xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึกวาระซ่อนเร้นนำเข้า LNG กฟผ. VS ปตท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:






ตอนที่ 1


ล้มดีลนำเข้า “LNG” กฟผ. -ปิโตรนาส ใครได้ประโยชน์? หรือ เปิดเสรีนำเข้าก๊าชไม่มีอยู่จริง? เบื้องหลังข้ออ้างแนวโน้มราคา LNG ลด –กังวลปัญหา “Take or Pay” แท้ที่จริงก็ยังต้องการให้ ปตท. “ผูกขาด” ต่อไป

เมื่อการประมูลนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG จำนวน 1.5 ล้านตันของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ถูกยกเลิก ก็มีคำถามกันว่า ใครได้ประโยชน์?

***“เสรี” ไม่มีอยู่จริง?

เรื่องนี้คงต้องย้อนกลับไปที่ “นโยบาย” เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบหลักการและแนวทางการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติเพื่อเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดย “มอบหมาย” ให้ กฟผ. นำร่องเป็นผู้จัดหา LNG รายใหม่ จากเดิมที่มี ปตท. แต่เพียงรายเดียว เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดแข่งขันเสรีเต็มรูปแบบในอนาคต

จากนั้น กฟผ.ก็ได้ดำเนินการไปตามภารกิจจนเปิดประมูล และ ได้ผู้ชนะ คือ บริษัท Petronas LNG Limited ของมาเลเซีย ที่เสนอราคาต่ำที่สุด โดยเสนอที่ 7.5 เหรียญ/MMBTU ขณะที่ PTT Public Company ในเครือ ปตท.ซึ่งเข้าร่วมประมูลด้วยเสนอราคา 7.7 เหรียญ/MMBTU

เมื่อปิโตรนาส เสนอราคาที่ต่ำกว่า ปตท.จึงได้งานไปตามระบบการประมูล มีมติบอร์ดรองรับไปเมื่อ 14 พ.ค.2562

แต่แล้ว วันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานฯ ได้พิจารณาให้ กฟผ.ยกเลิกการประมูลกับปิโตรนาส เปลี่ยนแปลงให้ กฟผ.นำเข้า LNG แบบราคาตลาดจร (spot) แทน

กล่าวคือ กฟผ.ก็ยังต้อง ให้ ปตท. เป็นผู้จัดหา โดยเหตุผล เพื่อไม่ให้เกิดภาระ “สัญญาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” หรือ “Take or Pay” และ กบง.ยังอ้างข้อมูลจากสถานการณ์ LNG ในปัจจุบันว่า ราคา LNG Spot ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4 USD/MMBTU ซึ่งเป็นสัญญาณว่าในช่วง 2 – 3 ปีข้างหน้า แนวโน้ม LNG จะมีราคาลดลง ซึ่งการจัดหา LNG ในประเทศไม่ได้ลดลง ปริมาณความต้องการใช้ LNG ก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นตามที่ได้ประมาณการไว้ ดังนั้น ความจำเป็นในการนำเข้า LNG มีแนวโน้มเปลี่ยนไปจากเดิม สิ่งสำคัญคือการนำเข้า LNG ของ กฟผ. ไม่ควรส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าและต้องไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay อาจต้องพิจารณาทบทวนการแบ่งราคา LNG เป็น 2 Pool ในอนาคต และข้อจำกัดของกฎหมายในกรณีที่ กฟผ. จะนำ LNG ไปจำหน่ายในตลาดอื่นก่อน เป็นต้น

นโยบายเปิดเสรีนำเข้าก๊าซจึงเป็นเครื่องหมายคำถามขึ้นมาทันทีว่า เป็นแค่ภาพที่สวยหรูหรือไม่? หรือ แท้ที่จริง “เสรี” ไม่มีอยู่จริงบนผลประโยชน์ของบริษัทใหญ่

***หาเหตุล้มดีล?

ในมุมของ กฟผ.การล้มดีลนี้ เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับนโยบายการเปิดเสรีนำเข้า LNG ที่ยังครุกรุ่นยอมรับไม่ได้กับเหตุผลของกบง. ในหมู่ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าแห่งประเทศไทยจึงเคลื่อนไหวของให้ทบทวนมติใหม่

ข้อมูลของกฟผ.นั้น พบว่า ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศไทยด้วยสัดส่วนกว่า60 % ของเชื้อเพลิงทั้งหมด และก๊าซฯ ที่มาจากบริเวณอ่าวไทยก็กำลังลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่ความต้องการก๊าซฯมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้า LNG จากต่างประเทศมาทดแทนมากขึ้นทำให้อาจเกิดผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าในอนาคต

ดังนั้นการเปิดให้มีผู้นำเข้า LNGหลายราย มากกว่าที่ปตท.รายเดียว จะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา และ ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง

ภารกิจที่ กฟผ. ตั้งใจคือ จัดหาและนำเข้าLNGในจำนวนไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2562 เพื่อส่งก๊าซธรรมชาติให้โรงไฟฟ้าพระนครใต้โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าวังน้อย พร้อมดำเนินการควบคู่ไปกับ โครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (FSRU) ในปริมาณ 5 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี2567

นั่นจะทำให้ “ธุรกิจนำเข้าLNG” จะเป็นธุรกิจใหม่ที่จะนำองค์กรให้อยู่ได้ในระยะยาว

ฝันกันต่อไป

ระดับความไม่พอใจต่อเรื่องนี้ สะท้อนออกมาจากงาน “ผู้บริหารกฟผ.ชี้แจงกับพนักงาน” ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา เปิดเหตุและผล 12ข้อ ที่มาและที่ไปของการที่ กฟผ.ควรนำเข้า LNG ในปริมาณไม่เกิน1.5ล้านตันต่อปี

ถามตอบกันในงานเพื่อหาคำตอบว่า ทำไมจึงต้องล้มดีลการจัดหาLNG ที่มาจากการประมูลแข่งขัน และได้ราคาเฉลี่ยดีที่สุดนับตั้งแต่ประเทศไทยเคยมีการจัดซื้อและนำเข้าLNG เข้ามา ถือเป็นการตัดสินใจล้มดีลที่ทำให้ประเทศชาติและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเสียประโยชน์หรือไม่?

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการกฟผ. ได้บอกกับพนักงาน กฟผ. ถึงที่มาที่ไปอย่างละเอียด

หนึ่งในนั้น คือ LNG ที่ กฟผ.จะนำเข้าจาก ปิโตรนาส มีแผนจะนำไปใช้กับโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงของ กฟผ. คือ โรงไฟฟ้าวังน้อย โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ จะทำให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าถูกลง โดยเปรียบเทียบกับสัญญาระยะยาวที่กฟผ.ซื้อจาก ปตท. ถูกกว่าประมาณ 80บาทต่อล้านบีทียู

หากคิดเป็นมูลค่ารวมตลอดอายุสัญญาซื้อขาย LNG ของ กฟผ.ในระยะ7 ปี จะช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงลงได้ ประมาณ 35,000 ล้านบาท และ ช่วยทำให้ค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าเอฟทีลดลงได้ 2.78 สตางค์ต่อหน่วย

สอง กรณี “Take or Pay” ที่ถูกยกมาเป็นเหตุผลล้มดีล

ผู้ว่ากฟผ.ระบุว่า ภาระ Take or Pay ซึ่งเป็นเงื่อนไขในสัญญาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ในปริมาณการรับก๊าซขั้นต่ำ หากรับได้ไม่ถึงตามสัญญาที่ตกลงก็ต้องจ่ายเงินตามที่สัญญาไว้ ส่วนก๊าซในปริมาณที่ยังไม่ได้ใช้สามารถเรียกเพิ่มมาใช้ในภายหลังได้

โดยTake or Pay มีไว้เพื่อทำให้ผู้ขายเกิดความมั่นใจว่าผู้ซื้อจะต้องรับซื้อตามข้อกำหนด ซึ่งประเด็นดังกล่าว กฟผ.ชี้แจงว่า ข้อสัญญาเรื่อง Take or Pay กับปิโตรนาสได้เจรจาให้มีความยืดหยุ่นพอควร ที่สามารถปรับปริมาณการนำเข้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ปี 2563 ที่มีความกังวลว่าจะเกิด Take or Pay ได้ระหว่าง 0.8-1.5 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีข้อกำหนดในสัญญาด้วยว่าถ้านำเข้าแล้วไม่มีที่ใช้หรือใช้ไม่ได้จริงๆ จนเกิดภาวะ Take or Pay ก็สามารถนำไปขายต่อให้รายอื่นได้

ถามว่า ปตท.ซึ่งเป็นผู้ทักท้วงเรื่องเงื่อนไขต่างๆ รู้เรื่องเหล่านี้หรือไม่ ต้องไม่ลืมว่า ตั้งแต่กฟผ.เปิดคัดเลือกคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ประกอบการที่จะจัดหาLNG ให้กับกฟผ. มีผู้ยื่นแสดงความสนใจ 43 ราย และมีผู้ผ่านคุณสมบัติจำนวน 34 ราย คุณสมบัติพิจารณาจากการมีประสบการณ์ในการซื้อขายก๊าซ มีก๊าซตรงตามคุณสมบัติที่ต้องการ และมีระดับ credit rating ที่ดี

วันที่ 19 เมษายน 2562 คณะกรรมการซื้อโดยวิธีพิเศษได้ตรวจสอบข้อเสนอของผู้จัดหาก๊าซ ที่ผ่านคุณสมบัติ พบว่ามีผู้ค้าส่งข้อเสนอทันตามกำหนด 12 ราย ซึ่งต่างเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการLNGรวมทั้งปตท.

ดังนั้น ปตท. รู้มาโดยตลอด
การหยิบยกประเด็น ควรเป็นประเด็นที่นำมาพิจารณาตั้งแต่ก่อนประมูลไม่ใช่ หลังประมูลที่ ปิโตรนาส ชนะไปแล้ว ห้ามไม่ได้ที่ดีลที่ล้มไปจะถูกมองว่า จงใจหาเหตุเพื่อยกเลิกปิโตรนาส เพียงเพื่อให้ ปตท.ได้ประโยชน์ขายก๊าซให้กฟผ.ต่อไปเรื่อยๆ

นั่นเท่ากับว่า การล้มประมูล จะทำให้คนไทยต้องกลับไปใช้ก๊าซที่ไม่ใช่ราคาต่ำสุด โอกาสที่ราคาค่าไฟจะลดลง ก็หายวับไปหรือไม่

สิ่งที่คนสงสัยที่สุด คือ รัฐบาลจริงใจกับการเปิดเสรีนำเข้าก๊าซ LNG แค่ไหน ถึงขนาดล้มประมูลเมื่อผู้ชนะไม่ใช่ ปตท. จะต้องให้ประชาชนอยู่กับโครงสร้างต้นทุนที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงที่ทำให้ไปเกิดกำไรส่วนอื่นของปตท.หรือไม่อย่างไร?

แม้ว่า นายสนธิรัตน์ รมว.พลังงาน ดูเหมือนจะกลับลำให้มีการเปิดประมูลรอบ 2 ใหม่แต่จะกำหนดหลักเกณฑ์ไม่ให้กระทบค่าไฟเหมือนรอบแรก และเปิดทางให้กฟผ.สามารถเปิดประมูลนำเข้ามาได้เหมือนเดิม

การยกเลิกครั้งนี้ปตท.ได้ประโยชน์ แต่ถ้าไม่เปิดประมูลอีกเลย ปตท.ยิ่งได้ประโยชน์ที่สุด

ณ วันนี้ ผลการของล้มดีลกฟผ.กับปิโตรนาส เท่ากับว่า ไม่สามารถเปิดเสรีตลาดก๊าซธรรมชาติ ตามนโยบายรัฐบาลได้

เรื่องนี้ คนกฟผ. รู้สึกเหมือนถูกปตท. เตะสกัดไม่ต้องการให้องค์กรเขาก้าวไปข้างหน้า

กว่าจะอัพเกรดเพื่อเตรียมการทำธุรกิจนำเข้าLNG ของกฟผ.ต้องมีขั้นตอนมากมายที่ลงทุนลงแรงไปแล้วทั้งทรัพยากรมนุษย์และเงินลงทุน

เจตนารมณ์ที่ไม่ต้องการให้มีการผูกขาดโดยผู้ค้าก๊าซธรรมชาติอยู่เพียงรายเดียว ก็เท่ากับว่าปล่อยให้มีการผูกขาดกันต่อไป ซึ่งจากข้อมูล ก็เห็นว่า ปตท.ไม่ใช่ผู้เสนอราคาต่ำสุดในการประมูล

ปตท.ผูกขาดต่อไป ถอยกลับมาที่เดิม ปตท. เป็นทั้งผู้จัดหา-ผู้จัดจำหน่าย และผู้บริหารระบบท่อก๊าซ-ท่าเรือ-คลังก๊าซ LNG แต่เพียงผู้เดียว

…........

วาระซ่อนเร้นของการล้มดีล ลึกๆยังมีอีกหลายตอน

โปรดติดตามตอนที่ 2 “ปมที่ปตท.แพ้ไม่ได้ในเกม LNG” ใน IBUSINESS ฉบับวันจันทร์ที่ 23 ก.ย.นี้.






ดราม่า ปตท. VS กฟผ. อธิบายง่ายๆ แบบฉบับการ์ตูน จะได้เข้าใจมากขึ้น (ที่มา : เพจข้อเท็จจริงที่คนไทยต้องรู้)

แต่ปตท. ดันขายก๊าซธรรมชาติแพงกว่าบริษัทเอกชน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับค่า Ft ที่ประชาชนต้องจ่าย
แม้มีจะข่าวว่ายังมีการประมูลต่อไป แต่มีการปรับเนื้อหาในสัญญาให้นำเข้าแบบ SPOT หรือนำเข้าเมื่อขาดก๊าซ แปลว่า กฟผ.ก็ยังคงต้องนำเข้าก๊าซจาก ปตท. เหมือนเดิมใช่ไหม?
ดังนั้นการล้มประมูลก๊าซ 1.5 ล้านตัน จึงกลายเป็นเกมของผลประโยชน์ที่กรรมาตกที่ กฟผ. ที่เคยไปดีลกับปิโตรนาสก่อนหน้านี้ และใช่ว่า กฟผ.จะเสียหน้าผ่ายเดียว แต่หมายถึงประเทศไทยยังขาดความน่าเชื่อถือที่ต่อไปใครจะกล้ามาทำธุรกิจด้วย
ที่มาภาพการ์ตูน : เพจข้อเท็จจริงที่คนไทยต้องรู้
กำลังโหลดความคิดเห็น