xs
xsm
sm
md
lg

บุกไต้หวันพิสูจน์ โรงงานแบตเตอรี่แห่งอนาคต New S-Curve ของ “สมโภชน์ EA” ฝันไกลที่ต้องไปให้ถึง

เผยแพร่:


“รู้ไหมว่าประเทศไทยไฟกำลังไหม้ และเรากำลังกินบุญเก่ากันอยู่...”

สมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และผู้ถือหุ้นร้อยละ 44 ในบริษัท ที่มีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาท กล่าวกับคณะผู้สื่อข่าวไทยระหว่างเยือน โรงงานผลิตแบตเตอรี่ของ Amita Technologies Inc. ในเขตกุยซาน เมืองเถาหยวน ไม่ไกลจากสนามบินนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวันเท่าไรนัก

Amita Technologies Inc. หรือในภาษาจีนคือ โหย่วเลี่ยงเคอจี้ (有量科技) เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน (TWSE) ก่อตั้งในปี 2543 โดย ดร.เฉิง จิ้งอี้ (程敬義) นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่ลิเทียม ปัจจุบันถือเป็นเบอร์ต้น ๆ ในวงการผลิตแบตเตอรี่ประเภทลิเทียมไอออนโพลิเมอร์ของไต้หวัน

สมโภชน์ไปพบเพชรเม็ดงามนี้เข้า ก่อนจะเจรจาเข้าลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทตั้งแต่ปลายปี 2559 จนปัจจุบันพลังงานบริสุทธิ์ถือหุ้นใหญ่ใน Amita Tech แล้วกว่าร้อยละ 77 โดยสมโภชน์นั่งเป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารของบริษัทด้วย

“เดิมทีบริษัทนี้ขาดทุนเสียด้วยซ้ำ เพราะเจ้าของเขาไม่ได้เป็นพ่อค้า แต่เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการทำสินค้าใหม่ ๆ ที่ท้าทายแบบไม่ได้สนใจเรื่องกำไรเป็นหลัก พอผมได้พูดคุย เข้ามาศึกษาหาข้อมูล เข้ามาดูโรงงานก็พบว่า เออ! มันดีกว่าที่คิด”

“การเข้ามาซื้อหุ้นแบบเป็นมิตรของอีเอ เราถือว่ามาเติมเต็มให้เขา เพราะเราอยู่ใกล้ตลาดมากกว่าเขา และเรามีความเชี่ยวชาญทางด้านการตลาดมากกว่าเขาไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า MINE Mobility ทำเรือไฟฟ้า E-Ferry ทำสถานีอัดประจุไฟฟ้า (สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า) EA Anywhere หรือทำแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งหมายความว่าเราหาช่องทางในการใช้แบตเตอรี่ที่เราผลิตได้ แทนที่เราจะขายแบตเตอรี่แต่เพียงอย่างเดียว ผมว่าถ้าเราสามารถทำสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็น End Product ได้ ก็จะทำให้สินค้าเรามีมูลค่าเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ขณะที่เวลาเราทำรถหรือทำอะไรมาสามารถวิ่งใช้งานได้จริง ก็จะเป็นการพิสูจน์ให้ลูกค้าเห็นเลยว่า สินค้าของเราใช้งานได้ดี และมีคุณภาพจริง” สมโภชน์อธิบายถึงจุดประสงค์ในการเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในบริษัทผลิตแบตเตอรี่ของไต้หวัน ที่เขาถือว่าเป็น Missing Link ของกระบวนการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบ เพราะการผลิตพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบันขาดความต่อเนื่อง และมีความผันผวนตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม จึงมีความจำเป็นต้องหาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ที่มีความเหมาะสม

แม้นิตยสารฟอร์บส์ปีล่าสุดจะระบุว่าปัจจุบันสมโภชน์มีทรัพย์สินมากกว่า 9 หมื่นล้านบาท แต่การแต่งกายของเขาก็ยังคงเรียบง่ายในชุดเสื้อโปโลสีเนื้อ กางเกงผ้าสีดำ รองเท้าผ้าใบ และสวมทับด้วยเสื้อแจ็คเกตสีดำปักตัวหนังสือสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) ที่ตัวเขาเองเป็นศิษย์เก่า วพน.9

มหาเศรษฐีอันดับ 10 ของไทย พาสื่อมวลชนไทยเดินชมโรงงานแบตเตอรี่แบบริงไซด์ ให้เห็นทุกขั้นตอนการผลิต พร้อมอธิบายอย่างละเอียดทุกขั้นตอน ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่าโรงงานอย่างนี้ในไต้หวันมี 5-6 แห่ง แต่ไม่มีโรงงานใดที่ผลิตแบตเตอรี่ได้หลากหลายชนิด และถูกนำไปใช้ตั้งแต่ยานพาหนะขนาดเล็กตั้งแต่มอเตอร์ไซค์ รถบัส ไปจนถึงเรือดำน้ำ

แบตเตอรี่ กับ New S-Curve ของ EA

หากมองอนาคตในอีกสิบปีข้างหน้าธุรกิจของ EA นั้นเกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ของรัฐบาล อย่างน้อยในสองอุตสาหกรรมด้วยกันคือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) อย่างไรก็ตามสมโภชน์ได้ขยายความสถานการณ์ “ไฟกำลังไหม้บ้าน และการกินบุญเก่าของประเทศไทย” ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“เราชินที่จะดึงคนนอก ต่างชาติ เข้ามาลงทุนในเมืองไทย พอเขาเอาเงินเข้ามาเศรษฐกิจเราก็โต วิธีการนี้สมัยก่อนทำได้ เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ตอนที่เราเป็นนิกส์ (NICS) เพราะประชากรที่เป็นแรงงานเราเยอะ ค่าแรงเราถูก เรามีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ตลาดในประเทศก็โต ต่างชาติจึงอยากมาลงทุนในบ้านเราก็เพราะลงทุนในไทยได้หลายเด้ง ได้ทั้งสิทธิพิเศษ ขายในไทยก็ได้ ต้นทุนถูก ส่งออกก็ง่าย แต่เราลืมไปว่าเราไม่สามารถสร้างแบรนด์สร้างสินค้าของเราได้เองเลย ไม่เหมือนจีน ที่พอมีต่างชาติมาลงทุนสักพัก เขาก็สามารถผลิตของเขาได้เอง แต่คนไทยกลับถามตัวเองว่าเราจะทำได้เหรอ เรากำลังติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)”

นี่เองจึงเป็นที่มาของการทยอยควักเงินกว่า 3,000 ล้านบาท เข้าไปลงทุนใน Amita ภายใต้การสนับสนุนด้านงานวิจัยและพัฒนาจาก สถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือ ITRI (Industrial Technology Research Institure) สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชั้นนำของไต้หวันที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับนานาชาติ

ดร.อเล็กซ์ เผิง รองประธานบริหารของ ITRI หน่วยงานของรัฐบาลไต้หวันซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2516 และเปรียบได้กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ของไทย บอกว่า ในโลกยุคปัจจุบัน ITRI ก้าวหน้าและพัฒนางานวิจัยภายใต้แนวคิด Problem-centric โดยหาวิธีแก้ปัญหาของไต้หวันเอง และเพิ่มมูลค่าให้กับงานวิจัย สินค้า และประเทศ ซึ่งไต้หวันกับไทยก็มีความคล้ายคลึงกัน ดังนั้นทั้งสองประเทศจึงต้องเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้ตัวเองเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศใหญ่ ๆ ได้

“แต่ไหนแต่ไร เมืองไทยซื้อโนว์ฮาว แต่ไม่ได้สร้างโนว์ฮาว จุดนี้เองผมเชื่อว่าการจับมือระหว่าง EA Amita และ ITRI จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในบ้านเราได้” สมโภชน์กล่าวเสริม

ยุคสมัยของ EV กับโอกาสของ EA

ในวงการรถยนต์ของไทย ปลายปี 2561 นิสสันถือเป็นค่ายรถยนต์ใหญ่เจ้าแรกที่เริ่มทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วยการวางจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนิสสัน ลีฟ ด้วยสนนราคาระดับพรีเมียมเกือบ 2 ล้านบาท ก่อนที่ในเดือนมิถุนายน 2562 ค่ายเอ็มจีก็สร้างความสั่นสะเทือนให้ตลาดด้วยการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า MG ZS EV 2019 ในราคาไม่ถึง 1.2 ล้านบาท



สถานการณ์เช่นนี้ทั้งสมโภชน์ และอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและซีเอฟโอของอีเอ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในปี 2563 ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะร้อนระอุ ด้วยการแข่งขันของค่ายรถต่าง ๆ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจของบริษัท

“ปี ๆ นึง เมืองไทยผลิตรถยนต์อยู่ประมาณ 2 ล้านคัน เมื่อลองคำนวณดูว่าถ้ารถทุกคันใช้แบตเตอรี่ขนาด 40KWh นั่นหมายความว่าทั้งเมืองไทยรถยนต์จะต้องใช้แบตเตอรี่รวม 80GWh แล้ว สมมติว่ารถยนต์เหล่านี้ถูกเปลี่ยนแปลงมาเป็นอีวี และทางพลังงานบริสุทธิ์สามารถสร้างโรงงานได้ก่อน มีความประหยัดด้านขนาดและพิสูจน์แล้วว่าทำได้ ต้นทุนก็แข่งขันได้ โรงงานก็ตั้งอยู่ในประเทศไทย ก็ไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้า เพราะอาจจะติดเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งถ้าเป็นไปเช่นนี้ ผมว่าพลังงานบริสุทธิ์ก็น่าจะอยู่ในตำแหน่งที่ดี” ซีอีโอพลังงานบริสุทธ์กล่าว

อย่างไรก็ตามเมื่อถามว่าธุรกิจหลักในอนาคตที่พลังงานบริสุทธิ์มองไว้คือ ธุรกิจแบตเตอรี่ใช่หรือไม่ สมโภชน์กลับให้คำตอบว่า บริษัทของเขาไม่ได้เพียงต้องการทำแบตเตอรี่ขาย แต่ต้องการเป็นมากกว่านั้น คือ เป็นโซลูชัน โพรไวเดอร์ (Solutions Provider) โดยแบตเตอรี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการช่วยแก้ปัญหา ยกตัวอย่างเช่นรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) ก็ไม่ได้ทำแค่แบตเตอรี่ แต่ยังมีส่วนควบคุม Battery Management System, Vehicle Control Unit (VCU), Motor Control Unit (MCU) อุปกรณ์พวกนี้ก็เกิดจากการพัฒนาโดยบริษัทในเครือ อีเอพยายามเข้ามาเติมเต็ม เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยสามารถยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

“ถ้าวันหนึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า หรือ EV เกิดขึ้นมา ชิ้นส่วนเหล่านี้เมืองไทยไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าเราสามารถทำได้ อุตสาหกรรมของไทยก็จะถูกยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง จริง ๆ สิ่งที่ผมกำลังทำจะกลายเป็นครั้งแรกที่เมืองไทยสามารถผลิตรถยนต์เองได้ 100% และจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย”




เริ่มต้น 1GWh สู่ฝัน 50GWh

ปี 2559 EA เข้าลงทุนใน Amita Tech โดยมีเป้าประสงค์ในการร่วมกันพัฒนาธุรกิจด้านระบบกักเก็บพลังงาน ขยายกำลังการผลิตของโรงงานในไต้หวัน และสร้างฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยขนาดกำลังการผลิต 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี (GWh) ในไทย มูลค่าการลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท ใช้เทคโนโลยี STOBA อันเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ITRI อย่างไรก็ตามในเฟสแรก EA จะลงทุนในโรงงานขนาดกำลังการผลิต 1GWh ก่อน ด้วยเงินลงทุนประมาณ 4,700 ล้านบาท โดยเล็งพื้นที่ในนิคมบลูเทค ซิตี้ ใน จ.ฉะเชิงเทราเอาไว้ และวางแผนเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2563

“ในส่วนของบุคลากรในโรงงานแห่งใหม่ในเมืองไทยนั้น ในช่วงเริ่มต้นทาง EA ก็จะนำบุคลากรจาก Amita ทางไต้หวัน เข้าไปช่วยเซตอัพต่าง ๆ ให้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า โรงงานขนาด 1GWh ของเราสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น จากนั้นค่อยเอาคนไทยเข้าประกบเรียนรู้งาน และขยายกำลังการผลิตต่อ”

“เราเริ่มจากที่ตัวเองมีความสามารถก่อนคือ 1GWh เพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นก่อนว่าเราทำได้ ต้นทุนได้ คุณภาพได้ ประสิทธิภาพได้ ถ้าเราทำพวกนี้ได้ สเตปต่อไปตอนทำ 50GWh ผมว่ามันไม่ได้ยาก เพราะก็เหมือนกันการเรียงโมดูล 1GWh จำนวน 50 ชุดให้กลายเป็น 50GWh”

กำลังโหลดความคิดเห็น