xs
xsm
sm
md
lg

ชนแล้วแยกย้าย “Claim Di” เคลมประกันแสนง่ายแค่ปลายนิ้ว ไอเดียสตาร์ทอัพไทยดังไกลถึงสิงคโปร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


“เคยเห็นไหม พอรถชนก็ต้องรอตำรวจมาพ่นสีที่ถนน รอประกันมาเคลม รวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง” ประโยคแรกที่ถูกตั้งคำถามขึ้น และเฝ้าหาคำตอบว่า ‘ทำไม’ มาตลอดหลายสิบปี สำหรับ “กิตตินันท์ อนุพันธ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอนี่แวร์ ทู โก ผู้อยู่เบื้องหลังแอปพลิเคชั่นเตือนภัย ที่มีนามสกุลต่อท้ายด้วยคำว่า ‘….i lert u’ ทำฟรีให้วงการตำรวจ–หน่วยงานภาครัฐ ล่าสุดเปิดตัว “เคลม ดิ” (Claim Di) แอปฯ ช่วยเคลมประกันรถได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอประกัน ชนเสร็จแล้วแยกย้าย

หมดสมัยแล้วเมื่อรถชนแล้วต้องรอประกันนานหลายชั่วโมง เสียทั้งเวลาและทำให้การจราจรติดขัด เพราะในยุค 4.0 ต้องใช้แอปพลิเคชั่น “เคลมดิ” ที่คนมีรถต้องโหลด หากไม่อยากเสียเวลากับการรอเจ้าหน้าที่ประกัน
กิตตินันท์ อนุพันธ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอนี่แวร์ ทู โก (คนกลาง)




ไอเดียนี้เป็นของ “กิตตินันท์ อนุพันธ์” อาศัยการต่อยอดและสั่งสมประสบการณ์การทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ออกแบบซอฟแวร์ ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ เมื่อ 27 ปีที่แล้ว โดยผลงานการออกแบบซอฟแวร์ที่เขาอยู่เบื้องหลัง คือ ซอฟแวร์การแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ให้กับวงการตำรวจ ที่สามารถเชื่อมข้อมูลได้ทั่วไทย ทั้งๆ ที่ในช่วงนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ ให้ใช้งานด้วยซ้ำ แต่ตำรวจสมัยนั้นสามารถข้อมูล ดึงมาที่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กโดยใช้สัญญาณวิทยุได้

กระทั่งปี 2543 เขาเข้ามาทำงานในสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง เห็นธุรกิจประกันภัยที่ข้อมูลยังไม่เชื่อมกันมากนัก ประกอบกับในช่วงนั้นเริ่มมีอินเตอร์เน็ตให้ใช้งาน โทรศัพท์โนเกียรุ่นแรกๆ ก็เชื่อมอินเตอร์เน็ตได้ จึงลองเขียนโปรแกรมดึงข้อมูลด้านประกันภัย คล้ายกับการเชื่อมข้อมูลในแวดวงตำรวจมาใช้กับงานประกันภัย ประเดิมบริษัท LMG ประกันภัย เป็นลูกค้ารายแรกที่ทีมงานของเคลมดิ เซ็ตระบบให้ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟน หรือจีพีเอสให้ใช้งาน

จากนั้นก็มีประกันภัยอีกหลายแบรนด์ซื้อซอฟแวร์ไปปรับใช้กับองค์กรกว่า 10 บริษัท กลายเป็นที่มาของสโลแกนที่ว่า “มาเร็ว เคลมเร็ว” โดยใช้เวลา 20 วินาที หาจุดเกิดเหตุชน ส่งพนักงานเซอร์เวย์ไปประกันเคลมได้ภายใน 8 นาที สามารถเอาเงินวาง และปริ้นท์สลิปให้เอาสลิปไปที่อู่ ได้เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย และยังสามารถเอารถเข้าไปซ่อมได้เลยภายในวันเดียวกัน

นอกจากนั้นยังขยายไปสู่แวดวงทางการแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีหลายโรงพยาบาลในเครือ เพื่อเชื่อมข้อมูลคนไข้เข้า พร้อมข้อมูลการทำประกันภัยเข้าไว้ด้วยกัน ถือเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของเอสเอ็มอีรายเล็กๆ

แต่เขาก็ไม่หยุดนิ่งพัฒนาตัวเองจาก ‘เอสเอ็มอี’ ขายซอฟแวร์ “Anywhere to Claim”เมื่อ 19 ปีที่แล้ว สู่การเป็น ‘สตาร์ทอัพ’ เพื่อการเติบโตแบบก้าวกระโดด จากการได้ระดมทุนจากซิลิคอน วัลเล่ย์ สูงถึง 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “เคลมดิ” (Claim Di) เพื่อสร้างการจดจำ ซึ่งนอกจากได้รับการตอบรับจากวงการประกันภัยในไทยแล้ว ยังได้รับเงินทุนจากญี่ปุ่นและเริ่มบุกตลาดอื่นๆ ด้วย จนในปี 2560 ก็ทุบยอดขาย 100 ล้านบาท

แอปพลิเคชัน “เคลมดิ” เป็นตัวช่วยสำคัญของผู้ใช้รถใช้ถนนที่ทันสมัยที่สุดในยุคนี้ ไม่ต้องกังวลเรื่องการเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนแล้วจะเสียเวลารอประกัน เพราะแอปฯ นี้ได้เชื่อมข้อมูลของผู้ที่ลงทะเบียนในแอปฯ กับบริษัทประกันภัยเกือบทุกแบรนด์ในไทย สามารถเคลมประกันได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าประกัน หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ คือ ‘ชนเสร็จ ก็แยกย้าย’ เพียงเอาโทรศัพท์มารอรับการอนุมัติการเคลม และไปที่อู่ได้เลย เร็วกว่า แถมลดต้นทุน ไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่มาทำเรื่องเคลม ขณะที่การใช้งานก็แค่ชน เขย่ามือถือ แยกย้าย ถ่ายรูปจุดที่เสียหาย และหาอู่นัดซ่อมง่าย เหมาะกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบของผู้คนในยุคนี้





แต่จนแล้วจนรอดในช่วงแรกแม้จะมีคนโหลดแอปฯ มาแล้วสูง 30,000 ครั้ง แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุกลับไม่มีการใช้งานจากแอปฯ ยังโทรเรียกประกันอยู่ดี กลายเป็น ‘อุปสรรค’ ที่มาพร้อมความ ‘ท้าทาย’ ที่เขาต้องงัดกลยุทธ์ต่างๆ มาปรับใช้เพื่อให้เกิดการยอมรับและนึกถึงเคลมดิเมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

เมื่อถามถึงรายได้ของแอปฯ เคลมดิ ว่ามาจากทางใดบ้าง เพราะให้โหลดฟรี กิตตินันท์ บอกว่า ในเมื่อเคลมดิ เป็นแอปฯ ที่มีบริษัทประกันเข้ามาเกี่ยวข้องหลายบริษัททั่วไทย มีงานหลายด้านที่ต้องใช้ ‘คน’ ในการทำงาน โดยเฉพาะการจ้างคนออกไปเคลมรถที่เกิดอุบัติเหตุ หรือการที่ลูกค้าต้องการเปลี่ยนบริษัทประกันภัย ทำประกันภัยกับบริษัทใหม่ งานตรวจสภาพรถก่อนทำประกัน ก็ล้วนต้องมีคนออกไปจัดการเรื่องเอกสาร ถ่ายรูป ซึ่งนั่นถือเป็นโอกาสที่เคลมดิ จะเข้าไปหารายได้ เพราะเชื่อว่าจำนวนพนักงานในแต่ละบริษัทไม่เพียงพอแน่นอน รวมถึงแต่ละบริษัทส่วนใหญ่มักจะไม่จ้างพนักงานเป็นรายเดือน จะเลือกใช้บริการเป็นเคสๆ ไปมากกว่า ดังนั้นทางเคลมดิ จึงมีคนพนักงานสำรองในการทำประกันครบทุกส่วน กระจายอยู่ทั่วไทย ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่ต้องการมีรายได้เพิ่ม และใช้เวลาว่างจากงานประจำให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น คนในแวดวงตำรวจ ข้าราชการ ครู ทนายความ นักศึกษา ช่าง พนักงานธนาคาร ซึ่งล้วนผ่านการอบรมด้านการประกันภัยมาเป็นอย่างดี







“เมื่อตัวแทนหรือเอเจ้นท์ต้องการขายกรมธรรม์ ต้องถ่ายรูปรถให้บริษัทประกันภัยเพื่อออกกรมธรรม์ จากผลสำรวจของเคลมดิ พบว่า มี 9 ล้านคันที่ซื้อกรมธรรม์ และเปลี่ยนกรมธรรม์ทุกปี 50% (คือ 4.5 ล้านคัน) เพราะคนไทยชอบเปลี่ยนกรมธรรม์ เพราะมีการชนกันเยอะ เคลมก็ต้องเยอะตามเช่นกัน จึงต้องการเปลี่ยนกรมธรรม์ ทำให้โบรกเกอร์ได้ค่าคอมมิชชั่นมาก ถ้าเขาโน้มน้าวให้คนเปลี่ยนยี่ห้อประกันภัยได้ แต่ตอนนี้เพียงตัวแทนดาวน์โหลดแอปฯ แล้วจ่าย 50 บาทให้กับเคลมดิ เพื่อหาลูกค้าที่ต้องการซื้อกรมธรรม์ ขณะที่เมื่อมีการชนกัน แต่รถขับไม่ได้ ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือจุดที่เกิดเหตุที่ใช้งานแอปฯไม่ได้ ทาง Claim Di ก็มีเจ้าหน้าที่ออกไปเคลมประกันให้ถึงที่เกิดเหตุได้ ซึ่งรายได้ของเจ้าหน้าที่ต้องการหารายได้พิเศษนอกเวลาลง ขั้นต่ำก็ต้องได้ประมาณ 150-250 บาท/วัน ที่ผ่านมาเคยมีคนได้รายได้สูงถึง 80,000 บาท/เดือน เลยทีเดียว”





ความสำเร็จของแอปฯ เคลมดิ ไม่ได้อยู่แค่ในไทย เพราะในเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็น “สตาร์ทอัพ” ก็ต้องสร้างชื่อในต่างแดนด้วย ล่าสุดบริษัทโบรกเกอร์ประกันภัยรายใหญ่ในสิงคโปร์ ได้ซื้อซอฟแวร์เคลมดิ ไปใช้งาน โดยได้มีการพัฒนาร่วมกันแม้ขณะนี้ยังไม่มีรายได้ เพราะประชากรน้อย ผู้คนมีวินัยในการขับรถ ดังนั้นการเกิดอุบัติเหตุจึงแทบจะเป็นศูนย์ แต่ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีว่าในประเทศที่เจริญแล้ว มีเทคโนโลยีเข้าถึงยังต้องการซอฟแวร์ เพิ่มความสะดวกสบายเมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน




อย่างไรก็ตามเทรนด์ของธุรกิจที่เกี่ยวกับยานพาหนะ เขายังมองว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แม้หลายคนจะมองว่าต่อไปจะไม่มีคนขับรถแล้ว จะมีแต่รถที่ขับเองด้วยระบบอัตโนมัติ ฉะนั้นอุบัติเหตุย่อมไม่เกิด แต่เชื่อว่าคงอีกหลายสิบปี และคงเพียงแค่ 50% ที่ใช้งาน จากจำนวนรถทั่วโลกที่มีกว่า 1,500 ล้านคัน ซึ่งเขาต้องการให้มองอนาคตอันใกล้มากกว่า เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว อย่างเมื่อก่อนหลายคนก็มองว่ารถยนต์ติดแก๊สจะมาแทนที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน แต่อีกไม่ช้ารถติดแก๊สก็หายไป จากราคาน้ำมันที่ถูกลง ขณะที่รถอีวี หรือรถไฟฟ้าจะมาแทนที่ ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการเคลมประกันอยู่ดี







* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น