xs
xsm
sm
md
lg

เช็กอินเวียดนาม ปรับแพกเกจชิงนักลงทุน “สุริยะ” โชว์จุดแข็งไทยฐานการผลิตภูมิภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ผลพวงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนไม่เพียงกระทบต่อการส่งออกของหลายประเทศทั่วโลก แต่ยังทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตเพื่อหนีกำแพงภาษีที่ถูกปรับขึ้นจากทั้งฝั่งสหรัฐฯ และจีน “เวียดนาม” กลายเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าในทันที โดยไตรมาสแรกสหรัฐฯ เพิ่มการนำเข้าจากเวียดนามมากกว่า 14% และทุนต่างชาติต่างก็หลั่งไหลเข้าไปตั้งฐานการผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะทุนจากประเทศจีน

เมื่อการลงทุนต่างทยอยเข้าไปยังเวียดนามเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตมากขึ้นส่งผลให้ไทยไม่อาจนิ่งเฉย และเรื่องนี้ก็ไม่รอดสายตา “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีที่ต้องรุดตรวจเยี่ยมหน่วยงานในการกำกับดูแลไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยประเด็นหลักที่โฟกัสหนีไม่พ้นการดึงการลงทุนที่กำลังคิดจะย้ายฐานเข้ามาไทยให้ได้แทนที่จะพุ่งเป้าไปแต่เวียดนามซึ่งว่ากันว่า บีโอไอมีลิสต์รายชื่อนักลงทุนที่อยู่ระหว่างการคิดที่จะย้ายฐานการผลิตไม่น้อยกว่า 100 รายอยู่ในมือแล้ว

ทั้งนี้ “สมคิด” สั่งให้ทุกส่วนบูรณาการหามาตรการหรือแพกเกจใหม่ๆ ที่จะส่งเสริมการลงทุนเป็นรายประเทศโดยมองให้ครบองค์ประกอบที่นักลงทุนต้องการให้ครอบคลุมทั้งสิทธประโยชน์ การบริการครบวงจร ฯลฯ มองการลงทุนที่กระจายไปทั่วภูมิภาคของไทยและที่สำคัญคือการใช้ประโยชน์จากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้มากที่สุดเพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตระดับภูมิภาคอาเซียน

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การจัดทำแพ็คเกจมีความสมบูรณ์และทำให้ไทยมีข้อได้เปรียบมากขึ้น “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงรุดเดินทางไปยังเมืองโฮจิมินห์ เพื่อหารือกับผู้ประกอบการไทยในเวียดนามและผู้เกี่ยวข้อง ณ สถานกงสุลใหญ่ประจำประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อที่จะเปิดรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน จากนั้นจึงมอบให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ไปจัดหามาตรการร่วมกับบีโอไอและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เสร็จใน 2 สัปดาห์เพื่อนำเสนอต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีชงคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเห็นชอบเพื่อประกาศเป็นมาตรการต่อไปในไม่ช้านี้

จากการเดินทางไปเวียดนามครั้งนี้ เมื่อเทียบกับ 2-3 ปีที่ผ่านมาเรียกว่าเมืองโฮจิมินห์นั้นเปลี่ยนไปพอสมควรบรรยากาศของตึกที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะตึกสูงๆ ใหม่ๆ จะพบเห็นมากขึ้น แม้ว่าการขับขี่จักรยานยนต์ดูยังวุ่นวายแต่ถนนมีความสะอาดสะอ้านผิดหูผิดตาไปเลยทีเดียว นักท่องเที่ยวต่างชาติก็มีมากขึ้นเช่นกันทำให้ร้านค้าแบรนด์ดังๆ ต่างก็ไปตั้งหลักปักฐานเปิดให้บริการรองรับมากมายใครที่เป็นขาชอป ชิม ชิล ไม่ผิดหวังแน่นอน

ดังนั้น เมื่อเจาะลึกถึงจุดแข็งของเวียดนามแล้วเปรียบเหมือนสาวแรกรุ่นที่ใครๆ ก็หมายปอง ด้วยเพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่จากประชากร 10.4 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งเป็นวัยแรงงานคนรุ่นหนุ่มสาวทำให้แรงงานมีจำนวนมากเพียงพอรองรับการลงทุน ทั้งปัจจุบันและอนาคต และเมื่อมองการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามมีการขยายตัวปีละ 6-7% มีทรัพยากรธรรมชาติยังสมบูรณ์ ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูก มีการเปิดการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป (EU) ทำให้ได้สิทธิพิเศษทางการค้า ต่างชาติมีสิทธิ์เช่าที่ดินฟรีหากลงทุนแล้วช่วยพัฒนาจังหวัดที่อยู่ไกลๆ เป็นต้น

แม้ว่าจะมีจุดแข็งแต่จุดอ่อนของเวียดนาม คือ กฎหมายการลงทุนบางข้อเขียนไว้คลุมเครือ แม้ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของเวียดนามจะอยู่ในระดับต่ำกว่าไทย แต่ยังมีค่าสวัสดิการต่างๆ ที่ต้องนำมานับรวมเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน ที่เมื่อเทียบแล้วต่ำกว่าไทยไม่มากนัก เช่นเดียวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งเสริมการลงทุนนั้นมีโควตาจำกัด เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในเวียดนาม กลับไม่ได้สิทธิประโยชน์จริงตามที่เจรจากันไว้ก็มีไม่น้อย เหล่านี้จึงต้องพึงระวังเช่นกัน เรียกว่าเวียดนามเป็นสาวแรกรุ่น แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด

หันกลับมามองไทยจุดแข็งนั้นมีไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่พร้อมรองรับทั้งระบบคมนาคมขนส่ง ทั้งรถไฟฟ้าความเร็วสูง การบิน ท่าเรือ ที่อนาคตจะเชื่อมโยงโครงข่ายอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซีที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้ไทยในการเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน มีอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตที่เข้มแข็งทำให้เกิดฐานการผลิตในระดับโลกในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งยานยนต์ ปิโตรเคมี ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ฯ ลฯ

ขณะที่ตลาดไทยมีประชากร 69 ล้านคน แม้จะเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นยังคงเป็นตลาดอุปโภคและบริโภคที่มีกำลังซื้อสูง และสำคัญสุดที่นักลงทุนส่วนใหญ่ต่างไม่อาจปฏิเสธเมื่อมาลงทุนไทยค่าครองชีพต่ำ อาหารการกินสมบูรณ์ วัฒนธรรมของคนไทยอยู่แล้วสบายใจได้ แต่จุดอ่อนก็มีเช่นกันกล่าวคือแรงงานของไทยนั้นเข้าสู่สูงวัยนี่จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลกำลังมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ มารองรับ การเมืองเปลี่ยนแปลงบ่อยแต่นโยบายการลงทุนหลักๆ เองก็ไม่ได้เปลี่ยนมากนัก การเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 3-5% ซึ่งต่ำกว่าเวียดนาม เป็นต้น

“เวียดนามวันนี้นักธุรกิจของเขาก็มีมากที่เป็นระดับเศรษฐีเลยทีเดียว ก็อยากจะชวนเขาให้มากลงทุนในไทยเช่นกัน เพราะไทยนั้นเป็นฐานการผลิตที่เชื่อมโยงสู่ภูมิภาคต่างๆ ได้ทั่วโลก เรามีความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอย่างมาก ขณะเดียวกัน เวียดนามก็เป็นโอกาสการลงทุนของไทยเช่นกัน เพราะด้วยตลาดที่เติบโตสูง และแรงงานที่มีมาก ดังนั้น ธุรกิจที่ต้องอาศัยแรงงานสูงจึงไม่ควรมองข้ามและการที่ธุรกิจไทยมาเติบโตนอกบ้านก็จะสร้างเม็ดเงินรายได้ที่เป็นเงินตรากลับไปประเทศไทย” นายสุริยะกล่าว

ขณะที่ นายมนตรี สุวรรณโพธิศรี ประธานบริษัท ซีพี เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น กล่าวในฐานะนักธุรกิจไทยในเวียดนามว่า การลงทุนในเวียดนามนั้นถือเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่ไม่ควรมองข้ามเพราะมีประชากรจำนวนมากจึงควรมองในเรื่องของการเป็นพันธมิตรมากกว่าโดยเฉพาะคนเวียดนามนั้นนิยมสินค้าไทยเป็นอย่างมาก หากเป็น Made in Thailand คนเวียดนามจะไม่ลังเลที่จะซื้อเพราะเชื่อมั่นในคุณภาพมาก

นี่เป็นการชี้ให้เห็นว่าเวียดนามจึงเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงของไทย สอดรับกับรายงานของธนาคาร DBS ของสิงคโปร์ที่ได้เผยแพร่ เรื่อง Understanding Vietnam : The Rising Star ระบุถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2561 ที่อัตรา 7.1% สูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากอินเดียที่เติบโต 7.2% ขณะที่การดึงลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีมูลค่า 14.1 พันล้านดอลลาร์ หรือ 6.3% ของ GDP เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย หากเวียดนามยังคงมีเศรษฐกิจที่เติบโตระดับ 6-7% ไปเรื่อยๆ ก็มีโอกาสที่ GDP เวียดนามจะมีขนาดใหญ่แซงหน้าสิงคโปร์ในอีก 10 ปีข้างหน้าได้

ขณะที่บทวิเคราะห์โดย World Economic Forum ระบุว่า เวียดนามมีช่องโหว่ตรงที่พึ่งพาการส่งออกถึง 99.2% ของ GDP ซึ่งเป็นอันตรายมากในช่วงที่การค้าเสรีกำลังถูกคุกคาม อีกทั้งเวียดนามยังพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศและการค้าอย่างสูง ในฐานะที่เป็นตลาดเกิดใหม่ เวียดนามอาจหมดความนิยมเอาง่ายๆ หากเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นมา ฯลฯ ทั้งหมดก็เป็นเพียงบทวิเคราะห์ยากที่จะคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีกกับเศรษฐกิจโลกทุนนิยมท่ามกลางสงครามการค้าที่ยังคงคุกรุ่น แถมด้วยการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว

แต่ที่แน่ๆ นโยบายของรัฐบาลเวียดนามปัจจุบันมุ่งมั่นที่จะพัฒนาภาคการเกษตรแปรรูปและการดึงการลงทุนอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีลักษณะที่คล้ายไทย โดยเวียดนามตั้งเป้าหมายที่จะส่งออกกุ้งล้านตันภายในปี 2025 เพื่อเป็นประเทศผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ของโลก จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 3 ของโลกและพืชเกษตรอีกหลายรายการ นอกจากนี้ยังเร่งขับเคลื่อนสังคมไร้เงินสดนำระบบดิจิทัลต่างๆ มาใช้อย่างกว้างขวาง ซึ่งเวียดนามเมื่อตั้งเป้าอะไรแล้วทุกภาคส่วนจะเดินหน้าไปทางเดียวกันทำให้ทุกเป้าหมายล้วนเกิดขึ้นได้จริง

สำหรับไทยแล้ว ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่มีการพัฒนาพื้นที่อีอีซีรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เน้นนวัตกรรมในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว ฯลฯ ล้วนเป็นสปอตไลต์ที่ทำให้ไทยกลับมาโดดเด่นอีกครั้งหนึ่ง ขนาดนักลงทุนต่างชาติเองยังเล็งเห็นถึงศักยภาพ “อีอีซี” ที่ผู้นำและนักธุรกิจของชาติอื่นๆ ต่างทยอยตบเท้ามาสานสัมพันธ์พร้อมที่จะปักธงลงทุนไทย ดังนั้นไทยจึงจำเป็นต้องเร่งขับเคลื่อนในทางปฏิบัติให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเพราะนี่คือโอกาสของคนไทยไม่ใช่ใครอื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น