xs
xsm
sm
md
lg

คนเฮ Grab Car ทางเลือกใหม่ยอมจ่ายแพง คมนาคมแก้ปมทำถูก กม.สกัดต่างชาติเลี่ยงภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


กระทรวงหูกวางเดินหน้าผลักดันเปิดกว้าง Grab Car หวังแก้ปัญหาบริษัทต่างชาติเข้ามาโกยรายได้ออกไปโดยไม่ยอมเสียภาษีให้รัฐบาลไทย เผยเงื่อนไขในการขออนุญาตต้องจดทะเบียนให้บริการโดยเป็นนิติบุคคลไทยเท่านั้น และต้องจัดทำแอปพลิเคชันเพื่อมาขออนุญาต รถที่อยู่ในเครือข่ายให้บริการต้องมีเครื่องหมายและไม่สามารถไปจอดในพื้นที่สแตนด์บายของแท็กซี่ บังคับให้ผู้ขับขี่ต้องไปขออนุญาตมีใบขับขี่สาธารณะเหมือนรถแท็กซี่ ชี้การเปิดเสรี Grab Car เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งของผู้ให้บริการให้เกิดความชัดเจน และสกัดการหลีกเลี่ยงภาษีของผู้ให้บริการ

ปัญหาการให้บริการของรถแท็กซี่สาธารณะบนท้องถนน รวมถึงพื้นที่สาธารณะในสนามบินและหน้าห้างสรรพสินค้าที่มีรถ Grab Car วิ่งเข้าไปรับผู้โดยสารในสถานที่ต่างๆ เรียกได้ว่าตัดหน้าแท็กซี่ที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ จนทำให้กลายเป็นเรื่องราวทะเลาะวิวาทถึงขั้นลงไม้ลงมือกลายเป็นเรื่อง ถึงขั้นต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยตัดสิน และคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนกลายเป็นปัญหาที่กรมการขนส่งทางบกและกระทรวงคมนาคมต้องมาสุมหัวกันเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาให้ Grab Car ว่าจะทำอย่างไรให้เป็นรถยนต์สาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีความปลอดภัย หน่วยงานรัฐสามารถเข้าไปควบคุมการให้บริการและสามารถลดปัญหาความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำในการขออนุญาตรถยนต์สาธารณะ โดยไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ ซึ่งมีความเห็นทั้งสองด้านที่สนับสนุนและคัดค้านการให้มี Grab Car ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ล่าสุดกระทรวงคมนาคมเดินหน้าตามนโยบายของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่า กระทรวงคมนาคมได้ประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว มอบหมายให้ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาแนวทางการกำหนดรถส่วนบุคคลที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันให้เป็นรถสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวถึงนโยบายเปิดเสรีบริการรถส่วนบุคคลร่วมเดินทาง (Ride Hailing Service) ว่า กระทรวงคมนาคมได้ประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ได้ข้อสรุปว่าสามารถทำได้จริง โดยจะเริ่มจากบริการแท็กซี่ก่อน (Grab Taxi) จากนั้นจะหาแนวทางแก้กฎหมายพระราชบัญญัติขนส่ง เพื่อเปิดทางให้รถจักรยานยนต์ร่วมเดินทาง หรือ Grab Bike สามารถใช้บริการได้จริง แบบไม่ส่งผลกระทบต่อวินมอเตอร์ไซค์ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมจะเร่งสรุปข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดภายในเดือน ก.ย.นี้

"ตอนนี้ต้องทำแอปพลิเคชันต่างๆ ให้ถูกกฎหมาย เพราะต้องการให้การใช้ Grab Car เป็นทางเลือกให้ประชาชนสามารถเลือกใช้ได้ และต้องการทำให้เข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์นิติบุคคลที่จะเข้ามาจัดตั้งบริษัท Grab Car ต้องเป็นนิติบุคคลไทยเท่านั้น เพราะไม่ต้องการให้บริษัทต่างชาติเข้ามาหารายได้และไม่เสียภาษีแล้วขนรายได้ออกไป ทำให้ประเทศไทยขาดรายได้จากภาษีด้านบริการ ซึ่งถ้ามีรายได้จาก Grab Car ที่เป็นนิติบุคคลไทยรายได้ทุกบาทก็จะต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาล"

สำหรับแนวทางการผลักดัน Grab Car นั้นจะผ่านการแก้กฎกระทรวงคมนาคมเพื่อให้รถส่วนบุคคลสามารถวิ่งรับส่งผู้โดยสารได้ โดยมีการกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นการเรียกบริการผ่านแอปพลิเคชันเท่านั้น ห้ามวิ่งรับผู้โดยสารตามท้องถนน หรือห้ามจอดรอรับผู้โดยสารตามจุดจอดของรถแท็กซี่ เพื่อป้องกันปัญหาการทะเลาะวิวาท และจะมีการติดป้ายสัญลักษณ์บนรถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อแสดงว่ารถคันนี้เป็นผู้ให้บริการ Ride Hailing Service โดยจะมีการใช้เงื่อนไขดังกล่าวในต่างจังหวัดด้วย

ล็อก ต้องเป็นนิติบุคคลไทยทำแอปพลิเคชันสกัดเลี่ยงภาษี

นายจิรุตม์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเรื่องการชำระเงินนั้น จะต้องเป็นนิติบุคคลไทยเท่านั้น มีการจัดทำแอปพลิเคชันเพื่อนำมาขออนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก โดยจะต้องชำระผ่านแอปพลิเคชันในมือถือ หรือระบบสแกน QR Code เท่านั้น ควบคู่กับการชำระแบบการโอนผ่านบัญชีหรือการตัดบัตรเครดิต เพื่อการันตีว่าเงินทั้งหมดจะเข้าสู่ระบบและมีการเสียภาษีอย่างถูกต้องในประเทศไทย จึงได้มอบหมายให้เอกชนไปพัฒนาระบบชำระเงินดังกล่าวมาด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน พ.ย.นี้ หากได้รับความเห็นชอบจะส่งต่อให้กฤษฎีกาทบทวนร่างกฎกระทรวงคมนาคมดังกล่าว ดังนั้นจึงคาดว่าน่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ในเดือน มี.ค. 2563

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการจะต้องมีการลงทะเบียนอย่างถูกต้องกับบริษัทเจ้าของแอปพลิเคชัน มีการยืนยันอัตลักษณ์บุคคล มีการตรวจสภาพรถตามระเบียบกรมการขนส่งทางบก สอบใบขับขี่สาธารณะ ตลอดจนมีประกันภัยครอบคลุมดูแลค่าเสียหายให้ผู้โดยสาร ทั้งในกรณีบาดเจ็บและเสียชีวิต ขณะที่ผู้ให้บริการแท็กซี่ปกตินั้นสามารถเข้าร่วมกับแอปพลิเคชันได้และยังมีสิทธิ์ตามปกติ คือสามารถรับผู้โดยสารตามท้องถนนก็ได้

ในส่วนของการพัฒนาบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมบริการขนส่งสาธารณะให้ตอบโจทย์ผู้ใช้มากขึ้น ทั้งนี้ ประชาชนมีสิทธิ์เลือกรูปแบบบริการที่ต้องการว่าจะโบกเรียกแท็กซี่หรือเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน โดยการเปิดเสรีครั้งนี้จะเป็นช่วงทดลองระยะ 6 เดือน-1 ปี เพื่อดูเสียงตอบรับจากผู้ใช้บริการ


ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวเอกชนไม่มีการพัฒนาให้ดีขึ้น หรือมีเหตุอาชญากรรมรุนแรงหรือสิ่งใดที่กระทบต่อคุณภาพบริการสาธารณะ กระทรวงคมนาคมมีสิทธิ์ยกเลิกเรื่องนี้ได้ทันที

ทีดีอาร์ไอเสนอปลดล็อกแกร็บคาร์

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า เตรียมเสนอผลการศึกษาบริการรูปแบบร่วมเดินทาง (Ride Sharing) ของแอปพลิเคชันของ Grabcar, JustGrab และแอปพลิเคชันอื่นในรูปแบบเดียวกันให้รัฐบาลพิจารณา

ทั้งนี้ แนวทางการจดทะเบียน Ride Sharing ควรทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงนำคนขับและรถมาขึ้นทะเบียนโดยไม่ต้องเปลี่ยนเป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง สามารถใช้ป้ายทะเบียนเดิมได้ (สีขาว) โดยผู้ให้บริการต้องมาจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อลงบันทึกประวัติพร้อมรับสติกเกอร์จำนวน 2 ชิ้น เพื่อระบุว่ารถคันนี้เป็นรถรับจ้างสาธารณะ โดยต้องติดไว้ที่ด้านท้ายและด้านหน้าของยานพาหนะ รวมถึงบทลงโทษตามกฎหมายและมาตรฐานของรถยนต์ต้องเป็นไปตามที่ ขบ.กำหนด

อย่างไรก็ตาม พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้บริการระบบ Ride Sharing เพราะสะดวกสบายและรวดเร็ว แต่ยังสงสัยเรื่องความน่าเชื่อถือของผู้ขับขี่ และเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย Ride Sharing ในการเดินทาง 147 บาท สูงกว่าแท็กซี่อยู่ที่ 131 บาท โดยผู้โดยสารยินดีจ่ายแพงกว่า ดังนั้น Ride Sharing จะเข้ามาให้บริการในระบบจำเป็นต้องมีมาตรฐานการกำกับดูแลและบทลงโทษที่เหมือนกับรถแท็กซี่ทั่วไป โดยเฉพาะอัตราค่าโดยสารที่ต้องถูกกำหนดในกรอบเดียวกัน

คมนาคมวางแนวทาง GrabBike แนวทางเดียวกัน


นายจิรุตม์กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนด้านบริการเรียกรถจักรยานยนต์เพื่อรับส่งบุคคล หรือ Grab Bike นั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่ารถยนต์เนื่องจากมีข้อผูกพันเรื่องกฎหมายกับหลายหน่วยงาน จึงต้องหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด เพื่อนำไปสู่การแก้กฎหมายปลดล็อกกติกาที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันหลายเรื่อง เบื้องต้นมีแนวทางการยกเลิกเงื่อนไขการห้ามวิ่งรับผู้โดยสารข้ามเขตของวินมอเตอร์ไซค์ ยกเลิกการกำหนดว่าวินจุดนี้ห้ามไปรับผู้โดยสารจุดอื่น โดยจะมีการจัดพื้นที่ของผู้ให้บริการ (Zoning)

ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ทั้งในปัจจุบันและผู้ขับขี่ที่ลงทะเบียนกับแอปพลิเคชันจะถูกจัดโซนนิ่งให้บริการ เช่น ผู้โดยสารเรียกบริการจักรยานยนต์ผ่านแอปพลิเคชัน ระบบจะจัดผู้ขับขี่ที่ใกล้โซนที่ผู้โดยสารอยู่มากที่สุดให้ แต่ถ้าไม่มีก็จะจัดผู้ขับขี่ที่อยู่โซนใกล้เคียงกันให้มารับได้ โดยมีเงื่อนไขเหมือนรถยนต์ คือ Grab Bike ห้ามโบกเรียกตามท้องถนน ต้องเรียกผ่านแอปพลิเคชันเท่านั้น ส่วนจะเริ่มใช้ได้เมื่อไหร่นั้นยังต้องใช้เวลาในการศึกษา ต้องยอมรับว่ายังมีปัญหาเรื่องการคุมโซนนิ่ง


นอกจากนี้ จะต้องมีการกำหนดมาตรฐานของรถที่จะมาให้บริการทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล และรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รวมถึงกำหนดลักษณะ สัญลักษณ์ ที่จะทำให้ผู้ใช้บริการรับทราบว่ารถดังกล่าวเป็นรถที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน และรถดังกล่าวจะต้องไม่วิ่งรอ-รับผู้โดยสารตามท้องถนน จะต้องรอผู้โดยสารเรียกผ่านแอปพลิเคชันเท่านั้น

นายจิรุตม์กล่าวว่า ต้องมีการแก้ไขกฎหมายรถยนต์ส่วนบุคคล ส่วนรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างต้องไปแก้ไข พ.ร.บ.ก่อน อาจจะมีทั้งการแก้ไข หรือออกเป็นกฎหมายลูก เพื่อให้เกิดการควบคุมมาตรฐานคนขับ และ รถโดยตรงเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้บริการ
กำลังโหลดความคิดเห็น