xs
xsm
sm
md
lg

บ.จีนผุดไอเดียบ้านAIสไตล์ไอรอนแมน

เผยแพร่:

ตรวจสอบจสภาพอากาศากผนังห้องนั่งเล่น หนึ่งในเทคโนโลยีสุดล้ำของสมาร์ทโฮม
บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในเครือกลุ่มกิจการสื่อยักษ์ใหญ่แดนมังกร ขนพันธมิตรร่วมชาติระดับเอ-ลิสต์ ทั้งอาลีคลาวด์, ฮิกวิชัน และเสี่ยวเผิง พัฒนาระบบนิเวศ AI เพื่อแปลงบ้านของลูกค้าเป็นระบบ J.A.R.V.I.S. แบบเดียวกับระบบคอมพิวเตอร์สุดล้ำของโทนี่ สตาร์กส์

ด้วยเป้าหมายในการทำให้ครอบครัวคนจีนเปิดใจรับระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ (AI) มากขึ้น ไมเดีย เรียล เอสเตท กรุ๊ป บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในเครือไมเดีย ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านใหญ่สุดของจีน จึงหันไปชักชวนผู้เล่นชั้นนำจากวงการต่างๆ ได้แก่ บริษัทคลาวด์คอมพิวติ้ง “อาลีคลาวด์”, ผู้ให้บริการระบบกล้องวงจรปิด “ฮิกวิชั่น” และผู้ผลิตรถไฟฟ้า “เสี่ยวเผิง” และอีกหลายบริษัทที่พัฒนาระบบนิเวศ AI สำหรับการใช้งานในบ้าน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยที่คล้ายกับโลกแห่งอนาคตในหนังซูเปอร์ฮีโร่ดังของฮอลลีวูด

หลี่ เฉียง หัวหน้าสถาบันวิจัยด้านสมาร์ทโฮมของไมเดีย เรียล เอสเตท บอกว่า ความฝันของบริษัทคือการทำให้ทุกครอบครัวมี J.A.R.V.I.S. เป็นของตัวเอง ซึ่งหมายถึงระบบคอมพิวเตอร์ AI ของโทนี่ สตาร์กส์ หรือไอรอนแมน ซูเปอร์ฮีโร่สุดเท่จากมาร์เวล คอมิกส์

หลี่เสริมว่า วิธีการก็คือ การรวมคอนเซ็ปต์สมาร์ทโฮมของไมเดียเข้ากับฐานข้อมูลอัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของบ้านสามารถติดตามสอดส่องสิ่งที่เกิดขึ้นในสมาร์ทโฮมของตัวเองได้จากในรถหรือที่ทำงาน หรือในทางกลับกัน

สถาบันวิจัยด้านสมาร์ทโฮมของไมเดีย เรียล เอสเตทที่เพิ่งเปิดตัวสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา กำลังพยายามหาทางเชื่อมต่อ AI กับเครื่องใช้อัจฉริยะทั้งสำหรับการใช้งานที่บ้านและการใช้งานในเชิงพาณิชย์

ตามที่หลี่เล่านั้น สถาบันวิจัยแห่งนี้ได้พัฒนา “ซูเปอร์เบรน” ที่จะเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์อัจฉริยะกับแพล็ตฟอร์มหลักซึ่งรวมถึงแพล็ตฟอร์มธุรกิจ ศูนย์ข้อมูล และ internet of things เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ของไมเดียสามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับและตัดสินใจ จากนั้นจึงเรียนรู้และจดจำรายละเอียดสภาพแวดล้อมการทำงาน

ระบบดังกล่าวทำให้เจ้าของบ้านสามารถติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นขณะที่ตัวเองไม่อยู่บ้าน รวมทั้งจะได้รับการแจ้งเตือนหากเกิดสิ่งผิดปกติหรือปัญหาด้านความปลอดภัย เช่น ผู้สูงวัยล้ม

จากข้อมูลของสตาติสตา การเข้าถึงตลาดสมาร์ทโฮมในจีนคาดว่า จะเพิ่มเป็น 21.2% ในปี 2022 เพิ่มขึ้นจากแค่ 4.9% เมื่อปีที่แล้ว

ขณะเดียวกัน ผลวิจัยของมินเทล บริษัทวิจัยด้านการตลาดระดับโลก พบว่า ผู้บริโภคจีนที่อาศัยอยู่ในเมือง 68% ที่ซื้อหรือสนใจซื้ออุปกรณ์สมาร์ทโฮมบอกว่า ความสะดวกสบายคือเหตุผลหลักที่ทำให้สนใจอุปกรณ์ดังกล่าว และ 60% อยากลองของใหม่ ขณะที่ครึ่งหนึ่งสนใจเพราะรู้สึกว่า จะทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นเมื่ออยู่บ้าน โดยอุปสรรคใหญ่ที่สุดในการตัดสินใจซื้อคือราคา

นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ JLL ระบุว่า การลงทุนในเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 6 ปีล่าสุดมีมูลค่าแตะ 20,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกว่า 1 ใน 3 เป็นการลงทุนในแดนมังกร

เทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นการบรรจบกันของอสังหาริมทรัพย์กับเทคโนโลยี และเกี่ยวข้องกับทุกอย่างตั้งแต่ AI ไปจนถึง internet of things, การวิเคราะห์ข้อมูล, หุ่นยนต์ และซอฟต์แวร์แบบจำลองทางการเงิน

ไมเดีย เจ้าของอันดับ 312 ในทำเนียบฟอร์จูน 500 หรือกลุ่มบริษัทชั้นนำของโลก 500 แห่ง แตกกิจการเข้าสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนตั้งแต่ปี 2004 และ ไมเดีย เรียล เอสเตทเพิ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แห่งนี้มีโครงการสมาร์ทโฮมกว่า 200 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการในหลายเมืองของจีน และกำลังสร้างสมาร์ทโฮมราว 30,000 หลัง

ไมเดีย เรียล เอสเตทเผยกลยุทธ์การพัฒนาสมาร์ทโฮมครั้งแรกในปี 2014 ด้วยเป้าหมายทะเยอทะยานในการเป็นผู้นำการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะ

เฝิง จุน ประธานสมาคมอสังหาริมทรัพย์จีน กล่าวไว้ในการประชุมที่กวางโจวเมื่อไม่นานมานี้ว่า แม้อสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจเก่าแก่ แต่การพัฒนาและการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายอย่างและยังเป็นการอัดฉีดพลังงานใหม่ให้แก่อุตสาหกรรม

เขายังบอกว่า การถือกำเนิดของเทคโนโลยีและโมเดลใหม่ๆ เช่น internet of things, AI, 5G, บิ๊กดาต้า และการค้าปลีกรูปแบบใหม่ ช่วยกลั่นกรอง “ผลิตภัณฑ์ที่ประณีต” ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์

ข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ CRIC ระบุว่า ไมเดีย เรียล เอสเตทติดอันดับ 39 ในบรรดาบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจีน ด้วยยอดขาย 11,210 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา

ปลายปี 2016 ไมเดียเข้าผนวกกิจการบริษัทผลิตหุ่นยนต์เยอรมนี “คูก้า” ด้วยราคา 5,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากเข้าซื้อหุ้น 80.1% ในธุรกิจอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของโตชิบาในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากจีนเผยแพร่ร่างพิมพ์เขียวเศรษฐกิจ “เมด อิน ไชน่า 2025” ซึ่งเป็นพื้นฐานของภารกิจในการแปลงโฉมประเทศเป็นมหาอำนาจการผลิตขั้นสูง ภารกิจเชิงกลยุทธ์รวมถึงการเร่งรัดพัฒนาระบบการผลิตอัจฉริยะ โดยมีการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์เป็นไฮไลต์สำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น