xs
xsm
sm
md
lg

“บีบีเอส”คว้าชัยยื่นสู้เมืองการบินอู่ตะเภา เล็งทำเลทองแหล่งรายได้ใหม่ทุ่มแสนล้าน

เผยแพร่:


หลังจากที่พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และประธานคณะกรรมการ คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนา สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้ประกาศแจ้งความคืบหน้าของ คณะกรรมการ คัดเลือกได้มีมติเห็นชอบให้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอ 2 ราย มีคะแนนผ่านเกณฑ์การประเมินข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) และเห็นชอบให้มีการดำเนินการ เปิดเอกสารข้อเสนอซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านราคา) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่ามีเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมิน 2 ราย (จากผู้ยื่นข้อเสนอ 3 ราย) ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) และกลุ่ม Grand Consortium ได้ส่งผู้แทนมาเข้าร่วมการเปิดเอกสารข้อเสนอซองที่ 3 อย่างพร้อมเพรียง

กองทัพเรือย้ำความโปร่งใส่การประมูล
สำหรับการดำเนินการเปิดเอกสารข้อเสนอซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านราคา) ทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ในเอกสารการคัดเลือกเอกชน และเป็นธรรม ต่อผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย ซึ่งในการเปิดเอกสารข้อเสนอซองดังกล่าวมีผู้แทน คณะกรรมการคัดเลือก ผู้แทนคณะทำงานฯ ผู้แทนกองทัพเรือ ผู้แทนสำนักงาน คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ที่ปรึกษา และผู้สังเกตการณ์ อิสระจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าสังเกตการณ์ รวมทั้งได้มี การบันทึกภาพนิ่ง ภาพวีดีโอ กล้องวงจรปิด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตลอดกระบวนการ
ทั้งนี้ คาดว่ากระบวนการคัดเลือกจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.62 และคาดว่าจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ ภายในเดือน ม.ค.63
แหล่งข่าวจากผู้เข้าร่วมประมูล เปิดเผยว่าทางกองทัพเรือ ได้ย้ำให้ผู้ร่วมประมูลทุกรายรับทราบว่าห้ามให้สัมภาษณ์หรือข้อมูลในการโครงการกับสื่อมวลชน ซึ่งทางกองทัพเรือและคณะกรรมการฯจะเป็นผู้แถลงและให้รายละเอียดและแจ้งความคืบหน้าในการประมูลเท่านั้น ซึ่งหากเอกชนรายใดไม่ปฏิบัติตามอาจจะต้องแพ้ฟาว์ทำให้เอกชนที่เข้าร่วมประมูลปิดปากเงียบไม่มีการให้ข่าวแต่อย่างใด


กลุ่มบีบีเอสให้ผลตอบแทนรัฐกว่า 5.9 หมื่นล.ทิ้งขาดคู่แข่ง
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า ในการเปิดซองข้อเสนอที่ 3 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านราคา ของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกนั้น กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) จ่ายผลตอบแทนสูงกว่ากลุ่ม Grand Consortium ซึ่งคณะกรรมการฯ จะสรุปผลการพิจารณาและแจ้งผลอย่างเป็นทางการ 21 ต.ค.นี้
เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสเสนอราคาสูงกว่าคู่แข่งเกินความคาดหมาย ทำให้รัฐได้รับประโยชน์ผลตอบแทนโครงการราว 5.9 หมื่นล้านบาท ทำให้คณะกรรมการฯตัดสินได้ง่ายในเรื่องซองราคา ประกอบกับเอกสารการรับรองฐานะการเงินของธนาคารที่เข้าร่วมสนับสนุนในโครงการมีการรับรองและมีแหล่งเงินทุนที่มีความน่าเชื่อถือในการดำเนินโครงการ

กลุ่มธนโฮลดิ้งเดินหน้าขวางร้องศาลปกครองไม่เลิก
ขณะเดียวกันกลุ่มกิจการร่วมค่า บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (หรือกลุ่มซีพี) ได้เดินหน้าเข้ายื่นศาลปกครองขอให้มีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินเพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ เปิดซองของกลุ่มซีพีตามขั้นตอนการประมูล พร้อมกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส และกลุ่ม Grand Consortium ที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาประเมินเอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค (ซอง 2) ไปเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 62 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ประกอบไปด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ (BA)ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ถือหุ้น 45% บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ของนายคีรี กาญจนพาสน์ ถือหุ้น 35% และบมจ.ซิโน-ไทย STEC ของตระกูลชาญ"วีระกุล" ถือหุ้น 20% ซึ่งปรากฏว่านายอนุทิน ชาญวีระกุล ยังมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 4.6% ซึ่งสามารถถือหุ้นได้เป็นไปตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่านายอนุทิน เมื่อมีตำแหน่งทางการเมืองและเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานเร่งรัดการประมูลในโครงการขนาดใหญ่ และเข้าร่วมถือหุ้นเป็นพันธมิตรในกลุ่มบีบีเอส จะมีความชอบธรรมและมีการขัดกันในผลประโยชน์ในเรื่องการประมูลเมืองการบินที่จะได้สัมปทานโคครงการขนาดใหญ่ของรัฐหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีความชัดเจน เพราะเกรงว่านายอนุทินจะติดกับดักในเรื่องนี้หรือไม่
ขณะที่กลุ่ม Grand Consortium ซึ่งประกอบไปด้วย บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค(PF) บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น(CNT) , บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ในกลุ่มบมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV)และ GMR Airport Limited จากอินเดีย ส่วนกลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตรประกอบด้วย 1. บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ 2. บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) 3. บมจ.ช. การช่าง (CK) 4. บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) และ 5. Orient Success International Limited
สำหรับกระบวนการคัดเลือกจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.62 และคาดว่าจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ ภายในเดือน ม.ค.63

บางกอกแอร์เวย์ส”ยังความพร้อมจับมือพันธมิตร
ก่อนหน้านี้นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA กล่าวกับ”ผู้จัดการายวัน 360 “ว่าโครงการเมืองการบิน (EEC) บริษัทฯ ร่วมยื่นซองประมูลในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ประกอบด้วย บ. บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มบางกอกแอร์เวย์ส และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการรอผลพิจารณา
“ตอนนี้ยื่นซองประมูลและต้องรอขั้นตอนการประมูล ซึ่งทางกลุ่มผู้ร่วมทุนยืนยันมีความพร้อมในการดำเนินโครงการ หากได้รับการคัดเลือกจะต้องมาเจรจาและแบ่งงานกันอีกครั้งว่าจะรับผิดชอบโครงการในส่วนใดบ้างเพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีการลงทุนนับแสนล้านบาท”

นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ในการดำเนินธุรกิจการบิน ขณะนี้มีการแข่งขันกันมากรวมถึงคู่แข่งขันที่เพิ่มขึ้น มีการตัดราคาค่าโดยสารและใช้ช่องทางการจำหน่ายทางออนไลน์ ทำให้บริษัทที่ประกอบธุรกิจการบินต้องมีการปรับตัวกันครั้งใหญ่ เพื่อความอยู่รอด ซึ่งจะหารายได้หลักจากธุรกิจการบินเพียงอย่างเดียวนั้นจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในอุตสาหกรรมการบิน จะต้องมีสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งช่องทางในการหารายได้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น

บางกอกแอร์เวย์สเล็งเมืองการบินแหล่งรายได้ใหม่ทำครบวงจร
สำหรับการเข้าร่วมโครงการประมูลเมืองการบินที่อู่ตะเภา ถือว่าเป็นโครงการใหม่ที่น่าสนใจมีการลงทุนและเม็ดเงินนับแสนล้าน การมีพันธมิตรที่เข้มแข็งมีความชำนาญในการสร้างสนามบินของญี่ปุ่นและมีประสบการณ์ในการก่อสร้างอาคาร ซึ่งแต่ละบริษัทเป็นผู้ที่มีความชำนาญจะช่วยพัฒนาให้เป็นเมืองการบินแห่งใหม่ในภาคตะวันออก ซึ่งเป้าหมายจะกลายเป็นฮับการบินด้านตะวันออกแห่งใหม่ ที่ใช้รองรับโครงการอีอีซี และมีโครงการศูนย์ซ่อมการบินของการบินไทยร่วมกับบริษัทผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่เข้ามาตั้งศูนย์ซ่อมในโซนนี้

ทั้งนี้ในการพัฒนาโครงการเมืองการบินแห่งใหม่ที่อุ่ตะเภา นี้บางกอกแอร์เวย์สซี่งมีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการด้านการบิน รวมถึงการบริหารสนามบินในภูมิภาคประสบความสำเร็จและเป็นที่เชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ในอนาคตยังจะเปิดโรงเรียนการบินเพื่อผลิตบุคลากรเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมการบินที่สุโขทัย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมในอุตสาหกรรมการบิน นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเช่น ครัวการบิน ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ร้านค้าปลอดภาษี คลังสินค้า ที่ยังต้องใช้พื้นที่เพื่อเสริมศักยภาพให้กับสนามบินใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอู่ตะเภา
อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะเป็นเป้าหมายการลงทุนแห่งใหม่ของบางกอกแอรเวย์สที่ต้องการทำให้ครบวงจรในอุตสาหกรรมการบิน ที่สร้างรายได้และรองรับสายการบินในเส้นทางใหม่ ๆ ที่ลดความแออัดจากสนามบินสุวรรณภูมิและผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางสู่ประตูอาเซียน และต้องหันมาใช้สนามบินอู่ตะเภาแห่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น