ประเทศไทย มีการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ อย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจาก 2 ปัจจัย คือ แนวทางการส่งเสริมของภาครัฐ เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ให้กับ ผู้ประกอบการไทย มีต้นทุนด้านนี้สูงถึง 18% ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านสิงคโปร์ มีต้นทุนด้านนี้ เพียง 10% และอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้โลจิสติกส์ไทยเติบโตอย่างมาก คือ การเติบโตของตลาดออนไลน์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
โลจิสติกส์ไทย โตแบบก้าวกระโดด
ทั้งนี้ จากการพัฒนาและเติบโตแบบก้าวกระโดดของผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ ส่งผลให้ การจัดอันดับศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 32 จากการจัดอันดับของ ธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ ประจำปี 2018 จากการสำรวจ 160 ประเทศทั่วโลก ได้คะแนนรวมทั้งสิ้น 3.41 คะแนน จากคะแนนเต็มที่ 5.0 อันดับดีขึ้น 13 อันดับ จากปี 2017ที่อยู่อันดับ 45
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ นิยามของโลจิสติกส์ เป็นระบบการจัดการการส่งสินค้า ข้อมูลรวมไปถึง การบริหารวัสดุคงคลัง การจัดการวัตถุดิบ การบรรจุหีบห่อ ซึ่งอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ มีความหลากหลาย และมีความทันสมัย ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องใช้ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ให้มีต้นทุนที่ต่ำ และประสิทธิภาพที่สุด
ก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ของผปก.โลจิสติกส์ ส่งให้ไทยขึ้นเป็นผู้นำอาเซียน
โดยการเติบโตแบบก้าวกระโดดของโลจิสติกส์ ส่งผลให้ธุรกิจต่อเนื่อง อย่างอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในกิจการโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีด้านการจัดการ รถลาก รถยกต่างๆ หรือ ชั้นวางสินค้าได้รับอานิสงส์ยอดขายเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ประกอบการที่หันมานำเข้า และผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อรองรับกับการขยายตัวทางด้านโลจิสติกส์ มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้านำเข้าจากประเทศจีน มีมากเป็นอันดับต้น และเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับ ผู้ประกอบการไทย
นายธนกฤต อัศวศรีวรกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีเอ็ม อินดัสตรี จำกัด (ทีเอ็มไอ) เป็นบริษัทลูกของ กลุ่มไทยแมกซ์เวลกรุ๊ป ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในกิจการโลจิสติกส์ และการจัดเก็บสินค้า หรือ คลังสินค้า มานานกว่า 20 ปี ประกอบไปด้วย รถยกลาก รถยกไฟฟ้า รถยกสูงระบบไฮดรอลิค ชั้นจัดวางสินค้า ตู้สวิทซ์บอร์ด รางแบบขั้นบันได เป็นต้น โดยทางบริษัท ไม่ได้เพียงแค่จำหน่ายสินค้า ยังรับออกแบบตามความต้องการของลูกค้า อีกทั้งยังให้บริการก่อน และหลังการขาย เป็นจุดขายที่ทำให้ลูกค้า เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ของประเทศไทย ให้ความไว้วางใจ โดยบริษัทมีลูกค้ามากกว่า 1,000 ราย
สำหรับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ รายใหญ่หลายราย ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ช็อปปี้ หรือ เคอรี่ ฯลฯ ก็เป็นลูกค้าของบริษัทแห่งนี้ เช่นกัน รวมถึงลูกค้าในต่างประเทศ อีกหลายประเทศ อาทิ บรูไน เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ ลาว เป็นต้น และบริษัทยังได้รับความไว้วางใจ จากบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย หลังจากได้รู้จักและทดลองใช้บริการสินค้าของทางทีเอ็มไอ หลายรายเลิกสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ หันมาใช้สินค้าของไทย เพราะด้วยคุณภาพเทียบเท่า และที่สำคัญ คือ สามารถเรียกใช้บริการก่อน หรือ หลังการขายได้ตลอด
จากความสำเร็จ ของผู้ประกอบการด้านการผลิตอุปกรณ์โลจิสติกส์ ของไทยในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจรของประเทศไทย เพราะไม่ต้องนำเข้า หรือ สั่งซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ วันนี้ ประเทศไทย ยังได้ขึ้นเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์ของอาเซียน จะเป็นลองแค่เพียงสิงคโปร์ เท่านั้น
ผลิตภัณฑ์โลจิสติกส์จากไทย ตีตลาดสินค้าจีนสำเร็จ
ด้วยกลยุทธ์ ด้านคุณภาพ นำราคา
นายธนกฤต เล่าถึงการทำตลาดของบริษัท ว่า ในช่วงที่ผ่านมาประสบปัญหาการเข้ามาตีตลาดของสินค้าจากประเทศจีน เพราะด้วยราคาที่ถูกกว่ามาก เช่น สินค้าของเรา ราคา 17,000 – 18,000 บาท สินค้านำเข้าจากจีนขายเพียง 7,000-8,000 บาท ราคาแตกต่างกันมาก ทำให้ลูกค้าหันไปซื้อของถูก และเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ ทางออกที่ดีที่สุดในช่วงนั้น ประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ ต้องหันไปนำเข้าผลิตภัณฑ์จากประเทศจีนเข้ามาจำหน่ายควบคู่ไปสินค้าที่เราผลิต เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า และเพื่อรักษาฐานลูกค้า ให้ยังคงอยู่กับเรา ซึ่งสุดท้ายสิ่งที่ได้ตามมา คือ ลูกค้าหันมาสั่งซื้อสินค้าของเรา แม้จะจ่ายแพงกว่า เพราะคุณภาพ ที่ดีกว่า และบริการหลังการขายที่จะได้รับ เช่น สินค้าจากประเทศจีนใช้ได้แค่ 1 ปี หรือ 2 ปี เสีย และไม่มีบริการหลังการขาย
โดยขณะนี้ ทางบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มไลน์การผลิตที่เป็นซอฟแวร์มากขึ้น จากเดิมจะจำหน่ายสินค้าที่เป็นฮาร์ดแวร์ ซึ่งรายได้ไม่สูง การพัฒนาเป็นผู้ผลิตระบบซอฟแวร์ ได้ คือ การหาพันธมิตรทำงานร่วมกัน เพราะการทำระบบซอฟแวร์ ต้องบอกว่าไม่ง่าย แต่สิ่งที่ได้ตามมา คือ รายได้ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และการพัฒนาระบบซอฟแวร์ ทำให้เราสามารถไปแข่งขันด้านเทคโนโลยี กับผู้ผลิตในต่างประเทศได้ และด้านการตลาดในส่วนของซอฟแวร์ ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะประสบการณ์ เกือบ 30ปี สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าเดิม ที่ใช้งานฮาร์ดแวร์ของเราอยู่แล้ว ก็จะเชื่อใจในคุณภาพ จึงไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าพัฒนาซอฟแวร์ไปนำเสนอ
ส่วนของฮาร์ดแวร์ เป็นส่วนสำคัญของบริษัท เช่นกัน เพราะเกิดมาจากการทำงานด้านฮาร์ดแวร์ และฮาร์ดแวร์เป็นส่วนที่เกิดการลอกเลียนแบบได้ง่าย ทำให้เราต้องไม่หยุดพัฒนา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และหนีการลอกเลียนแบบ เช่น ลูกค้าที่เป็น บริษัททำห้องเย็น ต้องการชั้นเหล็กที่สามารถทำงานในห้องเย็นได้ โดยไม่เกิดสนิม หรือ มีความยืดหยุ่น แม้อยู่ในอุณหภูมิที่เย็นจัด เป็นต้น
โดยตั้งเป้าไว้ว่า ในปีหน้า 2563 จะต้องเพิ่มสัดส่วนการส่งออกมากขึ้น ตั้งเป้าไว้ที่ 50% ปัจจุบันอยู่ที่ 20-30% และเชื่อมั่นในสินค้าคุณภาพของทีเอ็มไอ ว่า สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ ด้วยสินค้าที่มีคุณภาพ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉพาะจะรู้วิธีว่า จะสามารถสู้กับตลาดจีนได้อย่างไร
สำหรับในส่วนของการแข่งขันด้านเทคโนโลยีโลจิสติกส์ ในแต่ละปีจะได้เห็นนวัตกรรม และโซลูชั่นใหม่ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงออโตเมชั่นอัจฉริยะ ที่ช่วยลดระยะเวลาเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุนโลจิสติกส์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น โดยส่วนตัวไม่ได้มองว่า เป็นคู่แข่งทางธุรกิจ แต่เป็นการเรียนรู้และพัฒนาไปด้วยกันมาก และทุกคนจะต้องเปิดรับสิ่งใหม่ และนำมาปรับเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้เป็นผลสำเร็จให้มากที่สุด
ผปก. ไทย ทำโรงงานในปท.เพื่อนบ้าน ระวังการลอกเลียนแบบ
ในส่วนของตลาดต่างประเทศ มีทั้ง สองแบบ คือ การขายผ่านตัวแทนและเข้าไปตั้งโรงงาน โดยปัจจุบันมีโรงงานที่ประเทศเวียดนาม แต่ปัญหาการทำโรงงาน ที่เวียดนาม คือ ปัญหาแรงงานที่เขาพร้อมจะเรียนรู้งานของเรา เพื่อออกไปเปิดแข่งในทันที เพราะคนเวียดนามไม่ชอบการเป็นลูกจ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไม่สามารถรู้ได้ จนกว่าจะได้เจอประสบการณ์ด้วยตัวเอง แต่สุดท้ายต้องหาวิธีการรับมือ เพื่อไม่ให้เขาสามารถเรียนรู้และออกไปทำเอง หรือ เลือกที่จะทำโรงงานในประเทศไทย และส่งออกไป นอกจากนี้ ปัญหาของแรงงานในเวียดนาม คือ ขาดทักษะฝีมือยังสู้แรงงานไทยไม่ได้
ทั้งนี้ คนรุ่นใหม่ หรือ ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจของโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตซอฟแวร์ ฮาร์ดแวร์ หรือ ผู้ให้บริการ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ คุณภาพ คนรุ่นใหม่ มักจะเน้นการทำงานอย่างรวดเร็ว ขาดความรอบคอบ ซึ่งการจะให้ธุรกิจก้าวไปได้อย่างมั่นคง จะอาศัยเพียงแค่ความความรวดเร็วไม่ได้ จะต้องนำแนวคิด และประสบการณ์ของคนรุ่นเก่ามาผนวกเข้าไปด้วย โดยนำสิ่งที่ดี แตกต่างกัน นำมาปรับใช้ เพื่อให้สามารถเดินไปได้อย่างมั่นคง
สำหรับหลักการทำงานด้านโลจิสติกส์ สิ่งสำคัญ คือ เชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าและงานบริการ สนองความต้องการของลูกค้าให้ตรงจุด และต้องติดตามผลการทำงานทุกครั้ง การก้าวให้ทันกับเทคโนโลยี ก็เป็นส่วนสำคัญ จะต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยี เพราะการแข่งขันรุนแรง จะต้องอาศัยช่องทางที่สามารถเข้าถึงลูกค้า ได้ตรงจุด
ในส่วนของบริษัทฯ เอง แม้จะเปิดมานาน และเป็นข้อได้เปรียบ ในการสร้างความเชื่อถือของลูกค้า แต่ถ้าไม่พยายาม สร้างการรับรู้ ของลูกค้า เหมือนปิดกั้นโอกาส ของตัวเอง ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่าน เริ่มที่จะเข้าถึงลูกค้า ผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้คนได้รู้จัก แต่การเข้าพบพูดคุย กับลูกค้า โดยพนักงานขาย ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำควบคู่กันไป แต่ท้ายที่สุด คือ สินค้าจะต้องคุณภาพดี มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน
สำหรับผู้สนใจ เรื่องราวของโลจิสติกส์ ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ร่วมกับ บริษัท รี้ดเทรดเด็กซ์ จำกัด จัดงาน “TILOG-LOGISTIX 2019 งานแสดงสินค้าด้านโลจิสติกส์ที่ครบครัน มีผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้าร่วมกว่า 8500 ราย โดยงานจัดให้มีขึ้น ระหว่างวันที่ 28-30 สิงหาคม 2562 ที่ฮอลล์ 98 ไบเทค บางนา
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *