เลขาธิการ ITU ยันสิ้นปีกำหนดมาตรฐานคลื่น 5G พร้อมชี้ทิศ 5G ประเทศไทยช้า หรือ เร็วไม่ต่างกัน สิ่งสำคัญคือ มาในเวลาที่เหมาะสม ส่วนการประมูลคลื่น ไม่ควรคิดแค่ราคาเริ่มต้นที่สูง แต่ต้องปล่อยตามกลไกตลาด และกำหนดราคาสุดท้ายการประมูล รวมทั้งเลือกประมูลได้แบบมัลติแบนด์หรือการคัดคุณสมบัติ ด้าน "ฐากร" ชงตั้งคณะกรรมการ 5G แห่งชาติให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หวังเคลียร์ปัญหาการใช้คลื่นไม่มีประสิทธิภาพ ลั่นยอมไม่ได้ให้เพื่อนบ้านไป 5G ก่อนไทย เพราะทำให้ประเทศเสียโอกาสการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) เชิญคณะทำงาน 5G สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสื่อมวลชนไทย นำโดย "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" เลขาธิการ กสทช. ศึกษาดูงานและทำความเข้าใจร่วมกันเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ที่สำนักงานใหญ่ ITUนครเจนิวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นับเป็นครั้งแรกของITUที่เปิดสถานที่ให้สื่อมวลชนรับฟังและเข้าพบ
***แนะประมูล 5G อย่าแพง
"Houlin Zhao" เลขาธิการ ITU กล่าวว่าแม้ว่าทั่วโลกมีแผนพัฒนาเทคโนโลยี 5G ให้เกิดอย่างรวดเร็ว แต่ทว่าการก้าวไปสู่ 5G นั้น ต้องวางแผนให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ ไม่มีหลักสูตรตายตัวเหมือนกัน เช่น แอฟริกา มีการใช้งานโทรศัพท์มือถือเฉพาะในเมือง ขณะที่นอกเมืองประชาชนไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้ ก็ไม่จำเป็นต้องเร่งพัฒนา 5G
สำหรับประเทศไทย เป็นเรื่องที่ดีมาก ที่มีการทดสอบเทคโนโลยี 5G ด้วยการร่วมมือกับภาคการศึกษา ซึ่งในมุมมองของตนเอง คิดว่าจะเป็นสิ่งที่ดีมาก หากมีการแบ่งปันผลการทดสอบให้ภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ดังนั้นการประกาศสู่การเป็นผู้ให้บริการ 5G ของประเทศไทยจะช้า หรือ เร็วไม่ต่างกัน สิ่งสำคัญคือการมาในเวลาที่เหมาะสม เพราะ ITU เอง ก็ยังไม่มีการกำหนดว่าคลื่นความถี่ไหนเหมาะกับการทำ 5G คาดว่าในการประชุมของ WRC (World Radio Communication Conference : WRC) ปลายปี 2562 นี้ จะได้ข้อสรุปของคลื่นที่เหมาะสมกับ 5G แต่ตอนนี้ใครจะเปิด 5G ก่อนก็ได้ ไม่ใช่ประเด็น
"ITU ได้มีการทำงานเรื่อง 5G คืบหน้าอย่างมาก นอกจากเรื่องการสรรหาคลื่นที่เหมาะสมแล้ว ก็ต้องมีการหารือร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะภาคอุตสาหกรรมต้องมีการลงทุน บางคนอาจคิดว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ(โอเปอเรเตอร์) ต้องประมูลราคาสูง เพราะมีรายได้ มีกำไร แต่อย่าลืมว่า เอกชนนอกจากต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 5G ซึ่งต้องให้บริการด้วยความเสถียรแล้ว เขายังต้องลงทุนในแง่ของการให้บริการประชาชนด้วย"
เลขาธิการ ITU ย้ำว่า ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการประมูลจึงไม่ควรคิดแค่ราคาเริ่มต้นการประมูลที่สูง แต่ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการตลาด และควรกำหนดราคาสุดท้ายของการประมูลด้วย นอกจากนี้การประมูลอาจจะเลือกได้ทั้งการประมูลมัลติแบนด์ มีทั้งคลื่นความถี่ต่ำ กลาง สูง หรือ การคัดคุณสมบัติ นอกจากนี้ การชำระเงินก็ควรมีการแบ่งจ่ายที่เหมาะสม เพื่อให้โอเปอเรเตอร์ ทำธุรกิจได้ ซึ่งITU เป็นหน่วยงานที่ดูมาตรฐานของคลื่น เป็นหลัก ส่วนการประมูลและราคาต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
อีกประเด็นหนึ่ง เมื่อ 5G เกิด ปัญหาของผู้ให้บริการ OTT มาใช้เครือข่ายของโอเปอเรเตอร์ ก็ตามมาอีก ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน แก้ไขไม่ได้ โดย ITU มีความพยายามในการหาข้อยุติร่วมกันระหว่าง OTT ซึ่งมีทั้ง เฟซบุ๊ก และ กูเกิล กับ โอเปอเรเตอร์ ด้วยการตั้งคณะกรรมการร่วมกัน แต่ก็ยังหาข้อยุติร่วมกันไม่ได้ เพราะขณะที่ โอเปอเรเตอร์บอกว่า ตนเองเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างเน็ตเวิร์ก เหตุใด OTT จึงมาใช้งานฟรี แต่ OTT ก็บอกว่า ตนเองก็เป็นคนสร้างเศรษฐกิจให้แต่ละประเทศ
เมื่อได้ยินว่ากลุ่ม 10 ประเทศในอาเซียน มีการประชุม ASEAN Telecommunication Regulator’s Council : ATRC ครั้งที่ 25 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เพื่อหาข้อสรุปในการคิดรายได้ OTT ร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก ที่มีการรวมตัวและหาข้อสรุปร่วมกัน
*** ตั้งคณะกรรมการ 5G ชงนายกฯเป็นประธาน
ด้าน "ฐากร" กล่าวว่า ประเทศไทยจะมีการหารือถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ 5G ที่คาดว่า จะมีการจัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ในช่วงปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 ซึ่งจะส่งผลให้การเข้าสู่ 5G ของประเทศไทย จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น
ทั้งนี้จากการจัดการประชุม ATRC ทราบว่า 3 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์และมาเลเซีย จะเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ได้ประมาณเดือน มิ.ย. 2563 จึงมีความกังวลในกรณีที่นักลงทุนจะมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศนั้นๆทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ดังนั้นภายในต้นเดือน ก.ย. จะนำเสนอต่อที่ประชุมกสทช.ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติ โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนให้เกิด 5G ได้เร็วขึ้น จากนั้นจะนำมติที่ประชุมเสนอต่อนายกรัฐมนตรีภายในกลางเดือน ก.ย.
"ที่ผ่านมากสทช.ดำเนินการอาจจะมีปัญหา เช่น กรณีคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz และคลื่นอื่นๆ ที่มี หน่วยงานภาครัฐและกองทัพถือครองอยู่ แต่กลับใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หากมีคณะกรรมการชุดนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น เพราะรัฐบาล เป็นผู้กำกับดูแล ไม่เกิดปัญหาฟ้องร้องภายหลัง การขับเคลื่อน 5G จะมีประสิทธิ ภาพและเกิดขึ้นได้เร็ว"
สำหรับความคืบหน้าในการประมูลคลื่นความถี่เพื่อนำมาพัฒนา5G กสทช.คาดว่าจะสรุปการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ 2600 MHz ได้ในปลายเดือนส.ค.นี้ โดยจะเป็นการหาจุดสมดุลด้านราคาที่เหมาะสมจากผลการศึกษาราคาประเมินคลื่นความถี่ 2600 MHzที่กสทช.มอบหมายให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำการศึกษา
ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกับโอเปอเรเตอร์ ของไทย พบว่า การลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ 5G ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล ขณะที่ปัจจุบันโอเปเรเตอร์ ยังมีภาระทางการเงินจากการประมูลคลื่นความถี่ครั้งที่ผ่านมา ประกอบกับเทคโนโลยี 5G เป็นเทคโนโลยีใหม่ความพร้อมในการผลิตอุปกรณ์สำหรับคลื่นความถี่ที่จะนำมาใช้งานยังไม่พร้อมทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม โอเปอเรเตอร์ คาดว่า จะพร้อมลงทุน 5G ในปี 2565-2566 ซึ่งเป็นปีที่ 5G ได้เริ่มให้บริการแล้วในประเทศชั้นนำ เพราะเชื่อว่า เมื่อถึงเวลานั้นจะเห็นทิศทางของการลงทุนการใช้งานคลื่นความถี่ที่ชัดเจน แต่หากเป็นเช่นนั้น ประเทศอาจได้รับผลกระทบในหลายด้าน และรัฐบาลจะไม่สามารถยอมรับได้ เพราะถือว่า ประเทศไทยเข้าสู่ 5G ล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน
"กสทช. มีแนวคิดที่น่าจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายโดยให้การจัดสรรคลื่นความถี่เกิดขึ้นก่อน โดยให้โอเปอร์เรเตอร์เข้ารับการจัดสรรคลื่นความถี่ล่วงหน้า และวางหนังสือค้ำประกัน (แบงการันตี) และเมื่อโอเปอร์เรเตอร์มีความพร้อมที่จะลงทุน จึงชำระเงินค่าใบอนุญาต ในปี 2566"
ทั้งนี้ ในกรณีดังกล่าวยังเป็นปัญหาเพราะจากการตรวจสอบพบว่า โอเปอร์เรเตอร์แต่ละรายเหลือความสามารถในการวางแบงการันตีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ไม่มาก เพราะการประมูลคลื่นความถี่ที่ผ่านมามีการวางแบงการันตีไว้จำนวนมาก ดังนั้น กสทช. จึงมีการหารือกับ ธปท. ในการให้โอเปอเรเตอร์สามารถนำแบงการันตีของสถาบันการเงินในต่างประเทศมาใช้ในการค้ำประกันแทนได้
***10 ประเทศอาเซียนกำหนดเก็บรายได้ OTT
สำหรับเรื่องการเก็บค่าบริการ OTT ที่ประชุม ATRC มีมติร่วมกันในหลักการจากประเทศเพื่อนสมาชิก 10 ประเทศ ในการจัดเก็บรายได้ โดยหลังจากนี้ให้ประเทศเพื่อนสมาชิกนำมติกลับไปพิจารณาหารือกับผู้นำประเทศและรัฐบาลของตัวเอง จากนั้นหากต้องการเพิ่มเติมถ้อยคำหรือแก้ไขในรายละเอียดก็ให้ส่งกลับมาภายใน 1 เดือน ซึ่งสุดท้ายแล้วจะบันทึกลงไปเป็นมติผลการประชุมที่เกิดขึ้นในปีนี้อย่างเป็นทางการ
ในส่วนของประเทศไทยนั้น เลขาธิการกสทช.กล่าวว่า ผลจากการหารือ และมติที่ได้กำลังรวบรวมและเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.ต่อไป และเมื่อได้เป็นแนวทางหรือรูปแบบจัดเก็บรายได้จาก OTT แล้วจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ทั้งนี้การกำหนดเก็บค่าบริการ OTT จะเป็นการกำหนดกรอบกว้าง เพื่อให้แต่ละประเทศลงรายละเอียดที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศเองซึ่งประเทศไทยได้เสนอเงื่อนไขในการเก็บค่าบริการ OTT ใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อค่าบริการของประชาชน 2.ต้องมีรายได้เข้าประเทศ และ 3.ขอให้ OTT ให้ความร่วมมือ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถดำเนินการได้
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากสิงคโปร์และมาเลเซียได้กล่าวในที่ประชุมว่า การเก็บรายได้จาก OTT ของประเทศเขานั้นจะกำหนดเป็นการเก็บรายได้จากการดำเนินการและเก็บภาษีเลย เพราะมีผู้ให้บริการ OTT มาตั้งสำนักงานใหญ่อยู่หลายบริษัทซึ่งรูปแบบเป็นภาษีนิติบุคคล
ดังนั้นการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ 5G จึงควรคำนึงถึงเอกชนที่ต้องลงทุนด้วย ว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ขณะที่เรื่อง OTT ก็ต้องเร่งหาข้อสรุปให้เร็วที่สุด