xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจการบินครึ่งปีแรกปีกหักทั่วหน้า BA ปรับกลยุทธ์หารายได้อื่นเสริม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA

บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส โดยนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ จัดแถลงทิศทางการดำเนินธุรกิจของบางกอกแอร์เวย์สในครึ่งปีหลังของปี 2562 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ญาจาง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม


นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยถึงภาพรวมของธุรกิจการบินในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาว่าอุตสาหกรรมการบินเกิดภาวะซบเซาเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่ถดถอยทำให้นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวต้องมีการปรับแผนการเดินทางหรือชะลอการเดินทางออกไป ประกอบกับสหรัฐฯ กับจีนมีการประกาศเรื่องสงครามการค้าทำให้นักท่องเที่ยวจีนชะลอการเดินทางมาท่องเที่ยว ส่งผลให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกได้รับผลกระทบจากธุรกิจการบิน เกือบทุกสายการบินต้องประสบภาวะขาดทุนหรือกำไรลดลง

สำหรับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการขยายเส้นทางบินไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธาณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเส้นทางบินที่เชื่อมเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญภายในประเทศไทย ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพ-คัมรัน (เวียดนาม) เชียงใหม่-หลวงพระบาง (ลาว) และเชียงใหม่-กระบี่ (เที่ยวเดียว) โดยผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรก 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวม 13,865.7 ล้านบาท โดยเป็นรายได้ในส่วนของธุรกิจสายการบิน 10,106 ล้านบาท มีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 3.02 ล้านคน อัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์


บางกอกแอร์เวย์ส ปรับแผนหาธุรกิจอื่นเสริมรายได้

สำหรับธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน อาทิ บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด (Bangkok Air catering - BAC) ในครึ่งปีแรกมีลูกค้ารวม 18 สายการบิน ทั้งที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บ.ครัวการบินกรุงเทพ สมุย และบริษัท ครัวการบินกรุงเทพภูเก็ต และในส่วนของธุรกิจบริการภาคพื้น บริษัท การบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด (BFS Ground) มีส่วนแบ่งทางการตลาด 60 เปอร์เซ็นต์ มีลูกค้าเพิมขึ้นจำนวน 7 ราย รวมเป็น 82 สายการบิน และบริษัทดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด (BFS Cargo) มีส่วนแบ่งทางการตลาด 48 เปอร์เซ็นต์ มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 5 ราย รวมเป็น 72 สายการบิน

“แผนเส้นทางบินในครึ่งปีหลัง บริษัทฯ จะเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายเส้นทางการบินเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารและสายการบินพันธมิตร โดยการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในเส้นทางบินยอดนิยม และปรับลดเที่ยวบินให้สอดคล้องกับความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสาร อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ-เกาะฟู้โกว๊ก (เวียดนาม) เพิ่มจาก 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็นให้บริการ 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ในช่วงตารางบินฤดูหนาว”

ขณะที่เส้นทางญาจาง ประเทศเวียดนาม ก็มีแนวโน้มว่าเป็นเส้นทางที่ได้รับความสนใจ ซึ่งในอนาคตจะมีโรงแรมเกิดขึ้นใหม่และกำลังก่อสร้างขึ้นอีกกว่า 20,000 ห้อง ซึ่งมีทั้งโรงแรมระดับ 4-5 ดาวจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน เนื่องจากเห็นศักยภาพการเติบโตด้านท่องเที่ยวของญาจาง ซึ่งบางกอกแอร์เวย์สในอนาคตก็จะเพิ่มเส้นทางการบินเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น

พุ่งเป้า CLMV อนาคตยังสดใส

นายพุฒิพงศ์กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ได้ความสำคัญเส้นทางบิน CLMV ซึ่งเป็นเส้นทางในประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มที่เติบโตทั้งในแง่การลงทุนเพิ่มในธุรกิจท่องเที่ยวและการลงทุนใหม่ๆ ประกอบกับมีสายการบินพันธมิตรที่มาร่วมกับบางกอกแอร์เวย์ส เป็นพันธมิตรส่งผู้โดยสารผ่านเที่ยวบินต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวในแถบ CLMV ทำให้มีรายได้จากเส้นทางบินเหล่านี้มาชดเชยในส่วนที่ขาดหายไป

“สำหรับสายการบินพันธมิตรของบริษัทฯ ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 27 สายการบิน โดยเตอร์กิชแอร์ไลน์สเป็นสายการบินล่าสุดที่ลงนามข้อตกลงในการให้บริการเที่ยวบินร่วม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารของเตอร์กิชแอร์ไลน์ส ในการเดินทางเชื่อมต่อจากกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) ผ่านเที่ยวบินของบางกอกแอร์เวย์ส ไปยังแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมทั้งในประเทศไทย และประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยในครึ่งปีหลังบริษัทมีแผนที่จะลงนามข้อตกลงเที่ยวบินร่วมกับสายการบินเพิ่มเติมอีก 1-2 สายการบิน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ากลุ่ม CLMV มีความแข็งแกร่งและเติบโตขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเวียดนาม เช่น คัมรัน มีการเติบจากการส่งเสริมจากรัฐบาลเวียดนามเอง มีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่มีการปรับปรุงเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงสนามบินแห่งใหม่เพื่อให้สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่และนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทำให้ศักยภาพของเวียตนามกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และสร้างรายได้ให้กับประเทศเวียตนามมากขึ้น และทำให้คนภายในประเทศเดินทางออกไปยังประเทศอื่นๆ ได้สะดวกมากขึ้น

ปรับแผนฝูงบินรัดเข็มขัดลดรายจ่าย

สำหรับแผนการลงทุนปี 2562 มีโครงการด้านอากาศยาน บริษัทฯ ได้ทำการรับเครื่องบินแบบเอทีอาร์ 72-600 จำนวน 2 ลำ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้ ณ ปัจจุบัน (สิงหาคม) บริษัทมีเครื่องบินรวม 40 ลำ โครงการพัฒนาระบบงานด้านไอที บริษัทได้ดำเนินการเปลี่ยนระบบให้บริการผู้โดยสารเพื่อใช้ในการสำรองที่นั่ง (PSS) เป็นระบบอะมาดิอุส (Amadeus) เสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนกรกฎาคม โครงการสถาบันฝึกอบรมด้านการบินได้จัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ บริษัท บางกอกแอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการในต้นปีหน้า


นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า บริษัท บางกอกแอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ลงนามสัญญาเป็นพันธมิตรว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินของ IATA ระดับภูมิภาค บริษัท การบินกรุงเทพ ซึ่งเป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินระดับภูมิภาค ในการจัดอบรมหลักสูตรที่ได้รับการรับรองโดย IATA ซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการฝึกอบรมทางด้านการบินของประเทศไทยไปสู่ระดับสากล โดยศูนย์ฝึกอบรมดังกล่าวจะมีการสอน 2 รูปแบบ คือ การฝึกอบรมแบบในห้องเรียน และการเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สื่อการสอนในรูปแบบผสมผสาน ให้ผู้เรียนได้รับความรู้ความเข้าใจทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติควบคู่กัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติงานและพัฒนาต่อยอดในภาคอุตสาหกรรมการบินของภูมิภาคต่อไป

“โครงการนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท โดยใช้พื้นที่บริเวณสนามบินสุโขทัย ใช้เป็นสถานที่การฝึกอบรม ซึ่งในอนาคตจะเปิดรับนักบินจากต่างประเทศเข้ามาฝึกอบรมและขยายเพิ่มต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต ซึ่งนับว่าเป็นอีกช่องทางของการหารายได้เพิ่มขึ้น”

ขยายครัวการบินเพิ่มที่เชียงใหม่

บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด (BAC) ได้เปิดครัวการบินเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง คือ ครัวการบินกรุงเทพ เชียงใหม่ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ BAC ยังร่วมกับ บ.กูร์เมท์พรีโม่ จำกัด ในนามครัวการบินดอนเมือง ได้รับสิทธิประกอบกิจการจัดส่งอาหารและเครื่องดื่มให้แก่อากาศยาน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2562 นี้

เป้าหมายเมืองการบินรอผลการตัดสิน

นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า โครงการเมืองการบิน (EEC) บริษัทฯ ร่วมยื่นซองประมูลในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ประกอบด้วย บ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มบางกอกแอร์เวย์ส และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการรอผลพิจารณา


“ตอนนี้ยื่นซองประมูลและต้องรอขั้นตอนการประมูล ซึ่งทางกลุ่มผู้ร่วมทุนยืนยันมีความพร้อมในการดำเนินโครงการ หากได้รับการคัดเลือกจะต้องมาเจรจาและแบ่งงานกันอีกครั้งว่าจะรับผิดชอบโครงการในส่วนใดบ้างเพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีการลงทุนนับแสนล้านบาท”

ใช้ออนไลน์ขายตั๋วหารายได้ใหม่

สำหรับแผนการตลาดและการขายในครึ่งปีหลัง (2562) บริษัทฯ เน้นการทำการตลาดและการขายเชิงรุกในตลาดดิจิทัล โดยเน้นทำกิจกรรมทางการขายและการตลาดผ่านช่องทางตัวแทนจำหน่ายออนไลน์ (Online Travel Agency) และตัวแทนจำหน่ายในประเทศต่างๆ (Global Sales Agents) ทั่วโลก และล่าสุดจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งในด้านช่องทางการจำหน่ายบนช่องทางอีคอมเมิร์ซ อาทิ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด (Shopee) ในการจำหน่ายสินค้าเมอร์เชียนไดซ์ของบริษัทฯ เป็นต้น และยังคงเน้นการขายในตลาดกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) พร้อมยกระดับความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอินโดจีน จัดแคมเปญ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวระหว่างไทยและประเทศในกลุ่ม CLMV มากขึ้น และสำหรับกลุ่มลูกค้าในประเทศไทย บริษัทจะมีการออกโปรโมชันต่างๆ รวมทั้งการร่วมออกบูธจำหน่ายบัตรโดยสารในราคาพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขายล่วงหน้ามากขึ้น อาทิ งานไทยเที่ยวไทย เที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก

นายพุฒิพงศ์กล่าวย้ำว่า ทิศทางผลดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 นี้คาดว่าบางกอกแอร์เวย์สจะสามารถตีตื้นรายได้และสามารถทำกำไรได้ และมีรายได้หลักจากธุรกิจการบินไม่ต่ำกว่า 80% ถึงแม้ปริมาณจำนวนผู้โดยสารจากเดิมปีละ 5.9 ล้านคน ลดเหลือ 5.8 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งราคาค่าตั๋วเฉลี่ย 3,355 บาท/คน ราคาลดรา 3-4% แต่คาดว่าจะมีรายได้อื่นๆ มาชดเชย รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ และเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายตั๋วในรูปแบบออนไลน์ก็จะสามารถทำให้มีรายได้และกำไรไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น