หลังจากที่ต้องทนรถติดเพราะการก่อสร้างมานานกว่า 4 ปี ในที่สุดโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วง หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เตรียมที่จะเปิดให้บริการ "สถานีห้าแยกลาดพร้าว" วันศุกร์แห่งชาติ 9 ส.ค. 2562 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ทดลองนั่งก่อน ส่วนประชาชนใช้บริการได้ตั้งแต่ 15.00 น.
เบื้องต้นให้บริการฟรีไม่มีกำหนด เพราะเจรจาเรื่องสัมปทานเดินรถ ตั้งแต่สถานีคูคต-เคหะสมุทรปราการ 67 กิโลเมตร ระหว่างกระทรวงมหาดไทย กับบีทีเอส ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ถ้าแล้วเสร็จยืนยันว่าค่าโดยสารสูงสุดเก็บไม่เกิน 65 บาท และไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าส่วนต่อขยายซ้ำซ้อนอีก 15 บาทเหมือนปัจจุบันอีกต่อไป
เท่านั้นยังไม่พอ ปลายปีนี้จะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 4 สถานี ได้แก่ สถานีพหลโยธิน 24, สถานีรัชโยธิน, สถานีเสนานิคม และสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งแต่ละทำเลขึ้นชื่อเรื่องดงรถติด คาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการไปยังกลางใจเมืองมากถึง 7-8 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน ส่วนที่เหลือถึงสถานีคูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จะเปิดภายในปี 2563
แม้การเปิดสถานีห้าแยกลาดพร้าว จะเป็นเพียงแค่ให้บริการ 1 สถานี แต่ก็ถือว่าเป็นจุดสำคัญ เพราะสถานีหมอชิต ปลายทางดั้งเดิมตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2542 ขณะนี้มีผู้โดยสารมากถึง 118,000 เที่ยวคนต่อวัน เป็นทั้งจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร สถานีสวนจตุจักร เป็นทั้งป้ายรถประจำทางผ่านกว่า 30 สาย และเป็นจุดขึ้นรถตู้หลายเส้นทาง
แน่นอนว่าจะต้องมีผู้โดยสารอีกส่วนหนึ่ง ลงที่สถานีห้าแยกลาดพร้าว แทนสถานีหมอชิตเพื่อหลีกเลี่ยงความแออัด จากจุดนี้สามารถต่อรถประจำทางหน้าห้างเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ผ่านมากกว่า 15 สาย ไปยังบางเขน สะพานใหม่ รังสิต มีนบุรี งามวงศ์วาน แถมยังมีคิวรถตู้ไปสะพานใหม่ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต มีนบุรี และบางบัวทองอีกด้วย
ส่วนการเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้ามหานคร สถานีพหลโยธิน ขณะนี้ไม่มีทางเชื่อม (ว่ากันว่าเพราะเจรจากันไม่ลงตัว) ต้องลงบันไดฝั่งตรงข้ามห้างเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว แล้วเดินเท้าไปอีก 300-400 เมตร ส่วนทางเชื่อมไปยังสะพานลอยหน้าโรงเรียนหอวัง และห้างเทสโก้ โลตัส ลาดพร้าว กำลังก่อสร้างและจะเปิดใช้ภายในเดือนสิงหาคมนี้
สถานที่โดยรอบสถานี เริ่มจาก "ห้างเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว" ศูนย์การค้าเก่าแก่ อายุกว่า 37 ปี พื้นที่กว่า 2 แสนตารางเมตร ผู้ใช้บริการกว่า 1 แสนคนต่อวัน มีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ยอดขายอันดับ 2 รองจากชิดลม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ สถานที่ประชุม สัมมนา อีเวนต์ขนาดใหญ่ รองรับได้ถึง 3,800 คน
ที่ผ่านมาเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ผ่านการรีโนเวตครั้งใหญ่นับไม่ถ้วน ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 ปิดปรับปรุงเปลี่ยนโฉมใหม่นานกว่า 6 เดือน มาคราวนี้เมื่อมีรถไฟฟ้าสายสีเขียวผ่านก็ไม่ตกขบวน ลงทุนทำทางเชื่อมจากห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารมายังตัวห้างฯ ถึง 2 จุดด้วยกัน ไม่ว่าจะเดินลงทางออกไหน ก็เข้าห้างฯ ได้อย่างสะดวก
นอกจากนี้ เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ยังเตรียมรีโนเวตห้างเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว โดยเริ่มปรับโซนร้านอาหารที่ชั้น G และชั้น 4 เพิ่มร้านอาหารชื่อดังจากกลางเมืองมาไว้ที่นี่มากกว่า 10 ร้าน และจะปรับโซนแฟนชั่นใหม่ทั้งหมด คาดหวังให้ที่นี่เป็นศูนย์การค้าแฟลกชิพสำคัญของโซนกรุงเทพฯ เหนือ เทียบชั้นน้องๆ เซ็นทรัลเวิลด์เลยทีเดียว
ส่วนสถานที่ใกล้เคียง ได้แก่ ศูนย์การค้ายูเนี่ยนมอลล์ แหล่งรวมแฟชั่นครบวงจร โดยบริเวณชั้น G และชั้น 5 เปิดเป็นโค-เวิร์คกิ้งสเปซ ส่วนชั้น 6 เป็นพื้นที่จัดงานอีเวนต์ "ยูเนี่ยน ฮอลล์" พื้นที่ 15,000 ตารางเมตร มีทางเชื่อมไปยังรถไฟฟ้ามหานคร สถานีพหลโยธิน ด้านหน้าเป็นถนนลาดพร้าว เดินไม่ไกลนักมีป้ายรถประจำทางไปบางกะปิ
สถานที่สำคัญอื่นๆ อาทิ โรงเรียนหอวัง สถานศึกษาเก่าแก่อายุถึง 53 ปี เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาชื่อดังในกรุงเทพฯ มีนักเรียนมากกว่า 4,300 คน, ห้างเทสโก้ โลตัส ลาดพร้าว ไฮเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าต่างๆ, กองบังคับการปราบปราม, อาคารสำนักงานรสา ทาวเวอร์ รวมทั้งด้านหน้าสถานี ยังเป็นแหล่งที่ตั้งของร้านล้างอัดรูปหลายร้านด้วยกัน
ส่วนคอนโดมิเนียมใกล้สถานี ได้แก่ "แอ็บสแตร็กส์ พหลโยธิน พาร์ค" ของบีทีเอส แอสเสทส์ 3 อาคาร สูง 34 ชั้น 1,012 ยูนิต, "เอ็ม ลาดพร้าว" ของเมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ สูง 44 ชั้น 286 ยูนิต 2 ห้องนอนเริ่มต้นที่ 10.5 ล้านบาท และอีก 2 โครงการของค่ายเอพี ได้แก่ "ไลฟ์ ลาดพร้าว" ที่จะแล้วเสร็จต้นปี 2563 และ "ไลฟ์ ลาดพร้าว วัลเลย์"
อย่างไรก็ตาม คอนโดมิเนียมจะหนาแน่นตามแนวถนนลาดพร้าวมากกว่า เนื่องจากมีรถไฟฟ้ามหานครผ่านไปถึงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ซึ่งระยะห่างระหว่างสถานีพหลโยธิน ถึงสถานีลาดพร้าว ประมาณ 2 กิโลเมตร มีคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งริมถนนลาดพร้าว และในซอยลาดพร้าว 18 ที่เป็นซอยลัด ไปออกซอยวิภาวดีรังสิต 20
ที่น่าสังเกตคือ ระหว่างสถานีห้าแยกลาดพร้าว ถึงสถานีพหลโยธิน 24 ยังมีที่ดินเปล่า 46 ไร่ พร้อมถนน 8 ช่องจราจร เชื่อมระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนวิภาวดีรังสิต โดยพบว่าเซ็นทรัลพัฒนาซื้อหุ้นบริษัท เบย์วอเตอร์ ของกลุ่มบริษัทบีทีเอส ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน 50% รวม 7.7 พันล้านบาท และสนใจที่จะพัฒนาเป็นอสังหาริมทรัพย์แบบมิกซ์ยูส
แม้หลายฝ่ายจะกังวลถึงคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะล้นตลาด เหมือนกรณีคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่พบว่าขายไม่ออก ต้องจำใจลดล้างสต็อก แต่การเกิดขึ้นของสถานีห้าแยกลาดพร้าว และอีก 4 สถานีในช่วงปลายปีนี้ น่าจะทำให้ทำเลดังกล่าวคึกคักและมีชีวิตอีกครั้ง
หมายเหตุ : รถประจำทางใกล้สถานีห้าแยกลาดพร้าว และห้างเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
- สาย 24 อนุสาวรีย์ชัย ไป ประชานิเวศน์ 3- สาย 26 อนุสาวรีย์ชัย ไป มีนบุรี (รถบริการตลอดคืน)- สาย 28 (รถร่วมบริการ) สายใต้ใหม่ ไป หมอชิต 2 (ผ่านรัชโยธิน)- สาย 34 หัวลำโพง ไป รังสิต (รถบริการตลอดคืน), มินิบัส (รถร่วมบริการ) ไป ม.เกษตรศาสตร์- สาย 39 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไป มธ.ศูนย์รังสิต และ ตลาดไท (มีรถร่วมบริการ)- สาย 59 สนามหลวง ไป รังสิต (รถบริการตลอดคืน)- สาย 63 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไป ตลาด อตก.3 นนทบุรี (รถบริการตลอดคืน)- สาย 104 (รถร่วมบริการ) หมอชิต 2 ไป ปากเกร็ด- สาย 107 ท่าเรือคลองเตย (ทางด่วน) ไป อู่บางเขน- สาย 129 สำโรง (ทางด่วน) ไป อู่บางเขน- สาย 136 หมอชิตใหม่ ไป อู่คลองเตย (ผ่านรัชโยธิน)- สาย 191 กระทรวงพาณิชย์ ไป การเคหะคลองจั่น (ผ่านรัชโยธิน)- สาย 503 สนามหลวง ไป รังสิต- สาย 545 (รถร่วมบริการ) สำโรง ไป ท่าน้ำนนทบุรี- รถตู้ เซ็นทรัลลาดพร้าว ไป สะพานใหม่-ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต- รถตู้ เซ็นทรัลลาดพร้าว ไป บิ๊กคิงส์บางใหญ่-บ้านเอื้ออาทร (บางบัวทอง)- รถตู้ เซ็นทรัลลาดพร้าว ไป มีนบุรี- รถตู้ เซ็นทรัลลาดพร้าว ไป เซ็นทรัลพระราม 2 (อยู่ในซอยข้างร้านอัดรูปมาสเตอร์)
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)