หุ้นกลุ่มน้ำตาลเลี่ยงไม่พ้นรับผลวิกฤติภัยแล้ง กดดันปริมาณผลผลิตอ้อยส่งเข้าโรงหีบน้อยกว่าคาด อีกทั้งราคาน้ำตาลโลกร่วงซ้ำเติม กดดันผลประกอบการน้อยกว่าเป้า หลาย บจ.ปรับกลยุทธ์เน้นธุรกิจเกี่ยวโยงปลายน้ำ “ไฟฟ้า ปุ๋ย กระดาษบรรจุภัณฑ์ น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์มาร์จิ้นสูง” หนุนชดเชยรายได้จากธุรกิจหลัก
บจ.ผลิตน้ำตาลเบนเข็มสู่ผลิตไฟฟ้าอีกทาง
บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลแบบครบวงจร โดยมีธุรกิจหลักผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทมาเป็นลงทุนในบริษัทอื่น หรือ Holding Company โดยลงทุนในบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 99.99% ที่ดำเนินธุรกิจ คือ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย โดยมีบริษัท โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด เป็นหลัก นอกจากนี้ BRR ยังมีการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องปลายน้ำกับอ้อยและน้ำตาล คือ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล ประกอบด้วยบริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด, บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด และ บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์พลัส จำกัด นอกจากนี้ยังได้ลงทุนใน ธุรกิจผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ โดยบริษัท ปุ๋ยตรากุญแจ จำกัด ธุรกิจสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา โดยบริษัท บุรีรัมย์วิจัยและพัฒนาอ้อย จำกัด และ ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ ซึ่งใช้ประโยชน์ที่เหลือจากชานอ้อย และกากใยพืชที่ได้จากธรรมชาติชนิดอื่น โดย บริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด
อย่างไรก็ตาม BRR ยังมีรายได้จากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ โดยโอนสิทธิรายได้จากโรงไฟฟ้าในเครือ 2 แห่ง คือบริษัท บุรีรัมย์พลังงาน หรือBEC และ บริษัทบุรีรัมย์เพาเวอร์ หรือ BPC เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกองทุนรวม โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวสามารถผลิตไฟฟ้าได้รวมกว่า 19.8 เมกกะวัตต์ ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อนำเงินที่ได้ ไปใช้ในการลงทุนอื่นๆต่อยอดจากธุรกิจหลักที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาล 3 โครงการเข้ามา
ทั้งนี้ ในปี 2561-2562 บริษัทมีพื้นที่การปลูกอ้อย 238,000 ไร่ สามารถปลูกอ้อยได้เฉลี่ย 2,931,277 ล้านตัน และส่งเข้าโรงหีบเพื่อแปรรูปผลิตเป็นน้ำตาลได้ 353,349 ตัน ขณะที่เป้าหมายรายได้ปีนี้ BRR ตั้งเป้ายอดขายน้ำตาลที่ 350,000 ตัน แบ่งเป็นน้ำตาลทรายดิบ2แสนตัน , น้ำตาลประเภทบราวน์ชูการ์ 3 หมื่นตัน และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 4-5 หมื่น ตัน ซึ่ง 2 ประเภทหลังจัดได้ว่าเป็นสินค้าที่มีมาร์จินสูง ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าสำคัญที่จะสร้างรายได้และกำไรให้กับบริษัทอย่างมีนัยยะสำคัญโดยปัจจุบัน BRR ได้มีการทำสัญญาการขายน้ำตาลแล้วประมาณ 90% หรือคิดเป็นประมาณ 3หมื่นตัน
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากตัวเลขผลประกอบการย้อนหลัง 2 ปี (2560-2561) พบว่า บริษัทมีกำไรสุทธิลดลงอยู่ที่ 524.73 ล้านบาท และ 271.62 ล้านบาท ส่วนรายได้ปี 2560 อยู่ที่ 5,928.18 ล้านบาทและ 2561 อยู่ที่ 5,916.67 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของไตรมาส 1/2562 บริษัทมีรายได้รวม 1,083.79 ล้านบาทและกำไรสุทธิ 66.98 ล้านบาท
ขณะเดียวกันในส่วนของการแปรรูปอ้อยที่เหลือจากการผลิตน้ำตาลไปสู่ธุรกิจพลังงานโดยบริษัทได้นำส่งกากอ้อยที่เหลือจากการหีบประมาณหนึ่งแสนกว่าตัน ไปใช้ในธุรกิจผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจผลิตภาชนะจากกากใยอ้อยและวัสดุธรรมชาติเพื่อทดแทนโฟม-พลาสติก จะเดินเครื่องผลิตเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีทั้งหมด 4 เฟส มูลค่าของการลงทุน 300-400 ล้านบาทและรับรู้รายได้ไตรมาส 4ปีนี้ ส่วนเฟสที่ 2 เริ่มปี 2563 เบื้องต้นใช้เงินลงทุนเพิ่มอีก 100 ล้านบาท นอกจากนี้ BRR อยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลแห่งใหม่กับพันธมิตร 2-3 ราย โดยประเมินว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท คาดจะได้ข้อสรุปในปี 2563
ขณะที่ กลุ่ม บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น หรือกลุ่ม KTIS ซึ่งผลิตน้ำตาลทรายปีละเกิน 10 ล้านตัว แล้ว KTIS ยังมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลอย่างธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพในอุตสาหกรรมหลักๆ ได้แก่ โรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอล ในนามของ บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด โรงงานผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษชานอ้อย ในนามบริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด (EPPCO) และโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอีก 3 โรง ภายใต้ชื่อ บริษัท เกษตรไทยไบโอเพาเวอร์ จำกัด บริษัท ไทยเอกลักษณ์ เพาเวอร์ จำกัด และ บริษัท รวมผลไบโอเพาเวอร์ จำกัด ซึ่งทั้งหมดถือหุ้นโดย KTIS 100% โดยจากรายได้งวดบัญชี 6 เดือน (ตุลาคม 2561 - มีนาคม 2562) สัดส่วนรายได้ของสายธุรกิจน้ำตาลอยู่ที่ 60.8% และสายธุรกิจชีวภาพอยู่ที่ 39.2% โดยแบ่งเป็นเอทานอล 13.7% ไฟฟ้า 9.5% เยื่อกระดาษ 9.4% และอื่นๆ อีก 6.5%
“ณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวว่า สัดส่วนรายได้เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนของสายธุรกิจน้ำตาลลดลงจาก 64.2% มาอยู่ที่ 60.8% ขณะที่สายธุรกิจชีวภาพ ขยับเพิ่มขึ้นจาก 35.8% เป็น 39.2% ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ในอนาคตก็มีโอกาสที่รายได้จากสายธุรกิจชีวภาพจะสูงกว่าสายธุรกิจน้ำตาล
โดยรายได้จากการขายเอทานอลที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น 21.4% และรายได้จากการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 23.5% สำหรับครึ่งปีแรกของรอบบัญชี สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นจะมาช่วยชดเชยรายได้จากธุรกิจน้ำตาลที่ปรับตัวลดลง ทำให้มั่นใจว่า 2 สายธุรกิจนี้จะสร้างรายได้ที่ดีอย่างต่อเนื่อง ขณะผลงานไตรมาส 2/2562 บริษัทมีรายได้รวม 6,802.88 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 126.94 ล้านบาท และการจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวล 201,845 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 22.5% จากปีก่อน
นอกจากนี้ KTIS ได้ร่วมทุนกับ บริษัท ยูเรเซีย ไลท์ อินดัสตรี อีควิปเม้นท์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับผลิตภาชนะจากเยื่อชานอ้อย อีกทั้งยังเป็นผู้จัดจำหน่ายภาชนะจากเยื่อชานอ้อยในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อว่า บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ แพ็คเกจจิ้ง จำกัด ที่ถือหุ้น 85% มูลค่าโครงการที่ตั้งไว้ 1,300 ล้านบาท และนี่จะเป็นอีกสายธุรกิจหนึ่งที่มีศักยภาพในการทำรายได้และกำไรที่ดี
ด้าน บมจ.น้ำตาลขอนแก่น หรือ KSL มองว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบช่วงไตรมาส 4 / 2562 หรือช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะลดลงต่ำกว่าเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อนหน้าที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบกว่า 10.3 ล้านตัน เนื่องจากปริมาณความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกที่ลดลง ถึงแม้ว่าการบริโภคน้ำตาลยังเติบโตได้ดี แต่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้รายได้ปีงวดปีบัญชีปี 2562/63 กลับมาดีขึ้น แม้ว่าผลประกอบการงวดบัญชีปี 2561/62 (พ.ย.61-ต.ค.62) รายได้จะต่ำกว่าปีก่อน 1.91 หมื่นล้านบาท โดยงวดบัญชีปี 2560 บริษัทมีรายได้ 19,140.23 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,970.40 ล้านบาท ขณะงวดบัญชีปี 2561 บริษัทมีรายได้ 19,135.95 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเพียง 848.06 ล้านบาท จากปัญหาการปรับลดของราคาและปริมาณความต้องการน้ำตาลในตลาดทำให้บริษัทพยายามที่จะศึกษาวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าน้ำตาล
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจเอทานอลที่ใช้ผสมกับน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ และธุรกิจโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพที่ใช้วัตถุดิบในส่วนที่เหลือจากกากของเสียในกระบวนการผลิตเอทานอล อีกทั้งโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้วิตถุดิบที่เป็นของเสียจากกระบวนการผลิตน้ำตาลและธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสัญญาขายไฟฟ้าหรือ COD ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) 50 เมกะวัตต์
ขณะที่ บมจ.น้ำตาลครบุรี (KBS) เมื่อปลายปี 61 คณะกรรมการบริษัทได้ อนุมัติให้สร้างโรงงานผลิตน้ำตาล กำลังการผลิต 1.2 หมื่นตันต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวล ในบริษัท เคบีเอส เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดยมีมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 4 พันล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนโรงงานน้ำตาลประมาณ 3.05 พันล้านบาท และโรงไฟฟ้า 952 ล้านบาท หวังเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและลดต้นทุนการผลิตโดยรวม ส่วนงบสิ้นปี 2561 พบว่า KBS มีกำไรสุทธิ 293.96 ล้านบาท จากงวดนี้ปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 376.64 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.49 บาท ขณะที่งวดนี้ปีก่อนขาดทุนสุทธิ 0.63 บาท ส่วนบอร์ดอนุมัติจ่ายปันผลหุ้นละ 0.01 บาท ส่วนไตรมาสแรกปี 62 กำไรสุทธิ 271.31 ล้านบาท