xs
xsm
sm
md
lg

แอมะซอนโชว์สกิลเพิ่มยอดขาย เปิดตัวเชลฟ์สั่งสินค้าอัตโนมัติ

เผยแพร่:



แอมะซอนเตรียมเปิดตัวเชลฟ์อัจฉริยะที่สามารถสั่งซื้ออุปกรณ์สำนักงานอัตโนมัติเมื่อของพร่อง ถือเป็นความพยายามล่าสุดของเจ้าพ่ออี-คอมเมิร์ซอเมริกาในการขายสินค้าก่อนที่ลูกค้าจะทันรู้ตัวด้วยซ้ำว่าต้องซื้อ นอกจากนี้ยังตอกย้ำความพิสมัยของแอมะซอนในการลองผิดลองถูกกับเทคโนโลยีและปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์เมื่อจำเป็น

“แอมะซอน แดช สมาร์ท เชลฟ์” มีกำหนดเปิดตัวปีหน้าแต่ยังไม่ได้เปิดเผยราคา โดยแอมะซอนแถลงเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า เครื่องชั่งใหม่นี้ที่พัฒนาขึ้นมาในรูปเชลฟ์สำหรับวางอุปกรณ์สำนักงาน จะสั่งซื้อสินค้าจากแอมะซอนอัตโนมัติเมื่อน้ำหนักบนเชลฟ์ลดลงถึงระดับที่กำหนดไว้

แอมะซอนจะวางจำหน่ายเชลฟ์อัจฉริยะ 3 ขนาดคือ เล็ก (7 x 7 นิ้ว), กลาง (12 x 10 นิ้ว) และใหญ่ (18 x 13 นิ้ว) ทั้งสามขนาดสูง 1 นิ้ว
แดช สมาร์ท เชลฟ์ใช้แบตเตอรี่ AAA 4 ก้อน หรือเสียบปลั๊กกับเต้ารับไฟฟ้าบนผนัง และเชื่อมต่อ Wi-Fi

จากนั้นเมื่อเชื่อมต่อแดช สมาร์ท เชลฟ์กับบัญชีแอมะซอน บิสเนส หรือแอมะซอน ช้อปปิ้งแล้ว ผู้ใช้จะสามารถแจ้งแอมะซอนว่า ต้องการจัดวางผลิตภัณฑ์ใดและปริมาณเท่าใดบนเชลฟ์ และระบบจะจัดการสั่งซื้อเพิ่มอัตโนมัติเมื่อใกล้หมดซึ่งรู้ได้จากน้ำหนักที่ลดลง

แต่ถ้าไม่ต้องการสั่งซื้อสินค้าอัตโนมัติ ผู้ใช้สามารถตั้งค่าให้เชลฟ์ส่งการแจ้งเตือนเมื่อผลิตภัณฑ์นั้นใกล้หมด เพื่อเลือกว่า ต้องการซื้อเองหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ถ้าให้แดช สมาร์ท เชลฟ์สั่งกับแอมะซอนจะได้ส่วนลดถึง 15% สำหรับบางแบรนด์ เช่น กาแฟโฟลเกอร์และคูริก, คอฟฟี่เมต, ปากกาบิ๊ก, กระดาษโน้ตโพสต์-อิตของ 3เอ็ม, สก็อตเทป รวมถึงสินค้าไพรเวทเลเบล “แอมะซอนเบสิกส์”

แอปแอมะซอน ช้อปปิ้งยังป้องกันการสั่งซื้ออัตโนมัติโดยไม่ตั้งใจเมื่ออุปกรณ์สำนักงานถูกนำออกจากเชลฟ์ชั่วคราว ด้วยการตั้งค่าให้กลไกกระตุ้นการสั่งซื้อสินค้าทำงานเมื่อน้ำหนักบนเชลฟ์ลดลงเป็นเวลานานตามที่กำหนดเท่านั้น

ผลิตภัณฑ์นี้ออกแบบมาสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจในอเมริกาจึงจะซื้อได้ โดยขณะนี้แอมะซอนกำลังทดสอบแดช สมาร์ท เชลฟ์กับคู่ค้าบางแห่ง เช่น ผู้ผลิตบะหมี่ โอเชียนส์ ฮาโล, เรด ริเวอร์ บริววิ่ง, ผู้พัฒนาโปรแกรมฮาร์ดแวร์ เอ็มบีเอ็กซ์ และยังไม่มีแผนขยายไปให้บริการกับผู้บริโภค

ไอเดียเบื้องหลังแดช สมาร์ท เชลฟ์คือการช่วยประหยัดเวลาให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก นอกจากนั้นยังตอกย้ำความพิสมัยของแอมะซอนในการลองผิดลองถูกกับเทคโนโลยีและปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์เมื่อจำเป็น

ตัวอย่างเช่นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2015 ที่แอมะซอนประกาศเปิดตัวปุ่ม “แอมะซอน แดช” แต่คนกลับลือกันสนุกสนานว่า เป็นเรื่องตลกวันเอพริลฟูล ทว่า ในปีต่อมา ผู้นำอี-คอมเมิร์ซของอเมริกาแห่งนี้ได้สร้างปุ่มอัจฉริยะกว่า 100 ปุ่มที่ผู้ใช้สามารถกดสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายในบ้านทั่วไป เช่น โคลร็อกซ์, โดริโทส, ฮักกีส์ และซิปล็อก

แต่ดูเหมือนผู้บริโภคไม่ค่อยเก็ตไอเดียนี้ ดังนั้น ในวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา แอมะซอนจึงยกเลิกปุ่มแดช แม้ว่ายังคงให้บริการปุ่มเสมือนบางปุ่มอยู่ก็ตาม
จากนั้นไอเดียดังกล่าวถูกดัดแปลงมาเป็นแอมะซอน แดช รีเพลนิชเมนต์ เซอร์วิสที่ติดตั้งอยู่ภายในอุปกรณ์บางอย่าง เช่น เครื่องพิมพ์ที่สั่งซื้อตลับหมึกอัตโนมัติก่อนที่หมึกจะหมด สะท้อนว่า แอมะซอนตัดสินใจแล้วว่า ธุรกิจขนาดเล็กเหมาะที่จะใช้ทดลองบริการรีออร์เดอร์อัตโนมัติมากกว่าตลาดผู้บริโภค
นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่แอมะซอนลองผิดลองถูกกับเทคโนโลยี หนึ่งในแพล็ตฟอร์มที่ล้มดังที่สุดคือ ไฟร์โฟน ที่เปิดตัวเอิกเกริกในปี 2014 แต่ขายได้แค่ 35,000 เครื่องและปิดตัวลงอย่างรวดเร็ว

แต่อย่างที่รู้กันดีว่า ความทะเยอทะยานด้านฮาร์ดแวร์ของแอมะซอนไม่เคยสิ้นสุด นับจากนั้นมีรายงานว่า บริษัทขายอุปกรณ์สมาร์ทโฮมได้ถึง 100 ล้านเครื่อง และยังกลายเป็นผู้ผลิตลำโพงอัจฉริยะใหญ่สุดของโลกในแง่ยอดขายในไตรมาสที่ผ่านมา

โอเวส คาซี นักวิเคราะห์ของการ์ตเนอร์บอกว่า ปุ่มแดชคือหนึ่งในกรณีศึกษาของเรื่องนี้ นั่นคือเมื่อผลิตภัณฑ์ไม่เวิร์ก แอมะซอนก็จัดการนำส่วนที่ยังคิดว่า น่าจะประสบความสำเร็จได้ไปปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ใหม่

เขาสำทับว่า แอมะซอน อเล็กซา ผู้ช่วยเสมือนที่สั่งการด้วยเสียง คือตัวอย่างที่ชัดเจนของการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในเทคโนโลยีของแอมะซอน โดยระบบนี้แรกเริ่มเดิมทีถูกวางตัวให้ใช้เป็นวิธีโต้ตอบกับรถเข็นของแอมะซอน แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เป็นที่นิยมของลูกค้า

ปัจจุบัน อเล็กซาพลิกบทมาเป็นผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะ ขณะที่ลำโพงอัจฉริยะแอมะซอน เอ็กโค กลายเป็นฮับความบันเทิงและระบบควบคุมสมาร์ทโฮมยอดนิยมเป็นที่เรียบร้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น