นับจากที่สายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) ปักหมุดยึดสนามบินนานาชาติดอนเมืองเป็นฐานปฏิบัติการบินหลักของภูมิภาค ”ดอนเมือง” จึงตกอยู่ในสภาพแออัดมาโดยตลอด ด้วยเพราะเป็นสนามบินแห่งแรกของประเทศไทย มีอายุกว่า 100 ปี จะซ่อมแซม ปรับปรุงอะไรก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการผู้โดยสาร
แม้ผู้บริหาร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จะมั่นใจว่าสนามบินดอนเมืองมีศักยภาพสูง ภายใต้อาคาร 2 หลัง กับขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารที่ 30 ล้านคนต่อปี แต่เมื่อย้อนดูอัตราการเติบโตของจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2562 คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคนแน่นอน
เมื่อ ทอท.ในฐานะเจ้าของสนามบินไม่สามารถพัฒนาขยายเพื่อรองรับการให้บริการได้ทันต่อการเติบโตของเที่ยวบินและผู้โดยสาร จึงไม่แปลกที่จะถูกผู้โดยสาร...นักท่องเที่ยวร้องเรียนปัญหาการให้บริการกันทุกวัน
ย้อนไปเมื่อปี 2555 สนามบินดอนเมืองมีจำนวนผู้โดยสารที่ 5.98 ล้านคน ปี 2556 การเติบโตพุ่งพรวดเป็น 16.4 ล้านคน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2557 กระโดดไปที่ 21.5 ล้านคน ปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 28.5 ล้านคน และปี 2559 ผู้โดยสารทะลุ 34 ล้านคน ขณะที่มีขีดความสามารถที่ 30 ล้านคน ทำให้ ทอท.ต้องปรับการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาความแออัดเฉพาะหน้ามาโดยตลอด
ซึ่งตามแผนพัฒนาสนามบินดอนเมือง ระยะ 2 มีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (สำหรับรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ) ด้วยศักยภาพ 11.5 ล้านคนต่อปี เปิดให้บริการเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2559 แต่ก็ดูจะไม่ทันต่อจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นไปยืนรอที่ 34 ล้านคนเสียแล้ว
ผ่าแผนพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะ 3 ดันตอกเข็มปี 64
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2561 คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนแม่บทท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 37,590.246 ล้านบาท และการก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสารบริเวณลานจอดสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (Association of Thai Travel Agents : ATTA) สนามบินดอนเมือง งบประมาณ 207,106,739 บาท เพื่อแก้ไขปัญหาความคับคั่งในระยะสั้น ซึ่งปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) พิจารณาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
เรืออากาศโท สัมพันธ์ ขุทรานนท์ รองผู้อำนวยการสายปฏิบัติการ ท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท. กล่าวว่า การพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 มีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถการรองรับผู้โดยสารเป็น 40 ล้านคนต่อปี แต่ในทางปฏิบัติจะสามารถปรับปรุงการบริการ และขยายได้สูงสุดไปถึง 50-55 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันที่มีศักยภาพการรองรับที่ 30 ล้านคนต่อปี ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้กับระบบเช็กอินเพื่อลดพื้นที่เคาน์เตอร์ และปรับพื้นที่ดังกล่าวไปให้บริการผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นแทน
ทั้งนี้ หาก ครม.อนุมัติ ในปี 2563 จะเป็นขั้นตอนในการประมูล ออกแบบรายละเอียด (Detail & Design) พร้อมๆ ไปกับการรื้อถอนอาคารผู้โดยสารภายในประเทศหลังเก่า และอาคารจอดรถ 3 ชั้น เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มตอกเข็มต้นปี 2564 เป้าหมายเปิดใช้อาคารหลังที่ 3 ในปี 2566 เท่ากับจะมีเวลาก่อสร้าง 2 ปี ขณะที่เฟส 3 จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2568
โดยมีทั้งหมด 6 กลุ่มงาน ประกอบด้วย
1. งานพัฒนาด้านทิศใต้ ได้แก่ งานปรับปรุงระบบถนนภายในท่าอากาศยานดอนเมือง (ด้านทิศใต้), งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร อาคาร 3 พร้อมอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6, งานปรับปรุงอาคารจอดรถยนต์ 7 ชั้น เป็นชานชาลาจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร, งานปรับปรุงคลังสินค้าหมายเลข 1 และ 2, งานก่อสร้างกลุ่มอาคารบำรุงรักษา และพื้นที่พักขยะ, งานก่อสร้างระบบระบายน้ำ, งานก่อสร้างอาคารดับเพลิงและกู้ภัยด้านทิศใต้
2. งานพัฒนาพื้นที่ด้านทิศเหนือ ได้แก่ งานปรับปรุงระบบถนนภายในท่าอากาศยานดอนเมือง (ด้านทิศเหนือ), งานปรับปรุงหลุมจอดอากาศยานด้านทิศเหนือ, งานก่อสร้างขยายอาคารเทียบเครื่องบินด้านทิศเหนือ, งานก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์พนักงาน, งานก่อสร้างอาคารรับรองพิเศษ VVIP, งานก่อสร้างอาคารสำนักงานดอนเมือง, งานก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบิน, งานปรับปรุงอาคารส่วนกลาง, งานก่อสร้างทางเชื่อมอาคารระหว่างอาคารสำนักงานใหญ่ ทอท. (สนญ.) และท่าอากาศยานดอนเมือง
3. งานก่อสร้างในพื้นที่เขตปฏิบัติการการบิน ได้แก่ งานก่อสร้าง Rapid Exit Taxiway บริเวณทางวิ่ง 21L/03R และ Exit Taxiway เชื่อมต่อทางขับ สาย B และ C, งานปรับปรุงพื้นที่ด้านทิศเหนือ ก่อสร้างอาคาร Power House และ Control Post, งานก่อสร้างอาคารดับเพลิงและกู้ภัยด้านทิศเหนือ, งานปรับปรุงพื้นที่ด้านทิศใต้ เพื่อรองรับกิจกรรมที่เกี่ยวกับกิจการการบิน และก่อสร้างลานจอดอากาศยาน และอาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคล (General Aviation)
4. งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 อาคารเทียบเครื่องบินด้านทิศเหนือ และอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 2-4, งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 อาคารเทียบเครื่องบินด้านทิศเหนือ และอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 2-4
5. งานสนับสนุนโครงการพัฒนา ได้แก่ งานก่อสร้างลานจอดอากาศยานด้านทิศเหนือ พร้อมทางขับเชื่อมและระบบเติมน้ำมันอากาศยาน, งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค
6. งานสิ่งแวดล้อม การจ้างติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในระยะการปรับปรุงและฟื้นฟูสิ่งอำนวยความสะดวก
ปัจจุบันอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 (ระหว่างประเทศ) ขนาด 137,000 ตร.ม. อาคารหลังที่ 2 (ในประเทศ) ขนาด 106,586 ตร.ม. รองรับผู้โดยสารรวมที่ 30 ล้านคนต่อปี ขณะที่อาคารหลังที่ 3 (ระหว่างประเทศ) มีขนาด 155,000 ตร.ม. เพิ่มการรองรับผู้โดยสารโดยรวมได้ที่ 40 ล้านคนต่อปี
“สัมพันธ์ ขุทรานนท์” ระบุว่า เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วดอนเมืองมีผู้โดยสารภายในประเทศเพิ่มสูงไม่ต่ำกว่าปีละ 10% จากการเติบโตของโลว์คอสต์ฯ แต่วันนี้ผู้โดยสารในประเทศค่อนข้างอิ่มตัวโตเหลือ 1-2% เท่านั้น ขณะที่ผู้โดยสารระหว่างประเทศเริ่มเพิ่มสวนทาง ทำให้สัดส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มจาก 37% เป็น 45%
ทิศทางที่เปลี่ยนไป ทำให้ต้องปรับยุทธศาสตร์การใช้อาคารผู้โดยสารในเฟส 3 ใหม่ จากเดิมอาคารหลังที่ 3 รับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ส่วนอาคาร 1, 2 รองรับภายในประเทศ จะปรับใช้อาคาร 2 ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ ตามช่วงเวลาที่มีความหนาแน่นของเที่ยวบินและผู้โดยสาร
ทอท.ติดกับดัก “ไอ้โม่ง-บิ๊กเหนือบิ๊ก” คุมผลประโยชน์ทุกตารางนิ้ว
ที่ผ่านมา สนามบินดอนเมืองมีแผนพัฒนาเพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสารในหลายโครงการ แต่มักเกิดปัญหาความล่าช้า เนื่องจากร้องเรียนความไม่โปร่งใสในการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง เช่น โครงการประมูลก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์ 10 ชั้นบริเวณด้านเหนือของสนามบินดอนเมือง มีปัญหาร้องเรียนว่าการประมูลไม่โปร่งใส ทีโออาร์ล็อกสเปก และบริษัทที่ชนะมีคุณสมบัติไม่ถูกต้อง แต่ ทอท.ก็ตะแบงทำสัญญาสัมปทานกับ บริษัท เอ็มพีเม็ก จำกัด มาตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค. 2560 เวลาล่วงเลยถึง 2 ปี จนป่านนี้เอกชนยังไม่ได้ก่อสร้าง และยังไม่ถูกปรับสักบาท
สำหรับความล่าช้าที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบ เพราะอาคารจอดรถ 7 ชั้นที่มีไม่เพียงพอ จอดกันแบบซ้อนคัน ถูกเฉี่ยวชนกันแทบทุกวัน ก็ต้องทนกันไป ....
นอกจากผู้โดยสารเดือดร้อน ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ ทอท.เองยังสูญเสียรายได้เดือนละ 2,234,000 บาทอีกด้วย
ล่าสุด “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ได้ลงพื้นที่ตรวจปัญหาความแออัดของสนามบินดอนเมือง และได้กำชับให้ ทอท.เร่งแก้ปัญหาอาคารจอดรถ การบริหารระบบอาคารจอดรถ 7 ชั้น โดยให้นำระบบอัตโนมัติมาใช้ เนื่องจากมีร้องเรียนว่าพบการทุจริต
ส่วนอาคารจอดรถใหม่ที่ได้ทำสัญญากับเอกชนไปแล้ว 2 ปียังไม่เริ่มก่อสร้างนั้น รมว.คมนาคม...สั่งให้ทอท.เร่งชี้แจงเหตุผล
“ไม่อยากเชื่อ เป็นไปได้อย่างไรเซ็นสัญญาแล้ว 2 ปีไม่สร้าง ทำได้หรือ” รมต.ศักดิ์สยามกล่าว
นี่แค่อาคารจอดรถมูลค่าหลักร้อยล้านบาท แล้ว! โปรเจกต์เฟส 3 ที่มีมูลค่าเฉียด 4 หมื่นล้านบาท จะเป็นอย่างไร?
สนามบินดานัง พัฒนาเร็วเวอร์...สายการบิน-นักท่องเที่ยวเบนหัว “แลนดิ้ง”
ขยับไปดู ประเทศเวียดนาม วันนี้การท่องเที่ยวบูมสุดๆ เวียดนามมีการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว อัตราการเติบโตจึงพุ่งกระฉูด ระดับตัวเลข 2 หลักติดต่อกันหลายปี สถิตินักท่องเที่ยวช่วง 8 เดือน ปี 2562 (ม.ค.-ส.ค. 62) พบว่ามีถึง 18 ล้านคน (ในจำนวนนี้เป็นคนไทยถึง 2 แสนคน) โดย เฉพาะที่เมืองดานังมีนักท่องเที่ยวแล้ว 8.6 ล้านคน ทำให้รัฐบาลเวียดนามได้วางนโยบายการพัฒนาสนามบินเป็นแผนระยะยาว มีการลงทุนล่วงหน้า ส่งผลให้ 10 ปีที่ผ่านมาสนามบินเวียดนามมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะสนามบินนานาชาติ “ดานัง” ซึ่งเป็นสนามบินอันดับ 3 ของเวียดนาม ปัจจุบันได้เปิดให้บริการอาคารผู้โดยสาร 2 หลัง รองรับผู้โดยสารได้ 15.5 ล้านคนต่อปี ขณะที่ผู้บริหารสนามบินระบุว่าสามารถบริหารจัดการ ขยายการรองรับได้สูงสุด 26 ล้านคนต่อปี
ปี 2561 สนามบินดานังมีผู้โดยสาร 13.3 ล้านคน ขณะที่ปี 2562 ผ่าน 8 เดือนมีผู้โดยสารแล้ว 15 ล้านคน คาดว่าทั้งปีจะแตะที่ 20 ล้านคน
นายพัน คิว ฮุ่ง รองผู้อำนวยการ สนามบินดานังให้ข้อมูลว่า อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 พื้นที่ประมาณ 5 หมื่นตารางเมตร เพิ่งเปิดให้บริการได้ 2 ปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 5,700 ล้านบาท โดยใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปีเท่านั้น ที่ก่อสร้างได้เร็วเพราะมีการก่อสร้างตลอด 24 ชม. โดยใช้คนงาน 3 ผลัด ผลัดละ 8 ชม.
ขณะนี้สนามบินดานังเตรียมแผนที่จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 มูลค่าเกือบ 10,000 ล้านบาท โดยจะประกาศเปิดตัวโครงการปลายปีนี้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 17 เดือน ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารได้อีก 20 ล้านคนต่อปี หรือเท่ากับอาคารผู้โดยสาร 3 หลังจะรองรับได้ 50 ล้านคน ได้ก่อนปี 2030 ซึ่งเป็นการพัฒนาที่เร็วกว่าแผน
“ที่สนามบินดานังสามารถพัฒนาได้รวดเร็วนั้น เพราะรัฐบาลเวียดนามใช้รูปแบบการให้สัมปทานในระยะยาวผ่านบริษัทร่วมทุนที่มีรัฐวิสาหกิจถือหุ้น 51% ร่วมกับบริษัทก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และดิวตี้ฟีนั้น ในอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 มีกลุ่มล็อตเต้จากเกาหลีใต้ เป็นผู้ได้รับสัมปทาน”
แม้ประเทศไทยจะมีจุดแข็งเรื่องทำเลเป็นศูนย์กลางภูมิภาค มีความได้เปรียบ แต่ตัวเลขและทิศทางของนักท่องเที่ยวเริ่มสะท้อนให้เห็นแล้วว่า จุดแข็ง...อาจจะไม่ใช่จุดขาย...อีกต่อไป
ขณะที่ สนามบินดอนเมือง ประตูเข้าบ้าน กลับมีแต่ปัญหา ส่วนแผนการพัฒนาก็ยังไปไม่ถึงไหน...ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ ทอท.จะคิดนอกกรอบ เพื่อหลุดพ้นจาก กับดัก อำนาจ และผลประโยชน์ เสียที!