xs
xsm
sm
md
lg

โบรก ฯ มองมาตรการรัฐ หนุนหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าเติบโตสว่างไสว

เผยแพร่:


โบรก ฯ ประเมินนโนบายภาครัฐจากแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย เน้นเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนให้มากขึ้น พร้อมผลักดันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม ปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าจะอยู่ในรูปแบบ Self-Generation มากขึ้น และนำ Smart Grid เขามาใช้ ตลอดจนการหนุนให้ ประเทศไทยก้าวขึ้นไปเป็นผู้ซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน หนุนหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าสดใส



บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET กล่าวว่า หากพิจารณาถึงผลประกอบการในหุ้นกลุ่มพลังงาน Q2/62 พบว่ามีการปรับตัวขึ้นตามปัจจัยฤดูกาลของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer : IPP) เมื่อมองผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังปี 62 มีแนวโน้มชะลอลง หากเทียบระหว่างครึ่งปีแรกกับครึ่งปีหลัง หลังจากผ่านฤดูร้อนมาแล้วมีเพียง บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เท่านั้นที่คาดว่าแนวโน้มรายได้ครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีก่อนหน้าตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น 


ขณะที่บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ยังมีความน่าสนใจน้อยกว่ากลุ่มเนื่องจากการเติบโตของกำลังการผลิตน้อยกว่ากลุ่ม ประกอบกับผลประกอบการเข้าสู่ช่วง Low Season จึงยังคงน้ำหนักลงทุนกลุ่มเป็น Neutral ประเมินว่าระยะสั้นตลาดที่ผันผวน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่กลับเป็นขาลง คาด ช่วยหนุนให้กลุ่มซื้อขายมี Premium กว่าอดีตต่อไปและการที่บริษัทมีกำไรก่อนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือ FX โดยพิจารณาจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าที่ทำการศึกษา 7 บริษัทได้รายงานกำไรสุทธิ Q2/62 รวมกว่า 9,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 175% หากเทียบกับปีที่ผ่านมาและเพิ่มขึ้นกว่า 5% หากเทียบกับ Q1/62


อย่างไรก็ดีหากมองจากผลประกอบการสุทธิที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมานั้น เนื่องจากส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบที่ทำให้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนใน Q2/61 และพลิกกลับมาเป็นกำไรในไตรมาสเดียวกันของปีนี้ แต่เพิ่มขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้าซึ่งเป็นผลจากปัจจัยฤดูกาล หากไม่รวมรายการพิเศษและผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนกลุ่มโรงไฟฟ้ามีกำไรปกติที่ 8,320 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8% เทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมาแต่ทรงตัวหากเทียบกับไตรมาสก่อน


ขณะเดียวกันผลประกอบการหลักเพิ่มขึ้นหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ คือ GPSC จากการรวมผลประกอบการหลังเข้าลงทุนถือหุ้นใน GLOW และ RATCH จาก AP ของโรงไฟฟ้า RG ที่เพิ่มขึ้น และส่วนแบ่งกำไรโรงไฟฟ้าหงสาที่แข็งแกร่ง ขณะกำไรทรงตัวหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากกำไรของ EGCO ลดลง หลังผลประกอบการของ Paju ลดลงแรง เป็นผลมาจากฤดูกาล แต่อย่างไรก็ตามได้ชดเชยจากกำไรของ RATCH ที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาลของไทย ส่วน GPSC หลังรวมกำไรของ GLOW และ BGRIM แล้วตามต้นทุนก๊าซฯ ที่ลดลง


อย่างไรก็ดี ประเมินว่าผลประกอบการ Q3/62 หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าจะอ่อนตัวตามปัจจัยฤดูกาล หากมองแนวโน้มผลประกอบการปกติของไตรมาส 3ของกลุ่ม อ่อนตัวลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมาโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ซึ่งเป็นไปตามปัจจัยฤดูกาล เพราะหลังจากผ่านช่วงฤดูร้อนที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในรอบปีไปแล้ว ส่งผลให้ผลประกอบการหุ้นหลัก อย่าง บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO , บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ RATCH จะปรับลดกว่าไตรมาสที่ผ่านมา นอกจากนี้ภาวะภัยแล้ง และปริมาณน้ำที่น้อยสำหรับเขื่อนที่ต้องใช้ผลิตไฟฟ้า อาจกดดันผลประกอบการของบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ลง ขณะที่ BCPG จะปรับลดลงตามฤดูกาล


“มองกำไรจากการดำเนินงานของ BGRIM และ GPSC คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นไปตามต้นทุนก๊าซฯ ที่ลดลง และผลบวกจากการรวม GLOW เพิ่มขึ้น ส่วน GPSC หากพิจารณาตาม Score Card จะเห็นว่า GPSC และ BGRIM มีความน่าสนใจที่สุด ส่วน BCPG น่าสนใจน้อยที่สุด ส่วน GPSC และ BGRIM มีคะแนนสูงสุด และเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในครึ่งหลังปี 62 จากปัจจัยบวกทั้งกำลังการผลิตใหม่ ขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) มีมาร์จิ้นที่ดีขึ้น ส่วน BCPG มีคะแนนต่ำสุดจากการเพิ่มขึ้นของกำลังผลิตที่ต่ำกว่ากลุ่ม”


อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนแผนการปรับปรุง PDP 2018 ที่จะส่งเสริมให้มีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เพิ่มอีกกว่า 56,431 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศในปี 2580 เน้นเชื้อเพลิงก๊าซถึง 53% และลดสัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหิน เหลือ 12% นั้นยังมีความล่าช้าของโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาและก่อสร้าง อีกทั้งความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต


บมจ.หลักทรัพย์ กสิกรไทย มองแนวโน้มหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าว่า ตามการเปิดเผยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่จะทบทวนแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของไทย โดยวางนโยบาย “Energy for all” เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการผลิตไฟฟ้าและใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในการผลิตไฟฟ้าเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน โดยการจัดหาวัตถุดิบให้กับโรงไฟฟ้า รวมไปถึงการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์, ชีวมวลและก๊าซชีวภาพ


“เชื่อมั่นว่าภายใต้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่จะมีการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนให้มากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากกำลังการผลิตในแผน PDP ปี 2561 เป็นอย่างมากที่กำหนดให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง fossil เพิ่มขึ้นเป็น 66% ของเชื้อเพลิง ทุกประเภทเทียบกับที่ 59% ในแผน PDP ปี 2558 นอกจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงาน ทดแทนจะมีโอกาสเพิ่มจำนวนมากขึ้นแล้ว คาดว่าจะเปิดประมูลงานรับเหมาก่อสร้าง EPC เพิ่มขึ้น รวมทั้งเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม โดยการผลิตไฟฟ้าจะอยู่ในรูปแบบ self-generation มากขึ้น, และการนำ smart grid เขามาใช้ ตลอดจนการหนุนให้ ประเทศไทยก้าวขึ้นไปเป็นผู้ซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน”


นอกจากนี้การที่ยังไม่มีกำหนดระยะเวลาการทบทวนแผน PDP ที่ชัดเจน แต่คาดว่าความเสี่ยงในเชิงลบค่อนข้างจำกัดต่อผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าในกลุ่มพลังงานหลัก ซึ่งได้รับกำลังการผลิตเพิ่มจากแผน PDP ฉบับปัจจุบัน เนื่องจาก โรงไฟฟ้าภายใต้สัญญา IPP ของ RATCH ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กฟผ. ไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อผลิตไฟฟ้าแทนที่โรงไฟฟ้า TECO ที่จะหมดสัมปทานและเลื่อนการขึ้นของโรงไฟฟ้า KRABI และ TEPA ออกไป อีกทั้ง การจัดสรรกำลังการผลิตภายใต้สัญญา SPP replacement นั้นมีข้อจำกัดใน เรื่องพื้นที่สำหรับรายใหม่ ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าทดแทนนี้คือGLOW, BGRIM และ EGCO


ทั้งนี้ บล.กสิกรไทยมองว่า GUNKUL เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มโรงไฟฟ้า เนื่องจากจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนนโยบายไปเป็นพลังงานทดแทน เพราะมีทั้งประสบการณ์ในการพัฒนาโรงไฟฟ้า พลังงานทดแทนและงาน EPC อีกทั้ง พอร์ตโรงไฟฟ้าที่ขยายมากขึ้น ยังช่วยเปิดโอกาสให้ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศได้


ขณะที่ บล.เคทีบี มองว่าสำหรับ หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่กำลังได้รับความสนใจของนักลงทุนอย่างมากในตอนนี้ เนื่องจากราคาที่ปรับขึ้นแรง โดยหากย้อนไปมองตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงปัจจุบัน หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 21.93% เทียบกับ 5% ของ SET แม้จะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเพียง 1.47 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 8.5% ของ SET เท่านั้น แต่หากพิจารณาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเพิ่มขึ้นกว่า 371,962 ล้านบาท โดยหุ้นที่ปรับขึ้นมากที่สุดคือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เพิ่มขึ้นถึงกว่า 95.7% รองลงมา คือ BGRIM ที่เพิ่มขึ้น 55.6% ขณะ RATCH อยู่ที่ 51.2% ส่วน EGCO อยู่ที่ 44.76% และ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ในระดับ 29.03% ตามลำดับ


“ นักลงทุนมองว่าเป็นหุ้นที่มีการเติบโต (Growth Stock) จากการขยายธุรกิจไฟฟ้าไปทั้งในและต่างประเทศ สะท้อนออกมาจากปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มสูงขึ้นมากในอนาคต ตลอดจนการเข้าไปลงทุนในธุรกิจสัมปทานภาครัฐ ที่รัฐมีแผนลงทุนด้วยการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมทุนที่เรียกว่า PPP ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 61”


หากจะเทียบราคาตลาดกับราคาที่เหมาะสมที่คำนวณจากส่วนลดกระแสเงินสด (Discounted Cash flow) แล้วถ้าจะดูความสัมพันธ์ระหว่างราคาหุ้นและกำไร (P/E Ratio) ทั้ง Current P/E และ Forward P/E จะเห็นได้ว่า Forward P/E ของกำไรปี 2021 หรือ 3 ปีข้างหน้า จะลดลงจากปัจจุบันค่อนข้างมาก เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับราคาหุ้นกลุ่มนี้


อย่างไรก็ตามนักลงทุนอาจเลือกหุ้นที่ P/E ไม่สูง เป็นลำดับแรก แต่ธุรกิจมีโอกาสการเติบโตสูง โดย KTBST ให้ความสนใจต่อหุ้น RATCH (ราคาเป้าหมายในเชิงกลยุทธ์ 80 บาท) ส่วน GULF เชื่อว่าราคาหุ้นสะท้อนโครงการในอนาคตไว้มากแล้ว จึงให้น้ำหนักความน่าสนใจของหุ้น GULF ลดลง

กำลังโหลดความคิดเห็น