xs
xsm
sm
md
lg

14 ข้อต้องรู้! ทำอย่างไรให้บริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ (SET)

เผยแพร่:


บริษัทที่ประสงค์จะระดมทุนจากประชาชนและต้องการให้มีตลาดรองเพื่อซื้อขายหุ้นของบริษัท สามารถขออนุญาตนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ หากบริษัทมีคุณสมบัติตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด ซึ่งโดยทั่วไปได้แก่

1. มีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด

2.มีทุนชำระแล้วเฉพาะหุ้นสามัญ (หลังเสนอขายหุ้นแก่ประชาชน) ไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท

3.มีฐานะการเงินและสภาพคล่องที่ดี คือ มีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท และก่อน IPO ต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้นมากกว่าศูนย์ และแสดงได้ว่ามีฐานะการเงินมั่นคงและมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ

4.มีผลการดำเนินงานตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งบริษัทที่ยื่นคำขอส่วนใหญ่มักจะเลือกใช้เกณฑ์กำไรสุทธิ กล่าวคือมีกำไรสุทธิในระยะเวลา 2 ปี หรือ 3 ปี ล่าสุดก่อนยื่นคำขอรวมกันไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท โดยในปีล่าสุดก่อนยื่นคำขอมีกำไรสุทธิไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิในงวดสะสมก่อนยื่นคำขอ

ทั้งนี้ บริษัทจะต้องมีผลการดำเนินงานไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยอยู่ภายใต้การจัดการของกรรมการและผู้บริหารส่วนใหญ่กลุ่มเดียวกันมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปี ก่อนยื่นคำขอ

5. มีการกระจายการถือหุ้นรายย่อย (หลังเสนอขายหุ้นแก่ประชาชน) ตามเกณฑ์ที่กำหนด

6. ต้องได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นต่อประชาชนจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.

7. มีกรรมการ ผู้บริหาร และผู้มีอำนาจควบคุมที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด

8. มีระบบการกำกับดูแลกิจการและการควบคุมภายในที่ดี โดยมีกรรมการอิสระและคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) ซึ่งมีองค์ประกอบ คุณสมบัติ และขอบเขตการดำเนินงานตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด

9. ไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

10. มีงบการเงินที่มีลักษณะและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และผู้สอบบัญชีของผู้ยื่นคำขอต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.

11. มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

12. แต่งตั้งให้บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์
(ประเทศไทย) จำกัด (TSD) นายทะเบียนหลักทรัพย์

13. ผู้เข้าข่าย Strategic Shareholders จะถูกห้ามนำหุ้นของตนซึ่งมีจำนวนรวมกัน 55% ของทุนชำระแล้วหลัง IPO ออกขายภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่หุ้นเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าข่ายสามารถทยอยขายหุ้นได้ในอัตราส่วนไม่เกิน 25% ของหุ้นที่ถูกห้ามขาย เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือน

14. หุ้นสามัญของบริษัทผู้ยื่นคำขอจะต้องมีราคา Par ไม่น้อยกว่าหุ้นละ 0.50 บาท และชำระเต็มมูลค่าแล้วทั้งหมด และต้องเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อผู้ถือ และไม่มีข้อจำกัดในการโอนหุ้น (ยกเว้นข้อจำกัดที่เป็นไปตามกฎหมายและต้องระบุไว้ในข้อบังคับบริษัท)

 ในการดำเนินการยื่นคำขอเพื่อนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ข้างต้น บริษัทผู้ยื่นคำขอจะต้องมีการปรับโครงสร้างธุรกิจและการถือหุ้นให้เหมาะสม และต้องมีการแปรสภาพบริษัทเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ดังนั้น นอกจากที่ปรึกษาการเงินแล้ว บริษัทจำเป็นต้องมีที่ปรึกษากฎหมายเพื่อให้คำปรึกษาและช่วยดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ตลอดจนในการออกความเห็นทางกฎหมายในเรื่องต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณารับหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น ในเรื่องคุณสมบัติของหุ้นสามัญดังกล่างข้างต้น

ข้อดีของการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์คือการที่บริษัทสามารถระดมทุนจากประชาชน และการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น และในขณะเดียวกัน หุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โดยบุคคลธรรมดา จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากกำไรที่เกิดจากการซื้อขาย (capital gain)

..

บทความโดย อนุรักษ์ นิยมเวช
กรรมการผู้จัดการ
ANURAK BUSINESS LAW
anurak@anurakbusinesslaw.com

สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่..
http://www.anurakbusinesslaw.com/www.anurakbusinesslaw.com/Article_files/Articles/2015/40_HOW.html
กำลังโหลดความคิดเห็น