การแถลงข่าวแผนธุรกิจของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ผู้พัฒนาศูนย์การค้าในกลุ่มเซ็นทรัล นอกจากจะลงทุนกว่า 22,000 ล้านบาท พัฒนาโครงการมิกซ์ยูสรูปแบบใหม่ 3 แห่ง ที่อยุธยา ศรีราชา และจันทบุรีแล้ว ยังได้ปรับโฉมศูนย์การค้าเดิมอีก 2 แห่ง คือ รามอินทรา กับพระราม 2 พร้อมปรับปรุงอีก 12 แห่งทั่วประเทศ
ที่น่าสนใจก็คือ ทำเลถนนพระราม 2 ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2545 หรือเมื่อ 17 ปีก่อน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 เปิดให้บริการเป็นวันแรก ปลุกพื้นที่ค้าปลีกฝั่งธนบุรีให้มีชีวิตชีวามากขึ้น มาคราวนี้จะดำเนินกลยุทธ์ให้เป็นประตูกรุงเทพฯ ตอนใต้ เชื่อมโยงทุกทิศของขอบเมืองชั้นใน 3 สาขาให้กลายเป็น 4 ทิศอีกด้วย
เซ็นทรัลพัฒนา วางรูปแบบโครงการเซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 ให้เป็นศูนย์การค้าภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในโซนกรุงเทพใต้ พร้อมผลักดันให้ย่านพระราม 2 เป็นย่านชุมชนเมืองแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ (New Urbanized District) และเชื่อมโยงศูนย์การค้าขอบเมืองชั้นในของกรุงเทพฯ ได้แก่ ลาดพร้าว ปิ่นเกล้า และบางนา ที่ประสบความสำเร็จ
สำหรับโครงการเซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 บนเนื้อที่ 96 ไร่ บริเวณถนนพระราม 2 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ พื้นที่ 305,000 ตารางเมตร มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ศูนย์การค้า 59 ไร่ สัดส่วน 60% และสวนสีเขียว 37 ไร่ สัดส่วน 40% คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 ปี 2565
ศูนย์การค้า 59 ไร่ จะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคาร บริเวณลานจอดรถกลางแจ้งเดิม (Sky Parking) พร้อมพลิกโฉมด้านดีไซน์ใหม่ทั้งหมด เพิ่มร้านค้าใหม่ๆ ให้เป็น 400 ร้านค้า และปรับปรุงร้านค้าที่มีอยู่เดิม นอกจากนี้ ธุรกิจในกลุ่มเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ท็อปส์ มาร์เก็ต และบีทูเอส ก็จะปรับโฉมพร้อมกัน เพื่อรองรับกลุ่มกำลังซื้อสูง
สวนสีเขียวด้านหลัง 37 ไร่ จะปรับโฉมใหม่โดยใช้ชื่อ “เซ็นทรัล เพลิน ปาร์ค” ได้แก่ สวนอาหาร แฟชั่น ยิมสำหรับเด็ก พื้นที่ Multi-sport recreation ทั้งลู่วิ่ง, เลนจักรยาน, ร้านค้าขายสินค้าแนวสปอร์ต โรงพยาบาลสัตว์ ลานกิจกรรม สระว่ายน้ำสำหรับสัตว์เลี้ยง และร้านจำหน่ายสินค้าสัตว์เลี้ยง คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 ปี 2565
เมื่อส่องทำเลค้าปลีกโซนกรุงเทพใต้พบว่า กลุ่มเดอะมอลล์มีศูนย์การค้า 2 แห่ง ได้แก่ ท่าพระ และบางแค, ฟิวเจอร์พาร์ค บางแค, เมอร์รี่คิงส์ และโรบินสัน วงเวียนใหญ่ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เมอร์รี่คิงส์ และโรบินสัน วงเวียนใหญ่ล้มหายตายจาก ส่วนฟิวเจอร์พาร์ค ถูกเทคโอเวอร์จากกลุ่มซีคอนกลายเป็น ซีคอน บางแค แทน
นอกนั้นมีแต่ห้างค้าปลีก ทั้งบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ที่มีสาขามากถึง 8 แห่ง ได้แก่ ดาวคะนอง พระราม 2 ราษฎร์บูรณะ เพชรเกษม และสาขาจากการเทคโอเวอร์คาร์ฟูร์ คือ บางบอน พระราม 2 (สาขา 2) เพชรเกษม (สาขา 2) และบางปะกอก ส่วนเทสโก้ โลตัส มีไฮเปอร์มาร์เก็ต 3 แห่ง ได้แก่ พระราม 2 บางปะกอก และบางแค
เซ็นทรัลพัฒนา เคยลงทุนสร้างศูนย์การค้าจังหวัดปริมณฑลติดกับโซนกรุงเทพตะวันตกและกรุงเทพใต้ถึง 3 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัลพลาซา ศาลายา ปี 2557, เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต ปี 2558 และ เซ็นทรัลพลาซา มหาชัย ปี 2560 ขณะที่เซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า ก็ปรับปรุงและเปิดตัวโฉมใหม่ในปี 2559 ปัจจุบันให้บริการมานานถึง 24 ปี
ขณะที่เซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 ที่ผ่านมามีการปรับปรุงภายในไปบางส่วน อาทิ ปรับปรุงชั้นใต้ดินให้เป็นโซนธนาคาร แทนโฮมเวิร์คที่ย้ายออกไป, นำร้านยูนิโคล่มาไว้ด้านหน้าห้างฯ (ฝั่งสถานีรถตู้) ขณะที่สภาพทั้งภายในและภายนอกยังไม่ได้รีโนเวตครั้งใหญ่ เพราะอยู่ในระหว่างการเจรจาสัญญาเช่าที่ดินจากบุคคลภายนอก
ปีที่แล้ว เซ็นทรัลพัฒนาเพิ่งจะขยายสัญญาเช่าที่ดินของโครงการต่ออีก 30 ปี สิ้นสุดในปี 2598 และบางส่วนในปี 2603 เพื่อให้สามารถพัฒนาพื้นที่ได้อย่างเต็มรูปแบบและต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ได้ให้เช่าช่วงที่ดิน อาคารศูนย์การค้าและอาคารจอดรถแก่กองทุนซีพีเอ็น รีเทล โกรท (CPNREIT) ระยะเวลา 20 ปี จะสิ้นสุดในปี 2568
เมื่อถึงคราวเซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 ปรับโฉมครั้งใหญ่ในช่วง 1-2 ปีนี้ จึงกลายเป็นที่จับตามองถึงสมรภูมิค้าปลีก ท่ามกลางหมู่บ้านเกิดใหม่และชุมชนหนาแน่นในโซนกรุงเทพใต้ รวมทั้งโครงการเมกะโปรเจ็กต์อย่างทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ที่จะเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์สาย 81 กรุงเทพฯ-ปากท่อในอนาคต
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)