xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดสเต๊กหมื่นล้านคึกคัก 3 เชนใหญ่เปิดเกมรุกหนัก งัดแผน”แฟรนไชส์-ซุ่มนิวโมเดล”ลุย

เผยแพร่:


การตลาด – ตลาดรวมสเต๊ก 10,000 ล้านบาท แข่งคึกคัก จาก 3 เชนใหญ่ในไทย “เจฟเฟอร์สเต๊ก-ซานตาเฟ่สเต๊ก-ซิซซ์เล่อร์” ต่างเร่งผุดสาขาใหม่ชูโมเดลแฟรนไชส์แล้ว พร้อมรุกต่างประเทศ

ตลาดรวมสเต๊กที่เป็นอาหารแนวตะวันตกในประเทศไทย มูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ถือได้ว่าเป็นตลาดที่เติบโตมาแบบเงียบๆไม่หวือหวาเท่าใดนักประมาณ 10%ต่อปี เพราะมีผู้เล่นที่เป็นรายหลักในตลาดที่เป็นลักษณะเชนมีหลายสาขาเพียงไม่กี่รายเท่านั้น

ที่โดดเด่นในตลาดก็คือ ซิซซ์เล่อร์, ซานตาเฟ่สเต๊ก และ เจฟเฟอร์สเต๊ก นอกจากนั้นก็เป็นลักษณะของเชนที่เป็นตลาดระดับกลางลงล่างตามร้านทั่วไปหรือตามริมฟุตบาธ อย่างเช่นที่เรารู้จักมักคุ้นกันดีก็คงจะเป็น สเต๊กลุงหนวด เป็นต้น รวมถึงสเต๊กที่เป็นเชนอยู่ในโรงแรม ภัตตาคาร และที่มีลักษณะการเป็นร้านเดี่ยวก็ยังมีอีกมาก



แต่เซ็กเมนต์ของตลาดที่มีการแข่งขันกันมาก และเป็นเซ็กเมนต์ที่ค่อนข้างใหญ่ที่สุดไม่ต่ำกว่า 50% ก็คือ กลุ่มที่เป็นเชนในกลุ่มของ ซิซซ์เล่อร์ ซานตาเฟ่สเต๊ก และเจฟเฟอร์ ดังที่กล่าวมา


ปัจจุบันก็เริ่มมีเชนใหม่ๆเข้ามาสู่ตลาดบ้างแล้ว เช่น ฮังกรี้เนิร์ด มีสาขาเช่น ราชเทวี เซ็นทรัลเวสต์เกต ซีคอนสแควร์ เป็นต้น หรือแม้แต่แบรนด์ซิกเนเจอร์สเต๊ก ที่เป็นของเครือฮอทพอทแต่เดิม ก็เข้าสู่ตลาดในไทยเมื่อหลายปีก่อนเปิดเพียงไม่กี่สาขา แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าจะล่าถอยออกจากตลาดไปแล้ว

ตลาดนี้เติบโตแบบไม่หวือหวาเฉลี่ย 10% ต่อปี ส่วนรายใหม่ที่จะเข้าตลาดก็ไม่ใช่ง่ายๆ จึงทำให้บทบาทเด่นตกอยู่กับ 3 รายนี้เป็นหลัก และเป็น3แบรนด์ที่ขับเคลื่อนตลาดรวมสเต๊กให้เติบโตต่อเนื่องนั่นเอง


*** “เจฟเฟอร์สเต๊ก” พร้อมเปิดบทรุกครั้งใหญ่
นายแมทธิว กิจโอธาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) และในฐานะประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจฟเฟอร์สเต๊ก จำกัด เปิดเผยว่า ในปี2562และจากนี้ไป บริษัทฯวางแผนในการรุกตลาดของเจฟเฟอร์สเต๊กอย่างเต็มตัว หลังจากที่เข้าซื้อกิจการมาจากเจ้าของเดิมเมื่อเกือบ 4-5 ปีที่ผ่านมา และที่ผ่านมาได้ทำการปรับระบบองค์กร กลยุทธ์ และรูปแบบการลงทุนใหม่ กระทั่งขณะนี้ถือได้ว่าสมบูรณ์แบบพร้อมรุกตลาดเต็มที่แล้ว

“ถึงเวลานี้ เจฟเฟอร์สเต๊ก จะเดินเกมตลาดและเคลื่อนไหวในเชิงรุกมากขึ้นทุกกระบวนท่า เพื่อสร้างองค์กรให้เติบโต แข็งแกร่ง มีรายได้ยั่งยืนและผลกำไรที่ดี รวมทั้งการทำตลาดอย่างเข้มข้นเพื่อที่จะแข่งกันกับผู้ประกอบการในตลาดเดียวกัน เพื่อดึงดูดลูกค้า รองรับการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจร้านอาหารโดยรวมด้วย"


เนื่องจากว่าทุกวันนี้ตลาดอาหารมีการเติบโตที่ดีและความแข็งแกร่งมากมาย แต่ก็มีอาหารหลากหลายให้ผู้บริโภคเลือก เราต้องทำเพื่อให้ผู้บริโภคเลือกสเต๊กม และเมื่อจะทานสเต๊กก็ต้องทานเจฟเฟอร์สเต๊ก


นายแมทธิว กล่าวว่า จะมีการลงทุนเพิ่มสาขาต่อเนื่อง ทั้งรูปแบบการลงทุนเองโดยบริษัทฯ และการขายแฟรนไชส์ เพื่อให้มีสาขาเพิ่มอย่างรวดเร็ว ซึ่งแฟรนไชส์จะเป็นโมเดลใหม่ของเจฟเฟอร์สเต๊ก จากรูปแบบเดิมที่บริษัทฯลงทุนเองมาโดยตลอด โดยมีเป้าหมายตลาดทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ

สำหรับเป้าหมายระยะยาวของสาขาเจฟเฟอร์สเต๊กด้วยกลยุทธ์แฟรไชส์นั้น ตั้งเป้าภายใน 5 ปีจากนี้ ( 2562- 2566 )จะมีสาขากระจายทั่วไทยมากที่สุดประมาณ 100 สาขาที่เป็นรูปแบบของแฟรนไชส์ หรือมีสัดส่วนที่เป็นสาขาของแฟรนไชส์ประมาณ 60% และเป็นสาขาของบริษัทเองประมาณ 40% หรืออีก 5 ปีจากนี้จะมีสาขาของบริษัทฯประมาณ 40% และสัดส่วนของแฟรนไชส์ประมาณ 60%

ขณะที่ปัจจุบัน เจฟเฟอร์สเต๊กมีสาขาของบริษัทฯเองทั้งหมดประมาณ 62 สาขา โดยสาขากระจายอยู่ในกรุงเทพฯประมาณ 40% และอยู่ในต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ 60%

แฟรนไชส์จะเป็นอาวุธสำคัญของเจฟเฟอร์สเต๊กทีจะสปีดตัวเองขึ้นมาในการเร่งสร้างเครือข่ายและสร้างการเติบโตด้านรายได้ โดยปี2562 ตั้งเป้าหมายที่จะมีร้านที่เป็นสาขาแฟรนไชส์รวมประมาณ 6 สาขาภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ที่สนใจจะซื้อแฟรนไชส์แล้วหลายราย อยู่ระหว่างการเจรจาจำนวนมาก ทั้งในเชียงใหม่ ชุมพร เป็นต้น และ ลาวและกัมพูชา อีกด้วย

ส่วนรูปแบบแฟรนไชส์ร้านเจฟเฟอร์สเต๊ก จะมีพื้นที่ร้านตั้งแต่ 90 ตร.ม. สามารถนั่งได้ประมาณ 60 ที่นั่ง ถึง พื้นที่ขนาด 400 ตร.ม. ใช้เงินลงทุนประมาณ 4-5 ล้านบาทต่อสาขา แต่ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ คาดว่าจะคืนทุนภายใน 3 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับทำเลและยอดขาย โดยบริษัทฯจะเก็บค่าธรรมเนียม 4% และค่าการตลาด 2% จากยอดขายทั้งหมดแต่ละเดือน หลังจากเปิดบริการแล้ว เพื่อนำเงินจำนวนนั้นมาเป็นค่าใช้จ่ายในการทำตลาด ประชาสัมพันธ์ ของแบรนด์โดยรวม

“เมื่อขยายสาขาใหม่ต่อเนื่อง แต่สาขาเดิมก็ต้องปรับปรุง เพื่อให้มีความทันสมัยขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้ทำการปรับปรุงใหญ่ไปแล้วกว่า 50 สาขา เหลืออีกประมาณ 10 สาขา คาดว่าจะปรับปรุงแล้วเสร็จในปลายปี2562นี้” นายแมทธิว กล่าว



นอกจากการขายแฟรนไชส์แล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เราโตเร็วขึ้นก็คือ การแสวงหาทำเลและโอกาสใหม่ๆให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่อของทำเลที่ตั้ง โดยมีเป้าหมายที่จะขยายไปยังพื้นที่ปั๊มน้ำมัน โรงพยาบาล ย่านชุมชน เป็นต้นให้เพิ่มมากกว่าเดิม ที่จะเน้นการเปิดสาขาในศูนย์การค้า ค้าปลีกต่างๆและทำเลใกล้สถาบันการศึกษา

ในแง่ของกลุ่มเป้าหมายของร้านเจฟเฟอร์สเต๊ก จะเจาะไปที่กลุ่มหลักคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ นักศึกษา คนวัยทำงาน ครอบครัว อายุระหว่าง 18-35 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่และมีการใช้จ่ายสูง โดยที่ผ่านมาการเข้ามาใช้บริการของลูกค้า จะมีอัตราการใช้จ่ายของลูกค้าเฉลี่ยที่ 200 บาทต่อคน เพิ่มจากเดิมที่ใช้เฉลี่ย 150 บาทต่อคนเมื่อปี2561
อีกทั้งจะมีการพัฒนาเมนูใหม่ๆเข้ามาเสริมจากเดิมที่เน้นอาหารและสเต๊กเป็นหลักอยู่แล้ว เช่นการพัฒนาเมนูใหม่อย่าง สปาเก็ตตี้ แฮมเบอร์เกอร์ อาหารรับประทานเล่น เครื่องดื่ม และขนมหวาน 5 เมนู ต่อเนื่อง ส่งผลให้ตอนนี้มีบริการมากกว่า 50 เมนูแล้ว

“สิ่งที่สำคัญอีกประการคือ การส่งเสริมการขายและโปรโมชั่นต่างๆซึ่งเราจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง และหลากหลาย เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่มีหลากหลาย และดึงดูดให้ลูกค้าเข้าร้านเราด้วย โดยราคาอาหารของเราถือว่าไม่สูงเกินไป เริ่มต้นที่ 89 บาทต่อจาน ทั้งเมนูสเต๊กเนื้อ หมู ไก่ ปลา” นายแมทธิว กล่าว

นายแมทธิว กล่าวด้วยว่า จากการรุกตลาดครั้งใหญ่ หลังจากที่เราได้เข้าบริหารกิจการร้านเจฟเฟอร์สเต๊กตั้งแต่ปลายปี 2557 เป็นต้นมา เราก็ได้พัฒนา รูปแบบ และระบบ ตลอดจนการควบคุมคุณภาพอาหาร บริการให้ได้มาตรฐานสม่ำเสมอจนถึงการปรับครั้งใหญ่ในคราวนี้ มั่นใจว่าเจฟเฟอร์สเต๊กปี2562นี้จะมีรายได้ประมาณ 600 ล้านบาท เติบโต 4% และ 5 ปีจากนี้จะมีรายได้รวมประมาณ 1,500 ล้านบาท
.


*** “ซิซซ์เล่อร์” ลุยดีลิเวอรี่-จ่อผุดโมเดลใหม่ขยายตลาด
รายใหญ่อย่าง ซิซซ์เล่อร์ ที่อยู่ในเครือข่ายของไมเนอร์ฟู้ดกรุ๊ป ก็แบรนด์ที่ถือได้ว่าเป็นผู้นำแถวหน้าก็ไม่ผิดนักในแง่ยอดขาย และภาพลักษณ์แบรนด์ ซึ่งก็อยู่ระหว่างการขยายตลาดในเชิงรุกที่น่าสนใจเช่นกัน
นายกรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด และนางนงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหารกลุ่มการตลาด ผู้บริหารแบรนด์ ซิซซ์เล่อร์ ร่วมกันเปิดเผยว่า บริษัทฯอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาโมเดลร้านซิซซ์เล่อร์ใหม่ที่จะเน้นเปิดนอกศูนย์การค้า จะเน้นทำเลใกล้แนวรถไฟฟ้า ซึ่งจะมีพื้นที่เฉลี่ย 200 กว่าตารางเมตร เล็กกว่าร้านทั่วไปในศูนย์การค้าที่มีพื้นที่โดยเฉลี่ย 400-600 ตารางเมตร เพื่อช่วยให้ขยายสาขาได้คล่องตัวมากขึ้น

โดยโมเดลใหม่นี้จะจับกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น เน้นคนทำงานตามออฟฟิศเป็นหลัก จากเดิมที่เปิดในศูนย์การค้าลูกค้าหลักจะเป็นครอบครัว คนทำงาน และวัยรุ่น ซึ่งปัจจุบันคนเดินศูนย์การค้าน้อยลงด้วย จึงมองหาทำเลใหม่ๆเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรก2562นี้ ซิซซ์เล่อร์มียอดขายรวมเติบโตประมาณ 3-5% ใกล้เคียงกับที่ผ่านมา ขณะที่ยอดขายในสาขาเดิมโตแค่ 1-2% เท่านั้น



ล่าสุดซิซซ์เล่อร์ ได้เปิดตัวบริการใหม่คือ บาร์เรื่องดื่มเพื่อสุขภาพสาขาแรกที่สยามเซ็นเตอร์พร้อมปรับเมนูใหม่ครั้งใหญ่ และขยายบริการดีลิเวอรี่ ซึ่งอาจะกล่าวได้ว่าเป็นบริการแห่งแรกของซิซซ์เล่อร์ทั่วโลกก็ว่าได้

อีกปัจจัยหลักที่ทำให้ซิซซ์เล่อร์โตคือ บริการดีลิเวอรี่หรือบริการจัดส่งถึงบ้านที่เพิ่งเริ่มเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมากับทางไมเนอร์ฟู้ดส์กรุ๊ปเบอร์ 1112 ซึ่งมีการเติบโตที่ดีมากแต่สัดส่วนยังน้อยอยู่ ขณะนี้มีบริการเฉพาะในกรุงเทพ กับบางจังหวัดที่มีซิซซ์เล่อร์เปิดสาขาอยู่เช่น ที่ ชลบุรี พัทยา เป็นต้น มีบริการ 12 เมนู ที่ไม่มีเนื้อวัว และไม่มีสลัด จะเร่งขยายบริการทุกจังหวัดที่มีซิซซ์เล่อร์บริการอยู่ ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อบิลขอวดีลิเวอรีประมาณ 600 บาทต่อครั้ง ส่วนในร้านค่าใช้จ่ายลูกค้าเฉลี่ย 900 บาทต่อบิล ตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้จากดีลิเวอรี่ไว้ที่ 20% ภายใน 3 ปีจากนี้

ปัจจุบันซิซซ์เล่อร์มี 56 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในศูนย์กการค้าเป็นหลัก อยู่ในกรุงเทพมากกว่า 50% หรือ 31 สาขา และตามหัวเมืองใหญ่อีก 25 สาขา ปีนี้เปิดสาขาใหม่ 1 แห่งเมื่อต้นปี ส่วนอีก 3-4 สาขาคาดว่าจะเปิดได้ช่วงปลายปี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีนี้จะเน้นการรีโนเวทสาขาเดิมต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ที่ปรับใหม่ไปแล้ว 12 สาขา เช่น ที่เซ็นทรัลเวิลด์ แฟชั่นไอส์แลนด์ เดอะมอลล์บางกะปิ เซ็นทรัลพระราม3 เซ็นทรัลบางนา เซ็นทรัลพระราม9 ล่าสุดคือ สาขาสยามเซ็นเตอร์ที่สาขาแฟลกชิบสโตร์ขายดีสุด และมีอัตราการขายดีที่สุดตลอด19ปีที่เปิดบริการมา ด้วยงบปรับปรุง 20 ล้านบาท ซึ่งสาขานี้เป็นสาขาแรกที่มีบาร์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
บริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้รวมเติบโต 5% จากปีที่แล้วที่ทำได้ประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท ขณะที่ตลาดรวมสเต๊กมีประมาณ 10,000 ล้านบาท



*** “ซานตาเฟ่สเต๊ก” เร่งขยายสาขา
อีกค่ายที่อยู่ในตลาดและเป็นคู่แข่งที่น่าสนใจคือ ซานตาเฟ่สเต๊ก ภายใต้การบริหารของ บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด

จากข้อมูลระบุว่า ซานตาเฟ่สเต๊กมองการขยายธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ ทั้งการลงทุนเองและการขายแฟรนไชส์เช่นกัน และต่างประเทศก็เป็นเป้าหมายหลักจากนี้ไป โดยเฉพาะการมองไปที่ตลาดในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เพราะมองว่าการแข่งขันในธุรกิจอาหารในประเทศไทยนั้นค่อนข้างรุนแรงอย่างมาก มีผู้ประกอบการจำนวนมากในหลายประเภทอาหาร ส่วนตลาดในต่างประเทศนั้นยังมีโอกาสทางการตลาดมาก โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะเน้นการขายแฟรนไชส์เท่านั้น แต่ตลาดในไทยก็ยังขยายตัวตามเช่นเดิม

ทั้งนี้ตามแผนงานแล้ว ซานตาเฟ่สเต๊ก วางแผนที่จะขยายสาขาใหม่ในไทยโดยเฉลี่ย 15-20 สาขาต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่และทำเลที่ได้มาด้วยเป็นสำคัญ จากปัจจุบันซานตาเฟ่มีสาขาแล้วรวมประมาณ 112 สาขา แบ่งสัดส่วนเป็น สาขาของบริษัทฯ 55% และสาขาแฟรนไชส์ 45%

ส่วนเป้าหมายภายใน 3 ปีจากนี้ จะพยายามปรับสัดส่วนสาขาใหม่ให้เป็นของบริษัทเองกับแฟรนไชส์ในปริมาณที่เท่ากันคือ 50% และผลักดันรายได้รวมให้เติบโต 20% ต่อปี

โดยในปี2561 ที่ผ่านมา ทำยอดขายรวมได้ประมาณ 1,900 ล้านบาท เติบโตประมาณ 15% จากปี2560ที่ทำรายได้ประมาณ 1,650 ล้านบาท

ส่วนแฟรนไชส์ในต่างประเทศนั้น เมื่อปลายปีที่แล้วได้เซ็นสัญญากับกลุ่มโซเพียร์ ของกัมพูชา ( SOPHEAVORN INVESTMENT Co.,LTD. )บริษัทชั้นนำด้านการลงทุนของประเทศกัมพูชา เพื่อให้เป็นผู้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ร้านซานตาเฟ่สเต๊ก ไปเปิดเฉพาะที่เมืองพนมเปญเท่านั้น ระยะเวลานาน 10 ปี แผนงานในขณะนี้คือ สาขาแรกจะเปิดที่ศูนย์การค้าอิออน กัมพูชา


กำลังโหลดความคิดเห็น