xs
xsm
sm
md
lg

อุตฯ ชิ้นส่วนยานยนต์ซึมยาว หลังสงครามการค้าปะทุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนนั้นส่งผลกระทบแผ่ขยายไปสู่หลากหลายธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทที่ทำการส่งออกและผลิตชิ้นส่วน ทั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งชิ้นส่วนยานยนต์ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นธุรกิจที่มีส่วนเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก แม้ว่าท่าทีการเจรจาของสองยักษ์ใหญ่จะดีขึ้นแต่สุดท้ายก็กลับมาตึงเครียดเช่นเดิม ล่าสุดความรุนแรงปะทุขึ้นอีกเมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งให้บริษัทสหรัฐฯ รีบถอนตัวออกจากจีนเพื่อกลับมาผลิตสินค้าในสหรัฐฯ ด้านจีนจะการเรียกเก็บภาษีสินค้า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมทั้งรถยนต์สหรัฐฯ นอกจากนี้ จีนจะเรียกเก็บภาษี 25% ต่อรถยนต์นำเข้าจากสหรัฐฯ และเก็บภาษี 5% ต่อชิ้นส่วนรถยนต์สหรัฐฯ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้

จากผลสำรวจตัวเลขการส่งออกรถยนต์ และยอดขายรถยนต์ในประเทศเมื่อเดือน เม.ย. 2562 จาก “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” (ส.อ.ท.) อยู่ที่ 150,242 คัน ลดลง 24% จากเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อนอยู่ที่ 86,076 คัน

โดย “ยอดส่งออกรถยนต์ทรุด 8% ** เทียบกับปีก่อน เหลือ 67,114 คัน“ ต่ำสุดในรอบ 7 ปี” เพราะผล
กระทบจากสงครามการค้า และไตรมาสแรกปีนี้ยอดผลิตรถยนต์ขยายตัวแค่ 4% โดยเป็นยอดขายในประเทศเติบโต 11% และยอดขายส่งออกเติบโต 1.6% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยคาดว่ายอดผลิตรถยนต์ปี 2562 อยู่ที่ 2.15 ล้านคัน ขณะปี 61 ไทยผลิตรถยนต์ 2.17 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 8.99% จากปี 2560 และนับเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 5 ปี

ขณะที่การตรวจสอบส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ของสินค้าไทยพบว่า ปี 61 สหรัฐฯ นำเข้ายานยนต์จากไทย 230.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือแค่ 0.1% ของมูลค่าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากทั่วโลกที่ 208,000 ล้านเหรียญ และชิ้นส่วนยานยนต์สหรัฐฯ นำเข้าจากไทย 1,296.4 ล้านเหรียญ หรือ0.9% ของมูลค่าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากทั่วโลกที่ 138,991.8 ล้านเหรียญ

บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซียไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSS ประเมินภาพรวมของกลุ่มยานยนต์ว่า หุ้นกลุ่มนี้จบรอบขาขึ้นไปแล้วในปี 2018 แม้ว่ากำลังซื้อในประเทศที่ฟื้นตัวมีโอกาสหนุนยอดขายรถยนต์ในประเทศให้เติบโตต่อเนื่อง แต่สำหรับยอดส่งออกรถยนต์ FSS คาดว่ายังถูกกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ขณะที่กำลังการผลิตของทั้งกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์เริ่มเต็ม ซึ่งการจะขยายหลังจากนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการผลิตจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV
นอกจากนี้ ยังมองว่าโครงสร้างตลาดการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แบบดั้งเดิมกำลังเข้าสู่โหมดอุปทานส่วนเกิน ถ้าปริมาณการผลิตไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ ท่ามกลางราคาที่ถูกกดดันจากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ รายได้ของกลุ่มจะโตจำกัด และอัตรากำไรจะทรงตัวถึงอ่อนลง เมื่อผนวกกับ Valuation ที่ไม่ได้จูงใจให้ซื้อทันทีถ้าเทียบกับ PE Band ในอดีต FSS ให้น้ำหนักการลงทุนเป็น Underweight ไม่จำเป็นต้องมียานยนต์ในพอร์ต แต่ถ้าจะซื้อ FSS แนะนำ SAT จึงแนะนำ Underweight หุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และด้วย Market Cap. ที่ต่ำเพียง 0.5% ของตลาดรวม จึงแทบไม่จำเป็นต้องมีหุ้นกลุ่มนี้ในพอร์ต

อย่างไรก็ดี ยอดส่งออกรถยนต์ถูกกดดันจากสงครามการค้าและความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งตลาดเอเชียยังน่าจะเป็นตลาดขับเคลื่อนหลักของยอดผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกในปี 2019 ยกเว้นจีนที่ถูกกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกราว 3-4% ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบทั้งหมด ขณะตลาดยุโรปและสหรัฐฯ กำลังคุมเข้มการปล่อยมลพิษ ทำให้ยอดส่งออกรถยนต์ปี 2019 ยังถูกกดดันจากภาพมหภาคที่เป็นลบ โดยคาดว่าจะทรงตัวหรืออ่อนลงเทียบปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ทั่วโลกที่อัตราการเติบโตเริ่มชะลอลง

บมจ.หลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ ประเมินหุ้นในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ตัวเลขการผลิตรถยนต์เมื่อเดือน พ.ค. ร่วงลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลทั้งการลดลงของการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศและเพื่อการส่งออก สัญญาณการอ่อนตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศเริ่มขึ้นแล้ว ดังจะเห็นได้จากยอดขายเติบโตในอัตราต่ำที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี ดังนั้น บล.เคที ซีมีโก้ **คาดว่ายอดการผลิตรถยนต์ในไตรมาส 2 ปี 62 น่าจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ** ทำให้ยังคงน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มนี้ “เท่ากับตลาด”

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินยังให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มยานยนต์เป็น Neutral จากภาพรวมอุตสาหกรรมที่ทรงตัว โดยยอดผลิตรถยนต์ พ.ค. 62 อยู่ที่ 181,338 คัน ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนตามฤดูกาล แต่พลิกมาทรุดเมื่อเทียบปีก่อน ครั้งแรกในรอบ 8 เดือน จากยอดส่งออกที่ลดลงแบบ เทียบปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และยอดขายรถยนต์ในประเทศโตชะลอ หลังจากที่เร่งตัวมากในปีก่อน อีกทั้ง ส.อ.ท.ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ทั้งปีนี้ที่ 2.15 ล้านคัน แปลว่าช่วงที่เหลือของปีต้องผลิตให้ได้เดือนละ 179,562 คัน ซึ่งถือว่าท้าทายเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีที่ผลิตได้เดือนละ 175,613 คัน และ Valuation ของกลุ่มถือว่าไม่แพง โดย Current PER ของ AUTO Index อยู่ที่ 11.9 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 15 เท่า แม้เราจะมีมุมมองเป็นลบกับภาพการเติบโตของกลุ่ม แต่เพราะ Valuation ไม่แพง จึงยังพอเลือกซื้อหุ้นได้

จากตัวเลขของ ส.อ.ท.นั้น บล.หยวนต้าฯ คาดว่าครึ่งปีหลังมีโอกาสทรงตัวหรือชะลอเทียบปีก่อน เพราะยอดส่งออกรถยนต์ยังมีโอกาสถูกกดดันต่อเนื่อง ขณะยอดขายรถยนต์ในประเทศยังไม่สามารถโตขึ้นมาชดเชยได้ เพราะนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ไม่ได้มุ่งสนับสนุน ** ส่วนการออกรถยนต์รุ่นใหม่ก็ไม่หนาแน่นเหมือนปีก่อนด้วย จึงยังคงน้ำหนักการลงทุนเป็น Neatral โดยเลือก SAT เป็น Top Pick ราคาเหมาะสม 25.40 บาท จากแนวโน้มกำไรที่จะ Outperform กลุ่ม เพราะได้แรงหนุนจากทั้งคำสั่งซื้อของลูกค้าใหม่และการขยายตัวเร็วของชิ้นส่วนเครื่องจักรการเกษตร

ทั้งนี้ หากดูผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ที่อยู่ในอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ **บริษัทใหญ่ๆ และเป็นที่สนใจของนักลงทุน ** จะพบว่าไตรมาส 1 ปี 2562 และไตรมาส 1 ปี 2561 เติบโต “ไม่สดใสนัก” ขณะที่ไตรมาส 2 งบที่เพิ่งปิดไปบางบริษัทก็ขยับขึ้นมาบ้าง ขณะที่บางบริษัทก็ไม่เป็นไปตามโบรกเกอร์คาดนัก อย่าง บมจ.อาปิโก ไฮเทค หรือ AH ที่ยังต้องประสบกับหลายปัจจัยลบ ขณะที่ บมจ.ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า หรือ STANLY ดูเหมือนจะสดใสที่สุดในกลุ่ม, บมจ. สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี หรือ SAT และ บมจ.พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ปโฮลดิ้ง หรือ PCSGH ซึ่งมีตัวเลขผลดำเนินงานเติบโตแบบไม่ทะยานนัก สวนทาง TKT ที่ฟื้นกำไรให้เห็นในไตรมาส 2 นี้ ซึ่งมีกำไรสุทธิ 0.29 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรกปีนี้มีผลขาดทุนสุทธิลดลงเหลือ 16.37 ล้านบาท

กำลังโหลดความคิดเห็น