หนทางสู่ 5G ในแต่ละประเทศแตกต่างกันไปตามลักษณะและเงื่อนไขของประเทศนั้นๆ บางประเทศก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้าน 5G ในขณะที่ประเทศอื่นไล่ตามมาติดๆ ทว่าถึงที่สุดแล้ว 5G ไม่ใช่การแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งที่หนึ่ง และประเทศไทยควรเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันนำหน้าอยู่บนเส้นทางสู่ 5G
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทคได้ศึกษาแนวทางการพัฒนา 5G ในหลายประเทศและภูมิภาคอื่นๆ แล้วกลั่นกรองบทเรียนสำคัญจากตัวอย่างเหล่านี้ เนื้อหาต่อไปนี้คือข้อสรุปจากแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อพัฒนาเส้นทางสู่ 5G ที่เหมาะสมกับประเทศไทย
*** ความสำเร็จในยุโรปและนอร์เวย์
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยุโรปมุ่งมั่นอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 5G โดยประเทศต่างๆ ในยุโรปยึดถือแนวทางที่เน้นการปฏิบัติจริงภายใต้การนำของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เพื่อพัฒนาวิสัยทัศน์สำหรับ 5G ที่ยั่งยืน
เดือนธันวาคม 2556 คณะกรรมาธิการยุโรปลงนามในข้อตกลงกับ 'สมาคมโครงสร้างพื้นฐาน 5G' (5G Infrastructure Association) ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เล่นสำคัญๆ ในอุตสาหกรรม เพื่อริเริ่มการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนใน 5G (5G Public Private Partnership - 5G PPP) โดยมุ่งหวังที่จะเร่งพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G ในยุโรป
วัตถุประสงค์ของ 5G PPP คือการรักษาสถานะผู้นำของยุโรปในสาขาที่ยุโรปแข็งแกร่งหรือมีศักยภาพที่จะสร้างตลาดใหม่ๆ เช่น เมืองอัจฉริยะ สาธารณสุขอิเล็กทรอนิกส์ (e-health) การขนส่งและการจราจรอัจฉริยะ การศึกษา หรือความบันเทิงและสื่ออัจฉริยะ
ในปี 2559 คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดันการใช้งานเทคโนโลยี 5G ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปภายในปี 2563
แผนปฏิบัติการ 5G (5G Action Plan) ถือเป็นยุทธศาสตร์ชุดใหม่ที่ดึงเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในประเทศสมาชิกเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งหน่วยงานขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในภาครัฐและเอกชน เพื่อรับมือกับความท้าทายที่จะทำให้ประชาชนทุกคนและธุรกิจทุกแห่งสามารถใช้งาน 5G ได้จริงภายในสิ้นทศวรรษนี้
'อีกทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ยังมีการทบทวนกรอบระเบียบข้อบังคับในยุโรป โดยมีเป้าหมายเพื่อบ่มเพาะความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเครือข่าย 5G' ผลศึกษาของดีแทคระบุ
ปัจจุบันบริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่ของยุโรปส่วนมากอยู่ในช่วงทดสอบและทดลองใช้ 5G รวมถึงบริษัท เทเลนอร์ซึ่งดำเนินการทดสอบ 5G ในเมืองคองส์เบิร์ก ประเทศนอร์เวย์ และเป็นประธานโครงการ 5G Vinni (5G Verticals Innovation Infrastructure) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป โครงการ 5G Vinni มุ่งหวังที่จะเร่งให้เกิดการใช้งาน 5G ในยุโรปโดยเร็ว ด้วยการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจรเพื่อสนับสนุนให้เทคโนโลยี 5G ทำงานได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิผลเต็มที่ ผ่านการทดลองให้บริการในอุตสาหกรรมชั้นนำ โครงการนี้จะใช้ระยะเวลากว่า 3 ปีและมีพันธมิตรทั้งหมด 23 ราย
รูปแบบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมในการทำวิจัยและพัฒนา รวมถึงการนำเทคโนโลยีไปใช้งานจริงในยุโรปและนอร์เวย์ ถือเป็นตัวอย่างของแนวปฏิบัติที่ดีในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน
*** ความก้าวหน้าของมาเลเซีย
ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียเองก็พัฒนาเทคโนโลยี 5G โดยแสวงหาความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เช่นกัน วันที่ 8 ตุลาคม 2561 รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารและมัลติมีเดียประกาศว่าเมืองไซเบอร์จายา (Cyberjaya) และปุตราจายา (Putrajaya) ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ตั้งสนามทดสอบเครือข่าย 5G ของประเทศ โดยคาดการณ์ว่าไซเบอร์จายาจะเป็นเมืองแรกในมาเลเซียที่ใช้เทคโนโลยี 5G และมีโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ตามแบบฉบับเมืองอัจฉริยะ บริษัท Cyberview ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาล ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ SK Group จากเกาหลีใต้ เพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะในภูมิภาคนี้ โดยเริ่มต้นที่ไซเบอร์จายาเป็นแห่งแรก
คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการสื่อสารและมัลติมีเดียของมาเลเซีย (Malaysian Communications and Multimedia Commission - MCMC) ได้ก่อตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจที่มีชื่อว่า 5G Task Force ขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 เพื่อศึกษาและเสนอแนะยุทธศาสตร์องค์รวมสำหรับการใช้งาน 5G ในมาเลเซีย
คณะทำงานเฉพาะกิจนี้ประกอบด้วยสมาชิกจากภาคเอกชน รวมถึงกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแทนของฝั่งอุปสงค์และอุปทานในระบบนิเวศ 5G โดยคาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จและนำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์แก่คณะกรรมการ MCMC ได้ภายในเดือนกันยายน 2562 คณะ 5G Task Force ประกอบด้วยคณะทำงานย่อย 4 ด้าน ได้แก่ 1.โครงการธุรกิจ 2. โครงสร้างพื้นฐาน 3. การบริหารและจัดสรรคลื่นความถี่ และ 4. การกำกับดูแล
นอกจากวิธีนี้จะช่วยสร้างความร่วมมือที่จำเป็นในอุตสาหกรรมแล้ว ยังเป็นเครื่องรับรองว่ารัฐบาลมีความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับสภาพความเป็นจริงของ 5G ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงเทคนิค ผลลัพธ์ที่ตามมาคืองาน Malaysia 5G Showcase ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยในงานดังกล่าว Digi บริษัทอีกแห่งหนึ่งในเครือเทเลนอร์กรุ๊ป ได้ทดสอบโซลูชั่นในการตอบสนองกรณีฉุกเฉินและทดสอบบริการเทคโนโลยี AR สำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม
แม้ว่าการทดสอบเหล่านี้ยังอยู่ในวงจำกัด แต่การที่รัฐบาลยินดีทำงานใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรมก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน มาเลเซียกำลังเดินหน้าอย่างรวดเร็วในการเตรียมความพร้อมเพื่อใช้งาน 5G ในอนาคต นอกจากนั้นองค์กรกำกับดูแลของมาเลเซียยังมีความตั้งใจจริงในการเผยแพร่แผนจัดสรรคลื่นความถี่ 5G เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับข้อมูลที่จำเป็น ซึ่งจะช่วยให้วางแผนการลงทุนในอนาคตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
*** เกาหลีใต้ ผู้บุกเบิกตลาด 5G
ในฐานะหนึ่งในผู้บุกเบิกตลาด 5G รัฐบาลเกาหลีใต้มีบทบาทสำคัญร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (Ministry of Science and ICT - MSIT) ในการกำกับนโยบายและการใช้งาน 5G กระทรวง MSIT จัดประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 5G ทุกไตรมาส โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย MSIT และคณะกรรมการสื่อสารแห่งเกาหลี (Korea Communications Commission - KCC) ภาคเอกชน และสถาบันวิจัยเข้าร่วม เพื่อศึกษาหนทางที่จะนำพาประเทศบรรลุเป้าหมายด้านนโยบาย 5G
เกาหลีใต้มุ่งมั่นจะเป็นตลาดชั้นนำระดับโลกภายในปี 2563 ทั้งในด้านการให้บริการ 5G ด้านเทคโนโลยี (เช่น อุปกรณ์ต่างๆ) และด้านการพัฒนามาตรฐาน ในเดือนพฤศจิกายน 2560 รัฐบาลจัดตั้งโครงการ i-Korea 4.0 เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี AI พาหนะขับเคลื่อนอัตโนมัติ หุ่นยนต์ AV/VR เมืองอัจฉริยะ และการเฝ้าระวังและตอบสนองต่อภัยพิบัติ โดยใช้งบประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
เกาหลีใต้ได้ก่อตั้ง 5G Forum ในเดือนพฤษภาคม 2556 โดยมีตัวแทน 33 รายจากกลุ่มผู้ค้าและผู้ให้บริการเครือข่าย สถาบันวิจัย และหน่วยงานภาครัฐ 5G Forum มีพันธกิจในการพัฒนาวิสัยทัศน์และแผนยุทธศาสตร์ 5G การวิเคราะห์ความต้องการใช้คลื่นความถี่ การเป็นสะพานเชื่อมภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม และการสร้างความร่วมมือในระดับสากล
การพัฒนา 5G ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญเบื้องต้นในแผนงานของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนา 'สังคมข้อมูลอัจฉริยะ' เกาหลีใต้จัดการประมูลคลื่นความถี่ 3.5 GHz และ 28 GHz สำหรับ 5G เสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน 2561 มีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ในย่าน 3.5 GHz ขนาด 280 MHz (28 บล็อก) และคลื่นความถี่ในย่าน 28 GHz ขนาด 2400 MHz (24 บล็อก)
บริษัท SK Telecom และ KT ชนะประมูลคลื่นความถี่ในย่าน 3.5 GHz ขนาด 100 MHz ขณะที่ LG Uplus ได้คลื่นความถี่ขนาด 80 MHz ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งสามรายซื้อคลื่นความถี่ในย่าน 28 GHz ขนาด 800 MHz
นอกจากนี้เกาหลีใต้ยังได้จัดตั้งหน่วยงานการสื่อสารแห่งเกาหลี (Korea Communications Agency - KCA) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลการบริหารคลื่นวิทยุอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมอุตสาหกรรมวิทยุ โทรคมนาคม การแพร่ภาพและกระจายเสียง รวมถึงกำหนดแนวทางการวิจัยและนโยบายที่เกี่ยวข้อง หน่วยงาน KCA (ภายใต้การกำกับดูแลของ KCC หรือ MSIT) ได้พัฒนาแผนสนับสนุนการใช้คลื่นความถี่ระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่ปี 2552 และบริหารแผนงาน 5 ปีของประเทศ
แผนเบื้องต้นในการจัดสรรคลื่นความถี่ 5G รวมอยู่ในแผนมาตรฐานฉบับที่ 2 (2557-2561) ซึ่งเกิดขึ้นหลังการประชุมผู้เชี่ยวชาญของคณะกรรมการนโยบายคลื่นความถี่ (Spectrum Policy Advisory Committee ซึ่งเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่ปี 2547 ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมและนักวิชาการกว่า 20 ราย) เมื่อเร็วๆ นี้ KCA และ MSIT ได้เผยแพร่แผนมาตรฐานฉบับที่ 3 (2562-2566) ซึ่งมีแผนการจัดสรรคลื่นความถี่เพิ่มเติมอีก 2510 MHz สำหรับ 5G
*** ญี่ปุ่น หัวขบวน 5G
ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ที่เปิดรับเทคโนโลยี 5G ผู้ให้บริการเครือข่ายในญี่ปุ่นพยายามนำเทคโนโลยีใหม่นี้ออกสู่ตลาดในปี 2563 โดยมีกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร (Ministry of Internal Affairs and Communication - MIC) เป็นผู้พัฒนานโยบายและการจัดสรรคลื่นความถี่ 5G
ในเดือนกันยายน 2557 รัฐบาลญี่ปุ่นจัดตั้งองค์กรส่งเสริมการสื่อสารเคลื่อนที่ 5G (5G Mobile Communication Promotion Forum - 5GMF) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 120 รายจากกลุ่มผู้ค้า ผู้ให้บริการเครือข่าย และผู้กำกับดูแล โดยมีมหาวิทยาลัยเกียวโตเป็นเจ้าภาพ องค์กร 5GMF มุ่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผ่านความร่วมมือ 3 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาควิชาการ
นอกจากนี้ยังส่งเสริมการสร้างมาตรฐานและสนับสนุนความร่วมมือระดับนานาชาติ รวมทั้งเพิ่มความตระหนักรู้และการทำงานร่วมกันผ่านการทดลอง 5G ในพื้นที่จริง ผู้ให้บริการเครือข่ายในญี่ปุ่นตั้งเป้าเปิดใช้บริการ 5G ในปี 2563 โดยมุ่งพัฒนาตัวอย่างการใช้งานจากความเชี่ยวชาญหรือจุดแข็งทางการค้าของประเทศ
ผู้ให้บริการเครือข่ายในประเทศทุกรายต่างทดลองใช้งาน 5G อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น NTT, DoCoMo และ Huawei ได้ประกาศความร่วมมือกับการรถไฟสายโทบุ เพื่อทดลองใช้ระบบคลื่น 5G ที่มีความยาวคลื่นในระดับมิลลิเมตร (mmWave) ที่โตเกียวสกายทรีทาวน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดการทดลองภาคสนามของ 5G ในวงกว้าง โดยมีกระทรวง MIC เป็นผู้สนับสนุน
ในเดือนพฤษภาคม 2561 SoftBank ได้ร่วมมือกับ Huawei สร้างตัวอย่างการใช้งานสำหรับบริษัทคู่ค้า พร้อมทั้งทำงานร่วมกับ ZTE และ Wireless City Planning ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัทโทรคมนาคม KDDI ก็ได้ดำเนินการทดลองใช้ 5G ร่วมกับ Ericsson และ Samsung Electronics
ในเดือนเมษายน 2562 กระทรวง MIC ได้จัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4 รายในญี่ปุ่นโดยฝ่ายผู้ให้บริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากทางกระทรวงตระหนักว่าผู้ให้บริการจำต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลในช่วงที่เริ่มเปิดใช้งาน 5G และต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาเครือข่ายและความสามารถในการสร้างผลกำไรโดยรวม ทั้งนี้กระทรวงได้กำหนดเงื่อนไขการขยายขอบเขตพื้นที่ให้บริการภายในระยะเวลา 2 ปี