xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : 'บัตรรูดต่างประเทศ' เพื่อนักเดินทาง

เผยแพร่:


การจะไปเมืองนอกแต่ละที คนไทยส่วนมากมักจะใช้วิธีแลกเงินสกุลต่างประเทศ จากเงินบาทเป็นเงินสกุลอื่นก่อนเดินทาง แน่นอนว่าระหว่างทางตั้งแต่ออกจากสนามบินยันกลับมาถึงเมืองไทย ย่อมมีความเสี่ยงทั้งเงินสูญหาย ถูกขโมย หรือถูกจี้ปล้น อีกทั้งเมื่อกลับมาถึงเมืองไทย เวลาแลกคืนกลับได้อัตราแลกเปลี่ยนที่แพงกว่า

ขณะที่การใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตในต่างประเทศ ต้องบวกค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน (FX Rate) 2.5% แล้วยังต้องจ่ายค่าแลกเปลี่ยนสองต่อ หากเลือกเป็นสกุลเงินบาท ยิ่งต้องจ่ายแพงกว่า เพราะต้องแปลงจากเงินสกุลท้องถิ่นเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วจากดอลลาร์สหรัฐฯ แปลงมาเป็นเงินบาท

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ในรูปแบบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ที่ออกมาเพื่อตอบโจทย์นักเดินทางโดยเฉพาะ ทั้งในรูปแบบบัตรพรีเพด (Prepaid Card) และบัตรเดบิต (Debit Card) โดยมีข้อดีคือ ใช้จ่ายในต่างประเทศด้วยอัตราเดียวกับเงินสกุลท้องถิ่น ใกล้เคียงกับการแลกเงินจากเมืองไทย โดยไม่ต้องเสียค่า FX Rate 2.5%


เริ่มจากธนาคารกรุงไทย ออกบัตร "กรุงไทย ทราเวล การ์ด" เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ในรูปแบบบัตรวีซ่า พรีเพดการ์ด เหมาะสำหรับนักเดินทาง และนักเรียน นักศึกษาที่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยสามารถแลกเงินก่อนใช้งานได้ที่แอปพลิเคชัน Krungthai Next ด้วยอัตราพิเศษ แล้วนำไปใช้งานรูดบัตร หรือกดเงินสดที่ต่างประเทศ


ลักษณะเป็นบัตรพรีเพดแบบพิมพ์นูนคล้ายบัตรเครดิต รองรับ 10 สกุลเงินหลัก วงเงินใช้จ่ายสูงสุด 500,000 บาทต่อวัน ถอนเงินสดในต่างประเทศ 50,000 บาทต่อวัน ลูกค้าสามารถสมัครบัตรแบบพิมพ์ชื่อตัวเองได้ (เพราะมีบางร้านค้าในต่างประเทศไม่รับบัตรที่ไม่ตรงกับชื่อบนหนังสือเดินทาง) ค่าธรรมเนียมออกบัตร 200 บาท อายุบัตร 2 ปี


ในปีถัดมายังได้ออกบัตร "กรุงไทย ทราเวล การ์ด ยูเนี่ยนเพย์" ในรูปแบบบัตรเดบิตยูเนี่ยนเพย์ สำหรับผู้ที่จะไปประเทศจีน รองรับสกุลเงินหยวน (CNY) วงเงินใช้จ่ายสูงสุด 1.5 ล้านบาท ถอนเงินสดในต่างประเทศ 200,000 บาทต่อวัน และยังใช้งานในประเทศไทยได้ด้วย ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 150 บาท รายปี 350 บาท อายุบัตร 5 ปี


ขณะที่ธนาคารทหารไทย หรือทีเอ็มบี เลือกที่จะอัพเกรดคุณสมบัติบัตรเดบิต "ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี" ซึ่งเป็นบัตรวีซ่าเดบิต ให้สามารถใช้งานได้ที่ต่างประเทศ ในอัตราแลกเปลี่ยนพิเศษเทียบเท่าร้านแลกเงิน โดยไม่ต้องแลกเงินผ่านแอปฯ ใดๆ และไม่เสียค่า FX Rate 2.5% เพียงเลือกชำระเป็นสกุลเงินท้องถิ่นที่เครื่อง EDC เท่านั้น


โดยทีเอ็มบีและวีซ่า กำหนดค่าการันตี (Guarantee FX Rate) เมื่อลูกค้าเลือกเป็นสกุลเงินท้องถิ่น หากอัตราแลกเปลี่ยนไม่ตรงกับหน้าเว็บไซต์ทีเอ็มบี จะคืนส่วนต่างให้ทันที รวมทั้งได้เพิ่มวงเงินใช้จ่ายจากเดิม 5 แสนบาท เป็น 2 ล้านบาท เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่ซื้อสินค้าราคาสูง เช่น กระเป๋าหรู นาฬิกาแบรนด์เนม


ปัจจุบัน บัตรทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 500 บาท รายปี 350 บาท อายุบัตร 5 ปี แต่จะได้รับการยกเว้นถ้าใช้จ่ายผ่านบัตรสะสม 15,000 บาท หรือเฉพาะกลุ่มลูกค้า นอกจากนี้ยังได้ต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต เช่น บัตรเครดิตทีเอ็มบี แอบโซลูท ซึ่งเป็นบัตรวีซ่า ซิกเนเจอร์ สำหรับผู้ที่มีรายได้ 100,000 บาทขึ้นไปอีกด้วย


ล่าสุด ธนาคารไทยพาณิชย์ เตรียมที่จะออกบัตร "แพลนเนต เอสซีบี" (PLANET SCB) ในรูปแบบบัตรวีซ่า พรีเพดการ์ด ชูแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศผ่านแอปฯ SCB Easy ด้วยอัตราพิเศษเทียบเท่าร้านแลกเงิน รองรับ 14 สกุลเงินหลัก แล้วใช้กดเงินผ่านตู้ ATM เฉพาะในต่างประเทศ รูดใช้จ่ายที่ร้านค้าหรือออนไลน์ได้ทั่วโลก


ถึงกระนั้น "Ibusiness review" สอบถามรายละเอียดไปยังศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กล่าวแต่เพียงว่า หากมีข้อมูลจะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางธนาคารเพิ่มเติม จึงยังไม่รู้ว่าการออกบัตรจะคิดค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปีเป็นอย่างไร ต้องรอเปิดตัวผลิตภัณฑ์อย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้


แม้บัตรสำหรับใช้จ่ายที่ต่างประเทศ จะมีประโยชน์สำหรับนักเดินทาง แต่ควรรักษาบัตรไว้เสมือนอยู่กับตัว หมั่นเช็กยอดเงินสม่ำเสมอ หากรู้ว่าสูญหายควรรีบอายัดบัตรทันที ถ้าเป็นบัตรที่มีสัญลักษณ์ Contactless (เช่น วีซ่าเพย์เวฟ) ให้หากระเป๋าสตางค์หรือซองใส่บัตรแบบ RFID Blocking เพื่อป้องกันการโจรกรรมเงินในบัญชีเอาไว้ด้วย


(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)
กำลังโหลดความคิดเห็น