xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก 'BlackShark' เกมมิ่งโฟนที่เตรียมต่อยอดสู่ผู้ให้บริการเกมในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ขณะที่อุตสาหกรรมเกมกำลังเติบโตในภูมิภาคเอเชีย ทำให้สมาร์ทโฟนหลายๆแบรนด์ รวมถึงแบรนด์ที่พัฒนาอุปกรณ์เกมหันมาให้ความสนใจกับตลาดสมาร์ทโฟนระดับพรีเมียม ที่เน้นตอบสนองประสบการณ์เล่นเกมของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นเอซุส (Asus) ที่นำซับแบรนด์อย่าง ROG ซึ่งอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เกมต่อยอดออกมาเป็นเกมมิ่งสมาร์ทโฟน ROG หรืออย่าง เรเซอร์ (RAZR) ผู้ผลิตอุปกรณ์เกมระดับโลกก็หันมาจับตลาดนี้เช่นกัน

แต่นอกเหนือจาก 2 แบรนด์หลักแล้ว ยังมีแบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งมา 1 ปี อย่างแบล็กชาร์ก (BlackShark) ที่เริ่มจากการผลิตสมาร์ทโฟน BlackShark ทำตลาดเฉพาะในจีนปีที่ผ่านมากว่า 8.5 แสนเครื่อง

ก่อนที่จะเริ่มขยายตลาดออกสู่ระดับภูมิภาคในอาเซียน ด้วย BlackShark 2 ทำยอดขายในปัจจุบันเกิน 1 ล้านเครื่องไปเรียบร้อยแล้ว และยังกลายเป็นผู้นำเกมมิ่งโฟนในตลาดมาเลเซีย เป็นการจุดประกายให้เกิดการเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอาเซียนในครั้งนี้

เดวิด ลี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แบล็กชาร์ก โกลบอล กล่าวว่า ในมาเลเซีย แบล็กชาร์กถือเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนเกมไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยจุดเด่นในเรื่องของประสิทธิภาพตัวเครื่อง พร้อมกับการที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ปัจจุบันแบล็กชาร์ก เป็นผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขันอีสปอร์ต อย่างเกมโมบายล์ เลเจนท์ แบงก์ แบงก์ (Mobile Legends Bang Bang) ในมาเลเซีย และอินโดนีเซีย อีกด้วย

รวมถึงการประกาศความร่วมมือกับผู้พัฒนาเกมอย่าง miHoYo จนแบล็กชาร์กกลายเป็นผู้สนับสนุนหลักในการแข่งขันเกม Honkai ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งยังมียังมี Next Studio จากค่ายเทนเซนต์ เกม และ Gameloft ที่เคยประกาศตัวเป็นพันธมิตรไปก่อนหน้านี้

"แนวทางในการทำตลาดของแบล็กชาร์ก คือการเข้าไปร่วมกับผู้จัดการแข่งขันอีสปอร์ต และผู้ผลิตเกม เพื่อเป็นผู้สนับสนุนหลักในการแข่งขันเกมต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเชื่อมั่นในแบรนด์ และตอบรับกับสมาร์ทโฟนของแบล็กชาร์กมากขึ้น"

ในส่วนของช่องทางการจำหน่าย แบล็กชาร์กจะเริ่มจากการเป็นพันธมิตรกับผู้นำอีคอมเมิร์ซในแต่ละประเทศ เข้าไปทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ก่อน อย่างในประเทศไทย จะร่วมมือกับทั้งลาซาด้า และช้อปปี้ ที่จะเริ่มทำตลาด BlackShark 2 Pro ในวันที่ 9 เดือนกันยายนนี้

พร้อมกับการนำเสนอประสบการณ์เล่นเกม ด้วยการนำอุปกรณ์เสริมสมาร์ทโฟนแบล็กชาร์กเข้ามาทำตลาดไปพร้อมๆกัน ส่วนในอนาคตมีแผนที่จะเข้าไปลงทุนในหลายๆประเทศ เพื่อเปิดหน้าร้านของ BlackShark ทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ ที่ถือว่าเป็นตลาดหลักในภูมิภาคอาเซียนนี้

หยาง ซุน หัวหน้าฝ่ายการตลาด แบล็กชาร์ก กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว แบล็กชาร์กมองว่าการเข้าไปร่วมกับโอเปอเรเตอร์ เพื่อจำหน่ายสมาร์ทโฟนในแต่ละประเทศ จะกลายเป็นก้าวสำคัญของแบล็กชาร์กในการทำตลาด

โดยปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงพูดคุย เพื่อศึกษาถึงรูปแบบการทำตลาดที่เหมาะสม เนื่องจากต้องการหาพันธมิตรที่มองเห็นภาพของอุตสาหกรรมเกมข้างหน้าร่วมกัน ซึ่งจะไม่ได้หยุดอยู่แค่การทำตลาดสมาร์ทโฟน แต่จะไปถึงการให้บริการทั้งอีโคซิสเตมส์ของเกมในอนาคต

***ไม่ใช่แบรนด์สมาร์ทโฟน แต่เป็นแบรนด์เทคโนโลยีเกม

หนึ่งในประเด็นที่ผู้บริหารแบล็กชาร์กย้ำในช่วงการเปิดตัวสมาร์ทโฟนเกมมิ่งอย่าง BlackShark 2 Pro คือการที่ระบุว่า แบล็กชาร์กไม่ได้เป็นแบรนด์สมาร์ทโฟน แต่เป็นบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีเกม ที่ครอบคลุมทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเซอร์วิส

เพียงแต่ว่าในจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีเกม จะต้องมีสิ่งที่เชื่อมผู้บริโภคเข้ามาหาสินค้า และบริการของแบล็กชาร์ก ซึ่งก็คือสมาร์ทโฟนเกมมิ่งอย่าง BlackShark 2 และ BlackShark 2 Pro

ขณะเดียวกัน ก็มองว่าแบรนด์สมาร์ทโฟนในตลาดเวลานี้ไม่ใช่คู่แข่งของแบล็กชาร์ก เนื่องจากจะมีจุดโฟกัสที่แตกต่างกัน แบรนด์สมาร์ทโฟนจะมองว่าต้องการพัฒนาสมาร์ทโฟนที่มีดีไซน์สวยงาม กล้องถ่ายภาพสวย และใช้เล่นเกมได้ ในขณะที่แบล็กชาร์กโฟกัสตรงๆ เข้าไปที่การพัฒนาสมาร์ทโฟนมาเล่นเกมโดยเฉพาะ การดีไซน์ และรูปลักษณ์อาจจะไม่ได้สวยงามเหมือนแบรนด์อื่นๆ แต่จะมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สร้างความแตกต่างในการเล่นเกมให้แก่ผู้บริโภค

***ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ Xiaomi

ผู้บริหารของแบล็กชาร์ก ยังไขความข้องใจ ในกรณีที่ก่อนหน้านี้ มีการนำเสนอข้อมูลว่าเป็นแบรนด์เกมของเสียวหมี่ (Xiaomi) แต่ในความเป็นจริงแล้ว Xiaomi แค่เข้ามาลงทุนในช่วงตั้งบริษัท พร้อมกับนักลงทุนอีกหลายราย

"แบล็กชาร์ก และเสียวหมี่ มีการแยกบริษัทกันอย่างชัดเจน ทั้งในส่วนของการผลิต ทีมงานวิจัยและพัฒนา การทำตลาด การสร้างแบรนด์ ไปจนถึงช่องทางการทำตลาดที่แตกต่างกัน แต่ด้วยการที่ Xiaomi เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนก็จะมีการทำงานในลักษณะของการเป็นพันธมิตรมากกว่า"

อย่างในการทำตลาดประเทศจีน BlackShark ได้เข้าไปใช้ช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านหน้าร้านของ Xiaomi ซึ่งกลายเป็นว่าทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเป็นแบรนด์ของ Xiaomi แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่

"เข้าใจว่าในเวลานี้เมื่อพูดถึงแบรนด์ Xiaomi แล้วผู้บริโภคจะเข้าใจมากกว่าการเรียกว่าเป็นแบรนด์ BlackShark ทำให้ถือเป็นภารกิจหลักในเวลานี้คือการสร้างแบรนด์ให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น"

***อนาคตคือ 5G และคลาวด์เกมมิ่ง

หยาง กล่าวต่อว่า หนึ่งในเทรนด์ที่เริ่มชัดเจนขึ้น และมีโอกาสเติบโตในอนาคตอันใกล้นี้คือการมาของบริการอย่างคลาวด์เกมมิ่ง (Cloud Gaming) หรือการให้บริการเกมผ่านระบบคลาวด์ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงแพลตฟอร์มเกมที่หลากหลายได้ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยมีอุปกรณ์ต่างๆ เป็นแค่ทางผ่านเท่านั้น

"ในโลกของคลาวด์เกมมิ่งฮาร์ดแวร์จะไม่ใช่ส่วนที่สำคัญที่สุดแล้ว เพราะการประมวลผลทุกอย่างสามารถโยนขึ้นไปอยู่บนคลาวด์ได้ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญจึงกลายเป็นการเชื่อมต่อ และอุปกรณ์เสริมในการเล่นเกมอย่างรีโมท หรืออุปกรณ์ควบคุมต่างๆ"

ในแง่ของการเชื่อมต่อ หยาง เชื่อว่า 5G จะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาปลดล็อกข้อจำกัดในการเชื่อมต่อ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเกมได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านอุปกรณ์พกพาต่างๆ ที่ไม่ได้จำกัดแค่สมาร์ทโฟนอีกต่อไป

นอกจากนี้ ยังพบแนวโน้มว่าผู้บริโภคนิยมเล่นเกมในลักษณะของครอสแพลตฟอร์ม คือการเล่นเกมเดียวกันบนหลายๆหน้าจอ อย่างเช่นในขณะเดินทางเล่นผ่านสมาร์ทโฟน เมื่ออยู่นอกบ้านเล่นเกมผ่านโน้ตบุ๊ก และถ้าถึงบ้านก็จะเล่นเกมผ่านเครื่องเกม แต่ความต้องการคือเล่นเกมเดียวกัน ทำให้การมาของคลาวด์เกมมิ่งจะช่วยตอบโจทย์เทรนด์ที่เกิดขึ้นนี้ เพราะผู้เล่นสามารถเข้าถึงเกมเดียวกันได้จากบนทุกอุปกรณ์ เพียงแต่ว่าปัจจุบันยังอยู่ในช่วงที่ผู้ผลิตเกมกำลังเตรียมตัว และพัฒนาไปให้ถึงจุดนั้น

บริการคลาวด์เกมมิ่ง ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เพราะก่อนหน้านี้ ทั้งกูเกิล แอปเปิล และไมโครซอฟท์ ต่างหันมาให้ความสำคัญกับตลาดนี้เป็นอย่างมาก

อย่างการที่กูเกิล เริ่มทยอยเปิดให้บริการ Stadia ที่เป็นบริการเล่นเกมผ่านระบบคลาวด์แล้ว โดยใช้อุปกรณ์แค่จอยเกม และ Chromcast ที่ออกแบบมาเฉพาะ ทำให้สามารถเล่นเกมได้ความละเอียดสูงถึง 4K หรือแอปเปิล ที่พัฒนา Apple Arcade ขึ้นมาใช้งานบนอีโคซิสเตมส์ของแอปเปิลเอง เพราะการมาของกูเกิล และแอปเปิล ทำให้ไมโครซอฟท์ จำเป็นต้องร่วมมือกับทางโซนี่ ทั้งๆที่เป็นคู่แข่งกันในตลาดเกมคอนโซล เพราะไมโครซอฟท์มี Xbox ในขณะที่โซนี่มี PlayStation แต่ก็ต้องหันมาร่วมมือกันเพื่อพัฒนาระบบคลาวด์เกมมิ่งให้มีประสิทธิภาพทิ้งห่างจากผู้เล่นรายใหม่ในตลาด

ภาพในอนาคตของแบล็กชาร์ก จึงไม่ใช่แค่การเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเกมเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องมีอุปกรณ์เสริมที่จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงเกมในระบบคลาวด์เกมมิ่งได้ จนถึงการที่มีบริการเสริมต่างๆให้แก่ผู้บริโภค

กำลังโหลดความคิดเห็น