xs
xsm
sm
md
lg

กกร.มึนบาทแข็งค่าส่อแววปรับลดเป้าจีดีพี-ส่งออกอีกระลอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


“กกร.” ยอมรับขาดปัจจัยหนุนมีแนวโน้มที่การคาดการณ์จีดีพีและส่งออกของปี 2562 หลุดเป้าที่วางไว้ว่าจีดีพีโต 2.9-3.3% ส่งออกติดลบ 1-1% ชี้กังวลค่าเงินบาทแข็งค่ามากสุดหวั่นเฟดลดลงจะยิ่งกดดัน วอนรัฐคลอดมาตรการดูแล

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังขาดปัจจัยหนุนและปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคและมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง จึงต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการเพื่อดูแลการแข็งค่าของเงินบาทโดยเร็วเพราะหากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบต่อส่งออกลดลงตามไปด้วยจากที่ กกร.ได้เคยคาดการณ์ส่งออกปี 2562 ไว้ที่ติดลบ 1% ถึงโต 1% และมีโอกาสสูงที่ทั้งปี 2562 เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ว่าทั้งปีจะเติบโต 2.9-3.3%

“หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกในช่วงข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของการส่งออกและการลงทุนของไทย จึงอยากให้ทางการออกมาตรการเพื่อดูแลการแข็งค่าของเงินบาทโดยเร็ว ซึ่ง กกร.จะติดตามและทบทวนประมาณการเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ อีกครั้งในเดือนหน้า” นายปรีดีกล่าว

นอกจากนี้ ในการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคม เดือนแรกของช่วงครึ่งปีหลังแรงส่งเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะที่อ่อนแรงต่อเนื่อง สะท้อนจากการส่งออกที่ไม่รวมทองคำยังคงหดตัว ส่งผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การลงทุนทรงตัว ส่วนการบริโภคภาคเอกชนแผ่วลงจากช่วงครึ่งปีแรก และแม้การท่องเที่ยวจะขยายตัว แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน ดังนั้น ยังมองไปในช่วงที่เหลือของปี 2562 เศรษฐกิจไทยยังอยู่ท่ามกลางปัจจัยกดดันทั้งการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และปัญหาการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลี ความเสี่ยงจากประเด็น Brexit รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้จะเห็นว่าค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและแข็งค่าค่อนข้างมากเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยแข็งค่าขึ้น 14% เมื่อเทียบค่าเงินวอนของประเทศเกาหลี และค่าเงินหยวนของจีน ดังนั้นที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าต้องกลับไปเร่งศึกษาหาข้อมูลที่ชัดเจนถึงปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาเพื่อรีบนำกลับมาเสนอรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งไม่เพียงแต่จะแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น แต่ต้องเตรียมรับมือเฟดที่จะลดดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในครั้งถัดไป เท่ากับจะยิ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า และส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทให้แข็งค่ามากขึ้นอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น