xs
xsm
sm
md
lg

สามารถฯ ร่วมลงทุนสตารท์อัปทางการแพทย์ หวังผลักดันไทยเป็นผู้นำการรักษาโรคหัวใจระดับโลก

เผยแพร่:


สามารถฯสนับสนุนนักวิจัยไทยพัฒนาเทคโนโลยีทำความเย็นหัวใจและหลอดเลือด หวังลดอัตราการตายกล้ามเนื้อหัวใจได้ 80-90% มั่นใจผลงานคนไทยผงาดเวทีโลก

นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มบริษัทสามารถ ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีที่ครบวงจรมากว่า 60 ปี ที่ผ่านมา เรามุ่งเน้นการนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต และมุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ครอบคลุมเทคโนโลยีรอบด้านผ่านโครงการ SAMART Innovation Awards ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากว่า 14 ปี ใช้เงินลงทุนกว่า 10 ล้านบาท

ดังนั้นบริษัทสามารถมีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชาวไทยในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการทำความเย็นหัวใจ Heart Cooling Technology ซึ่งหากการวิจัยครั้งนี้ ประสบความสำเร็จ ก็จะสามารถช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายได้จำนวนมาก และจะสร้างชื่อเสียงให้แก่วงการแพทย์ของไทยในฐานะผู้นำทางด้านการรักษาโรคหัวใจวาย


โดยบริษัทได้ร่วมสนับสนุนเงินลงทุน จำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ และลงทุนด้วยเงินส่วนตัวของผู้บริหารระดับสูงอีก 5 แสนเหรียญสหรัฐ แก่บริษัท NirvaMed Inc. ที่ก่อตั้งโดย นพ. ปราโมทย์ หอเจริญ ซึ่งบริษัทนี้ตั้งอยู่ที่รัฐมินิโซต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา อันเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ระดับโลก

โครงการ Heart Cooling Technology คือ เทคโนโลยีการทำความเย็นหัวใจและหลอดเลือด ด้วยวิธีที่ทำให้หัวใจเย็นอย่างเฉียบพลันและเฉพาะจุดก่อนการผ่าตัด ซึ่งจะสามารถลดอัตราการตายของกล้ามเนื้อหัวใจประมาณ 80-90% เมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐานในปัจจุบันคือ วิธี coronary stent angioplastyโดยปัจจุบันเทคโนโลยีการทำความเย็นหัวใจของบริษัท NirvaMed ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 5-7 ปี

“คนไทยเก่งและมีความสามารถ แต่ทำไม เรายังต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ ในแทบทุกแขนง หากเราสามารถพัฒนาและส่งออกสินค้าบริการทางด้านเทคโนโลยีไปยังต่างประเทศได้ ย่อมนำกลับมาซึ่งรายได้และชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย” นายเจริญรัฐ กล่าว

นพ. ปราโมทย์ กล่าวว่า ตนและเพื่อนๆช่วยกันวิจัยเรื่องนี้มาแล้วกว่า 10 ปี โดยมีห้องทำงานวิจัยอยู่ที่บ้าน ในรัฐมินิโซต้า ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยเงินเริ่มต้น 5 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อต้องมีการนำผลวิจัยมาทดลองในสัตว์ต้องมีค่าใช้จ่ายใช้แลปวันละ 10,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา จึงได้เริ่มระดมทุน ซึ่งที่ผ่านมาได้ระดมทุนที่ประเทศสหรัฐเพียงอย่างเดียว


การระดมทุนในไทยครั้งนี้ นอกจากบริษัทสามารถฯแล้วยังมีผู้ร่วมลงทุนอีกหลายบริษัท ได้แก่ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล,รพ.กรุงเทพ,บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ,บริษัท ดับเบิ้ลเอ (1991) และนักลงทุนอิสระ เพื่อนำเงินที่ได้ไปจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยที่คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล และคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการเป็นแลปทดลองในสัตว์ด้วย โดยจะเปิดให้นักวิจัยทั่วโลกมาใช้บริการแลปนี้ วันละ 5,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างรายได้ต่อยอดต่อไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น