แม้การขยายสาขาโรงภาพยนตร์ในห้างค้าปลีกจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เมื่อผู้ประกอบการค้าปลีกหลายราย ยอดขายซบเซา สวนทางกับช้อปปิ้งออนไลน์แข่งขันสูงขึ้น ทำให้ต้องจัดสรรพื้นที่ค้าปลีกให้กับร้านอาหารและความบันเทิงเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่แก่ผู้บริโภค และรักษาผู้เช่าเดิมเอาไว้ โดยมีโรงภาพยนตร์เป็นหนึ่งในตัวเลือก
"เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ โลตัส พระราม 2" เป็นสาขาล่าสุดของ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส พระราม 2 เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา เป็นสาขาลำดับที่ 165 และเป็นสาขาที่สองย่านถนนพระราม 2 จากที่เคยเปิดในศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 เมื่อปี 2545
โรงภาพยนตร์แห่งนี้ตั้งอยู่บนชั้น 3 บนห้างค้าปลีกอายุราว 22 ปี (เปิดให้บริการเมื่อปี 2540) ที่นำมาปรับปรุงใหม่ (Renovate) ซึ่งเทสโก้ โลตัส แบ่งพื้นที่ค้าปลีกครึ่งหนึ่ง แต่เดิมเป็นแผนกเสื้อผ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ปรับปรุงพื้นที่เป็นโรงภาพยนตร์ขนาด 3 โรง รวม 765 ที่นั่ง ฉายภาพยนตร์เฉลี่ยโรงละ 4-5 รอบต่อวัน
กลยุทธ์การตลาดของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ในวันเปิดตัว ไม่ต่างจากการเปิดสาขาใหม่ คือ เปิดให้ลูกค้าชมภาพยนตร์ฟรี 1 โรง ตลอดทั้งวัน รวม 1,200 ที่นั่ง และกิจกรรมส่งเสริมการขาย แก่ลูกค้าที่ซื้อบัตรชมภาพยนตร์ เช่น การจับรางวัลชิงโชครถจักรยานยนต์ โทรศัพท์มือถือ และบัตรชมภาพยนตร์ รวมมูลค่ารางวัลเกือบ 8 หมื่นบาท
หากย้อนกลับไปในอดีต การขยายสาขาของโรงภาพยนตร์อย่างเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ นอกจากจะเปิดในรูปแบบสแตนด์อโลน หรือศูนย์การค้าขนาดใหญ่แล้ว ก็มักจะมาควบคู่กับการก่อสร้างห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ในยุคที่ "โลตัส-บิ๊กซี" เฟื่องฟู โดยมีโรงภาพยนตร์ในโครงการไม่น้อยกว่า 5 โรง พร้อมเลนโบว์ลิ่งและคาราโอเกะ
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ มองว่า ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในต่างจังหวัด ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอย แต่ยังเป็นจุดนัดพบ และสถานที่พักผ่อนสำหรับครอบครัวอีกด้วย อีกทั้งประเทศไทยยังมีจำนวนโรงภาพยนตร์ต่อประชากรอยู่ในระดับต่ำ จึงมีแผนขยายโรงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ
ปัจจุบัน เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ มีสาขา 165 แห่ง ใน 60 จังหวัดทั่วประเทศ หากนับเฉพาะในห้างค้าปลีก (ไม่รวมห้างค้าปลีกในศูนย์การค้า) พบว่าเทสโก้ โลตัสมีประมาณ 42 สาขา บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์มีประมาณ 35 สาขา โดยลดขนาดโรงภาพยนตร์ลงเหลือแห่งละ 1-3 โรง จำนวนที่นั่งน้อยที่สุดคือ อีจีวี โลตัส สุโขทัย มีเพียง 1 โรง 95 ที่นั่ง
เฉพาะปี 2562 เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เปิดให้บริการแล้ว 6 แห่ง เริ่มจาก ศูนย์การค้า ITECC สปป.ลาว เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่วนอีก 5 แห่ง ใช้พื้นที่บางส่วนในห้างค้าปลีกเพื่อขยายสาขา ได้แก่ เทสโก้ โลตัส บ้านสวน จ.ชลบุรี, เทสโก้ โลตัส จอมทอง จ.เชียงใหม่, เทสโก้ โลตัส อ่างทอง, เทสโก้ โลตัส อุบลราชธานี และ เทสโก้ โลตัส พระราม 2
ส่วนแผนการขยายสาขา นอกจากจะเปิดที่โรบินสัน ไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ ลาดกระบัง ขนาด 5 โรง และเข้าไปแทนที่โรงภาพยนตร์วิสต้า กาดสวนแก้ว ขนาด 6 โรงแล้ว ยังเปิดเพิ่มในห้างค้าปลีกต่างๆ เช่น บิ๊กซี ปากช่อง จ.นครราชสีมา, อีจีวี เทสโก้ โลตัส ภูเก็ต, เทสโก้ โลตัส สระบุรี, อีจีวี เทสโก้ โลตัส พะเยา และบิ๊กซี มหาชัย 2 จ.สมุทรสาคร
ขณะที่ บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เริ่มเปิดสาขาในห้างค้าปลีกแห่งแรกที่ห้างเทสโก้ โลตัส สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยปรับปรุงจากโรงภาพยนตร์เซเว่น-บ็อกซ์ ขนาด 2 โรง เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2558 จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายสาขาในห้างค้าปลีก ทั้งปรับปรุงโรงภาพยนตร์จากผู้ประกอบการเดิม หรือจะเป็นการเช่าพื้นที่ใหม่
เช่น บิ๊กซี บางพลี ขนาด 6 โรง ปรับปรุงจากโรงเครือ UMG, บิ๊กซี เพชรบุรี ขนาด 4 โรง, ท็อปส์ พลาซ่า พะเยา ขนาด 3 โรง, บิ๊กซี สระแก้ว ขนาด 2 โรง, บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า เพชรเกษม 2 ขนาด 4 โรง, บิ๊กซี สมุทรสงคราม ขนาด 3 โรง, บิ๊กซี ปราจีนบุรี ขนาด 2 โรง ปรับปรุงจากโรง SF Multiplex และ เร็วๆ นี้เตรียมเปิดที่เทสโก้ โลตัส ชุมพร
การเข้ามาของโรงภาพยนตร์ในห้างค้าปลีก สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อศูนย์การค้าขนาดใหญ่มีการแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้ห้างค้าปลีกที่เก่ากว่า หรือทำเลรองต้องเผชิญกับผู้เช่าเดิมย้ายออกสูงขึ้น นอกจากบางแห่งยังคงค่าเช่าอัตราเดิมเพื่อรักษาลูกค้าแล้ว จำเป็นต้องปรับปรุงพื้นที่ (Renovate) เพื่อแข่งขันกับศูนย์การค้าขนาดใหญ่เหล่านี้
สินค้าหรือบริการบางอย่าง ไม่สามารถนำมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ ยังมีทำเลห้างค้าปลีกอีกหลายพื้นที่ จากสองยักษ์ใหญ่อย่างเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ พร้อมให้โรงภาพยนตร์ทั้งสองแห่งเช่าระยะยาว เพื่อเป็นแม็กเน็ตดึงดูดลูกค้า มากกว่าเพียงแค่จับจ่ายซื้อของ ที่ยุคนี้การบริโภคในประเทศเป็นไปอย่างจำกัด
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)