xs
xsm
sm
md
lg

จับตาล้มไฮสปีด-รื้อสายสีส้ม ซิโน-ไทยฯกิน2เด้ง

เผยแพร่:


“อนุทิน - ศักดิ์สยาม” ถอยไม่สุด ยอมขยายเวลาเซ็นไฮสปีด 3 สนามบินอีก 10 วัน คาด “นายกฯประยุทธ์” สะกิดต้องให้โครงการเดินต่อได้ แต่หยิบ RFP มากดดัน “กลุ่ม CPH” ต่อ อ้างเอกชนต้องอ่านเงื่อนไขรอบคอบแล้วก่อนซื้อซอง บีบเซ็นสัญญาแบกความเสี่ยงเอง คาด CPH เซ็นจริงทำบริษัทพันธมิตรพอร์ตเงินกู้เต็มเข้าโครงการอื่นลำบาก แต่ไม่เซ็นก็โดน Blacklist เปิดทางกลุ่ม BRS เสียบแทน บังเอิญเหลือเชื่อ “เสี่ยหนู” รับส่วนตัวอยากรื้อสัญญา “รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก” เป็น “โยธา-เดินรถ” วิจารณ์หึ่งเปลี่ยนแนวทาง “รบ.ประยุทธ์ 1” วาง “สมการอำมหิต” เข้าทาง “ซิโน-ไทยฯ” ที่รอกิน “สองเด้ง” เสี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน

"พระจะสึก คนจะคลอด บอร์ดลาออก มันห้ามกันไม่ได้ ทั้งนี้ ไม่ได้ลำบากใจ เพราะเมื่อลาออก ก็ต้องตั้งใหม่ อย่างไรเสียโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินก็ต้องเกิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความหวังกับเรื่องนี้มาก"

คำให้สัมภาษณ์ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ต่อกรณีที่ คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ลาออกยกชุด จนมีผลต่อการลงนามในสัญญาสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ) ระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าการลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท ระหว่าง ร.ฟ.ท.กับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เอกชนผู้ชนะประมูล

ส่งผลให้ต้องเลื่อนกำหนดเส้นตายการเซ็นสัญญาจากวันที่ 15 ต.ค.62 ไปเป็นวันที่ 25 ต.ค.62 โดยระบุว่า เพื่อให้มีบอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่แทนเสียก่อน

น่าสนใจถือสาเหตุที่แท้จริงของการเลื่อนเส้นตายออกไปจากเดิม 10 วัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทั้ง นายอนุทิน และ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ในฐานะ รมว.คมนาคม ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า กลุ่ม CPH ต้องมาลงนามภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้ มิเช่นนั้นจะถูกริบค่ามัดจำจำนวน 2 พันล้านบาท และจะขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) บริษัทในกลุ่ม CPH ไม่ให้เข้าประมูลงานภาครัฐทั้งหมดด้วย

ก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน นายศักดิ์สยาม เองก็เพิ่งออกมากดดันกลุ่ม CPH อย่างหนัก และตอบโต้ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ที่ระบุในทำนองว่า โครงการไฮสปีด 3 สนามบินมีความเสี่ยงสูง แต่เชื่อว่ารัฐมีความเข้าใจจะทำให้โครงการผ่านไปได้ แต่ด้วยเงื่อนไขยังไม่เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง (TOR) จึงเห็นว่าภาครัฐต้องมาร่วมรับความเสี่ยงด้วย

โดย นายศักดิ์สยาม ยืนยันว่า ภาครัฐไม่สามารถช่วยรับความเสี่ยงได้ เพราะอยู่นอกเหนือเงื่อนไขในเอกสารประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (RFP) กำหนด โดยข้อที่ 50.1 ระบุว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องรับภาระความเสี่ยง และมั่นใจว่าเอกชนจะต้องมีการอ่าน RFP อย่างรอบคอบแล้ว ก่อนมายื่นข้อเสนอโครงการระดับแสนล้านบาท

“ยืนยันว่าหากวันที่ 15 ต.ค.62 ผู้รับงาน คือ กลุ่ม CPH ยังไม่มาลงนามในสัญญาก็จะต้องถูกริบหลักประกันซอง ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขนี้ไว้ในข้อ 56.3 ของ RFP ส่วนจะมีการขึ้น Black list หากกลุ่ม CPH ไม่มาลงนามตามกำหนดได้หรือไม่นั้น ได้มอบหมายให้ นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ไปพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร” รมวงคมนาคม ว่าไว้

ชั่วข้ามคืนท่าทีของนายศักดิ์สยามกลับดูอ่อนลง โดยยอมรับว่าต้องขยายระยะเวลาลงนามในสัญญาไปอีก 10 วัน เนื่องจากบอร์ด ร.ฟ.ท.ลาออกทั้งชุด

“การลงนามตามกำหนดการเดิมในวันที่ 15 ต.ค.นี้จะส่งผลให้สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะทันที เนื่องจากหากไม่มีบอร์ด ร.ฟ.ท. สัญญาจะไม่มีผลผูกพันกับ ร.ฟ.ท.ทันที ซึ่งจากกรณีดังกล่าว จึงถือเป็นสิทธิที่ผู้ว่าจ้าง คือ ร.ฟ.ท.สามารถที่จะแจ้งเลื่อนวันเซ็นสัญญาได้ สาเหตุมาจากความจำเป็น และสั่งการให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ จัดทำหนังสือไปแจ้งกลุ่ม CPH ในกำหนดการลงนามสัญญาใหม่วันที่ 25 ต.ค.นี้อีกครั้งแล้ว”

ทั้งที่กรณีบอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดที่มี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้ยื่นหนังสือลาออกทั้งชุด และมีผลไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม หรือกระทั่งนายอนุทิน ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดถึง และมีท่าทีสอดรับกันในการกดดันให้กลุ่ม CPH มาเซ็นสัญญาตามกำหนดมาโดยตลอด

เมื่อถอดรหัสคำให้สัมภาษณ์ล่าสุดของนายอนุทินที่มีการกล่าวอ้างถึงนายกฯ รวมทั้งนายศักดิ์สยามที่ว่า “ได้เรียนให้ นายกรัฐมนตรี ทราบแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้รีบดำเนินการโดยเร็ว” ก็พออนุมานได้ว่า กรณีบอร์ด ร.ฟ.ท.ลาออกนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หากแต่บัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้ความสำคัญโปรเจ็คต์นี้เป็นพิเศษ มากกว่าที่ทำให้ 2 คู่หูจากค่ายภูมิใจไทยปรับท่าที

คล้ายว่า กระทรวงคมนาคม ภายใต้กำกับของนายอนุทินและนายศักดิ์สยาม จะ “ยอมถอยหนึ่งก้าว” เพื่อคลี่คลายภาวะตรึงเครียด ผ่อนปรนเวลาการตัดสินใจเพิ่มอีก 10 วัน เพื่อให้กลุ่ม CPH ได้ตรึกตรอง แล้วโครงการเดินหน้าต่อได้

แต่อีกมุม ก็ไม่ได้โอนอ่อนให้กับข้อเรียกร้องของกลุ่ม CPH โดยเฉพาะเรื่องการส่งมอบพื้นที่ และกำหนดการส่งมอบมอบพื้นที่ให้ครบทั้ง 100% แต่อย่างใด เพราะ “ในระหว่างบรรทัด” นายอนุทินเองก็ระบุว่า ที่ข้อเท็จจริงขณะนี้คือ ร.ฟ.ท.สามารถส่งมอบได้ 72% แล้ว ก่อนมาซื้อซองประมูล ฝ่ายเอกชนต้องเห็นเงื่อนไขแล้ว เรียกว่า RFP เท่ากับรับทราบเงื่อนไขทั้งหมด และเราไม่เคยขอให้ใครมาประมูล แต่เอกชนจ่ายเงินเป็นล้านบาทซื้อซองประมูลเอง ที่ผ่านมาไม่แค่เอกชนต้องทำตามเงื่อนไข แต่รัฐก็ต้องทำ มาถึงตอนนี้ รัฐก็ทำตาม RFP แล้ว รัฐได้คุยกับเอกชนมาตลอด และรัฐทำได้ไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ถ้าเอกชนไม่เข้าใจก็ย้อนไปดู RFP แล้วทำตามนั้น และถ้า 25 ต.ค. เอกชนไม่มา ก็มีขั้นตอนต่อไป ขอย้ำว่า ถ้าโครงการนี้ไม่เกิด จะกระทบกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน

ซึ่งต้องยอมรับว่า นายอนุทิน ถือเป็นผู้ที่รู้รายละเอียดเงื่อนไขของโครงการนี้ดีที่สุดคนหนึ่ง ไม่เพียงแต่ในฐานะรองนายกฯกำกับกระทรวงคมนาคม แต่เป็นในฐานะที่เป็นทายาทและอดีตผู้บริหารใหญ่ของ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ที่เรียกกันคุ้มปากว่า “ซิโน-ไทย” บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ที่มีรายได้เป็น 1 ใน 3 ของประเทศ

สำคัญตรงที่ STEC หนึ่งในพันธมิตรกลุ่ม BSR ที่ประมูลแพ้กลุ่ม CPH ในโครงการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่เสนอราคาไปสูงกว่าถึง 5 หมื่นกว่าล้านบาท เมื่อสัปดาห์ก่อน นายอนุทินในฐานะรองนายกฯกำกับกระทรวงคมนาคม ยังเคยหลุดให้สัมภาษณ์ว่า “รู้สึกยินดีมากที่ได้กลุ่ม CPH เข้ามาประมูลเพราะเสนอต่ำกว่าราคากลาง และต่ำว่าคู่แข่งถึงประมาณ 5 - 6 หมื่นล้านบาท ราคาแบบนี้ หาไม่ได้อีกแล้ว”

ถ้าพูดในมุมของภาครัฐคงเป็นคำพูดแสดงความยินดีจริงๆ แต่ถ้าพูดในมุมของ “ทายาทซิโน-ไท” ก็คงเป็นอีกเรื่อง

เชื่อว่าการขยายเวลาเส้นตาย แต่ยังยืนยันจุดเดิมเช่นเดิมของฝ่ายกระทรวงคมนาคม คงไม่ได้ส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะอย่างไรกลุ่ม CPH ก็จำเป็นต้องยืนยันข้อเรียกร้องในการส่งมอบพื้นที่และกำหนดการส่งมอบพื้นที่ทั้ง 100๔ เนื่องจากมีผลต่อการหาแหล่งเงินกู้เพื่อมาลงทุน ด้วยเป็นโครงการที่สถาบันการเงินประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว

มาถึงขั้นนี้แล้ว สภาพของกลุ่ม CPH ก็ไม่ต่างจาก “ซดยาพิษ” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเดินหน้าเซ็นสัญญา หรือจะถอนตัวออกจากโครงการ ก็อาจไม่ได้ถอนพิษออกจากตัว

เป็นที่ทราบกันว่า หากกลุ่ม CPH ผู้ชนะประมูลเลือก “ยกธงขาว” ถอนตัวจากโปรเจ็คต์นี้ “ส้มหล่น” ไปที่กลุ่ม BSR ที่มี “ซิโน-ไท” ร่วมอยู่ด้วยในการเข้ามาเจรจากับภาครัฐแทน โดยสามารถยืนราคาเดิมที่เคยยื่นประมูลไว้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายส่วนต่างหากมีการดำเนินโครงการนั้น กลุ่ม CPH ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

แต่หากกลุ่ม CPH “กลืนเลือด” เซ็นสัญญาไป โดยที่ภาครัฐยืนยันจุดยืนเดิม ก็ทำให้ต้องแบกความเสี่ยงในเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ที่ส่งผลให้ดอกเบี้ยในการกู้เงินเพิ่มสูงขึ้น เพดานเงินกู้หรือพอร์ตเงินกู้ ทก็จะสูงขึ้นจากที่เคยประเมิน ทำให้พันธมิตรในกลุ่ม CPH แบกรับภาระเงินกู้บวกดอกเบี้ย กันแบบ “เต็มกราฟ”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสมาชิกในกลุ่ม CPH มี บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK) สองบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ผู้รับสัมปทานบริหารทางด่วนและเดินรถไฟฟ้า กับกระทรวงคมนาคม รวมอยู่ด้วย

เมื่อพอร์ตเงินกู้มาจมอยู่กับโปรเจ็คต์นี้ การจะไปในโครงการเมกะโปรเจ็คต์อื่นๆของกระทรวงคมนาคม ที่มีอยู่ในแผนร่วม 2 แสนล้าน ก็อาจจะเป็นไปไม่ได้อีก หากไม่มีการเคลียร์ “พอร์ตเงินกู้” ที่ไปจมอยู่กับไฮสปีด 3 สนามบิน

ถือเป็นการตัดคู่แข่งในวงการรับเหมาไปได้หลายราย ย่อมทำให้คู่แข่งรายอื่นทางสะดวกมากขึ้นนในการแข่งขันประมูลโครงการต่อๆไป ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มี “STEC – ซิโน-ไท” รวมอยู่ด้วย

บังเอิญหรือตั้งใจไม่ทราบได้ โครงการสำคัญอีกโครงการหนึ่งของกระทรวงคมนาคม ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในช่วงนี้พอดิบพอดี นั่นคือ การสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก (บางขุนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ที่เดิม คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ “บอร์ด PPP” ที่ได้เห็นชอบในหลักการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ในรูปแบบ PPP Net Cost ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ม.ค.62

เหลือเพียงขั้นตอน กระทรวงคมนาคม นำเสนอต่อ ครม.เท่านั้น แต่กระทรวงคมนาคมขอนำโครงการไปทบทวน โดยมีการให้เหตุผลว่า ในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา มีข้อสังเกตจาก กระทรวงการคลัง ที่ว่าหากรัฐลงทุนก่อสร้างงานโยธาในโครงการนี้เองจะถูกกว่า

รับกับท่าทีของ 2 รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย ทั้ง นายอนุทิน และนายศักดิ์สยาม ที่ให้ความเห็นออกมาเป็นระยะๆว่า ต้องทบทวนรูปแบบการลงทุน เพื่อให้รูปแบบเหมาะสมมากที่สุด โดยมี 2 ทางเลือก คือ รัฐร่วมทุนกับเอกชนในการก่อสร้างและเดินรถ ซึ่งเป็นแนวทางที่บอร์ด PPP อนุมัติไว้ กับให้รัฐลงทุนงานก่อสร้างโยธา เอกชนลงทุนงานเดินรถ

ล่าสุด นายอนุทิน ก็เผยไต๋ออกมาว่า “ส่วนตัวเสนอให้แยกงานกัน เอกชนดูแลงานเดินรถ รัฐดูแลงานโยธา เพราะทำแบบนี้มาตลอด ซึ่งไม่เคยเห็นปัญหา ทั้งยังเป็นการกระจายความเสี่ยง และกระจายรายได้มากขึ้น ให้เม็ดเงินหมุนเวียนกว้างที่สุด”

เป็นที่วิพาก์วิจารณ์กันกระหึ่มวงการรับเหมา ว่าเหตุที่ต้อง “แบ่งเค้ก” หรือ “ซอยสัญญา” แยกเป็น “ก่อสร้าง” หนึ่งสัญญา และ “ประมูลเดินรถ” อีกหนึ่งสัญญา เพื่อเอื้อประโยชน์กับ “เอกชนบางราย”

เพราะมีเงื่อนไขว่าเอกชนรายดังกล่าว มีความถนัดในงานโยธา แต่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเดินรถมาก่อน

ท่าทีของ 2 รัฐมนตรีภูมิใจไทยใน 2 โปรเจ็คต์ยักษ์ จาก “ไฮสปีด 3 สนามบิน” มาถึง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” กลายเป็น “สมการอำมหิต” แบบ “คนละเรื่องเดียวกัน” และอาจทำให้ “ทุนใหญ่บางเจ้า” เข้าวิน “สองเด้ง” ทันที

ขยาย “สมการอำมหิต” ให้เห็นภาพ หากกลุ่ม CPH เซ็นสัญญาไฮสปีดฯ ก็จะส่งผลให้ 2 ยักษ์ใหญ่ “ช.การช่าง - อิตาเลียนไทย” อ่อนกำลังในการเข้าร่วมแข่งขันในโครงการสายสีส้มได้ โดยเฉพาะหากมีการแยกสัญญาโยธา – เดินรถออกจากกัน ในทางกลับกันหากกลุ่ม CPH ไม่ลงนามตามกำหนด ก็เท่ากับตัด “ช.การช่าง - อิตาเลียนไทย” ที่โดนบัญชีดำออกจากสารบบ และ “BEM” ก็ออกเข้าร่วมประมูลในสัญญาเดินรถด้วย

ตามสมการนี้เอกชนผู้ที่เตรียมเข้าร่วมประมูลในโครงการสายสีส้มก็ยิ้มกริ่ม โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่า กลุ่ม BSR ที่ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS), บริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) ให้ความสนใจโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นพิเศษอยู่เป็ฯทุน หลังจากพ่ายแพ้ให้กับกลุ่ม CPH ในโครงการไฮสปีด 3 สนามบิน

ยิ่งหากมีการซอยสัญญา เป็น “ก่อสร้าง-เดินรถ” ตามแนวทางรองนายกฯและรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ก็ยิ่ง “แบ่งเค้ก” กันง่าย เพราะในเรื่องเดินรถนั้น นอกจาก BTS แล้ว ก็เห็นจะมีเพียง BEM ที่พอสมน้ำสมเนื้อกัน ขณะที่ในแง่งานโยธา เมื่อไร้ “ช.การช่าง - อิตาเลียนไทย” คงพูดไม่เกินเลยว่าเป็นการปูพรมแดงให้กับ “ซิโน-ไท”

หากเป็นไปตาม “สมการอำมหิต” นี้ คำถามย่อมมีว่าการที่ นายอนุทิน ในฐานะทายาทและอดีตผู้บริหารซิโน-ไท เข้ามาปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินของ พล.อ.ประยุทธ์ ใน 2 โครงการสำคัญ แล้วบังเอิญว่าเป็น “ซิโน-ไท” ที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ

แบบนี้เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ท่านนายกฯประยุทธ์.
กำลังโหลดความคิดเห็น