Artifical intelligence (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ถ้าพูดถึงในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา หลายคนมองว่า เป็นสิ่งที่ไกลตัวคนไทยมาก ภาครัฐ เองไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือ รับมือกับการเข้ามาของ AI มากนัก จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี อย่างรวดเร็ว จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวอย่างโทรศัพท์มือถือ ทำให้คนไทยต้องหันมาตระหนัก ถึงการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี AI ที่เกิดขึ้น และค่อยๆ แทรกซึมเข้ามา โดยที่ไม่รู้ตัว และกระทบกับทักษะแรงงานไทย ในอนาคต
วิจัยทักษะแรงงานไทยรับมือ AI
ด้วยเหตุนี้ ทาง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ DPU X ได้ทำการวิจัยทักษะแรงงานในอนาคต ของไทย (Skill Set for Future workforce in Thailand) กับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี AI โดยการวิจัยในครั้งนี้ จุดประสงค์ เพื่อให้ความรู้กับนิสิต นักศึกษา ได้ตระหนักถึงบทบาทของตนเอง ที่จะออกไปเป็นแรงงานในอนาคต ว่า จะต้องปรับตัว และรับมือกับการเข้ามาแทนที่ของ AI ได้อย่างไร
โดยการวิจัยในครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญ และทีมวิจัย ของทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ประกอบด้วย นาย พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการสถาบัน DPU X ผศ.ไพรินทร์ ชลไพศาล ผู้ชำนาญการอาวุโส DPU CORE และอาจารย์ดวงจันทร์ วรคามิน อาจารย์ประจำวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี ซึ่งการวิจัยดังกล่าวมีการอ้างอิงบทความ และงานวิจัยจากทั่วโลก ที่นำเสนอผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ AI ที่จะเกิดขึ้นกับแรงงานมนุษย์ ในช่วง 10ปีเมื่อ AI สามารถเข้ามาทำงานทดแทนทักษะบางอย่างของมนุษย์ รวมถึงแรงงานจะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้อยู่รอดจากการเพิ่มขึ้นของ AI
นายพณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการสถาบัน DPU X แห่งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวถึงการศึกษาวิจัยดังกล่าว ว่า งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามเกี่ยวกับโลกในอนาคต ที่การพัฒนาเทคโนโลยีจะก้าวไปอย่างรวดเร็ว และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น จึงมีการตั้งคำถามว่าในอนาคตควรที่จะผลิตบัณฑิตในรูปแบบใดออกมา ซึ่งการที่จะสามารถวิเคราะห์เรื่องนี้ได้ เราจำเป็นที่จะต้องรู้หน้าตาของตลาดแรงงานใน 5-10 ปีข้างหน้า เพื่อที่จะผลิตคนให้สอดรับกับโลกในอนาคต
โดยการทำงานวิจัย นี้ ได้ใช้วิธีศึกษาวิจัย 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก คือ เทคนิค โดยนำข้อมูลเบื้องต้นไปสัมภาษณ์ผู้เชียวชาญ นักวิชาการ ผู้บริหาร เพื่อระดมความคิด ขั้นตอนที่สอง คือ วิเคราะห์เทคนิค ใช้การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก ที่ส่งผลกระทบต่อทักษะแรงงานในอนาคต ซึ่งสุดท้าย พบว่า หลายประเทศมีภาพที่ออกมาคล้ายๆ กัน แบ่งได้เป็น 3 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 การมองอนาคต ก่อนปี 2030 หรือก่อน 10 ปี พบว่า ช่วงนี้ เป็นช่วงของการพัฒนาและการถ่ายทอดข้อมูลให้กับ ระบบ AI เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ และ ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ 10ปี ต่อจากนี้ ตั้งแต่ปี 2030-2050 เป็นช่วงที่มีการนำระบบ AI เข้ามาทำงานบางประเภทแทนมนุษย์ได้ ซึ่งเป็นช่วงที่มนุษย์ต้องทำงานร่วมกับ AI และ ช่วงที่ 3 หลัง ปี 2050 เป็นต้นไป คือ ระบบ AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ เพราะเก่งกว่ามนุษย์ 1000 เท่า ซึ่งจะทำให้ชุดทักษะของมนุษย์ต้องเปลี่ยนไป ทำให้เราต้องกลับมานั่งคิดว่า จะสอนนักศึกษาต่อจากนี้ไปอย่างไรให้เข้ากับบริบทของงานวิจัย และเพื่อให้นักศึกษาเหล่านี้ออกไปเป็นแรงงานที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต
แรงงานไทย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ทั้งนี้ จากผลการวิจัย ทาง “อาจารย์พณชิต” กล่าวถึงการปรับตัว และทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงานมนุษย์ ในแต่ละช่วงไว้ ดังนี้ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ ปี 2020-2029 ทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงานมนุษย์ ได้แก่ การออกแบบแนวคิด หรือความคิด การเปลี่ยนแปลงแนวคิดที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การใช้เทคโนโลยีแบบโมบาย การทำงานร่วมมือกันเป็นทีม โดยไม่จำเป็นต้องทำงานในที่เดียวกัน รวมทั้งจะต้องเตรียมพร้อมมนุษย์ ในการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่
โดยในช่วงที่ 2 ปี 2030-2049 แม้มนุษย์ต้องทำงานไปด้วยกันกับ AI แต่ก็ต้องเน้นการใช้ทักษะคิดวิเคราะห์ การสร้างมูลค่าให้กับสินค้าหรือบริการ และช่วงที่ 3 ปี 2050-2060 แรงงานมนุษย์ต้องมีชุดทักษะ เพื่อการใช้ชีวิตที่มี AI ทำงานแทนคน เช่น การทำงานร่วมกันแบบเสมือนที่มีการใช้การเขียนโปรแกรมและการเป็นที่ปรึกษาเป็นหลัก มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น อาชีพที่ปรึกษาด้านปรัชญา นักออกแบบห้องเสมือนจริง นักออกแบบอาชีพ นักออกแบบเวลาว่าง เป็นต้น ทั้งนี้ ส่วนตัวตนมองว่าหาก AI เข้ามาแทนที่อาชีพที่จะหายไป คือ นักบัญชี ที่ทำหน้าที่เพียงการกรอกข้อมูลบัญชี หรือ แรงงานด้านอุตสาหกรรมที่ทำงานแบบเน้นความแม่นยำ ซึ่งตรงนี้การลงทุนกับ AI จะคุ้มค่ากว่ามนุษย์
สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น ตนมองว่าอาจจะช้ากว่าต่างประเทศ เพราะผู้สร้าง AI ในประเทศเรามีน้อย ส่วนใหญ่เราจะเป็นผู้ใช้ AI มากกว่า และทักษะที่เราควรมี คือ ความคิดสร้างสรรค์เข้าใจเทคโนโลยี การใช้เครื่องมือทางดิจิทัล ใช้ AI ได้ โดยไม่ต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ ต้องมีฐานความรู้เรื่องข้อมูล และฐานข้อมูล เตรียมความพร้อมในการปรับตัวทั้งรูปแบบในการทำงาน พร้อมการเรียนรู้ตลอดเวลา ต้องรักษาสมดุลระหว่างทักษะด้านวิชาการ ด้านอารมณ์ และทักษะทางสังคม ต้องฝึกการคิดระบบ กระบวนการคิดแบบตรรกะ คิดเชิงปรัชญา การใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และมีทักษะในการมองเห็น และเข้าใจโลก
อาชีพที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเกิดขึ้น AI
ด้านผศ.ไพริน ชลไพศาล ผู้ชำนาญการอาวุโส DPU กล่าวถึง อาชีพ หรือ กลุ่มแรงงานที่จะได้รับผลกระทบ คือ งานทุกอย่างที่มนุษย์ไม่อยากทำ จะถูกเข้ามาแทนทีด้วย AI อย่างง่ายด้าย และกลุ่มที่ไม่ใช้ทักษะ หรือ การทำงานแบบซ้ำ อย่างเช่น พนักงานบัญชี ที่กรอกข้อมูลแบบซ้ำ พนักงานต้อนรับ พนักงานรับโทรศัพท์ หรือ แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ที่ใช้AI เข้ามาทดแทนได้ หรือ งานทุกอย่างที่สามารถใช้สมาร์ทโฟน เข้ามาแทนทีได้ ซึ่งตอนนี้ เราก็ได้เห็นการเข้ามาแทนที่ของ AI แล้วในหลายงานที่อยู่ในสมาร์ทโฟน ซึ่งคงไม่ต้องรอให้ผ่านไปถึง 10 ปี เชื่อว่าอีก 2-3 ปีนี้ จะได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่กระทบแรงงานมนุษย์ในทักษะด้านอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม นอกจากมนุษย์ จะต้องพัฒนาทักษะให้เหนือกว่า AI ในทุกด้านๆ แล้ว สิ่งที่มนุษย์ได้รับถ้าสามารถทำงานได้เหนือกว่า AI ก็คือ ผลตอบแทน มนุษย์ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น และการรับสมัครพนักงาน จะได้มาดูแค่คะแนน จากการเรียน แต่จะใช้การวัดทักษะ การแก้ปัญหา การครีเอท การเรียนรู้ด้านดิจิทัล เช่น การเรียนนิเทศ ต่อไป เราก็คงจะไม่ต้องเป็นนักข่าว เป็นนักหนังสือพิมพ์ แต่สามารถทำงานของเราเอง มีคอนเท็น มีแอปพลิเคชั่น ของเราเอง ที่ช่วยเหลือคนได้ ก็สามารถหาเงินได้มากกว่าการเป็นพนักงานบริษัท เป็นต้น
สำหรับอาชีพคนรุ่นใหม่ในอนาคต คือ การเป็นฟรีแลนด์ ดังนั้น สิ่งที่แรงงานไทยจะต้องปรับตัว คือ การเรียนรู้ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ต้องรู้จักที่จะบริหารจัดการตัวเองให้ได้ การทำงานรูปแบบของออฟฟิศ จะลดบทบาทลงไป ทุกคนสามารถทำงานที่บ้าน หรือที่ไหนๆ ก็ได้ ส่วนการทำงานในออฟฟิศจะเน้นการทำงานเป็นทีมร่วมกัน มากกว่าการทำงานคนเดียว การทำงานไม่ควรจะเหมือนกัน เพราะการแตกต่าง ทำให้AI ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ทุกคนจะต้องมีคาแรคเตอร์ ที่เป็นของตัวเอง แต่จะต้องมีคุณค่า แค่นี้ จะมีคนยอมจ่ายเงินจ้างเรา และสิ่งสำคัญ คือเราต้องพัฒนาทักษะของ เราตลอดเวลา แค่นี้ แรงงานมนุษย์จะอยู่รอดได้
ด้าน นางสาว ชนิยดา จิ้วสะ นักศึกษา วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มธบ. กล่าวถึงบทบาทของตัวเองในฐานะนักศึกษา ที่จะต้องออกไปเป็นแรงงานในอีก 3 ปีข้างหน้า ว่า โดยส่วนตัวมีการเตรียมความพร้อมระดับหนึ่งในฐานะตนเองเรียนในสาขาที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาแทนที่ของ AI ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า นักบัญชี เป็นอีกหนึ่งอาชีพ ที่AI จะเข้ามามีบทบาทค่อนข้างมาก และอนาคตถูกมองว่าเป็นอาชีพที่เรียนแล้วตกงาน แต่สำหรับตัวเองมองว่าอีก 10 ปีข้างหน้านั้น นักบัญชีจะไม่ตกงาน เพราะการเรียนการสอนนักบัญชีในขณะนี้ ได้สอนให้นักบัญชีรุ่นใหม่ต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ สามารถมองเห็นภาพรวมในการทำงานได้ และนักบัญชีรุ่นใหม่มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ภาษี เรียนรู้เกี่ยวกับทุกเรื่องของบัญชีอีกทั้งนักบัญชีจะต้องเป็นคู่คิดให้กับผู้บริหาร ดังนั้น ในองค์กรไม่สามารถขาดนักบัญชีได้ จึงอยากฝากนักบัญชีรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของอาชีพตนเอง และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *