ดีแทค (DTAC) โชว์พลังแม่เหล็กดูดลูกค้าไหลออกน้อยกว่าเดิม พบมีจำนวนลูกค้าลดลงเหลือประมาณ 94,000 เลขหมายในไตรมาสนี้ ต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1/2559 เบ็ดเสร็จจบไตรมาส 2/2562 จำนวนผู้ใช้บริการ DTAC รวมเท่ากับ 20.6 ล้านเลขหมาย
นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ในไตรมาสที่สองของปี 2562 ผลประกอบการของเราสอดคล้องกับแผนพลิกฟื้นที่ได้เคยประกาศออกไป ที่ผ่านมา ดีแทคมุ่งสร้างความไว้วางใจและเชื่อมั่นของลูกค้าต่อเครือข่าย ซึ่งเริ่มส่งผลในเชิงบวกแล้ว ทั้งในด้านความพึงพอใจและปริมาณการร้องเรียนด้านเครือข่ายในไตรมาส 2/2562
"ปริมาณการร้องเรียนลดลง ในขณะที่บริการระบบรายเดือนยังคงเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง บริการในระบบเติมเงินก็เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เราจะยังคงมุ่งเน้นในการมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอให้แก่ผู้ใช้งานทั่วประเทศ และเราจะไม่หยุดพัฒนา”
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ประกาศผลประกอบการในไตรมาส 2/2562 ว่านอกจากปริมาณการร้องเรียนที่ลดลง ยังมีการได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2562 จะเป็นโอกาสในอนาคตอันใกล้สำหรับดีแทคในการเพิ่มความครอบคลุมของเครือข่ายดีแทคทั่วประเทศ ส่งผลให้ประสบการณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายในพื้นที่ห่างไกลดีขึ้น พร้อมกับขยายความจุเครือข่ายสำหรับพื้นที่ใช้งานในเมือง" แถลงการณ์จากดีแทคระบุ
ตั้งเสาเพิ่ม ลูกค้าไหลออกน้อยลง
ณ สิ้นไตรมาส 2/2562 จำนวนผู้ใช้บริการรวมเท่ากับ 20.6 ล้านเลขหมาย โดยมีจำนวนลูกค้าลดลงเพียงประมาณ 94,000 เลขหมายในไตรมาสนี้ ต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1/2559 หรือในรอบ 3 ปี
สถิติล่าสุดพบว่าดีแทคติดตั้งสถานีฐานบนเครือข่าย 2300 MHz เพิ่มเติมอีกจำนวนประมาณ 600 สถานี เพิ่มจำนวนสถานีรวมบนเครือข่าย 2300 MHz เป็นประมาณ 16,000 สถานี นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งสถานีฐานบนเครือข่าย 2100 MHz เพิ่มอีกจำนวน 348 สถานี เพื่อขยายความครอบคลุมของสัญญาณในพื้นที่การใช้งานปัจจุบัน
ดีแทคระบุว่ารายได้จากการให้บริการสำหรับไตรมาส 2/2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจากการยกเลิกแพ็กเกจระบบเติมเงินที่ให้บริการข้อมูลแบบไม่จำกัด และการออกแพ็กเกจที่ให้บริการข้อมูลแบบจำกัดและมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย รวมถึงกระแสรายได้ที่แข็งแกร่ง และการเติบโตอย่างต่อเนื่องของบริการรายเดือน
สำหรับกำไรก่อนหักดอกเบื้ย ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 6,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 จากไตรมาสก่อน โดยมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการ ต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ลดลง และการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ดี ขณะที่ตัวเลข EBITDA margin ซึ่งคำนวณโดยหักรายได้จาก CAT ภายใต้สัญญาเช่าสินทรัพย์สัมปทาน และรายได้ค่าเช่าเครือข่ายจาก TOT จากตัวหาร อยู่ที่ร้อยละ 36.9 เพิ่มขึ้น 2.2 จุด จากไตรมาสก่อน
กำไรเพิ่ม ค่าใช้จ่ายลด
ด้านค่าใช้จ่ายด้านเงินทุนหรือ CAPEX ลดลงจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 2,300 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.3 ของรายได้จากการให้บริการ
กำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 2/2562 อยู่ที่ 1,700 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 จากไตรมาสก่อน เนื่องมาจาก EBITDA ที่ดีขึ้น กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (EBITDA – CAPEX) สำหรับไตรมาส 2/2562 เป็นบวกอยู่ที่ 4,200 ล้านบาท โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นเป็น 1.8 เท่า เนื่องมาจากการชำระค่าตอบแทนเพื่อการระงับข้อพิพาทให้แก่ CAT และการลงทุนในเครือข่ายเป็นหลัก
ดีแทคย้ำด้วยว่าจะมุ่งเน้นผลักดันปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ดีแทคกลับมาเติบโตอีกครั้ง อันได้แก่ 1) การปรับปรุงโครงข่ายเพื่อประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นของลูกค้า 2) การเอาลูกค้า B2C กลับคืนมา และ 3) ขยายโอกาสในกลุ่มลูกค้า B2B โดยดีแทคคาดว่ารายได้จากการให้บริการไม่รวม IC จะลดลงในอัตราร้อยละที่เป็นเลขหลักเดียวในระดับต่ำ โดยจะมี EBITDA อยู่ในช่วง 24,000 – 25,000 ล้านบาท นอกจากนี้ดีแทควางแผนที่จะใช้เงินลงทุนในปี 2562 จำนวนประมาณ 13,000 – 15,000 ล้านบาท.