ในเมื่อภารกิจหลักของโอเปอเรเตอร์ในเวลานี้ ไม่ใช่แค่การลงทุนเพื่อติดตั้งโครงข่าย เพื่อเตรียมความพร้อมให้บริการ 5G เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่กลายเป็นทุกภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมมือกันเพื่อศึกษาแนวทางในการนำ 5G ไปใช้งาน ดีแทค รวมถึงเทเลนอร์ จึงกลายเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทย นำ 5G มาใช้งานให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ด้วยการนำประสบการณ์จากในต่างประเทศมาเป็นบทเรียน
ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค มองว่าการที่ดีแทคเริ่มขยับตัวในเวลานี้ ยังไม่ช้าเกินไป เนื่องจากอยู่ในช่วงที่ต้องช่วยกันทำให้ผู้บริโภค รวมถึงองค์กรธุรกิจต่างๆ เห็นประโยชน์ของการนำ 5G ไปใช้งาน เพราะด้วยพื้นฐานของโอเปอเรเตอร์แล้ว จะไม่ได้เป็นผู้ที่เข้าไปให้บริการโดยตรง แต่จะเป็นในลักษณะของการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ เข้าไปให้บริการ
"ดีแทค ยังคงวางรูปแบบการให้บริการไว้ที่ผู้ให้บริการโครงข่ายที่เปิดให้พันธมิตรทางธุรกิจสามารถนำโซลูชันต่างๆ เข้ามาผสมผสานตามความต้องการของลูกค้าในการใช้งาน เพราะในยุคของ 5G จะมีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายตามความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม"
เนื่องจากลูกค้าที่จะมาใช้งาน 5G หลักๆแล้วจะไม่ใช่คอนซูเมอร์อีกต่อไป แต่จะกลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ดังนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการให้เหมาะสม
ดีแทคยกตัวอย่างการใช้งานที่หลากหลาย เช่น ในอุตสาหกรรมอีสปอร์ต มีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ (Latency) เพื่อให้สามารถตอบสนองการใช้งานได้รวดเร็ว แต่ถ้าเป็นการนำไปใช้ในโรงงานผลิต อาจจะเน้นเรื่องของความเสถียรในการใช้งาน เพื่อใช้สำหรับควบคุมเครื่องจักรในระยะยาว
แม้แต่การนำไปใช้ในแง่ของการเกษตร ที่ไม่ได้ต้องการในแง่ของความเร็วในการเข้าถึง หรือการรับส่งข้อมูลจำนวนมาก แต่เน้นเรื่องระยะเวลาในการใช้งานกับอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานต่ำ 5G ก็สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ให้เหมาะกับแต่ละรูปแบบได้
"ในทางเทคนิคเราเรียกกันว่าการทำ Network Slicing หรือการออกแบบโครงข่ายให้เชื่อมต่ออุปกรณ์ที่มีความแตกต่างกัน อย่างในปัจจุบันเราวางโครงข่าย 4G ให้เป็นส่วนหนึ่งของดีแทค เน็ตเวิร์ก แต่เมื่อเป็น 5G อาจจะต้องมีการแยกย่อยเฉพาะเจาะจงไปอีกว่าโครงข่าย 5G ชนิดนี้เหมาะกับการใช้งานประเภทไหน"
ข้อได้เปรียบของ 5G คือเมื่อโอเปอเรเตอร์มีความพร้อมในการทำ Network Virtualization หรือเครือข่ายเสมือนขึ้นมาได้หลากหลาย ก็ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนโครงข่ายได้ตามความต้องการที่แตกต่างกันไป
***3 ส่วนสำคัญที่ทำให้ 5G เกิดประโยชน์
ในมุมของ ดีแทค การที่ 5G จะนำมาใช้งานแล้วเกิดประโยชน์นั้น ต้องเกิดขึ้นจากหลายๆ ภาคส่วนด้วยกัน ตัวแปรแรกเลยคือ การมีโครงข่ายที่พร้อมรองรับการใช้งาน ซึ่งแน่นอนว่าในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของโอเปอเรเตอร์ทุกรายที่ต้องเตรียมความพร้อมของเครือข่าย
"ช่วงที่ผ่านมาดีแทคมีการลงทุนปรับโครงข่ายหลัก (Core Network) ให้เป็นแบบเวอร์ชวลไลเซชันที่สามารถอัปเกรดให้รองรับ 5G ได้ทันที ทำให้เมื่อมีคลื่นความถี่ที่เพียงพอ ก็พร้อมที่จะเดินหน้าติดตั้งสถานีฐานเพื่อให้บริการได้"
ปัจจัยที่ 2 คือเรื่องของดีไวซ์ ในที่นี้จะรวมตั้งแต่อุปกรณ์โครงข่ายที่สามารถปล่อยสัญญาณ 5G ไปจนถึงเครื่องลูกข่ายที่รองรับการใช้งานทั้งสมาร์ทโฟน อุปกรณ์ IoT จนถึงเครื่องจักรต่างๆ
ในเรื่องของดีไวซ์ก็จะต่อเนื่องไปถึงเรื่องของคลื่นความถี่ที่นำมาให้บริการ ถ้าเป็นคลื่นความถี่ที่มีการใช้งานทั่วโลก อุปกรณ์ที่รองรับก็จะมีความพร้อมมากกว่าคลื่นความถี่บางช่วงคลื่น ดังนั้นตรงนี้ต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลที่ทำการจัดสรรคลื่นความถี่ ที่เหมาะสมกับการใช้งานให้มากที่สุด
ปัจจัยสุดท้ายคือเรื่องของแอปพลิเคชัน และโซลูชันที่จะนำไปให้บริการ ในจุดนี้ดีแทค จะใช้แนวทางในการทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อนำเสนอแอปพลิเคชันที่เหมาะสมกับแต่ละอุตสาหกรรม เพียงแต่ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงการให้ข้อมูลเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า 5G สามารถนำไปใช้ในทางใดบ้าง
***5G อย่างเร็วคืออีก 2 ปี
ส่วนในแง่ของระยะเวลาที่จะเริ่มให้บริการ 5G ผู้บริหารดีแทคมองว่า น่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปี 2021 แม้ว่าในความเป็นจริงโอเปอเรเตอร์จะเริ่มได้คลื่น 700 MHz เพื่อมาให้บริการในช่วงเดือนตุลาคม 2020 ตามใบอนุญาตที่ได้รับมาก็ตาม
"ช่วงปี 2020 จะเริ่มเห็นการนำ 5G ไปทดลองทดสอบที่เข้มข้นมากขึ้น เพราะบรรดาพันธมิตรที่ให้บริการเริ่มมีประสบการณ์ในการให้บริการในต่างประเทศแล้ว ก็จะเริ่มนำเข้ามาทดสอบให้เห็น ก่อนที่จะเตรียมความพร้อมให้ใช้งานกัน"
ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมจริงๆ สำหรับการให้บริการ 5G ในประเทศไทย คาดว่าจะอยู่ในปี 2021 แต่ทั้งนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ของหน่วยงานกำกับดูแลว่าจะมีการจัดสรรคลื่นให้พร้อมกับความต้องการในการใช้งานมากแค่ไหน
"ถ้าถามว่าจะเริ่มให้บริการ 5G ในวันนี้เลยได้ไหม เชื่อว่าทุกรายพร้อมที่จะเปิดให้บริการ เพราะเวนเดอร์ทุกรายพร้อมที่จะเข้ามาซัปพอร์ต ในการนำอุปกรณ์เข้ามาให้บริการอยู่แล้ว จะติดก็เรื่องของคลื่นความถี่ และอุปกรณ์ที่รองรับ เพราะเปิดใช้งานในวันนี้ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของ 5G ที่แท้จริง"
ในมุมของผู้บริโภคประโยชน์ที่จะได้รับจาก 5G อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ดีแทค นำไปขยายในการให้บริการไวเลสบรอดแบนด์ เพื่อเข้าไปให้บริการลูกค้าที่พักอาศัยในคอนโด หรือในบริเวณที่ไม่สามารถติดตั้งไฟเบอร์บรอดแบนด์ได้ เพราะในอนาคตเมื่อค่าบริการต่ำลงแต่ได้ปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น การสมัครใช้บริการบรอดแบนด์อาจจะเปลี่ยนรูปแบบจากการสมัครใช้แบบไม่จำกัดปริมาณ เป็นการใช้งานแบบจ่ายตามปริมาณที่ใช้เป็นอย่างเดือนละ 500 GB ในราคาไม่กี่ร้อยบาท ซึ่งเพียงพอกับการใช้งานอยู่แล้ว
"แนวโน้มที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเวลานี้คือ ปริมาณการใช้ดาต้าที่เพิ่มสูงขึ้น ในระดับราคาที่ต่ำลง ดังนั้นโอเปอเรเตอร์จึงต้องมีการลงทุนโครงข่ายรองรับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ถ้าเครือข่ายรองรับได้มากเท่าไหร่ จำนวนการใช้งานเพิ่มขึ้นก็คือรายได้ที่เพิ่มขึ้นของโอเปอเรเตอร์ด้วย"
***เริ่ม 5G จากภายในองค์กร
สำหรับการผลักดัน 5G ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย นอกเหนือไปจากการเข้าร่วมการจัดสรรคลื่นความถี่ และเตรียมแผนที่จะให้บริการแล้ว อีกหนึ่งวิธีที่ดีแทค นำมาใช้คือการให้องค์ความรู้แก่ทุกภาคส่วน เริ่มจากภายในองค์กร ด้วยการทำโครงการทดสอบใช้งาน 5G บนคลื่น 28 GHz ที่ได้รับอนุญาตให้นำมาทดสอบทดลองให้บริการจากทางกสทช. มานำร่องติดตั้งให้พนักงานได้ทดลองใช้งานกันภายใน dtac house ชั้น 32 ตึกจามจุรีสแควร์
โดยคลื่น 28 GHz ถือว่าอยู่ในย่านคลื่นความถี่สูง เน้นในเรื่องของการรับส่งข้อมูลความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ ประกอบกับมีแบนด์วิดท์ที่เพียงพอกับการใช้งาน จึงนำมาทดสอบและปล่อยสัญญาณให้พนักงานได้ทดลองผ่านอุปกรณ์ที่รองรับ 5G คลื่น 28 GHzพร้อมกับนำเสนอประสบการณ์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน ด้วยการนำอุปกรณ์รับ 5G มาปล่อยคลื่น Wi-Fi เพื่อให้ดีไวซ์ที่พนักงานใช้งานในลักษณะของการให้บริการบรอดแบนด์ความเร็วสูง ในโซนอย่าง Never Stop Caféร้านกาแฟที่ตั้งขึ้นมาเป็นพื้นที่ให้ทดสอบใช้งาน 5G ในครั้งนี้
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับทางอีริคสัน ในการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับ 5G มาจัดแสดงผ่าน 3 พื้นที่ คือ 1.การใช้ 5G ภายในโรงงานอุตสาหกรรม (Industry 4.0) เน้นการแสดงผลการเชื่อมต่อที่มีความหน่วงต่ำ ทำให้เครื่องจักรสามารถส่งต่อข้อมูลกับเซิร์ฟเวอร์ได้อย่างแม่นยำ
2.การนำไปใช้ควบคุมโดรนภายในเมืองอัจฉริยะ ที่สามารถสั่งงานผ่านเทคโนโลยี AR เพื่อใช้ในการเข้าไปสำรวจพื้นที่ต่างๆ และ 3.การเปรียบเทียบในการควบคุมอุปกรณ์การใช้งานรถแทร็กเตอร์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเมื่อควบคุมผ่าน 4G และ 5G จะแตกต่างกันอย่างไร
การสาธิตดังกล่าวจะเปิดให้พนักงานได้เห็นภาพของการนำ 5G มาใช้งานที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะในอนาคต ดีแทคต้องมีการเตรียมตัวเพื่อรับกับการทำตลาด 5G ซึ่งมีแผนที่จะตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลในจุดนี้ โดยเฉพาะในส่วนของลูกค้าองค์กรธุรกิจที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
***อีริคสัน ชี้ทิศ กสทช. ต้องเปลี่ยนแนวทางจัดสรรคลื่น
สำหรับประเด็นสำคัญของการให้บริการ 5G ในเวลานี้ที่ยังไม่ชัดเจน ทางอีริคสันมองว่า เกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยยังไม่มีแผนการนำ 5G ไปใช้งานที่ถูกกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ แต่เป็นการเคลื่อนตัวของเอกชนในการเริ่มให้บริการมากกว่า
เจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ถ้าอยากให้เศรษฐกิจดิจิทัลเกิดรัฐบาลต้องหันมามองแล้วว่าทำอย่างไรให้โครงสร้างพื้นฐานที่มีรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลได้ แน่นอนว่า 5G เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ แต่กลายเป็นว่าหน่วยงานกำกับดูแลมองการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่เป็นการหารายได้
"สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือเมื่อมีการจัดสรรคลื่นความถี่ รัฐบาลต้องได้เงินเยอะๆ มองคลื่นความถี่เหมือนน้ำมัน เหมือนเพชร เมื่อมีการจัดสรรต้องมีราคา แต่ในข้อเท็จจริง โอเปอเรเตอร์เมื่อได้รับการจัดสรรแล้วต้องมีเงินลงทุนที่จะนำไปพัฒนาโครงข่ายเพื่อให้บริการด้วย"