xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : สวัสดี 'รถไฟฟ้าสายสีแดง' คันแรก

เผยแพร่:


แม้โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง มีเป้าหมายจะเปิดให้บริการในเดือนมกราคม 2564 แต่ก็เป็นการรอคอยอย่างมีความหวัง นอกจากการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อจะมีความคืบหน้าเป็นรูปเป็นร่างแล้ว รถไฟฟ้า 2 ขบวนแรกที่ผลิตจากโรงงานฮิตาชิ ก็เพิ่งจะลอยลำออกจากประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะมาถึงท่าเรือแหลมฉบังกลางเดือนตุลาคมนี้

รถโดยสารชุดแรก 2 ขบวน รวมทั้งหมด 10 ตู้ ผลิตโดยโรงงานคาซาโด บริษัท ฮิตาชิ จังหวัดยามากุจิ ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น แบ่งเป็น ขบวน 6 ตู้ จำนวน 1 ขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,710 คนต่อเที่ยว และขบวน 4 ตู้ อีก 1 ขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,120 คนต่อเที่ยว แต่ละตู้จะมีประตูขบวนรถไฟ 3 ประตูต่อฝั่งต่อตู้

การออกแบบรถไฟฟ้านั้น ใช้วัสดุ Aluminium Plate และ Aluminium Extrusion ความเร็วสูงสุดในการออกแบบ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนความเร็วสูงสุดในการให้บริการจริง คือ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งบนรางขนาด 1,000 มิลลิเมตร (1 เมตร) เส้นทาง บางซื่อ-รังสิต และ บางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงที่บางซื่อ


ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้สั่งซื้อรถไฟฟ้าให้บริการจำนวน 25 ขบวน รวม 130 ตู้โดยสาร กับกลุ่มกิจการค้าร่วม MHSC ประกอบด้วยบริษัท มิตซูบิชิ เฮลวี อินดัสทรีส์ และบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2559 โดยขบวนรถไฟที่เหลือ จะถูกส่งมายังประเทศไทยภายในเดือนมิถุนายน 2563


สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ บางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.263 กิโลเมตร ขนานไปกับทางรถไฟสายใต้เดิม แบ่งเป็น 4 สถานี ได้แก่ สถานีบางซ่อน, สถานีบางกรวย-กฟฝ., สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน วงเงินค่าก่อสร้าง 9,087.390 ล้านบาท ก่อสร้างเมื่อ 15 มกราคม 2552 แล้วเสร็จ 19 มกราคม 2555


ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร ขนานไปกับทางรถไฟสายเหนือเดิม แบ่งเป็น 10 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ สถานีการเคหะ สถานีดอนเมือง สถานีหลักหก และสถานีรังสิต เริ่มก่อสร้าง 10 กุมภาพันธ์ 2556 วงเงิน 59,888 ล้านบาท


ปัจจุบันสถานีส่วนใหญ่ก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ ยกเว้นสถานีกลางบางซื่อที่ล่าช้าเพราะมีท่อส่งน้ำมันของบริษัท FPT วางกีดขวางในพื้นที่ ที่นี่จะเป็นสถานีศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรางแห่งใหม่ของประเทศไทย รองรับการเดินรถทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟทางไกล รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน และระบบรถไฟความเร็วสูงในอนาคต


ร.ฟ.ท.คาดการณ์ว่า เมื่อเดินระบบรถไฟฟ้า จะสามารถรองรับปริมาณผู้โดสารจากรังสิตสู่บางซื่อไม่น้อยกว่า 306,608 คนต่อวัน ในปีที่เปิดดำเนินการ และเมื่อขยายโครงการจากบางซื่อ ไปสถานีชุมทางบ้านภาชี อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยาในอนาคต จะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารที่คาดว่าจะมีประมาณ 449,080 คนต่อวัน


นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง เพิ่มอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ รังสิต-ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท, ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท และ ตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 6,645.03 ล้านบาท


หากก่อสร้างแล้วเวร็จ ผู้โดยสารจะได้ใช้ระบบขนส่งรถไฟที่สะดวก ทันสมัย ตรงเวลา ลดปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ และยังต่อยอดไปถึงการพัฒนาระบบขนส่งทางรางรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางแรก กรุงเทพ-นครราชสีมา ที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้


(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)
กำลังโหลดความคิดเห็น