xs
xsm
sm
md
lg

ไฮเทคอย่างล้ำ “สนามบินปลาดาว”

เผยแพร่:

ภาพมุมสูงที่มาของชื่อ “สนามบินปลาดาว”
จีนขนกองทัพเทคโนโลยีล่าสุดมาใส่ใน “สนามบินปลาดาว” พร้อมพรั่งทั้งระบบ 5G เร็วแรงสุดๆ ระบบจดจำใบหน้าขั้นสูง และหุ่นยนต์อัจฉริยะ ฯลฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันท้าทายฮับการบินเจ้าเก่าอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง รวมถึงฮับหน้าใหม่ไฟแรงอย่างกรุงเทพฯ โซล และกัวลาลัมเปอร์ ตลอดจนรองรับแนวโน้มที่แดนมังกรจะขึ้นเป็นตลาดการบินใหญ่ที่สุดของโลกในช่วงกลางทศวรรษ 2020 แทนที่อเมริกา

ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่งต้าซิงที่สื่อจีนตั้งชื่อให้ว่า “สนามบินปลาดาว” ตามภาพจากมุมสูง (แม้ตามดีไซน์ของซาฮา ฮาดิก สถาปนิกของโปรเจ็กต์นี้ที่เสียชีวิตเมื่อปี 2016 ระบุว่า เป็นรูปนกฟินิกซ์ก็ตาม) มีความหมายยิ่งยวดเชิงสัญลักษณ์สำหรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่กำลังเผชิญความท้าทายทั้งในและนอกประเทศ อย่างที่รู้กันดีคือ สงครามการค้ากับอเมริกา ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และการประท้วงใหญ่ยืดเยื้อในฮ่องกง

สนามบินใหม่ที่ใช้ทุนสร้างถึง 80,000 ล้านหยวน (11,200 ล้านดอลลาร์) และสื่อของรัฐอวดว่า เป็น “เกตเวย์ใหม่” สู่ประเทศจีนนั้น เพิ่งเปิดตัวสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 25 กันยายน ก่อนพิธีฉลอง 70 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 1 ตุลาคม โดยมี 4 รันเวย์ในช่วงแรก และจะเพิ่มเป็น 7 รันเวย์ในที่สุด ซึ่งรวมถึง 1 รันเวย์สำหรับเครื่องบินทางทหาร
พื้นที่อาคารผู้โดยสารของต้าซิงมีขนาด 700,000 ตารางเมตร รองรับนักเดินทางได้กว่า 100 ล้านคนต่อปี พร้อมรับมือแนวโน้มการเติบโตของตลาดการบินจีนที่สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดว่า จะมียอดผู้โดยสารรวม 1,600 ล้านคนภายในสองทศวรรษ และกลายเป็นตลาดการบินใหญ่ที่สุดของโลกแทนที่อเมริกาในช่วงกลางทศวรรษ 2020

ขณะที่จีนเองตั้งเป้าเพิ่มสนามบินพาณิชย์เป็น 450 แห่งภายในปี 2035 หรือเกือบสองเท่าของปีที่แล้ว รวมทั้งยังพัฒนาเครื่องบินแข่งกับโบอิ้งและแอร์บัส
ต้าซิงซึ่งเป็นสนามบินแห่งที่สองของปักกิ่งจะทำให้เมืองหลวงแห่งนี้รองรับนักเดินทางเพิ่มขึ้นถึง 60% และลดความแออัดของท่าอากาศยานนานาชาติกรุงปักกิ่ง ที่ถือเป็นสนามบินที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดอันดับ 2 ของโลกรองจากแอตแลนตาของอเมริกา นอกจากนั้นยังทำให้ปักกิ่งเป็นมหานครที่มีท่าอากาศยานนานาชาติมากกว่า 1 แห่ง เช่นเดียวกับลอนดอน นิวยอร์ก และโตเกียว

การเปิดตัวของต้าซิงยังทำให้จีนมีความพร้อมมากขึ้นที่จะแข่งขันกับฮับการบินเจ้าเก่าของเอเชียอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง รวมถึงฮับหน้าใหม่ไฟแรงอย่างกรุงเทพฯ โซล และกัวลาลัมเปอร์

แต่เป้าหมายสวยหรูทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นจริงไปไม่ได้ถ้าขาดเครื่องทุ่นแรงสำคัญ นั่นคือวิทยาการล้ำสมัย ซึ่งระดับจีนแล้วไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอน ในที่นี้จะยกตัวอย่างมาคร่าวๆ สามเทคโนโลยีสำคัญคือบริการ 5G ระดับอัลตราไฮสปีด ระบบจดจำใบหน้าขั้นสูง และหุ่นยนต์อัจฉริยะ

หัวเว่ยนำทัพ 5G
หัวเว่ย เทคโนโลยีส์, ไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลนส์ และไชน่า เทเลคอม รวมพลังสร้างสรรค์ระบบการเดินทางอัจฉริยะบนเครือข่าย 5G ที่รองรับเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าซึ่งติดตั้งอยู่ที่เกตรักษาความปลอดภัยของสนามบินและส่วนเช็ค-อิน รวมถึงบริการติดตามกระเป๋าเดินทางแบบไร้กระดาษ
แถลงการณ์ของหัวเว่ยที่ออกมาก่อนการเปิดตัวสนามบินปลาดาวไม่กี่วันระบุว่า โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวทำให้ต้าซิงกลายเป็นโมเดลใหม่สำหรับการใช้เครือข่าย 5G ในอุตสาหกรรมการบินพลเรือน

จีนคาดหวังว่า เครือข่ายเคลื่อนที่ 5G รุ่นใหม่ที่นำเสนออัตราการถ่ายโอนข้อมูลรวดเร็วทันใจสุดๆ ลดความหน่วง ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุน ศักยภาพการรองรับสูงขึ้น และเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออย่างมหาศาลนั้น จะเป็นโอกาสในการนำพาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมแดนมังกรขึ้นเป็นผู้นำโลกครั้งแรก

ผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคมจีน นำโดยหัวเว่ยและแซดทีอี ล้วนมีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐาน 5G ระดับสากล

การทดลองภาคสนามก่อนหน้านี้พบว่า ความเร็วในการสื่อสารข้อมูลของ 5G สูงกว่า 1.2 กิกะบิตต่อวินาที หรือเร็วกว่าเครือข่าย 4G ในขณะนี้ประมาณ 100 เท่า

ปักกิ่ง เดลี่รายงานว่า ไชน่า โมบาย ผู้ดำเนินการเครือข่ายสื่อสารไร้สายใหญ่ที่สุดของโลกในแง่จำนวนสมาชิกผู้ใช้บริการ เพิ่งเปิดตัวสถานีฐานไร้สายใหม่ครอบคลุมพื้นที่สำคัญอย่างน้อย 20 จุดในสนามบินปลาดาว เพื่อรองรับผู้ใช้ทั้ง 4G และ 5G
ระบบพิสูจน์ตัวตนไร้รอยต่อ

รายงานของสำนักข่าวซินหวาบอกว่า เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าที่จับคู่บุคคลกับฐานข้อมูลของประเทศ สนับสนุนระบบพิสูจน์ตัวตนในต้าซิง ช่วยลดเวลาในการดำเนินการต่างๆ ของนักเดินทางที่เกตรักษาความปลอดภัย โดยอุปกรณ์แต่ละเครื่องสามารถประมวลผลนักเดินทางชั่วโมงละ 260 คน

ระบบจดจำใบหน้ายังช่วยให้ผู้โดยสารเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็น เช่น หมายเลขเที่ยวบิน ประตูและเวลาขึ้นเครื่อง ตลอดจนถึงเส้นทางที่ดีที่สุดและระยะเวลาในการเดินไปยังประตูขึ้นเครื่อง

นอกจากนั้นสนามบินต้าซิงยังติดตั้งเครื่องเช็ค-อินแบบบริการตัวเองไว้กว่า 400 เครื่อง ซึ่งคาดว่า จะช่วยย่นเวลาการเข้าคิวของผู้โดยสารได้ประมาณ 10 นาที สิ่งที่ต้องทำมีแค่สแกนใบหน้าเพื่อตรวจสอบกระเป๋าเดินทาง ตรวจสอบด้านความปลอดภัย และขึ้นเครื่อง

สำหรับบริการติดตามกระเป๋าเดินทางแบบไร้กระดาษ ผู้โดยสารต้องสมัครเพื่อขอแท็ก RFID (radio frequency identification) ติดบนกระเป๋า บันทึกหมายเลขเที่ยวบินและจุดหมายปลายทางบนแอปพลิเคชันของสนามบินก่อนที่จะนำกระเป๋าเข้าระบบ และติดตามสัมภาระแบบเรียลไทม์ผ่านแอปบนมือถือ

หุ่นยนต์อัจฉริยะ
นวัตกรรมที่หลายคนรอคอยมากที่สุดในสนามบินใหม่ของปักกิ่งแห่งนี้น่าจะเป็นการนำหุ่นยนต์อัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาทำงานควบคู่กับเจ้าหน้าที่ปกติ รวมทั้งการเรียนรู้จากพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่และประสบการณ์ของหุ่นยนต์เอง

ในบรรดาผู้ช่วย AI เหล่านี้รวมถึงหุ่นยนต์ที่อยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อช่วยรับรถและนำไปจอดในที่จอดของอาคารผู้โดยสาร ซึ่งคาดว่า จะช่วยประหยัดเวลาในการจอดรถเฉลี่ยราว 2 นาที

สำหรับผู้ที่ต้องการจอดรถเอง สามารถใช้แอปของระบบจอดรถอัจฉริยะของ JD.com เพื่อดูแผนที่แสดงที่จอดที่ว่างอยู่แบบเรียลไทม์

ต้าซิงยังใช้หุ่นยนต์ในห้องทรานสฟอร์เมอร์ที่ติดตั้งสวิตช์บอร์ดไฟฟ้า แผงควบคุมระบบเตือนอัคคีภัย เซอร์กิตเบรกเกอร์ และอุปกรณ์วัดค่าการใช้พลังงานไฟฟ้า หุ่นยนต์นี้ช่วยลดเวลาในการตรวจสอบระบบจาก 2 นาทีเหลือไม่เกิน 30 วินาที และด้วยเทคโนโลยีจดจำใบหน้า รวมทั้งความสามารถในการติดตามการเคลื่อนไหว หุ่นยนต์นี้จึงสามารถตรวจพบบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงห้องดังกล่าวอย่างรวดเร็วและแจ้งเตือนทันที

คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ความไฮเทคและคุณสมบัติดีงามอื่นๆ จะช่วยให้สนามบินปลาดาวก้าวขึ้นเป็นสนามบินระดับท็อปของโลกเทียบเท่าชางงีของสิงคโปร์และฮาหมัดของกาตาร์ได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น