"พอร์โต้ โก" เป็นแบรนด์จุดพักรถ (Rest Area) ที่บริหารงานโดย บริษัท ดี-แลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ "ดี-แลนด์ กรุ๊ป" เจ้าของเดียวกับไลฟ์สไตล์มอลล์ "พอร์โต้ ชิโน่" ย่านมหาชัย จ.สมุทรสาคร เปิดให้บริการเป็นแห่งแรกที่ "พอร์โต้ โก บางปะอิน" ริมถนนสายเอเชีย จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560
หลังเปิดให้บริการที่บางปะอินมานานกว่า 1 ปีครึ่ง เป็นที่ตอบรับอย่างดีจากนักเดินทางและผู้ใช้รถใช้ถนน ล่าสุดได้เปิดอีกโครงการหนึ่งภายใต้ชื่อ "พอร์โต้ โก ท่าจีน" บนถนนพระราม 2 ขาออก กม.41 อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยจะเปิดให้บริการบางส่วน (Soft Opening) ในวันนี้ (19 กรกฎาคม 2562)
เริ่มแรกเปิดให้บริการ 5 ร้านค้า แบ่งเป็นไดร์ฟทรู 2 ร้าน ได้แก่ สตาร์บัคส์ ไดร์ฟทรู และ เคเอฟซี ไดร์ฟทรู ส่วนร้านค้าในโครงการมีอยู่ 3 ร้าน ได้แก่ "ข้าวแกงพรีเมียม" (Premium Food Center) ศูนย์อาหารที่มีทั้งข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว และอาหารจานเดียว, ร้านอาหารญี่ปุ่น "นิกิวาอิ ซูชิ" (Nigiwai Sushi) ร้านขนมและของฝาก "ไท้เฮียง"
"Ibusiness review" ได้มีโอกาสเยี่ยมชมโครงการ ก่อนวันเปิดให้บริการ 1 สัปดาห์ พบว่าตั้งอยู่บนพื้นที่ 23 ไร่ เลยสามแยกบ้านแพ้วประมาณ 2.5 กิโลเมตร ในพื้นที่ ต.บางโทรัด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เจาะกลุ่มเป้าหมายนักเดินทางที่ขับรถลงสู่ภาคใต้ และแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง อาทิ แม่กลอง อัมพวา สวนผึ้ง เพชรบุรี ชะอำ หัวหิน เป็นต้น
ประกอบด้วย ไดร์ฟทรู 4 ร้านค้า นอกจากสตาร์บัคส์กับเคเอฟซีแล้ว ยังเตรียมเปิดตัว “ชาตรามือ ไดร์ฟทรู” และร้านซาลาเปา “วราภรณ์ ไดร์ฟทรู” ในเดือนตุลาคม 2562 ถือเป็นร้านในรูปแบบไดร์ฟทรูเจ้าแรกในประเทศไทย จะมาเปิดตัวที่นี่ และร้านค้าภายในโครงการอีก 30 ร้าน ประกอบด้วย ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ ร้านอาหารชั้นนำ
สิ่งอำนวยความสะดวกประกอบด้วย ห้องน้ำติดแอร์ เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ที่จอดรถ 200 คัน พร้อมที่จอดรถทัวร์ ส่วนบริเวณฝั่งตะวันตกของโครงการ ยังเตรียมก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์อีกด้วย โดยมีมูลค่าการลงทุน 400 ล้านบาท คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการต้นปี 2563
โครงการพอร์โต้ โก มีที่มาที่ไปจากการผลักดันไลฟ์สไตล์มอลล์แห่งแรกในจังหวัดสมุทรสาคร "พอร์โต้ ชิโน่" เมื่อ 7 ปีก่อน ผู้บริหาร ดี-แลนด์ กรุ๊ป จึงต่อยอดธุรกิจ โดยดึงพันธมิตรทางธุรกิจส่วนหนึ่งจากพอร์โต้ ชิโน่ อีกส่วนหนึ่งเป็นพันธมิตรหน้าใหม่ที่พร้อมจะเติบโตทั้งในรูปแบบไดร์ฟทรู และะรูปแบบอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ที่ผ่านมา ดี-แลนด์ กรุ๊ป ได้ศึกษาข้อมูลบนถนนสายหลัก ซึ่งมีรถยนต์ 4 ล้อวิ่งเฉลี่ย 14.8 ล้านคันต่อปี หรือ 4 หมื่นคันต่อวัน พบว่าเกือบทั้งหมดจอดแวะพักเพื่อเข้าห้องน้ำ และทำกิจกรรมอื่น เช่น แวะพักผ่อนเพื่อเติมความสดชื่นระหว่างเดินทาง รับประทานอาหาร และซื้อกาแฟ มีเพียง 30% เท่านั้นที่เข้ามาเพื่อเติมน้ำมัน
นำมาซึ่งการออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์บนทางหลวง ในรูปแบบ "จุดพักรถ" (Rest Area) ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทาง ไม่ว่าจะเป็น ห้องน้ำสะอาด ปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ร้านค้าแบรนด์ดัง ร้านเสื้อผ้า เพื่อสร้างประสบการณ์การพักผ่อนระหว่างเดินทางที่มีความแปลกใหม่ และสามารถตอบโจทย์ได้ครบทุกความต้องการ
จุดพักรถในประเทศไทยมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น สถานีบริการน้ำมัน ร้านขายของฝาก จุดพักรถสำหรับรถโดยสาร ขณะที่กรมทางหลวงก็ให้สิทธิ์เอกชนบริหารจุดพักรถในรูปแบบศูนย์บริหารทางหลวง (Service Area) รวมทั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางพิเศษอีกด้วย
สำหรับสถานีบริการน้ำมัน เจ้าตลาดยังเป็นของ ปตท. ที่มีกว่า 1,700 สถานี ที่พัฒนาในรูปแบบ "พีทีที ไลฟ์ สเตชั่น" (PTT Life Station) มาตั้งแต่ปี 2552 โดยเพิ่มสินค้าและบริการอื่นๆ อาทิ ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านของฝาก ศูนย์บริการยานยนต์ ฯลฯ กลายเป็นต้นแบบที่ทำให้สถานีบริการน้ำมันรายอื่นลงมาชิงรูปแบบเดียวกัน
หากศึกษารูปแบบของ "พอร์โต้ โก" พบว่าจะใช้พื้นที่ตั้งแต่ 25-30 ไร่ งบลงทุนอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาทต่อแห่ง หากประสบความสำเร็จ อาจกลายเป็นโมเดลให้กลุ่มธุรกิจน้ำมัน ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ กระโดดเข้ามาแข่งขันในธุรกิจจุดพักรถ เหมือนเช่นยุคหนึ่งที่คอมมูนิตี้มอลล์ (Community Mall) ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดก็เป็นได้
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)