xs
xsm
sm
md
lg

รับเหมารีเทิร์น อสังหาฯ ลดความเสี่ยง-เร่งรายได้ ผวา! จีนรุกหนัก "เงิน-เทกฯ" เจาะโปรเจกต์รัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของไทยถือเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมูลค่าตลาดของรับเหมาก่อสร้างขยายตัวทั้งจากโครงการลงทุนของรัฐบาล หน่วยงานรัฐบาล และการลงทุนจากภาคเอกชน ทั้งจากฟากบริษัทพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยโครงการในเชิงพาณิชย์ หรือแม้แต่การก่อสร้างที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมทางด้านคลังสินค้า เป็นต้น โดยความสำคัญของตลาดรับเหมาก่อสร้างตามข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ช่วงปี 2552-2561 มูลค่าการลงทุนก่อสร้างมีสัดส่วนเฉลี่ย 8.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GrossDomestic Product : GDP) มีผลถึงการว่าจ้างงานและยังเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง รวมถึงธุรกิจตกแต่งภายใน เป็นต้น


โดยในปีที่ผ่านมา เค้กในตลาดรับเหมาก่อสร้างจะมีมูลค่าที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องในปี 2562 ไปอีกหลายปี เนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่ได้มีการอนุมัติในการก่อสร้างจะเดินหน้าต่อเนื่องภายใต้การนำจากรัฐบาลชุดที่เคยบริหารประเทศมาแล้ว ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีการประเมินว่า ในปี 2561 มูลค่าตลาดรับเหมาก่อสร้างในไทยจะสูงถึง 1,264,400 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 4.3% เทียบกับปี 2560


และถึงแม้ธุรกิจก่อสร้างจะเป็น "บ่อน้ำ" ใหญ่ที่จะสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แต่ความรุนแรงของการแข่งขันในหลายปีที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายเล็กต่างมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจใหม่ๆ เพื่อให้องค์กรมีรายได้และกำไรที่ดีขึ้น เนื่องจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมาร์จิ้นไม่มากประมาณ 3-8% การกระโจนเข้าสู่ "ผู้เล่น" รายใหม่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาพดังกล่าวมีให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นธุรกิจที่มีอัตราเติบโตของกำไร (GP) ไม่ต่ำกว่า 30% (แล้วแต่กลยุทธ์และวิธีการบริหารต้นทุนของโครงการ) มีอัตรากำไรสุทธิ (NP) เฉลี่ย 13-15% แค่นี้ก็เย้ายวนให้ใครต่อใครอยากได้ลิ้มลองในเวทีธุรกิจอสังหาฯ!!


แหล่งข่าวในวงการรับเหมาก่อสร้างรายหนึ่ง กล่าวว่า เรื่องการขยายไลน์ไปสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นภาพที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การขับเคลื่อนธุรกิจค่อนข้างต่างจากอดีต เพราะใน 5-10 ปีที่ผ่านมา การแข่งขันในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะเป็นบริษัทเอกชนที่มีฐานธุรกิจอยู่ในประเทศ งานก็อยู่ในวงของกลุ่มที่ผูกขาดอยู่แล้ว ซึ่งช่วงนั้นการรุกสู่ธุรกิจอสังหาฯ เพื่อขยายโอกาสรองรับการสร้างธุรกิจให้เติบโต เป็นการลดความเสี่ยงให้แก่องค์กร แทนการพึ่งพาธุรกิจเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเห็นว่าช่วงนั้นจะมีบริษัทรับเหมามาทำธุรกิจอสังหาฯ กันเยอะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำลังเงิน บุคลากร และที่ดินรองรับการพัฒนาโครงการ


รับเหมาผุดโปรเจกต์ใหญ่-ร่วมทุนพันธมิตร

ความคึกคักของผู้รับเหมาในธุรกิจอสังหาฯ จะเริ่มกลับมาอีกครั้ง แต่รูปแบบและวิธีการจะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพตลาด และการเสริมสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อความยั่งยืนในธุรกิจนี้

นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนและบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ ให้มุมมองต่อ "การมูฟ" ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างอีกครั้งว่า จากศูนย์บริการข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ไทยของเจแอลแอล ซึ่งครอบคลุมธุรกรรมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย โดยบริษัทและกองทุนทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ การลงทุนซื้อขายที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทในครึ่งแรกของปีนี้ มีเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 4 รายการ

โดยเฉพาะในรายการลงทุนมูลค่าสูงสุดรองลงมา เป็นการซื้อที่ 2 แปลง รวมมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท โดยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ โดยในเดือนเมษายน ซิโน-ไทย ได้ซื้อที่ขนาด 11 ไร่ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต จากบริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในราคาสูงถึง 4,300 ล้านบาท เพื่อพัฒนาคอมเพล็กซ์อาคารสำนักงาน ส่วนในเดือนมิถุนายน บริษัทลูกของซิโน-ไทย คือ เอสที พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ โลจิสติกส์ ได้เข้าซื้อคอมมูนิตีมอลล์ซัมเมอร์ฮิลล์ และอาคารสำนักงานซัมเมอร์ฮับ ออฟฟิศ จากบริษัท บูทิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ด้วยมูลค่า 957 ล้านบาท

"การลงทุนของซิโน-ไทย และบริษัทในเครือในปีนี้สะท้อนให้เห็นแนวโน้มที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างเริ่มทยอยกลับเข้ามาลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง จากที่ได้เว้นช่วงไปเกือบ 2 ทศวรรษ หลังวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง"

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ก็มีบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายอื่นๆ ที่เข้ามาลงทุนเมื่อไม่นาน เช่น บริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง จำกัด ได้ร่วมลงทุนกับ บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) และบริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในโครงการพัฒนาอาคารสำนักงานสปริงทาวเวอร์ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสราชเทวี มูลค่าโครงการเกิน 2,000 ล้านบาท และในแผนระยะ 5 ปี จะมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทในการพัฒนาโครงการ ภายใต้เงื่อนไขสภาพเศรษฐกิจ โครงสร้างเงินทุน และทิศทางดอกเบี้ย เป็นต้น อีกทั้งบริษัท แสงฟ้าก่อสร้างฯ ยังได้เข้าซื้อโครงการณุศาศิริ ศรีราชา พัฒนาโครงการภายใต้ชื่อ “ยู ศรีราชา” มูลค่า 1,700 ล้านบาท เป็นต้น

ส่วน ไทย โอบายาชิ ได้ซื้อที่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสนานา ในราคาตารางวาละ 2.6 ล้านบาท ซึ่งทำสถิติราคาที่ดินต่อตารางวาแพงที่สุดในปี 2560 โดยขณะนี้กำลังใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคาร O-NES Tower ซึ่งเป็นการลงทุนพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานใหม่โครงการแรกของไทย โอบายาชิ นับตั้งแต่เคยลงทุนก่อสร้างอาคารนันทวัน ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสราชดำริ ในปี 2534 ขณะที่ ไทย โอบายาชิ ยังมีงานก่อสร้าง "สามย่านมิตรทาวน์" โครงการสมาร์ทมิกซ์ยูส มูลค่า 8,500 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ เช่น บริษัท ฤทธา จำกัด (มหาชน) ส่งผ่านการขยายอาณาจักรในธุรกิจอสังหาฯ ภายใต้บริษัท ไซมิส แอสเสทฯ กับโครงการใหญ่บนถนนพระราม 9 ซึ่งมีการร่วมกับพันธมิตรจากโบรกเกอร์จีนรายใหญ่ในการลงทุนซื้อที่ดิน พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมเพื่ออยู่อาศัยและการให้บริการในรูปแบบโรงแรม มูลค่า 10,000 ล้านบาท และมีแผนที่จะเข้ายื่นกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ

จับตา "จีน" รุกหนักเบียดเค้กเมกะโปรเจกต์

ในช่วงที่ผ่านมา ด้วยนโยบายของรัฐบาลจีน ในการผลักดันบริษัทของคนจีนออกสู่ตลาดต่างประเทศ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงธุรกิจอย่างมาก เนื่องจากด้วยกำลังเงิน และเทคโนโลยีที่เริ่มทันสมัย ทำให้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญต่อบริษัทรับเหมาของไทย เนื่องจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้รับเหมาจีนเข้ามาชิงงานเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานในไทย รวมถึงมีการร่วมลงทุนกับพันธมิตรในไทยที่ไม่ใช่แค่รายเดียว ทำให้เกิดความได้เปรียบในการรับงาน และมีโอกาสที่จะคว้างานมาได้ หรือแม้แต่ยักษ์ใหญ่ก่อสร้างจีน กลุ่มจงเทียน คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เข้ามาร่วมลงทุนกับบริษัท รุ่งฟ้าเสริม คอร์ปอเรชั่น ในนามบริษัท จงเทียนโอเวอร์ซีส์ เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) เพื่อใช้ไทยเป็นฐานในการขยายธุรกิจในอาเซียน คาดว่าใน 4 ปีข้างหน้า ปี 2564 จะได้งานมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท เป็นงานเอกชน 60% และภาครัฐ 40% จากปัจจุบันจะมีงานภาคเอกชนมูลค่าไม่มาก

"ปีนี้ กระทรวงสำคัญอย่างคมนาคม มีโครงการที่ต้องลงทุน และโครงการเมกะโปรเจกต์มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท หรือโครงการของการเคะแห่งชาติ ที่มีบริษัทรับเหมาจีน แสดงความสนใจในโครงการเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งเราเชื่อเลยว่า จีนเอาแน่ อย่างเคสที่เห็นอย่างชัดเจน คือ โครงการทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง ที่บริษัทรับเหมาจากจีนได้ไป ยังไม่นับรวมโครงการก่อสร้างงานรถไฟไทย-จีน ขณะที่จะเห็นโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของบริษัทอสังหาฯ จีนที่เข้ามาลงทุน มีการใช้บริษัทรับเหมาของตนเองดำเนินการ ดังนั้น รับเหมาไทยในอนาคตอาจจะลำบาก คงไม่ใช่เสือนอนกินอีกต่อไปแล้ว การขยับธุรกิจใหม่ๆ จะช่วยสร้างความได้เปรียบ และยังมีเรื่องของตัวเลขที่ดีขึ้น หากตลาดก่อสร้างเกิดความผันผวน"แหล่งข่าวกล่าว

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ ยืนยันได้ชัดเจนว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ทุนจีนประกาศแผนลงทุนคิดเป็นมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท ที่ประกาศตัวเลขการลงทุนออกมา โดยเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา รวมถึงโครงการที่จะก่อสร้างในอนาคต ขณะเดียวกัน ยังแฝงเข้ามาในรูปแบบนอมินี ทั้งนี้ หากกฎหมายการลงทุนในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) มีความชัดเจนเชื่อว่าทุนจีนจะเข้ามาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น

“ทุนจีนเข้ามาไทยมาก ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนหรือเข้ามาซื้อกิจการ นักลงทุนจีนที่เข้ามาสนใจลงทุนในโครงการคอนโดมิเนียมมากที่สุด เพราะเป็นรูปแบบโครงการที่ชาวต่างชาติสามารถซื้อในชื่อของพวกเขาได้"

กำลังโหลดความคิดเห็น