จากกรณีที่ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมานี้ และยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าต่อเนื่องไปอีกนานด้วย ย่อมส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทยอย่างยิ่ง
ถึงขั้นที่ เสี่ยใหญ่แห่งสหกรุ๊ป อย่าง นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของไทย ยังกล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นตอนนี้มันดูเหมือนจะผิดปกติ เพราะว่าค่าบาทแข็งค่าขึ้นมากและเร็วมากเมื่อเทียบกับในอดีต
ไม่เพียงแต่ค่าบาทแข็ง แต่ยังรวมถึงปัจจัยลบอื่นๆ อีกมาก เช่น สงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน หรือราคาน้ำมันที่อยู่ในช่วงขาขึ้น และภาวะเศรษฐกิจรวมของโลก
แน่นอนว่า ค่าบาทแข็งย่อมส่งผลดีต่อผู้บริโภคคนไทยที่มีกำลังซื้อมากขึ้น การซื้อสินค้าแบรนด์เนมทั้งในไทยและในต่างประเทศถูกลง หรือแม้แต่การเดินทางออกท่องเที่ยวต่างประเทศหรือเอาต์บาวนด์ก็ถูกลง ขณะที่บางกลุ่มย่อมได้รับผลทางลบ อย่างพวกภาคการส่งออก เป็นต้น
ที่สำคัญคือ ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยคือเซกเมนต์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากค่าเงินบาทที่แข็งตัว ไม่ว่าจะเป็นสถานที่พัก โรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก และหน่วยงานที่กระทบมากที่สุดคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
เป้าหมายรายได้ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ที่เคยประกาศไว้ว่าในปี 2562 นี้จะต้องทำรายได้ให้ถึง 3.4 ล้านล้านบาท หรือเติบโตมากถึง 10% จากปีที่แล้ว จึงเป็นคำถามว่า จะเป็นไปได้หรือไม่
ล่าสุด นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ออกมายอมรับแล้วว่า จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ ททท.คาดว่าไม่สามารถจะดำเนินได้ตามเป้าหมายเดิม จึงจำเป็นต้องมีการปรับลดเป้าหมายรายได้รวมในปี 2562 ใหม่ โดยลดลงเหลือ 3.8 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 9.5% หรือลดลงไปประมาณ 20,000 ล้านบาท
“ปีนี้เราเจอปัญหามากมาย ทั้งปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างอเมริกากับจีนที่รุนแรงก่อนหน้านี้ หรือแม้แต่เรื่องการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือแม้แต่เรื่องราคาน้ำมันในบ้านเราก็มีการปรับราคาขึ้นบ่อยครั้ง ค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ทำให้เราต้อปรับลดเป้าหมายลง” นายยุทธศักดิ์กล่าว
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รายงานโดยระบุว่า วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ค่าเงินบาทของไทยได้แข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 ปีเลยทีเดียว โดยทำสถิติอยู่ที่ 30.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ประกอบกับรายงานของ สศช. ที่ระบุว่าในไตรมาสแรกปี 2562 นี้เศรษฐกิจของไทยประสบปัญหาการชะลอตัวอย่างชัดเจน เพราะมีการขยายตัวของจีดีพีเพียง 2.8% เท่านั้นเอง ลดลงอย่างมากจากเดิมขยายตัว 4.1% ในปี 2561
หรือแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีการรายงานฉบับเดือนมีนาคม 2562 ที่ชี้ว่า การส่งออกโดยรวมของไทยขยายตัวลดลงเป็นไปตามการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อคนที่ลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงจำนวนวันพักของนักท่องเที่ยวยุโรปที่ลดลง
ทั้งนี้ จากเป้าหมายใหม่ของ ททท.ได้แสดงรายละเอียดให้เห็นชัดว่าจะเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นมาจากท่องเที่ยวภายในประเทศ 1.17 ล้านล้านบาท ส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศมากถึง 2.21 ล้านล้านบาท
ส่วนปริมาณนักท่องเที่ยว ปี 2563 ทั้งปีคาดว่าจะมีรวมเป็น 40.32 ล้านคน เติบโตจากปี 2561 ที่มี 38.3 ล้านคน และคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ 170 ล้านคน-ครั้ง เติบโตจากปี 2562 ที่มีประมาณ 162 ล้านคน-ครั้ง
นอกจากเป้าปี 2562 แล้ว ททท.ยังต้องประคองตัวไปถึงปี 2563 ที่ต้องมีการวางเป้าหมายใหม่ไว้ด้วยว่าจะมีรายได้รวมประมาณ 3.72 ล้านล้านบาท เติบโต 10% จากปี 2562 ซึ่งเป็นปริมาณการเพิ่มที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายเดิมของปี 2562
โดยที่ปี 2563 รายได้มาจากตลาดต่างประเทศประมาณ 2.43 ล้านล้านบาท เติบโต 10% โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยประมาณ 42 ล้านคน ขณะที่รายได้จากตลาดในประเทศมีประมาณ 1.29 ล้านล้านบาท เติบโต 10% หรือมีนักท่องเที่ยวไทยประมาณ 185 ล้านคน-ครั้ง
ทั้งนี้ เป้าหมายระยะในปี 2564 จะต้องสร้างรายได้เข้าประเทศให้มากถึง 4 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นไปตามแผนวิสาหกิจของ ททท. และยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการให้มีรายได้มาจากการท่องเที่ยวสูงสุดเพื่อติด 1 ใน 5 อันดับของโลก
ตามที่ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.ที่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทว่าด้วยเรื่องการท่องเที่ยว ที่วางเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยว มีสัดส่วนประมาณ 22% ต่อจีดีพีของประเทศไทย ในปี 2561-2565 และต้องมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 30% ต่อจีดีพีประเทศในปี 2580
จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของ ททท.ที่จะต้องสานเป้าหมายนี้ให้ได้ท่ามกลางปัจจัยลบที่มีต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม สิ่งเร่งด่วนที่ ททท.จะต้องรีบทำในช่วงครึ่งปีหลังนี้ต่อไป คือ การกระตุ้นให้ตลาดท่องเที่ยวต้องกลับมาคึกคัก และต้องพยายามดึงดูดคนต่างชาติให้เข้ามาไทยให้ได้มากที่สุด เพราะไม่เช่นนั้น สิ่งที่ นายยุทธศักดิ์กลัวไว้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ว่า ถ้าไม่มีการกระตุ้นตลาดเต็มที่ รายได้รวมการท่องเที่ยวของไทยปีนี้อาจจะโตแค่ 7% เองก็เป็นไปได้
ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีนเป็นตลาดหนึ่งที่เติบโตดี แต่ก็เป็นตลาดหนึ่งที่หายไปมากเช่นกัน นับตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม ปี 2561 ที่มีเหตุการณ์นักท่องเที่ยวจีนประสบเหตุเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยเมื่อสิ้นปี 2561 มีตัวเลขประมาณ 10.5 ล้านคน
“เราต้องหามาตรการมากระตุ้นตลาดระยะใกล้ให้ได้อย่างเต็มที่เพื่อผลักดันให้การท่องเที่ยวครึ่งปีหลังนี้โตได้ 9.5%” นายยุทธศักดิ์กล่าว
กลยุทธ์หลักที่ ททท.ต้องทำก็คือ ตามที่เคยประกาศไว้ในการส่งเสริมการตลาดต่างประเทศ จะเดินตาม 3 กลยุทธ์หลัก คือ
1. การปรับภาพลักษณ์แบรนด์ท่องเที่ยวไทยสู่การเป็น Prefered Destination
2. การกระตุ้นการใช้จ่ายและการขยายฐานตลาดสู่กลุ่มระดับกลาง-บน
3. การขยายฐานตลาดกลุ่มความสนใจพิเศษ
โดยการทำตลาดต่างประเทศของแต่ละภูมิภาคต้องมีการจัดทำแผนการทำตลาดที่แตกต่างกัน คือ
1. ตลาดเอเชียตะวันออก ต้องเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวระดับบน
2. ตลาดอาเซียน ต้องส่งเสริมให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยววันหยุดและการท่องเที่ยวแบบครอบครัว
3. ตลาดเอเซียใต้ ในกลุ่มนี้ต้องขยายฐานนักท่องเที่ยวตลาดเฉพาะเจาะจง เช่นตลาดแต่งงาน หรือตลาดฮันนีมูน เป็นต้น
4. ตลาดยุโรป ต้องเจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มาครั้งแรกและกลุ่มใหม่ๆ
5. ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดนี้ต้องกระตุ้นให้เกิดการเดินทางช่วงกรีนซีซัน
6. ตลาดเดอะอเมริกา ตลาดนี้มุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้หญิงวัยทำงานเป็นหลัก
ส่วนตลาดในประเทศ แนวทางการส่งเสริมการตลาดนั้นจะเน้นการส่งเสริมภายใต้ 4 กลยุทธ์หลัก คือ
1. การกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกระแสหลัก
2. การกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ
3. การกระจายพื้นที่และช่วงเวลาในการเดินทาง
4. การสร้างความเข้มแข็งให้สังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ททท.ได้มีการประชุมแบบบูรณาการแผนปฏิบัติการของ ททท.ในปี 2563 เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการมอบหมายให้สำนักงาน ททท.ทั่วโลกและประเทศจัดทำแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ที่เหลือนี้ เพราะแต่ละที่ก็มีความแตกต่างกันไป เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละประเทศได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
ส่วนแผนปฏิบัติการ ททท. ปี 2563 ให้ความสำคัญต่อการสร้างรายได้พร้อมกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการกลับมาเที่ยวซ้ำ
นายยุทธศักดิ์ให้ความเห็นว่า ไม่ใช่ปี 2562 เท่านั้นที่สถานการณ์ไม่ค่อยดี แต่ปี 2563 ก็คงเป็นอีกปีที่ต้องเผชิญหน้ากับปัจจัยลบและความไม่แน่นอนหลายอย่าง ขณะที่ภาคต่างๆ ก็พึ่งหวังว่าการท่องเที่ยวจะดีขึ้น เนื่องจากมีรายงานของโกลบอล อีโคโนมิก เพอร์สเปกทีฟ ฉบับเดือนมิถุนายน 62 ของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ที่ได้มีการระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมที่แท้จริงหรือเรียลจีดีพีของโลกจะตกอยู่ในภาวะติดลบในปี 62-63
นอกจากนักท่องเที่ยวลดลงแล้ว ปริมาณการใช้จ่ายเพิ่มเล็กน้อยและช่วงเวลาการพำนักก็ลดลงด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายของคนต่างชาติและคนไทยที่ท่องเที่ยวเติบโตเพียงปีละ 3% ต่อทริปเท่านั้นเอง และกลุ่มหลักที่มาเที่ยวไทยคือกลุ่มแมส กลางลงล่าง เราต้องปรับกลุ่มเป้าหมายไปหานักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ หรือที่มีการใช้จ่ายสูงมากขึ้นเพราะจะช่วยขยายฐานได้ด้วย
กลุ่มไฮเอนด์ที่เป็นเป้าหมายหลัก เป็นกลุ่มที่มีรายได้ปีละมากกว่า 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขณะนี้มีสัดส่วนกลุ่มนี้แค่ 13% เท่านั้นเอง แต่ที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ย 2% ในช่วงปี 2554-2558 และภายในปี 2564 จะเพิ่มสัดส่วนรายได้เป็น 20%
ภารกิจที่ท้าทายของ ททท.จึงน่าจับตามอง ท่ามกลางปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งตัวต่อเนื่อง พร้อมกับหลากปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า กับการกระตุ้นตลาดให้เป็นไปตามเป้าหมายที่มีการปรับใหม่แล้ว