xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ คาดจีดีพีปีหน้าโต 2.7% บาทแตะ 29.25

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กสิกรไทยประเมินเศรษฐกิจปีหน้าเติบโตที่ 2.7% ใกล้เคียงปีนี้ ผลกระทบจากสงครามการค้าชัดขึ้น เงินบาทแข็งค่า กดส่งออกหดตัว 2% หวังการลงทุนภาครัฐพยุง ด้านค่าบาทยังแข็งค่า คาดแตะ 29.25 ในสิ้นปีหน้า

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ธนาคารคาดการณ์จีดีพีเติบโตที่ระดับ 2.7% โดยยังได้รับแรงกดดันหลักจากภาคการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องที่ระดับ -2% การบริโภคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโตในอัตราชะลอตัวลงที่ 2.5% จากปีนี้ที่คาดการณ์เติบโต 3.2% จากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง ขณะที่ปัจจัยที่คาดว่าจะกระเตื้องขึ้นและช่วยขับเคลื่อนในปีหน้าเป็นการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาได้หลังการอนุมัติในต้นปีหน้า ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2562 ยังคงเป้าหมายเติบโตในกรอบ 2.6-2.8% มีแนวโน้มอยู่ในกรอบล่าง และการส่งออกคาดการณ์ -1%

"การส่งออกปีหน้าที่ติดลบสูงกว่าในปีนี้ เป็นเพราะผลจากสงครามการค้าที่เห็นชัดขึ้น และประเทศไทยเองมีปัญหาในเชิงโครงสร้าง สังคมกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หนี้ครัวเรือนสูง เศรษฐกิจยังเปราะบาง ทำให้แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการลดดอกเบี้ย แต่ก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร จึงคาดการณ์กนง.ยังคงดอกเบี้ยนโยบายในแีหน้า ขณะที่มาตรการทางการคลังมีกรอบการใช้ที่จำกัดเพราะอาจเป็นการสร้างหนี้มากเกินไป และกระทบต่ออันดับเครดิตของไทย"

ด้านเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องคาดการณ์อยู่ที่ 29.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงกลางปีหน้า และแข็งค่าถึง 29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 63 ซึ่งการที่เงินบาทแข็งค่ามากกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของส่งออกไทยทำให้สัดส่วนการส่งออกของไทย (มาร์เกตแชร์) ในตลาดโลกลดลงจากร้อยละ 1.50 เหลือร้อยละ 1.38

ส่วนเศรษฐกิจโลกยังเผชิญความไม่แน่นอนจากการบังคับใช้ภาษีนำเข้าสหรัฐฯ-จีน แม้การเจรจามีสัญญาณดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง นำโดยการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ดี การผลิตที่อ่อนแออาจส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงานในระยะข้างหน้า ทำให้ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีหน้า อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจอ่อนค่าอย่างรวดเร็วหากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกสูงขึ้น ความกังวลดังกล่าวอาจสะท้อนจากสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อ่อนแอ เป็นผลให้มีเงินทุนไหลออกจากไทยกลับไปยังสหรัฐฯ ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น