xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยกันยายนใจต้องนิ่ง ลุ้นเฟดลดดอกเบี้ยเพิ่มกระตุ้นฟันด์โฟลว์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ภาพรวมกันยายน 2562 ตลาดหุ้นรอลุ้นนโยบายผ่อนคลายเศรษฐกิจ พร้อมหวังเฟดลดดอกเบี้ยเพิ่มเพื่อผลักดันกระแสเงินไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยง ผลักดันตลาดหุ้นทุกภูมิภาคดีดตัว แต่ช่วงนี้ต้องเพิ่มความปลอดภัย ไม่กว้านซื้อเพิ่ม เล็งถือเงินสด หรือทองคำ

นอกจากสถานการณ์ในประเทศที่เศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัวแล้ว ตลาดหุ้นไทยยังต้องเผชิญปัจจัยลบจากต่างประเทศเข้ามากดดันต่อเนื่อง เฉพาะประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ส่อเค้ายืดเยื้อ ทำให้ดัชนีหุ้นไทยช่วงที่ผ่านมาผันผวนมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่เดือนกันยายน ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของไตรมาส 3/62 ทิศทางตลาดหุ้นไทยจะเป็นเช่นไร ทีมงานผู้จัดการรายวัน 360 ได้รวบรวมความคิดเห็นและมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ มาสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนกันยายน 2562 และไตรมาสสุดท้ายของปี ดังนี้

“ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ จำกัด แสดงความเห็นว่า SET Index ในเดือนกันยายนนี้คาดการณ์ว่าจะแกว่งตัวไปตามปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ โดยประเมินกรอบแนวรับแรกไว้ที่ 1,600 จุด และแนวรับสำคัญไว้ที่ 1,570 จุด ซึ่งเป็นระดับที่ปลอดภัยในแง่ของ Valuation และในทางกลับกัน กรอบแนวต้านสำคัญอยู่ที่บริเวณ 1,680-1,700 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเท่า Forward PE กรณีดีสุดที่ 15 เท่า ดังนั้น ในเชิงกลยุทธ์ แนะนำนักลงทุนถือหุ้นในส่วนเดิม ส่วนเงินสดในส่วนที่เหลือ แนะนำถือเพื่อรอสะสมหุ้นที่บริเวณแนวรับ ในสภาวะที่ความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกยังคงมีอยู่

ส่วนปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในเดือนนี้ ประกอบด้วย พัฒนาการของประเด็นสงครามการค้า หลังทั้งจีนและสหรัฐฯ เริ่มต้นเก็บภาษีสินค้านำเข้าเพิ่มเติมต่อกันบางส่วนแล้ว ซึ่งอาจกระทบต่อปริมาณการค้าขายสินค้าระหว่างกันในตลาดโลก

ขณะเดียวกันต้องติดตามพัฒนาการของความชัน Yield curve ทั่วโลก โดยเฉพาะของสหรัฐฯ และไทยต้องติดตามว่าส่วนต่าง Bond yield รุ่นอายุ 10 ปีเทียบ 2 ปีของสหรัฐฯ จะสามารถขึ้นมายืนเป็นบวกได้หรือไม่ ส่วนทางฝั่งของไทยที่ล่าสุดส่วนต่างนี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำใกล้ 0% นั้น และหากในช่วงถัดไปมีการปรับตัวลงมาติดลบ คาดจะเป็นการสร้างแรงกดดันให้ กนง.ต้องมีการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม

สุดท้าย การประชุมธนาคารกลางสำคัญต่างๆ เริ่มตั้งแต่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 12 กันยายน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit facility) ลงจากระดับ -0.4% เป็น -0.5% รวมถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 17-18 กันยายน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากระดับ 2.00-2.25% เป็น 1.75-2.00% การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ในวันที่ 18-19 กันยายน ซึ่งอาจมีการออกมาตรการผ่อนคลายรูปแบบอื่น และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 กันยายน เพราะคาดว่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิม 1.5%

ด้าน “วิวัฒน์ เตชะพูลผล” รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ทิสโก้ กล่าวถึงภาพรวมตลาดหุ้นไทยว่า ส่วนตัวประเมินว่าหากโลกเกิดเศรษฐกิจถดถอยจริง บริษัทจดทะเบียนไทยจะได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่ถึงขั้นปิดกิจการ ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัว จึงเพิ่มความระมัดระวังด้วยการเตรียมถือเงินสดไว้เพื่อลดผลกระทบ

สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นอาจมีผลกระทบในเชิงจิตวิทยา ดังนั้น จึงแนะนำให้มองสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำติดไว้ในพอร์ต โดยมองเป้าหมายราคาทองคำปลายปี 2562 ไว้ที่ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ และมีแนวรับที่ 1,450 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสำคัญทั่วโลกในช่วงนี้เริ่มตื่นตัวรับมือกับความอ่อนแอของเศรษฐกิจ โดยในเดือนกันยายนจะมีการประชุมธนาคารกลางสำคัญๆ ทำให้มีประเด็นหลักที่น่าจับตาคือการเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเพื่อหนุนเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกโดยตรงต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย

ส่วนตลาดหุ้นไทยในเดือนกันยายนคาดว่าจะแกว่งตัวขาขึ้น โดยมีกรอบแนวต้านที่ 1,690 จุด ขณะที่มีแนวรับที่ 1,635 จุด และกรณีที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 4/2562 มีโอกาสที่ในช่วงสิ้นปีดัชนีหุ้นไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 1,730 จุดได้

บล.ไอร่า จำกัด (มหาชน) ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนกันยายนว่า ภาพรวมยังมีความผันผวน แต่มีโอกาสปรับขึ้นหลังดัชนีปรับลงไปต่ำสุดเกือบ 100 จุดในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าสะท้อนปัจจัยลบจากประเด็นต่างประเทศไปบ้างแล้ว แม้ยังมีความไม่แน่นอนของประเด็นเดิม อาทิ สงครามการค้า โดยหากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีนสามารถเกิดขึ้นได้และเป็นไปอย่างราบรื่น คาดกลับมาเป็น Sentiment บวกต่อตลาดทั่วโลก รวมถึงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังเกิดสภาวะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุสั้นมากกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุยาว (Inverted Yield Curve) ติดต่อกันและต่อเนื่องในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา แต่ยังคงมีปัจจัยหนุนเข้ามาบ้างจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐฯ จีน และเยอรมนี เป็นต้น พร้อมติดตามการประชุมเฟดในวันที่ 17-18 กันยายนนี้ ซึ่งคาดว่ามีโอกาสสูงที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้ง ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อกระแสฟันด์โฟลว์ ทำให้มีโอกาสไหลกลับเข้าตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) รวมถึงไทย

ขณะที่ประเด็นในประเทศ คาดยังได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีต่อเนื่อง โดยคาดช่วยให้ครึ่งหลังปี 2562 เติบโตดีกว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมา พร้อมติดตามการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งคาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.50% และจับตาการทำวินโดวเดรสซิ่งเพื่อปิดงบไตรมาส 3/2562 ในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้

ปิดท้ายที่ บล.เอเซียพลัส จำกัด ระบุว่า ในเดือนกันยายนนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่อง รวมถึงหุ้นไทย ยอดขายรวมตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.จนถึงต้นสัปดาห์อยู่ที่ 713 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังเดือน ส.ค.ขายหนักสุดในรอบปีนี้ ราว 8,284 ล้านเหรียญ โดยหุ้นไทยถูกขายมากสุดเป็นอันดับ 3 ที่ราว 1,761 ล้านเหรียญ รองจากไต้หวัน และเกาหลีใต้

ทั้งนี้ ภาพฟันด์โฟลว์ยังคงไหลออกจากตลาดหุ้น (สินทรัพย์เสี่ยง) ไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ตราสารหนี้ และทอง เป็นผลจากความกังวลประเด็นสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก อีกทั้งการที่เงินทุนส่วนใหญ่ถูกโยกย้ายเข้าสินทรัพย์ปลอดภัยต่อเนื่อง โดยเฉพาะตราสารหนี้ กดดันให้ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐฯ ลงมาอยู่ที่ 1.46% ต่ำสุดในรอบ 3 ปี 2 เดือน และต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่ 2.25% เช่นเดียวกับผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของไทยลงมาอยู่ที่ 1.46% ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ขณะที่ทองคำอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม หากกลับมาพิจารณาเฉพาะตลาดหุ้นไทย พบว่าในปี 2562 นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อขายหุ้นไทยมากกว่าปกติ โดยมีสัดส่วนมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยสูงถึง 42% จากต้นปีของสัดส่วนนักลงทุนทั้งหมด (เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ราว 29% แสดงให้เห็นว่าความนิยมของหุ้นไทยจากต่างชาติที่มากขึ้น หนุนให้ดัชนี (SET Index) กลับมามีความสัมพันธ์กับเงินทุนต่างชาติสูงขึ้นตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน ตราบใดที่ฟันด์โฟลว์ยังไม่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ ถือว่าเป็นแรงกดดันที่สำคัญต่อดัชนีให้ขึ้นได้อย่างจำกัด จึงมองกรอบการเคลื่อนไหวไว้ 1,630-1,660 จุด
กำลังโหลดความคิดเห็น