เพิ่งเฉลิมฉลองครบรอบ 21 ปี ไปเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา สำหรับสตาร์บัคส์ ประเทศไทย เครือข่ายร้านกาแฟจากสหรัฐอเมริกา ที่มีสาขาทั่วโลกมากกว่า 30,000 แห่งใน 76 ประเทศ นับเป็นแบรนด์กาแฟที่มีชื่อเสียงทั่วโลก รวมทั้งผู้บริโภคชาวไทย ที่ถูกยกให้เป็นแบรนด์กาแฟพรีเมียม สำหรับลูกค้าระดับบน
นับตั้งแต่สาขาแรก ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม เมื่อปี 2541 ค่อยๆ ขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งก้าวสำคัญที่ "กลุ่มไทยเบฟ" จับมือกับ "แม็กซิมส์ เคเทอร์เรอร์" ยักษ์ใหญ่ด้านอาหารจากฮ่องกง คว้าสิทธิ์ในการบริหารร้านสตาร์บัคส์ในประเทศไทย ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้สตาร์บัคส์เติบโตอย่างก้าวกระโดด
ปัจจัยความสำเร็จของสตาร์บัคส์ในไทย มาจากการพัฒนาร้านกาแฟให้กลายเป็นบ้านหลังที่สาม (Third Place) ที่ลูกค้าทุกคนสามารถใช้เวลาอยู่กับกาแฟได้นาน ไม่ว่าจะนั่งอ่านหนังสือ นั่งทำงานกับแล็ปท็อปส่วนตัว หรือจะพูดคุยกับเพื่อนฝูง เป็นจุดนัดพบระหว่างทางก็ได้ กลายเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับคอกาแฟในบ้านเรา
ระหว่างนั้น สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มาควบคู่กับความรับผิดชอบของสังคม หนึ่งในนั้นคือ "กาแฟม่วนใจ๋ เบลนด์" ที่ผสมผสานระหว่างกาแฟจากชาวเขาภาคเหนือของไทย กับกาแฟจากแหล่งอื่นในหมู่เกาะแปซิฟิก โดยรายได้จากการจำหน่าย 5% จะนำไปพัฒนาชุมชนผู้ปลูกกาแฟบนยอดดอยสูงใน จ.เชียงใหม่
นอกจากนี้ ยังมีร้านกาแฟเพื่อชุมชนสตาร์บัคส์แห่งแรกในไทย ที่สาขาหลังสวน เป็นสาขาที่ 4 ต่อจากลอสแองเจลิส นิวยอร์ก และเทกซัส เปิดให้บริการเมื่อปี 2556 จะมอบรายได้ 10 บาทจากการจำหน่ายเครื่องดื่มสตาร์บัคส์ทุกแก้วที่ร้านแห่งนี้ มอบให้แก่องค์กรพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน (ITDP) ช่วยเหลือชาวไทยภูเขาทางภาคเหนือของไทยอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจร้านกาแฟในประเทศไทย ที่ชิงส่วนแบ่งการตลาดจากนักดื่มกาแฟในประเทศไทย ทำให้สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ต้องพัฒนารูปแบบร้าน ผลิตภัณฑ์และการบริการ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ จากเดิมจะเป็นลูกค้าระดับบน ที่มีความจงรักภักดี (Loyalty) กับแบรนด์สูงมาก
สตาร์บัคส์ ไดร์ฟทรู สาขาพอร์โต้ โก ท่าจีน ถนนพระราม 2 กม. 41 เป็นสาขาที่ 384 ของสตาร์บัคส์ ประเทศไทย และสาขาที่ 31 ของสตาร์บัคส์ ไดร์ฟทรู ในประเทศไทย ที่ถือฤกษ์เปิดให้บริการในวันเฉลิมฉลองครบรอบ 21 ปี โดยในวันเดียวกันนี้ สตาร์บัคส์ได้เฉลิมฉลอง โดยการแจกส่วนผสมในเครื่องดื่ม (Customization) ฟรีอีกด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 ได้เปิด "สตาร์บัคส์ ไดร์ฟทรู" สาขาแรกในประเทศไทย ที่ศูนย์การค้าพอร์โต้ ชิโน่ ถนนพระราม 2 กม. 25 นอกจากจะเป็นต้นแบบให้กับไดร์ฟทรูสาขาอื่นแล้ว ตัวอาคารยังถูกออกแบบให้เป็นร้านกาแฟอนุรักษ์พลังงาน กระทั่งผ่านการรับรองมาตรฐาน LEED ® Gold เป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย
นอกจากจะตั้งบนถนนสายหลัก อาทิ ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนรามอินทรา ถนนราชพฤกษ์ ถนนกาญจนาภิเษก แล้ว ยังขยายไปยังทางหลวงสายหลัก เช่น ถนนพหลโยธิน ถนนสายเอเชีย ถนนบางนา-ตราด ถนนพระราม 2 และถนนเพชรเกษม รวมทั้งยังมีสาขาในจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา และกาญจนบุรี
ส่วนสาขาอื่นๆ ได้พัฒนาบริการและเครื่องดื่มที่หลากหลาย อาทิ สาขาที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง มี 24 สาขา พบได้ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต ไลฟ์สไตล์มอลล์ในกรุงเทพฯ แหล่งท่องเที่ยวอย่างย่านราชประสงค์ ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ และย่านป่าตอง จ.ภูเก็ต รวมทั้งจุดพักรถบนมอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี
สาขาที่ให้บริการห้องประชุม (Community Room) มีทั้งหมด 47 สาขา พบได้ที่ย่านใจกลางธุรกิจ ศูนย์การค้า ไลฟ์สไตล์มอลล์ และร้านที่มีพื้นที่กว้างขวาง สำหรับใช้ประชุม คุยงานนอกสถานที่ทำงาน สำหรับลูกค้าที่ซื้อเครื่องดื่ม หรือเบเกอร์รี่รวมกัน ตามเงื่อนไขที่ทางร้านกำหนด ซึ่งบางแห่งยังเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงอีกด้วย
ส่วนสาขาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ "สตาร์บัคส์ รีเซิร์ฟ บาร์" ตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ บนพื้นที่ 760 ตารางเมตร รองรับลูกค้าได้ 230 ที่นั่ง เสิร์ฟเมนูพิเศษจากเมล็ดกาแฟพันธุ์หายาก และยังเป็นสาขาแรกที่มีเมนูเครื่องดื่ม Starbucks Draft โดยเฉพาะกาแฟไนโตร Nitro Cold Brew อีกด้วย
ในปี 2561 สตาร์บัคส์ ประเทศไทย มีรายได้ 7,676 ล้านบาท กำไร 1,078 ล้านบาท นำมาสู่ดีลครั้งประวัติศาสตร์ บริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา มอบสิทธิ์บริหารร้านสตาร์บัคส์ในไทยให้กับเอฟแอนด์เอ็น บริษัทในกลุ่มไทยเบฟฯ และ แม็กซิมส์ เคเทอร์เรอร์ ที่บริหารร้านสตาร์บัคส์ในสิงคโปร์ กัมพูชา เวียดนาม ฮ่องกงและมาเก๊า รวมกว่า 400 สาขา
เมื่อบริษัทแม่ประกาศขยายสาขาเพิ่มอีก 2,100 แห่งทั่วโลก รวมกว่า 32,000 แห่งในปี 2563 โดยเน้นสหรัฐอเมริกา จีน และเอเชียแปซิฟิกเป็นพิเศษ ประกอบกับสตาร์บัคส์ ประเทศไทย ได้พันธมิตรรายใหม่ ก้าวสู่ปีที่ 22 จึงถูกมองว่า จะได้เห็นจำนวนสาขาสตาร์บัคส์ในไทย เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยความแข็งแกร่งทั้งแบรนด์และกลุ่มทุน
ลายแทง "สตาร์บัคส์ ไดร์ฟทรู" 31 สาขาในไทย (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2562)
กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล : 1. Buzz Vibhavadi ถนนวิภาวดีรังสิต (ขาออก), 2. The JAS Ramintra ถนนลาดปลาเค้า, 3. The JAS Wanghin ถนนลาดพร้าว-วังหิน เปิด 24 ชั่วโมง 4. Ease Park ถนนรามอินทรา (ขาเข้า) 5. Food Villa ถนนราชพฤกษ์ (ขาออก) เปิด 24 ชั่วโมง 6. Susco Ratchaphruek ถนนราชพฤกษ์ (ขาเข้า) 7. The Paseo Park Kanchanaphisek ถนนกาญจนาภิเษก (ขาออก) เปิด 24 ชั่วโมง
8. Suanplern Market ถนนพระราม 4 (ขาออก) 9. Sukumvit Hospital ถนนสุขุมวิท (ขาออก) 10. Boonthavorn Pinklao ถนนบรมราชชนนี (ขาออก) 11. People Park ถนนอ่อนนุช (ขาเข้า) 12. The X place ถนนกาญจนาภิเษก (ขาเข้า) 13. Victoria Gardens ถนนเพชรเกษม (ขาออก) 14. Index Living Mall Rama 2 ถนนพระราม 2 (ขาเข้า) 15. V Market ถนนฉลองกรุง
16. Chic Republic Ratchaphruk ถนนราชพฤกษ์ (ขาเข้า) จ.นนทบุรี 17. JAS Urban Srinakarin ถนนศรีนครินทร์ (ขาออก) จ.สมุทรปราการ เปิด 24 ชั่วโมง 18. Att U Park Suvarnabhumi ถนนบางนา-ตราด (ขาออก) จ.สมุทรปราการ 19. At United Bangna ถนนบางนา-ตราด (ขาเข้า) จ.สมุทรปราการ 20. Auto Mall Navanakorn ถนนพหลโยธิน (ขาออก) จ.ปทุมธานี
ต่างจังหวัด : 1. Fast Fac ถนนพหลโยธิน (ขาออก) จ.พระนครศรีอยุธยา 2. Baan Yai Wangnoi ถนนพหลโยธิน (ขาเข้า) จ.พระนครศรีอยุธยา 3. Port Go Bang Pa-in ถนนสายเอเชีย (ขาออก) จ.พระนครศรีอยุธยา 4. FN Outlet Ayatthaya ถนนสายเอเชีย (ขาเข้า) จ.พระนครศรีอยุธยา 5. The Mood ถนนเพชรเกษม (ขาออก) จ.นครปฐม
6. Porto Chino ถนนพระราม 2 กม.25 (ขาออก) จ.สมุทรสาคร 7. Porto Go Tha Chin ถนนพระราม 2 กม.41 (ขาออก) จ.สมุทรสาคร 8. FN Outlet Chachoengsao ถนนสิริโสธร จ.ฉะเชิงเทรา 9. TMK Park ถนนแสงชูโต จ.กาญจนบุรี 10. Wufoo Khonkaen ถนนมิตรภาพ จ.ขอนแก่น และ 11. Chiangmai RAM complex โรงพยาบาลเชียงใหม่-ราม จ.เชียงใหม่
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)