การเปิดพื้นที่ชั้น 6 และชั้น 7 ของศูนย์การค้าเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา เรียกว่าเป็นการเรียกน้ำย่อย เพื่อดึงทราฟฟิกลูกค้าในพื้นที่นนทบุรี และโซนกรุงเทพเหนือ ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีก ที่มีทั้งกลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มบางกอกแลนด์ รวมทั้งเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์
เริ่มจากชั้น 6 ศูนย์อาหารย้ายมาจากชั้น 5 ในรูปโฉมใหม่ "กรูเมต์ อีท" (Gourmet Eats) รวมสตรีทฟู้ดกว่า 30 ร้าน พร้อมกับร้านเคเอฟซี เชสเตอร์ แดรี่ควีน ฟูกุมัทฉะ คาเฟ่ อเมซอน โซนไอทีและมือถือ ศูนย์บริการเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ และ "ร้านชีวิตดี" (Chivit-D) ของเอสซีจี ศูนย์รวมสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ บนพื้นที่ 500 ตารางเมตร
ขึ้นไปที่ชั้น 7 เป็นโรงภาพยนตร์เอสเอฟเอ็กซ์ (SFX Cinema) ที่ลงทุนปรับปรุงกว่า 200 ล้านบาท ประกอบด้วย 10 โรงภาพยนตร์ รวม 1,934 ที่นั่ง พร้อมโรงภาพยนตร์แบบพิเศษ "ซิกมา ซีเนสเตเดียม" (Zigma Cinestadium) จอใหญ่พร้อมผังที่นั่งแบบใหม่ และ "แฮปปีเนส ซีเนมา" (Happiness Cinema) เก้าอี้แบบพิเศษเจาะกลุ่มครอบครัว
อย่างไรก็ตาม สวนน้ำแฟนเทเชีย ลากูน (Fantasia Lagoon) ยังคงปิดปรับปรุงอยู่เช่นเดิม ส่วนชั้น 5 ปิดปรับปรุงยกชั้น ให้เป็นโซนร้านอาหารรูปโฉมใหม่ โดยร้านอาหารบางส่วนย้ายไปชั้นอื่นๆ บางส่วนปิดปรับปรุง และศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ย้ายลงมาที่ชั้น 3 โดยจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมนี้
ส่วนชั้น 4 แผนกสปอร์ต มอลล์, พาวเวอร์ มอลล์, คาร์ แอนด์ ทูส์ และเดอะ ลีฟวิ่ง ปิดปรับปรุง เหลือพื้นที่ขายบางส่วนชั่วคราว ส่วนชั้นอื่นๆ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ ขณะที่ชั้น G แผนกซูเปอร์มาร์เก็ต "โฮม เฟรซ มาร์ท" กำลังทยอยปรับปรุงให้กลายเป็น "กรูเม่ต์ มาร์เก็ต" (Gourmet Market) โดยขยายพื้นที่ไปถึงทางออกลานจอดรถเดิม
นอกจากจะปรับปรุงอาคารเดิมแล้ว ยังได้มีการก่อสร้างอาคารใหม่บริเวณทางออกห้างฯ รวมทั้งปรับปรุงลานจอดรถชั้น G บริเวณด้านหลังให้กลายเป็นสถานีรถตู้ (VAN STATION) ไปยังปากเกร็ด บางนา มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตลาดบางบัวทอง มาบุญครอง มหาวิทยาลัยศิลปากร นครปฐม และเดอะมอลล์ บางกะปิ
การปรับปรุงเดอะมอลล์ งามวงศ์วานครั้งนี้ เริ่มทยอยปิดปรับปรุงทีละส่วน ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (2561) ด้วยงบลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท ถือเป็นการรีโนเวตครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่การปรับปรุงศูนย์การค้าเมื่อปี 2551 เพื่อแข่งขันกับ "เซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ" ของกลุ่มเซ็นทรัล
ในยุคนั้นได้เพิ่มโซน "ซิตี้ วอล์ค" (City Walk) แหล่งรวมสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์วัยรุ่น 120 ร้านค้า บนชั้น 6 พื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตร รวมทั้งขยายพื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ต "โฮม เฟรช มาร์ท" ให้กว้างมากขึ้น โดยย้ายศูนย์อาหารขึ้นไปรวมกันที่ชั้น 5 ร่วมกับโซนไอที และศูนย์พระเครื่อง
เมื่อค้าปลีกโซนกรุงเทพเหนือมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเซ็นทรัลที่มีศูนย์การค้าแทบจะ "ล้อมกรอบ" ทั้งเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว, เซ็นทรัลพลาซา รัตนาธิเบศร์ รองรับชุมชนในย่านนนทบุรี, เซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ กวาดลูกค้าย่านปากเกร็ด และเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต โกยลูกค้าย่านบางใหญ่-บางบัวทอง
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มบางกอกแลนด์ เจ้าของโครงการเมืองทองธานี พัฒนาแหล่งช้อปปิ้งเป็นของตัวเอง เช่น "บีไฮฟ์" ไลฟ์สไตล์มอลล์ ตรงข้ามมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กับ "คอสโม บาร์ซา" ศูนย์การค้าสูง 10 ชั้น บนพื้นที่กว่า 1 แสนตารางเมตร ลงมาทิศใต้ของเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ยังมี "เกตเวย์ แอท บางซื่อ" ของกลุ่มทีซีซี แอสเสท
แม้ทำเลเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน จะเป็นที่คุ้นเคยของคนในพื้นที่กรุงเทพเหนือ แม้ต่อให้ทำเลจะเต็มไปด้วยโรงเรียนกวดวิชา แต่ความเก่าแก่ของศูนย์การค้าที่มีอายุถึง 28 ปีแห่งนี้ จะใช้กลยุทธ์ดึงดูดวัยรุ่นเหมือนเมื่อครั้งทำโซนซิตี้วอล์คเมื่อ 10 ปีก่อนก็คงลำบาก เปรียบเหมือนสาวสูงวัยจะให้ใส่เสื้อสายเดี่ยวแบบวัยรุ่นก็คงขัดหูขัดตา
กลยุทธ์หนึ่งที่เดอะมอลล์ งามวงศ์วานนำมาใช้ คือ การเจาะกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้สูงวัย (Elder) ที่อาศัยและเติบโตอยู่ในพื้นที่กรุงเทพเหนือ และนนทบุรีมานานกว่า 30 ปี
วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เคยกล่าวกับ MGR Online เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า การปรับปรุงเดอะมอลล์ งามวงศ์วานครั้งนี้ ออกมาในรูปโฉมใหม่หมด จะเป็นสาขาแรกของเดอะมอลล์ ที่มีการออกแบบและจัดการบริการต่างๆ เพื่อรองรับกับสังคมผู้สูงอายุของไทยด้วย
โดยจะมีที่จอดรถกว้างขึ้น มีลิฟท์ที่จอดรถโดยเฉพาะ มีบริการวีลแชร์ มีสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับคนสูงวัย นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับโซนร้านอาหาร ซึ่งจะมีสัดส่วนมากกว่า 30% ของพื้นที่ศูนย์การค้าทั้งหมด จากปกติในแต่ละสาขาจะมีสัดส่วนร้านอาหารประมาณ 20-25%
คาดว่าหลังแล้วเสร็จและเปิดให้บริการปลายปีนี้ จะมีรายได้เติบโต 10% และจะเป็นสาขาที่ทำรายได้สูงที่สุดเป็นอันดับที่สองและใกล้เคียงกับสาขาบางกะปิได้ในอนาคต เนื่องจากในบริเวณนี้มีจำนวนประชากรมากขึ้นเพราะการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์
เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2534 บนถนนงามวงศ์วาน บริเวณสี่แยกพงษ์เพชร รอยต่อระหว่างกรุงเทพมหานคร กับจังหวัดนนทบุรี โดยมีคลองประปากั้นอยู่ ประกอบด้วยศูนย์การค้าสูง 7 ชั้น บนพื้นที่ 2.5 แสนตารางเมตร พร้อมสวนน้ำ สวนสนุก โรงภาพยนตร์ และอาคารสำนักงาน รวมความสูง 11 ชั้น
เปิดให้บริการมา 4 ปี ก็เกิดเพลิงไหม้จนวอดวาย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2538 ต้องปรับปรุงห้างฯ ครั้งใหญ่ยาวนานเกือบ 1 ปี ด้วยงบลงทุนราว 300 ล้านบาท ก่อนจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2539
ที่ผ่านมามีการปรับปรุงห้างฯ ตามยุคสมัยและการแข่งขัน รวมทั้งยังจับมือพันธมิตร เช่น เครือโรงภาพยนตร์เอสเอฟ เปิดโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2544 พร้อมกับเดอะมอลล์ บางแค และเดอะมอลล์ บางกะปิ แทนผู้ประกอบการรายเดิมที่หมดสัญญา และยังคงให้บริการมานานจนถึงปัจจุบัน
ท่ามกลางโครงการอสังหาริมทรัพย์โซนนนทบุรีที่เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม หลังเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง รวมทั้งพื้นที่แจ้งวัฒนะที่เติบโตเพิ่มขึ้นจากศูนย์ราชการ แม้สมรภูมิค้าปลีกจะมีผู้ประกอบการน้อยใหญ่ช่วงชิงลูกค้า แต่เดอะมอลล์ก็มีกลุ่มลูกค้าครอบครัวย่านที่พักอาศัย ที่ผูกพันเหนียวแน่นมานานกว่า 20 ปี
เมื่อผนวกกับ "สังคมผู้สูงอายุ" ที่กำลังจะมาถึง การเจาะกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้สูงวัย จึงเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งในการเข้าถึงพฤติกรรมของลูกค้า และรู้ใจลูกค้า สมกับความเป็นห้างเก่าแก่ที่อยู่คู่กับถนนงามวงศ์วานมาถึง 28 ปี
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)