท/หุ้น จากราคา IPO ระดับ 26.00 บาท/หุ้น ลดลง 24.00 บาท หรือ 92.30% โดยแต่ละบริษัทรายงานและชี้แจงเหตุผลของผลประกอบการที่เปลี่ยนไป


THAI หนักสุดขาดทุน 1.1 หมื่นล้าน
บมจ.การบินไทย (THAI) แจ้งผลงานไตรมาส 3 ปีนี้มีผลขาดทุนสุทธิ 4.68 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 3.70 พันล้านบาท และมีรายได้ 4.50 หมื่นล้านบาท ลดลง 6.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากมีปัจจัยลบเข้ามากดดันจนส่งผลต่อการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า อีกทั้งรายการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง

นอกจากนี้ บริษัทและบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวคือประมาณการเงินตอบแทน ความชอบในการทำงาน 2.68 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มเติมจากประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 4) ที่กำหนดอัตราค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้างเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไปให้มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายจำนวน 400 วัน โดยมีผลตั้งแต่ 30 ก.ย. 2562 เป็นต้นไป อีกทั้งมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน 181 ล้านบาท ทำให้งวด 9 เดือน ปี 2562 บริษัทมีผลขาดทุน 1.11 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 172.39% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 4.08 พันล้านบาท

ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทตั้งแต่ปี 2558-ปัจจุบัน (ไตรมาส 3/62) ด้านสินทรัพย์รวมพบว่าลดลงต่อเนื่องจาก 3.02 แสนล้านบาท มาอยู่ที่ 2.58 แสนล้านบาท ลดลง 4.4 หมื่นล้านบาท หรือ 14.56% ขณะที่หนี้สินรวม ไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 2.45 แสนล้านบาท ลดลงต่อเนื่องจากปี 2558 อยู่ที่ระดับ 2.69 แสนล้านบาท คิดเป็นการลดลง 2.4 หมื่นล้านบาท หรือ 8.92%


ส่วนรายได้รวมพบว่าบริษัทสามารถทำรายได้สูงสุดในรอบ 5 ปี (ปี 2558-ปัจจุบัน) ที่ระดับ 2.0 แสนล้านบาท ในปี 2561 จากปี 2558 ที่ระดับ 1.92 แสนล้านบาท โดยไตรมาส 3/62 มีรายได้รวม 1.40 แสนล้านบาท แต่ในด้านกำไรสุทธิ พบว่าเพียงแค่ 3 ไตรมาสของปี 2562 บริษัทขาดทุนรวม 1.11 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงทั้งปี 2561 ซึ่งขาดทุนสุทธิ 1.16 หมื่นล้านบาท โดยปี 2558 บริษัทขาดทุนสุทธิสูงสุด 1.30 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิเพียงครั้งเดียวที่ระดับ 15.14 ล้านบาทในปี 2559


นั่นทำให้อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) ของบริษัท ณ ไตรมาส 3/62 อยู่ที่ -4.71% สูงสุดตั้งแต่ปี 2558 ที่เคยอยู่ที่ -2.70% ขณะที่ปี 2561 อยู่ที่ -2.58% ส่วนอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น พบว่าไตรมาส 3/62 ลดลงกว่าเท่าตัวจากปี 2561 อยู่ที่ -44.51% มาอยู่ที่ -91.83% ขณะปี 2558 อยู่ที่ -35.28% และทำให้มาร์เกตแคปของ THAI ลดลงมาอยู่ที่ 1.50 หมื่นล้านบาท ณ วันที่ 22 พ.ย. 62 จากสิ้นปี 2559 อยู่ที่ระดับ 4.95 หมื่นล้านบาท

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย คาดว่า ไตรมาส 4/62 การบินไทยจะขาดทุนลดลง เนื่องจากรายได้จะมากขึ้นตามฤดูกาลท่องเที่ยว(ไฮซีซัน) โดยขณะนี้มียอดจองตั๋วล่วงหน้ากว่า 80% แต่ก็มีปัจจัยลบหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจการบินจนทำให้หลายสายการบินต้องปิดตัวลง และอีกหลายสายการบินต่างประสบปัญหาการขาดทุน จากภาวะเศรษฐกิจโลก การแข่งขันในตลาดที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยี ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก และปัจจัยภายในที่ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง คือปัญหาความล่าช้าของการซ่อมเครื่องยนต์ของบริษัทผู้ผลิต

นั่นทำให้ไตรมาส 4/62 บริษัทฯ ยังคงดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่องอย่างจริงจัง เช่น ชะลอการลงทุนที่ไม่จำเป็น ปรับปรุงกระบวนการทำงาน (Reprocess) เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ปรับลดสวัสดิการและค่าตอบแทนของฝ่ายบริหารและพนักงาน

ส่วนการเพิ่มรายได้ จะใช้กลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าแบบ Personalize มุ่งเน้นการสร้างรายได้เสริม (Ancillary Revenue) ซึ่งช่วง 9 เดือนของปี 62 (ม.ค.-ก.ย.) มีรายได้เสริมรวม 4.60 พันล้านบาท พร้อมเร่งดำเนินงานด้าน Digital Marketing โดยใช้ Big Data และ Data Analytic ในการวิเคราะห์ตลาด อีกทั้งบริษัทฯ มีแผนเพิ่มรายได้จาก e-Commerce ซึ่งจะเปิดตัวในปีนี้ พร้อมกับการเปิดเส้นทางบินใหม่ เช่น เปิดเส้นทางบินสู่เซนได ญี่ปุ่น ศูนย์กลางภูมิภาคโทโฮคุ โดยทำการบิน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งขณะนี้มียอดสำรองที่นั่งล่วงหน้าถึงเดือน มี.ค. 63 สูงถึง 80%


เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารในงวด 9 เดือนของปี 2562 ปรับตัวลดลง 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากสัดส่วนจุดขายบัตรโดยสารลดลง โดยสัดส่วนจุดขายบัตรโดยสาร (Point-of-Sale) ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ซึ่งผู้โดยสารหลักจากทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย (ยกเว้นไทย) ทำให้ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้บริษัทขาดทุนสุทธิ 121.3 ล้านบาท คิดเป็นการขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น 131.5 ล้านบาท หรือ ขาดทุนต่อหุ้น 0.06 บาท


โดยไตรมาส 3/62 บริษัทขาดทุนสุทธิ 131.53 ล้านบาท ถือเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยสิ่งที่น่าสนใจคือแม้ในปี 2558-2561 บริษัทจะมีกำไรสุทธิต่อเนื่อง แต่เป็นกำไรสุทธิที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเช่นกัน

นั่นทำให้ ROA ณ ไตรมาส 3/62 ของบริษัทลดลงเหลือ 1.86% จาก 3.72% ในปี 2561 โดยสูงสุดที่ 7.72% ในปี 2559 ขณะ ROE ล่าสุด -.177% จาก 0.84% ในปี 2561 และเคยอยู่ระดับสูงสุด 6.39% ในปี 2558 ส่งผลให้มาร์เกตแคป ณ ปัจจุบันเหลือเพียง 1.44 หมื่นล้านบาท จาก 4.85 หมื่นล้านบาทในปี 2558

นายพุฒิพงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจการบินเกิดภาวะซบเซา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่ถดถอยทำให้นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวต้องปรับแผนการเดินทางหรือชะลอการเดินทางออกไป ประกอบกับสหรัฐฯ และจีนประกาศสงครามการค้า ทำให้นักท่องเที่ยวจีนชะลอการเดินทางมาท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกได้รับผลกระทบจากธุรกิจการบิน เกือบทุกสายการบินต้องประสบภาวะขาดทุนหรือกำไรลดลง

ส่วนแผนลงทุนครึ่งปีหลัง บริษัทฯ จะเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายเส้นทางการบินเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารและสายการบินพันธมิตร โดยการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในเส้นทางบินยอดนิยม และปรับลดเที่ยวบินให้สอดคล้องกับความต้องการ ทำให้ BA หันมาให้ความสำคัญเส้นทางบิน CLMV ซึ่งเป็นเส้นทางในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่ม เนื่องจากมีแนวโน้มที่เติบโตทั้งในแง่การลงทุนเพิ่มในธุรกิจท่องเที่ยวและการลงทุนใหม่ๆ ทำให้บริษัทมีรายได้จากเส้นทางบินเหล่านี้มาชดเชยในส่วนที่ขาดหายไป




AAV รายได้เพิ่มแต่ยังขาดทุน

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย (TAA) แจ้งไตรมาส 3/62 AAV มีรายได้รวม 9.66 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4% โดยขาดทุนสุทธิ 416.6 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้รวม 9.66 พันล้านบาทเช่นกัน แต่ขาดทุนสุทธิ 760.6 ล้านบาท โดยผลประกอบการอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีนแต่ยังถูกกดดันจากการแข่งขันด้านราคาและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยของชาวต่างชาติ

ทั้งนี้ รายได้หลักของบริษัทมาจากรายได้การขายและการให้บริการ 9.41 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 8.94 พันล้านบาท หนุนโดยปริมาณผู้โดยสารที่เติบโตกว่า 3% มาอยู่ที่ 5.28 ล้านคน ผลจากการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของนักท่องเที่ยวชาวจีน และราคาค่าโดยสารเฉลี่ยซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% อยู่ที่ 1,457 บาทต่อคน

ส่วนผลดำเนินงาน 9 เดือนปี 2562 มีรายได้รวม 3.12 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ขาดทุนสุทธิ 401.9 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปี 2561 มีกำไรสุทธิ 339.86 ล้านบาท โดยมีปริมาณผู้โดยสาร 16.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4% ส่งผลให้อัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 84% อย่างไรก็ตาม ค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 1,469 บาทต่อคน ลดลง 2% ผลจากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผนวกกับค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น อีกทั้งค่าใช้จ่ายปรับตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับผลประกอบการ 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2558-ไตรมาส 3/62) พบว่าด้านสินทรัพย์รวม หลังจากสร้างสถิติสูงสุดในปี 2560 ระดับ 6.27 หมื่นล้านบาทจากนั้นปรับตัวลงเล็กน้อย โดยไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 6.10 หมื่นล้านบาท ขณะที่หนี้สินรวมพบว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2558 อยู่ที่ 2.47 หมื่นล้านบาท เป็น 3.33 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6 พันล้านบาทหรือ 31.39%

โดยไตรมาส 3/62 บริษัทมีรายได้รวม 3.12 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าทั้งปี 2561 ที่มีรายได้รวม 4.02 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดของบริษัทในรอบ 5 ปี ส่วนกำไรสุทธิ พบว่าลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 1.86 พันล้านบาท มาเหลือ 69.97 ล้านบาทในปี 2561 และกลับมาขาดทุนสุทธิในไตรมาส 3/62 จำนวน 401.91 ล้านบาท โดย ROA ณ ไตรมาส 3/62 อยู่ที่ -0.84% จาก 1.06% ในปี 2561 และสูงสุด 6.81% ในปี 2559 ขณะที่ ROE ปัจจุบัน -3.30% จาก 0.33% ในปี 2561 และสูงสุด 9.303% ในปี 2559 และจากเหตุผลข้างต้นทำให้มาร์เกตแคป AAV ปัจจุบันอยู่ที่ 1.03 หมื่นล้านบาท ลดลงเกือบ 100% จากปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 2.03 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2559 บริษัทมีมาร์เกตแคปสูงสุด 2.93 หมื่นล้านบาท

ส่วนทิศทางธุรกิจ ภาพรวม AAV ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกรูปแบบ ทั้งการเพิ่มรายได้จากบริการเสริมพิเศษ การเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ผ่านการรับเครื่องบินรุ่นใหม่แอร์บัส A 321 นีโอ มาร่วมฝูงบินในสิ้นปีนี้ ซึ่งเครื่องบินรุ่นใหม่มีจำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้นและประสิทธิภาพการประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิง ทำให้บริหารจัดการต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น ถือว่าเป็นฝูงบินสำหรับอนาคตที่เหมาะกับกลยุทธ์ในการเติบโตสู่ความยั่งยืน


NOK ฟุ้งมาถูกทาง ผลงานเริ่มฟื้น

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) รายงานว่า ไตรมาส 3/62 ไม่รวมบริษัทย่อย มีผลขาดทุน 486.86 ล้านบาท ลดลง 49.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 973.79 ล้านบาท และ 9 เดือนแรกปีนี้ขาดทุน 1.24 พันล้านบาท ลดลง 29.02% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 1.74 พันล้านบาท และเมื่อรวมบริษัทย่อยบริษัทขาดทุนสุทธิ 633.95 ล้านบาท หรือขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.20 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 1.11 พันล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.49 บาท เนื่องจากสามารถบริหารจัดการต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถลดต้นทุนต่างๆ

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 3/62 บริษัทมีรายได้จากค่าโดยสารอยู่ที่ 2.43 พันล้านบาท เติบโต 0.07% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากค่าโดยสารในประเทศโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และมีอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำอยู่ที่ 9.47 ชั่วโมงปฏิบัติการต่อวัน เพิ่มขึ้น 13.14% และมีอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำอยู่ที่ 8.37 ชั่วโมงปฏิบัติการต่อวัน

ขณะเดียวกัน NOK มีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 3.27 พันล้านบาท ลดลง 14.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีค่าใช้จ่ายรวม 3.83 พันล้านบาท เนื่องจากจำนวนอากาศยานลดลง ประกอบกับบริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแผนการฟื้นฟูธุรกิจ ทำให้งวด 9 เดือนแรกของปี 62 บริษัทมีค่าใช้จ่าย 1.06 หมื่นล้านบาท ลดลง 13.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีค่าใช้จ่าย 1.22 หมื่นล้านบาท

สำหรับผลประกอบการย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558-ปัจจุบัน (ไตรมาส 3/62) ด้านสินทรัพย์รวมพบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 1.48 หมื่นล้านบาท จาก 7.11 พันล้านบาทในปี 2558 เป็น 7.69 พันล้านบาท หรือ 108.16% ขณะที่ยอดหนี้รวมของ NOK ณ ปัจจุบันปรับตัวขึ้นจากปี 2558 ที่ระดับ 4.16 พันล้านบาท โดยอยู่ที่ 1.76 หมื่นล้านบาท

ด้านรายได้รวม ณ ไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 1.46 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 1.42 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในปี 2561 มีรายได้รวม 1.97 หมื่นล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปี 2560 ที่อยู่ระดับ 2.03 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปี แต่ในด้านกำไรสุทธิ 5 ปี พบว่า NOK ขาดทุนสุทธิต่อเนื่องจาก - 726.10 ล้านบาท มาอยู่ที่ -2.79 พันล้านบาทปี 2559 จากลดเหลือขาดทุนสุทธิ 1.85 พันล้านบาทในปี 2560 ส่วนปี 2561 กลับมาขาดทุนสุทธิเพิ่มเป็น 2.78 พันล้านบาท และไตรมาส3/62 ขาดทุนสุทธิ 1.61 พันล้านบาท

ROA ณ ไตรมาส 3/62 อยู่ที่ -26.10% จาก36.73% ในปี 2561 ซึ่งเพิ่มจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ -27.54% โดยปี 2559 สร้างสถิติสูงสุดที่ -48.08% ขณะที่ ROE ในไตรมาส 3/62 และปี 2561 อยู่ที่ N.A. โดยสูงสุดที่ -238.66% ในปี 2560 ด้านมาร์เกตแคป พบว่าปรับตัวเพิ่ม โดยไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 6.21 พันล้านบาท จาก 5.49 พันล้านบาทในปี 2561 สูงสุดที่ 7.72 พันล้านบาทในปี 2560

แนวโน้มปี 2563 ตั้งเป้าว่าจะหยุดขาดทุน โดยมีแผนเพิ่มสัดส่วนเส้นทางบินต่างประเทศมากขึ้นเป็น 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% ซึ่งจะเปิดบินเส้นทางใหม่สู่เมืองรองของอินเดียและญี่ปุ่นเพิ่ม และในปี 2563 NOK จะมีฝูงบินเพิ่มจากปัจจุบัน 22 ลำ เป็น 26 ลำ และมีเครื่องบินโบอิ้ง 14 ลำ และแบบ Q400 8 ลำ และปลายปีนี้จะเช่าเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 เพิ่มอีก 2 ลำ รวมเป็น 24 ลำ นอกจากนี้จะเช่าเพิ่มอีก 2 ลำ เป็น 26 ลำ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ของ NOK เพิ่มจากปีนี้อีก 10% และจะปรับเพิ่มเวลาการใช้เครื่องบินเป็น 12 ชั่วโมงต่อลำ

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของ NOK จะแบ่งเป็น รายได้จากตั๋วโดยสาร 88% และรายได้อื่นๆ 12% ซึ่ง NOK ได้ตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้อื่นเป็น 20% ในอีก 3 ปีจากนี้ เช่น รายได้จากการขนส่งสินค้าทางอากาศ (คาร์โก้)
กำลังโหลดความคิดเห็น