xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้น “ซีพี” เซ็นสัญญา “ไฮสปีดเทรน” จับตา STEC ส้มหล่นรับอานิสงส์

เผยแพร่:


จับตา 25 ต.ค. กลุ่ม “ซีพี” เซ็นหรือไม่เซ็น “ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน” 2.24 แสนล้านบาท หลังโดนภาครัฐจี้เร่งตัดสินใจ วงการหุ้นคาดหากขึ้น Blacklist พันธมิตร “ซีพี”จริง จะหนุน “ซิโน-ไทย”โดดเด่น หลังราคาทะยานแตะ27 บาทช่วงส.ค.และดิ่งลงจากผลงานไตรมาส 2/62 กดดัน จนล่าสุดกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงต้นปี ส่วนข่าวลือสะพัดไม่เลิกเล่นกำลังภายใน หนุน STEC ขณะที่ “ซีพี” เลี่ยงเซ็นเพราะไม่คุ้มหลังพลาด “อู่ตะเภา”

วันที่ 25 ต.ค.นี้ คงได้รู้กันว่า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-อู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ) หรือ "โครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน" มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท จะเริ่มเดินหน้าหรือไม่? เพราะน่าจะเป็นการส่งสัญญาณครั้งสุดท้ายของภาครัฐให้แก่ผู้ชนะประมูล “กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร” หรือ “กลุ่ม CPH” ต่อเรื่องดังกล่าว หลังคาราซังมานานนับตั้งแต่รู้ผลการประมูลในช่วงปลายปี 2561 และแต่ยังมีเงื่อนไขที่ต้องเจรจากับภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีการเจรจากันมาหลายรอบ ทั้งสองฝ่ายยอมลดเงื่อนไขไปหลายประการ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่กำลังจะหมดระยะเวลายื่นราคา ในวันที่ 7 พ.ย.2562

สำหรับสาเหตุของความล่าช้าในโครงการดังกล่าว ทั้งที่เป็นโครงการเรือธงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นเกิดขึ้นจาก เงื่อนไข TOR ที่ยังไม่ลงตัว จน “เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์” ถึงกับหล่นเหตุผลไว้ในประโยคสำคัญที่ว่า “เงื่อนไข TOR ยังมีบางอย่างที่ไม่ใช่”

และหากย้อนไปหลังชนะประมูล เป็นทางกลุ่ม CPH ที่ได้ยื่นเงื่อนไขนอก TOR ถึง 12 ข้อ ขึ้นโต๊ะเจรจากับคณะกรรมการคัดเลือก ฯ จนต้องมีการปิดห้องประชุมกันอย่างยืดเยื้อหลายครั้ง จนมีข่าวว่าจะมีการ “ล้มโต๊ะเจรจา” หลายหน แต่สุดท้ายก็เป็นทาง CPH ที่ยอมถอนเงื่อนไขทั้งหมดออกไป เพื่อให้การเจรจาดำเนินการต่อไปได้

มีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้โครงการนี้สะดุด หนีไม่พ้นการส่งมอบพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เจ้าของโครงการ ซึ่งเดิมเอกชนเข้าใจว่า จะมีการส่งมอบหรือมีความชัดเจนว่าจะส่งมอบให้ได้ทั้ง 100% ก่อนลงนามในสัญญาและเริ่มการดำเนินโครงการที่มีการกำหนดให้ก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ลงนามในสัญญา แต่แล้ว ร.ฟ.ท.เจ้าของพื้นที่กลับไม่สามารถรับปากได้ว่าจะส่งมอบให้ได้ทั้ง 100 % หรือจะครบ 100 % เมื่อใด

นอกจากนี้มีรายงานว่า “สุจิตต์ เชาว์ศิริกุล” รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ในฐานะประธานคณะทำงานการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระบุว่าทั้ง ร.ฟ.ท.และ CP เห็นตรงกันว่า จะร่วมลงนามในสัญญาไปก่อน จะยังไม่ส่งหนังสือให้เริ่มต้นทำงาน (notice to proceed : NTP) ของโครงการให้ เพื่อทั้ง 2 ฝ่ายจะได้มีเวลาเคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อย ดังนั้นเรื่องดังกล่าวจะทำให้เงื่อนไขการนับเวลาเริ่มก่อสร้างต้องยืดออกไปจากเดิมกำหนด 5 ปี

“คณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณารายละเอียด พร้อมส่งมอบและเคลียร์ผู้บุกรุก ที่ดินเวนคืน ระบบสาธารณูปโภค อาจเซ็นสัญญาไปก่อน ส่วนการเริ่มโครงการก็รอจนกว่าแผนส่งมอบพื้นที่ชัดเจน ซึ่งเราบอกว่าใช้เวลา 1-2 ปี แต่ CP ขอ 2-3 ปี ซึ่งการรีบออกหนังสือให้เริ่มงานทันทีที่เซ็นสัญญา ทาง CP ก็เสี่ยง หากเริ่มงานแล้วโครงการสะดุด จะมีค่าใช้จ่ายตามมา”

ไม่เพียงเท่านี้ นอกเหนือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแล้ว การขอเงินกู้ก้อนมหาศาลมาเพื่อดำเนินโครงการระดับแสนล้านนั้น ก็ยิ่งยากขึ้นไปด้วย เพราะเดิมสถาบันการเงินได้ประเมินโครงการนี้ว่า มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว เมื่อมีอุปสรรคการส่งมอบพื้นที่ที่ไม่มีความชัดเจน อาจทำให้โครงการสะดุด ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของโครงการมากขึ้นเป็นทวีคูณ

เนื่องจากพื้นที่ที่จะใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมทั้งสิ้น 4,421 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้าง 3,571 ไร่ และพื้นที่เวนคืน 850 ไร่ เบื้องต้น ร.ฟ.ท.อ้างว่า มีความพร้อมส่งมอบพื้นที่ 3,151 ไร่ หรือคิดเป็น 88% ของพื้นที่ทั้งหมด ในจำนวนนี้ รวม 100 ไร่ของที่ดินมักกะสันจากทั้งหมด 150 ไร่ และ 25 ไร่ของที่ดินบริเวณศรีราชา จ.ชลบุรี โดยในจำนวนพื้นที่ที่ยังไม่สามารถให้ความชัดเจนว่าจะส่งมอบให้นั้น มีอุปสรรคสำคัญ 2 กรณีหลัก ๆ คือ ที่บุกรุก 210 ไร่ มีผู้บุกรุก 513 ราย พื้นที่เช่า 83 สัญญา และพื้นที่ที่ยังมีสาธารณูปโภคสำคัญๆ อีกมากมาย ทำให้ทางกลุ่ม CPH ไม่อาจรับข้อเสนอดังกล่าวได้ เนื่องจากมีผลกระทบในเรื่องการลงทุน ที่ต้องแบกรับความเสี่ยงมากขึ้นจากเดิม ไม่ต่างจาก “ดื่มยาพิษ” ไปโดยไม่รู้ตัว

ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าโครงการนี้เป็นรูปแบบของการร่วมทุน PPP net cost แต่กว่าที่รัฐจะเข้ามาร่วมเสี่ยงลงเงินลงทุนด้วยก็ตั้งแต่ปีที่ 6 ต่อเนื่องไปเป็นเวลา 10 ปี ที่จะต้องแบ่งจ่ายเงินอุดหนุน 117,227 ล้านบาทที่กลุ่ม CPH เสนอ พร้อมดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านบาท หรือปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท นั่นหมายถึงช่วง 5 ปีแรกในช่วงการก่อสร้าง เอกชนต้องรับภาระความเสี่ยงแต่เพียงผู้เดียว อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนในการส่งมอบพื้นที่ เพิ่มความเสี่ยงของโครงการ จนต้องไปเผชิญกับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นไปด้วย

หากแต่ ความเสี่ยงที่มังกรธุรกิจอย่างเจ้าสัวธนินท์ ลืมคำนวณคือฝ่ายการเมืองที่จะเข้ามากำกับดูแล กระทรวงคมนาคม นั่นเพราะจาก “โครงการเร่งด่วน” ของรัฐบาล คสช.โดย พล.อ.ประยุทธ์ กลับกลายเป็น “ธุรกิจการเมือง” ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อ “ฝ่ายนโยบาย”  โดย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ภายใต้กำกับของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ออกมากดดันให้มีการเร่งลงนามในสัญญา โดยอ้างตามดำริของนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2562

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ หลังออกจากห้องประชุม นายศักดิ์สยาม ออกมาประกาศทันทีว่า ที่ประชุมที่มีมีนายอนุทิน เป็นประธาน กำหนดให้คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการที่มี นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.เป็นประธาน เร่งรัดกลุ่ม CPH ให้ลงนามพร้อมแนบหลักประกันสัญญาจำนวน 4,500 ล้านบาทภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้ หากไม่ลงนามจะถูกขึ้นบัญชีดำ (Black list) ปิดกั้นการประมูลงานในอนาคต เพราะเป็นผู้ทิ้งงานและจะริบเงินประกันซองราคา 2,000 ล้านบาททันที และให้เรียกกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR (BSR Joint Venture) เอกชนผู้เสนอวงเงินขอให้รัฐสนับสนุนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 169,934 ล้านบาท เกินจากกรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ที่ 119,425 ล้าน เป็นจำนวน 49,969 ล้านบาท มาเจรจาทันที โดยกลุ่ม CPH จะต้องจ่ายส่วนต่างที่เกินกรอบดังกล่าวด้วย

ขณะที่นายอนุทิน กล่าวเสริมว่า กลุ่ม CPH ผู้ชนะการประมูลต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ระบุไว้ใน TOR ในฐานะยื่นราคาต่ำสุด ที่ผ่านมาได้มีการเจรจาหลายรอบและได้ปรับปรุงเงื่อนไขที่ทำได้ รัฐบาลไทยในฐานะคู่สัญญาจะปรับปรุงเงื่อนไขไปมากกว่าสัญญาไม่ได้แล้ว เพราะจะมีผู้เสียหายเกิดขึ้นและผู้แก้ไขสัญญาจะมีความผิดมาตรา 157 คือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
 
สิ่งที่กดดันต่อฝ่ายผู้ชนะประมูลในรอบนี้คือ อาจจะต้องโดนแบล็กลิสต์จากรัฐ เป็นการเสียชื่อบริษัท ยิ่งกว่านั้นมันหมายถึงว่า นอกจาก CP แล้ว กลุ่มบริษัทที่ร่วมทุนทั้ง บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ก็จะได้รับผลกระทบในการประมูลงานรัฐในอนาคตด้วย เรียกว่าผลเสียมหาศาลจริงๆ

ขณะที่เงื่อนไขการส่งมอบพื้นที่ที่กลุ่ม CPH เห็นว่าเป็นอุปสรรคสำคัญนั้น ก็กลายเป็นหนังคนละม้วนในมุมมองของ นายอนุทิน ที่ได้กล่าวทำนองว่า การส่งมอบพื้นที่เกินกว่า 50% ถือว่าสามารถดำเนินโครงการได้แล้ว เพราะไม่มีโครงการภาครัฐที่เวนคืนที่ดินทั้งหมดได้ครบ 100% และไม่มีโครงการไหนที่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ครบ 100% แล้วเริ่มก่อสร้าง แต่ผู้รับเหมาจะก่อสร้างไปก่อนและทยอยรอรับการส่งมอบที่ดิน ซึ่งประเด็นนี้ สามารถหารือกัน เช่น ขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างเพิ่มเติม ดังนั้น การส่งมอบพื้นที่ให้ไม่ครบ 100% จึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่

แต่แล้วการเดินหน้ากดดันของภาครัฐกับมาสะดุด เนื่องจาก  บอร์ด ร.ฟ.ท. ได้ลาออกทั้งคณะ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อไปดูในวาระการพิจารณากลับพบว่า บอร์ด ร.ฟ.ท. ยังไม่ได้มีการประชุมเรื่องนี้ จึงไม่สามารถนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้ และต้องมีการแต่งตั้งบอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดใหม่ โดยคาดว่า จะนำเข้าสู่ ครม.ได้ภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้ นั่นทำให้จำเป็นต้องยืดเวลาตัดสินใจให้แก่กลุ่ม CPH ไปอีก10วัน เป็นวันที่ 25 ต.ค. 2562 แทน และยังไม่มีท่าทีที่แน้ชัดว่ากลุ่ม CPH จะตอบตกลงหรือไม่? 

อย่างไรก็ตาม การออกมาเร่งรัดกลุ่ม CPH ลงนามโครงการดังกล่าว ได้สร้างความสงสัยให้กับแวดวงตลาดทุนด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่า “อนุทิน” เป็นคนของตระกูล “ชาญวีรกูล” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีอำนาจในการบริหาร บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของประเทศ ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีคำถามตามมาชุดใหญ่มาถึงรองนายกฯ แม้จะยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจ เนื่องจากนักลงทุนหลายคนต่างมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อกดดันกลุ่ม CPH และเพื่อผลักดันกลุ่ม BSR ซึ่งมี STEC ร่วมวงด้วย โดยเฉพาะประเด็น การขู่ขึ้น Blacklist กลุ่ม CPH ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง เท่ากับว่าคู่แข่งของ STEC ไม่ว่าจะเป็น ช.การช่าง (CK) หรือ อิตาเลียนไทย (ITD) ที่อยู่ในกลุ่ม CPH ก็จะถูกขึ้นบัญชีดำไปด้วย ก็เท่ากับเปิดทางสะดวกให้ STEC ในโอกาสการคว้างานเมกะโปรเจกต์โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ในกำกับของกระทรวงคมนาคม ที่คิดเป็นวงเงินเกือบ 2 ล้านล้านบาท จนทำให้มีหลายต่อหลายเสียงเริ่มส่งสัญญาณให้นักลงทุนหันมาพิจารณาSTEC มีโอกาสปรับตัวขึ้นหากได้งานใหญ่เข้ามาอย่างต่อเนื่องในสภาพที่ไร้คู่แข่งขัน หลังก่อนหน้านี้STEC พร้อมพันธมิตรเพิ่งได้งานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ 

ขณะที่ราคาหุ้น STEC ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีความผันผวนไม่น้อยจากราคา 20.50 บาทต่อหุ้นในช่วงต้นปีสามารถทะยานขึ้นแตะระดับ 27.50 บาทต่อหุ้นในช่วง มิ.ย.ที่กำลังมีการจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยของ “อนุทิน” ก็เข้ามามีส่วนรวม อย่างไรก็ตามราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงหนักจนมาอยู่ที่ระดับ 18.30 บาทต่อหุ้น โดยนักวิเคราะห์ให้เหตุผลว่า การปรับตัวลดลงของราคาหุ้นนั้นสะท้อนมาจากผลประกอบการไตรมาส2/62 มีกำไรเพียง 267 ล้านบาทซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 305 ล้านบาท แต่ปัจจุบันราคาหุ้น STEC ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยโดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 20.20 - 20.50 บาทต่อหุ้น ปัจจุบันในแวดวงตลาดทุนมีการคาดการณ์ว่า ไม่ว่า CPH จะเซ็นสัญญาหรือไม่ ก็มีแนวโน้มส่งผลดีต่อ STEC ที่จะมีโอกาสทั้ง 2 ทาง นั่นคือหาก CPH เซ็นสัญญา ก็จะทำให้กลุ่มผู้รับเหมาซึ่งเป็นพันธมิตรทั้ง CK และ ITD ต้องเร่งดำเนินงานโครงการใหญ่ อาจจะกระทบกับการประมูลงานอื่นๆ ได้ ดังนั้น STEC จะได้เปรียบในการประมูลงานอื่น แต่ถ้าหากไม่ได้เซ็นสัญญาก็จะมีการขึ้นบัญชีดำจาก รฟท. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการรับงานของ CK และ ITD แต่จะเป็นโอกาสของ STEC

และไม่เพียงเฉพาะข่าวซุบซิบด้าน STEC และรองนายก “อนุทิน” ในฝั่งของกลุ่ม CPH ก็มีกระแสข่าวลือออกมาเช่นกันว่า ความล่าช้าของการลงทุนโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เกิดจากความผิดหวังของกลุ่มที่ไม่สามารถโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จนทำให้โครงการที่วางแผนไว้อาจไม่คุ้มค่าลงทุน เมื่อเทียบกับกรณีหากสามารถชนะและคว้างานได้ทั้ง2โครงการ

ท้ายสุด โครงการไฮสปีดเทรนจะเป็นลงเอยอย่างไร ข่าวลือและข้อกล่าวอ้างที่มีออกมาจากทั้ง 2 ฝ่ายจะจริงแท้แน่ชัดเพียงใด นอกจากคำชี้แจงจากผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่ได้รับผลกระทบ ก็คงมีแต่ระยะเวลาเท่านั้นที่จะเป็นบทพิสูจน์ ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ คงต้องลุ้นแบบวันต่อวันกันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น