แม้ประเทศไทยจะผลักดันแนวคิด "สังคมไร้เงินสด" (Cashless Society) เช่นเดียวกับต่างประเทศ โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชน แต่ก็ดูเหมือนว่าผู้ให้บริการแต่ละรายเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ถึงกระนั้นเป็นการดีที่ผู้โดยสารจะมีทางเลือกในการชำระค่าโดยสารได้อย่างสะดวก ปลอดภัย โดยไม่ต้องใช้เงินสด
นอกจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะร่วมกับธนาคารกรุงไทย รับชำระค่าโดยสารผ่านเครื่อง EDC กว่า 3,000 คันแล้ว รายล่าสุดคือ สมาร์ทบัส ผู้ให้บริการรถประจำทางรายใหม่ ร่วมกับบริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม (บีเอสเอส) ในกลุ่มบริษัทบีทีเอส รับชำระค่าโดยสารด้วยบัตรแรบบิท (Rabbit) นำร่องสาย 104 และ 150
โดยเริ่มรับชำระค่าโดยสารไปเมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งติดตั้งเครื่องอ่านบัตรแรบบิทที่ประตูหน้าใกล้คนขับสำหรับแตะขึ้น และประตูทางลงสำหรับแตะลง พร้อมมอบส่วนลดทันที 2 บาทต่อเที่ยว จากปกติ 15-20-25 บาท (ตามระยะทาง) ถึง 31 มี.ค. 2563 ซึ่งเตรียมที่จะขยายไปยังรถประจำทางสายอื่นๆ ให้ครบ 8 เส้นทางที่มีอยู่ต่อไป
วิธีการจ่ายด้วยบัตรแรบบิท เมื่อขึ้นรถให้แตะบัตรที่เครื่องประตูหน้าใกล้คนขับทุกครั้ง เมื่อถึงป้ายรถเมล์ที่ต้องการ ให้แตะบัตรแรบบิทที่ประตูทางลง ระบบจะคำนวณค่าโดยสารตามระยะทางที่กำหนด คือ 4 กิโลเมตรแรก 15 บาท, 4-16 กิโลเมตร 20 บาท และ 16 กิโลเมตรขึ้นไป 25 บาท หากลืมแตะบัตร ระบบจะหักค่าโดยสารในอัตราสูงสุด
บัตรแรบบิทที่ใช้ได้ คือ บัตรแรบบิทมาตรฐาน, บัตรแรบบิทพิเศษ (ลายการ์ตูนลิขสิทธิ์), บัตรแรบบิทสำหรับองค์กร, บัตรแรบบิทร่วมแบรนด์ เช่น ธนาคารกรุงเทพ โดยต้องมีเงินคงเหลือไม่น้อยกว่าอัตราค่าโดยสารสูงสุด (25 บาท) ส่วนบัตรแรบบิทที่ผูกกับบริการแรบบิท ไลน์ เพย์ (Rabbit LinePay) เพื่อใช้รถไฟฟ้าบีทีเอส ไม่สามารถใช้งานได้
ปัจจุบัน บัตรแรบบิทนอกจากใช้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที (สาทร–ราชพฤกษ์) แล้ว มีรถประจำทางรองรับ ได้แก่ สาย Y70E ศาลายา-หมอชิต, รถเมล์ RTC นนทบุรี ซิตี้ บัส, รถเมล์ RTC เชียงใหม่ ซิตี้ บัส, ภูเก็ตสมาร์ทบัส, เรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ - ท่ามหาราช และเรือโดยสารคลองภาษีเจริญ
สำหรับ ขสมก. และธนาคารกรุงไทย ก่อนหน้านี้เปิดให้บริการรับชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสด ทุกเส้นทางเดินรถทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา พร้อมจำหน่ายบัตรโดยสารล่วงหน้าอิเล็กทรอนิกส์ แทนบัตรกระดาษ โดยเติมเงินตามรอบการใช้งาน และให้พนักงานเก็บค่าโดยสารแตะเพื่อตรวจสอบสิทธิทุกครั้ง
ส่วนประชาชนทั่วไปที่สะดวกชำระค่าโดยสารแบบรายเที่ยว สามารถชำระได้ผ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ร่วม ขสมก. บัตรเดบิต บัตรพรีเพด หรือบัตรเครดิตทุกธนาคารที่มีสัญลักษณ์คอนแทคเลส (Contactless) บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ผ่าน "กรุงไทย NEXT" หรือโมบายแบงกิ้งที่รองรับ
อย่างไรก็ตาม ขสมก. ยังคงมีพนักงานเก็บค่าโดยสาร และรับชำระด้วยเงินสดตามเดิม ซึ่งการนำเครื่อง EDC มาใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และส่งเสริมสังคมไร้เงินสด ช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการบริหารจัดการเงินสด และลดต้นทุนการจัดการระบบโลจิสติกส์อีกด้วย
ต่อคำถามที่ว่า เมื่อระบบขนส่งมวลชนต่างคนต่างทำ คนกรุงเทพฯ จำเป็นต้องพกกี่บัตร เพราะขนาดรถไฟฟ้ามีทั้งบัตรแรบบิท บัตรเอ็มอาร์ที บัตรแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และบัตรแมงมุมที่แจกนำร่องไปกว่า 2 แสนใบ เวลาขึ้นรถเมล์ยังมีบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ร่วม ขสมก. เข้ามาอีก กลายเป็นภาระกระเป๋าสตางค์ของเราอีก
อันที่จริง ถ้าเป็นโครงการบัตรแมงมุม ขณะนี้กระทรวงคมนาคมกำลังรอการการพัฒนาระบบตั๋วร่วม และบัตรแมงมุม ให้สามารถใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro-MasterCard-Visa) เหมือนต่างประเทศ แต่คาดว่าต้องใช้เวลาพัฒนาระบบ ตกลงรูปแบบธุรกิจและส่วนแบ่งรายได้อีกประมาณ 18 เดือน จึงจะสามารถนำออกมาให้บริการประชาชนได้
ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม จึงสั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปหารือกับบีทีเอส รฟม. และรถไฟฟ้า รฟท. ปรับระบบบัตรโดยสารที่มีอยู่แล้วให้ใช้บริการข้ามทุกระบบได้ ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ถือบัตรแรบบิท 12 ล้านใบ บัตรเอ็มอาร์ที พลัส 2 ล้านใบ และบัตรแมงมุม 2 แสนใบ
อย่างไรก็ตาม สำหรับรถเมล์ ขสมก. เนื่องจากเครื่อง EDC รองรับระบบคอนแทคเลส ซึ่งมีอยู่ในบัตรเครดิต และบัตรเดบิตรุ่นใหม่ ถ้าไม่ได้ใช้บัตรโดยสารล่วงหน้าไม่จำเป็นต้องซื้อบัตรเพิ่ม เพียงแค่เปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตรุ่นเก่าที่ใช้อยู่ เป็นบัตรรุ่นใหม่ที่มีสัญลักษณ์คอนแทคเลส ก็สามารถนำมาใช้ชำระค่ารถเมล์ ขสมก. ได้แล้ว
จึงเหลือแต่สารพัดบัตรรถไฟฟ้าอย่างน้อย 3 ใบ ที่ยังคงเป็นภาระให้หนักกระเป๋ามาถึงตอนนี้ แม้บางธนาคารจะมีบัตรเดบิตร่วมกับบัตรแรบบิท หรือบัตรแมงมุม แต่ไม่รองรับระบบคอนแทคเลส คงต้องรอให้ธนาคารพัฒนาบัตรรุ่นใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงใช้งานระบบขนส่งมวลชนแทนเงินสดได้หลากหลาย โดยที่พกบัตรไม่กี่ใบ
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)