xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมเอ็นพีซีสอบตกแหลมฉบัง ทำข้อสอบไม่ครบ ขอสอบใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


เผยเหตุ เอ็นพีซี สอบตก ประมูลท่าเรือแหลมฉบัง เอกสารที่เป็นสาระสำคัญไม่ครบตามประกาศเชิญชวน สมาชิกไม่เซ็นชื่อ รับผิดร่วมกัน แทนกัน ในสัญญาการร่วมงาน ไม่ส่งบริคณห์สนธิ ไม่ส่งรายงานประจำปี ทั้งๆที่มีอยู่แล้ว คณะกรรมการคัดเลือกมั่นใจ อธิบายเหตุผลที่ไม่ให้ผ่านได้

เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นพีซี ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอน คำสั่งของ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท) และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (กพอ.) ที่ตัดสิทธิ์การเข้าร่วมประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F หรือท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์ และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว เพื่อระงับกระบวนการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่า ศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษา

เอ็นพีซี เคยยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แบบเดียวกันนี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่าน ซึ่งศาลปกครองกลาง ไม่รับคำขอคุ้มครองชั่วคราว การฟ้องครั้งนี้ จึงเป็นการฟ้องซ้ำในเรื่องที่ศาลปกครองเคยยกคำร้องมาแล้ว

เอ็นพีซีอ้างว่า ที่นำเรื่องเก่ามาฟ้องใหม่ครั้งนี้ เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยให้ ผู้อำนวยการ กทท. ในฐานะ ประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนผู้ร่วมลงทุน ทบทวน การตัดสิทธิ์ เอ็นพีซี หรือ ยกเลิกกระบวนการประมูลที่กำลังดำเนินการอยู่ และให้ประมูลใหม่

อย่างไรก็ตาม ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีคำวินิจฉัยดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา เวลาผ่านไปเกือบ 4 เดือน เอ็นพีซี จึงตัดสินใจฟ้องศาลปกครองอีกครั้ง โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F เป็นหนึ่งในห้าโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในอีอีซี มี กทท. เป็นเจ้าของโครงการ เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน

คณะกรรมการคัดเลือกผู้ลงทุน ซึ่งมี เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ กทท. เป็นประธาน ออกประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชน กำหนดให้เอกชนที่สนใจจะลงทุน ยื่นข้อเสนอ เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีเอกชนเข้ายื่นข้อเสนอ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี มีสมาชิกประกอบด้วย บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ,พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง อีกกลุ่มหนึ่ง คือกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี มีสมาชิกประกอบด้วย บริษัทนทลิน จำกัด ,พรีมา มารีน ,แอสโซซิเอท อินฟีนิตี้ ,พีเอชเอส ออร์แกนิค ฮีลลิ่ง และ ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น

ไม่เซ็นชื่อ สัญญาร่วมการงาน ไม่รับผิดร่วมกันแทนกัน ผู้ยื่นข้อเสนอเข้าลงทุน ต้องยื่นซองเอกสาร 5 ซองให้ คณะกรรมการพิจารณา ประกอบด้วย ซองที่ 1 เป็นซองเอกสาร หลักฐาน การยื่นข้อเสนอ ซองที่ 2 เป็นเรื่องคุณสมบัติ ซองที่ 3 เป็นข้อเสนอด้านเทคนิค ซองที่ 4 เรื่อง ผลประโยชน์ตอบแทน และซองที่ 5 ข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ
คณะกรรมการจะเปิดซองเรียงตามลำดับจากซองที่ 1 ไปถึงซองที่ 5 รายใดไม่ผ่านการพิจารณาในการเปิดซองใด จะหมดสิทธิได้รับการพิจารณาในซองลำดับถัดไป คือ ตกรอบ ไม่ได้เข้าร่วมประมูล โดยคณะกรรมการจะไม่เปิดซองที่เหลือ
กลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นพีซี ไม่ผ่านการพิจารณาในซองที่สอง ซึ่งเป็นเรื่องคุณสมบัติ เพราะสมาชิกของกลุ่มทั้ง 5 ราย ไม่ลงชื่อ ในสัญญากิจการร่วมค้า จึงถูกคณะกรรมการประเมินว่า ไม่ผ่านการพิจารณา เพราะเอกสารไม่ครบถ้วน ไม่เปิดซองซองที่ 3 และซองที่ 4 ในขณะที่ กลุ่มกิจการร่วมค้า จีพีซี ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติซองที่ 2 และคณะกรรมการได้เปิดซองที่ 3 และซองที่ 4 ของกลุ่ม จีพีซี แล้ว
รายงานข่าวจาก คณะกรรมการคัดเลือกรายหนึ่งเปิดเผยว่า สัญญากิจการร่วมค้า เป็นเอกสารที่มีความสำคัญมาก ในประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชน หรือ RFP ( Request for Proposal ) กำหนดให้ สัญญากิจการร่วมค้า เป็นเอกสารด้านคุณสมบัติ ต้องยื่นประกอบอยู่ในเอกสารข้อเสนอซองที่ 2
เนื่องจาก กิจการร่วมค้า ไมได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ ไม่มีสถานะทางกฎหมาย จึงต้องมี สัญญากิจการร่วมค้า เป็นการแสดงเจตนาของสมาชิกทุกรายในการก่อตั้งกิจการร่วมค้า และแสดงเจตนาร่วมรับผิดด้วยกัน และแทนกัน ต่อ กทท. เจ้าของโครงการ
การลงนาม ในสัญญากิจการร่วมค้า ต้องลงนาม 2 จุดคือ ตัวแทนของกิจการร่วมค้า ลงนามด้านล่างของสัญญาร่วมค้า ทุกหน้า เพื่อยืนยันว่า สัญญาร่วมค้า เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารข้อเสนอด้านคุณสมบัติ จุดที่สองคือ ลงนามในช่องของแบบฟอร์ม รายชื่อและตำแหน่งของตัวแทนสมาชิกแต่ละราย เพื่อยืนยันความถูกต้องของเอกสารคุณสมบัติของตนเอง เป็นการแสดงเจตนาของสมาชิกแต่ละรายว่า จะร่วมรับผิดด้วยกัน และแทนกัน รายงานข่าวระบุว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า จีพีซี ลงนามในสัญญากิจการร่วมค้า ครบทั้งสองจุด แต่ ตัวแทนเอ็นพีซี ลงนามรับรองว่า สัญญาร่วมค้า เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารข้อเสนอด้านคุณสมบัติ แต่สมาชิกทุกรายไม่ลงนามในแบบฟอร์มรายชื่อ ตัวแทนสมาชิกแต่ละราย
“ ความหมายก็คือว่า สมาชิกทุกรายในเอ็นพีซี ไม่ยอมทำข้อผูกพันว่า จะร่วมรับผิดด้วยกัน และรับผิดแทนกัน สมมติว่า มีความเสียหาย หรือทำผิดสัญญาเกิดขึ้น การท่าเรือฯ จะเอาผิดกับใครไมได้เลย เพราะ กิจการร่วมค้า ไม่ใช่นิติบุคคล ” รายงานข่าวอ้างคำอธิบายของกรรมการรายหนึ่ง

คณะกรรมการคัดเลือกจึงตัดสิทธิ์ การเข้าร่วมประมูลของเอ็นพีซี ไม่เปิดซองที่ 3 และ ซองที่ 4 เพระถือว่า สอบตกในซองที่ 2 เนื่องจาก ลงนามในเอกสารที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน แม้ว่า เอ็นพีซี จะยื่นเอกสารทีลงนามครบถ้วนในภายหลัง แต่ก็ไม่รับพิจารณาเพราะเลยเวลาไปแล้ว และจะไม่เป็นธรรมกับกลุ่ม จีพีซี ซึ่งทำทุกอย่างถูกต้องตาม RFP เหมือนสอบครั้งแรกตก ขอแก้ตัวสอบใหม่ โดยใช้ข้อสอบเดิม

ในขณะที่ ผู้ตรจจการแผ่นดิน โดยพลเอก วิทวัส รชตันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่า ประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชน ไม่ใช่แบบฟอร์มเอกสารราชการ จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามที่กำหนด การไม่ได้ลงนามในช่องที่กำหนด แต่ได้ลงนามในเอกสารทุกแผ่นครบถ้วนแต่ไม่ได้อยู่ในช่อง จึงไม่ใช่ข้อบกพร่องที่มีสาระสำคัญ

เอ็นพีซี ได้อุทธรณ์ต่อ คณะอนุกรรมการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ของคณะกรรมการ อีอีซี ซึ่งมีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน คณะอนุกรรมการ เห็นพ้องกับความเห็นของ คณะกรรมการคัดเลือกโครงการ ที่ไม่รับพิจารณาการร่วมประมูลของ เอ็นพีซี เพราะลงนามในเอกสารไม่ครบถ้วน และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์

นอกจากเรื่อง ลงนามในสัญญาร่วมการงานไม่ครบถ้วนแล้ว หนึ่งในสมาชิกของ เอ็นพีซี คือ ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น ไม่ได้นำส่งหนังสือบริคณห์สนธิ ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญ ทำให้ไม่สามารถประเมินคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอได้ ทั้งยังไม่นำส่งรายงานประจำปี ตามที่กำหนดไว้ใน RFP ทั้งๆที่ เป็นบริษัทจดทะเบียนในลตาดหลักทรัพย์ ต้องทำรายงานประจำปี อยู่แล้ว แต่ไม่นำส่ง จึงถือว่า เป็นการปกปิดข้อมูลสาระสำคัญ

รายงานข่าวจากคณะกรรมการคัดเลือกระบุว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาผลประโยชน์ ที่กลุ่ม จีซี เสนอมา หลังจากนั้น จะสรุปผลการพิจารณาคัดเลือกผู้ลงทุนให้คณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยพิจารณา ส่วนการยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลปกครอง ของเอ็นพีซี และคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ถือว่า เป็นสิทธิของเอ็นพีซีที่กระทำได้ แต่มั่นใจว่า การคัดเลือกผู้ลงทุน จะเดินหน้าต่อไป และคณะกรรมการ สามารถอธิบายไดชัดเจนว่า เหตุใด เอ็นพีซี จึงไม่ผ่านการพิจารณาในเรื่องคุณสมบัติ "หลักเกณฑ์การพิจารณาในข้อ 39.2 ของ RFP ชัดเจนอยู่แล้วว่า เอกสารไม่ครบถ้วน ต้องไม่ผ่านการประเมิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีนี้ เป็นเอกสารที่เป็นสาระสำคัญ" รายงานข่าวอ้างความเห็นของคณะกรรมการรายหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น