กลายเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการเดินทางสำหรับคนฝั่งธน นับตั้งแต่ที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ทดลองเดินรถจากสถานีหัวลำโพงเป็นต้นมา ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้ขยายการเดินรถจากเดิมสิ้นสุดที่สถานีท่าพระ มาสิ้นสุดที่สถานีบางหว้า โดยให้บริการฟรีตั้งแต่สถานีวัดมังกร ถึงสถานีบางหว้า รวม 7 สถานี
"Ibusiness review" สอบถามแหล่งข่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ จะให้ประชาชนทดลองใช้บริการถึงสถานีหลักสอง แม้จะยังเปิดไม่เต็มรูปแบบ ให้บริการตั้งแต่เวลา 07.00-21.00 น. ความถี่ทุก 8 นาที แต่ก็เริ่มทดสอบการเดินรถเปล่า (แบบไม่มีผู้โดยสาร) ไปบ้างแล้ว
แน่นอนว่า หลังขยายการเดินรถมาถึงสถานีบางหว้า เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส พบว่ามีประชาชนมาใช้บริการจำนวนมากในชั่วโมงเร่งด่วน สังเกตได้จากผู้คนมาต่อรถที่สถานีหัวลำโพง อีกทั้งยังมีการเปรียบเทียบกันว่า ค่าโดยสารในช่วงทดลองการเดินรถนั้นถูกมาก แม้ในวันข้างหน้าจะเก็บค่าโดยสาร ก็ยังถูกกว่ารถไฟฟ้าบีทีเอสอยู่ดี
เหตุที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินถูกกว่า เพราะแม้ในช่วงทดลองการเดินรถจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ Initial Blue Line (IBL) ช่วงเตาปูน-หัวลำโพง และ Blue Line Extension (BLEX) ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง โดยเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีหัวลำโพง แต่ก็อยู่ภายใต้สัมปทานเดิม ปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 16-42 บาทต่อเที่ยว
ขณะที่รถไฟฟ้าบีทีเอส พบว่าแม้จะเดินรถต่อเนื่องในสายสุขุมวิท และสายสีลม โดยมีจุดเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีสยาม แต่พบว่าค่าโดยสารที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ทั้งจากบีทีเอสเป็นเจ้าของสัมปทาน กรุงเทพมหานครจ้างเดินรถ และรับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งจัดเก็บจริงสูงสุดอยู่ที่ 59 บาท
แม้จะมีความพยายามในการรวมสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นฉบับเดียว และปรับค่าโดยสารใหม่ คิดค่าโดยสารแรกเข้า 15 บาทเพียงครั้งเดียว สูงสุดไม่เกิน 65 บาท แลกกับการขยายสัมปทาน แต่ก็ถูกคัดค้านจากกรรมาธิการในสภาฯ หากเรื่องยังคาราคาซัง บีทีเอสคงต้องงัดค่าโดยสารพื้นฐาน (Base Fare) สูงสุด 158 บาทเลยทีเดียว
จากการเปรียบเทียบค่าโดยสาร ระหว่างรถไฟฟ้าบีทีเอส กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จุดเริ่มต้นสถานีบางหว้า พบว่าค่าโดยสารถูกกว่า หากไปยังสี่แยกศาลาแดง รถไฟฟ้าบีทีเอส ลงที่สถานีศาลาแดงจะเสียค่าโดยสาร 52 บาท เนื่องจากคิดค่าโดยสาร 2 ระยะ ได้แก่ บางหว้า-สะพานตากสิน 15 บาท และสะพานตากสิน-ศาลาแดง 37 บาท
ถึงแม้จะซื้อเที่ยวเดินทาง 30 วันก็ตาม แต่ส่วนต่อขยายช่วงสถานีโพธินิมิตร-บางหว้า จะต้องถูกหักเงินในบัตรอีกเที่ยวละ 15 บาท นอกจากเสียค่าเที่ยวเดินทาง 465-1,300 บาทแล้ว ยังต้องคงเหลือเงินในบัตรอีก 225-750 บาท จ่ายจริง 690-2,050 บาท โดยเที่ยวเดินทาง 15 วัน ตกเที่ยวละ 46 บาท ส่วน 50 วัน ตกเที่ยวละ 41 บาท
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เปลี่ยนขบวนรถที่สถานีหัวลำโพง แล้วลงที่สถานีสีลม ช่วงทดลองเดินรถเสียค่าโดยสารเพียงแค่ 19 บาทเท่านั้น ถูกกว่ารถไฟฟ้าบีทีเอส 33 บาท และหากจัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง จะเสียค่าโดยสารเพียงแค่ 35 บาท ถูกกว่ารถไฟฟ้าบีทีเอส 17 บาท ข้อเสียคือ ไม่มีเที่ยวเดินทางจำหน่าย
หากไปยังสี่แยกอโศกมนตรี รถไฟฟ้าบีทีเอส ลงที่สถานีอโศกจะเสียค่าโดยสาร 59 บาท เนื่องจากคิดค่าโดยสาร 2 ระยะ ได้แก่ บางหว้า-สะพานตากสิน 15 บาท และเส้นทางสัมปทานสูงสุด 44 บาท โดยต้องเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีสยาม เลือกเส้นทางไปเคหะเพื่อไปยังสายสุขุมวิท
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เปลี่ยนขบวนรถที่สถานีหัวลำโพง แล้วลงที่สถานีสุขุมวิท ช่วงทดลองเดินรถเสียค่าโดยสารเพียงแค่ 28 บาทเท่านั้น ถูกกว่ารถไฟฟ้าบีทีเอส 31 บาท และหากจัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง จะเสียค่าโดยสารเพียงแค่ 42 บาท ซึ่งเป็นค่าโดยสารสูงสุดถึงสถานีเตาปูน ถูกกว่ารถไฟฟ้าบีทีเอส 17 บาทเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากเดินทางต่อไปยังสถานีพหลโยธิน เชื่อมกับสถานีห้าแยกลาดพร้าว และสถานีสวนจตุจักร เชื่อมกับสถานีหมอชิต เมื่อเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอ้อมไปยังถนนรัชดาภิเษก แม้ค่าโดยสารจะถูกกว่ารถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ก็ใช้เวลานานกว่า เมื่อเทียบกับเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีสยาม
จากการคำนวณรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เปิดการเดินรถถึงสถานีหลักสอง และเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง พบว่าหากลงที่สถานีหัวลำโพงจะคิดค่าโดยสาร 40 บาท ส่วนสถานีสามย่านเป็นต้นไป ถึงสถานีเตาปูน จะคิดค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท แต่ก็ถือเป็นการซื้อเวลาและความสะดวก เทียบกับรถติดบนถนนเพชรเกษมในชั่วโมงเร่งด่วน
โดยที่สถานีหลักสองจะมีอาคารจอดแล้วจร 2 อาคาร ได้แก่ อาคารจอดรถ 8 ชั้น และอาคารจอดรถ 10 ชั้น ขณะนี้กำหนดค่าจอดรถแล้ว คนที่มาใช้บริการรถไฟฟ้า 2 ชั่วโมงแรก 10 บาท 2 ชั่วโมงถัดไป 10 บาท (ถ้าไม่ใช้รถไฟฟ้า 2 ชั่วโมง 20 บาท) ส่วนค่าจอดรถยนต์แบบรายเดือน 1,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น
หลังเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินถึงสถานีท่าพระ จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 30,000 เที่ยวคนต่อวัน คาดว่าหลังขยายไปถึงสถานีหลักสอง จะเพิ่มขึ้นเป็น 60,000 เที่ยวคนต่อวัน จากเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 มีผู้โดยสารช่วงหัวลำโพง-เตาปูนเฉลี่ยรวม 319,000 เที่ยวคนต่อวัน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนเฉลี่ย 374,000 เที่ยวคนต่อวัน
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)