xs
xsm
sm
md
lg

เปิดการ์ดเบื้องลึกมหาศึกชิงอู่ตะเภา ดราม่าที่ต้องว่ากันยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร เวัดค่าพลัง 3 กลุ่มทุนยักษ์ “ซีพี-หมอเสริฐ-แอร์เอเชีย” สู้ประมูล “อู่ตะเภา” เกมที่เห็น ซีพียื่นซองช้าถูกเขี่ยทิ้ง? ร้องศาลรักษาสิทธิ์-ตั้งกก.อุทธรณ์อุ้ม? หมอเสริฐถูกปูดปริศนาชื่อ"นาริตะ"มาทีหลัง... โอกาสยังไม่แน่ ใครจะแพ้ใครชนะ! สัปดาห์นี้อย่ากระพริบตา

1. 3 กลุ่มเปิดศึก
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และ เมืองการบินภาคตะวันออก(Eastern Airport City)มูลค่า 2.9 แสนล้านขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน โดยมีกลุ่มทุน 3 รายร่วมแข่งขันประมูล

1.กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (เครือซีพี.) และพันธมิตร ที่ประกอบด้วย บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด บริษัท Orient Success International Limited บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM

2.กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC

3. กลุ่มแกรนด์ คอนโซเตียม(GRAND Consortium)ประกอบด้วย บริษัท แกรนด์ แอสเสท โอเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)หรือ GRANDอยู่ในกลุ่ม บริษัท พร็อพเพอร์ซี่ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน)หรือ PF สัดส่วน80% บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (บ.ย่อยของบริษัท เอเชียเอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ AAV) ถือ10% และบริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย)จำกัด (มหาชน)หรือ CNT ถือ10% โดยให้GMR Airport Limited จากอินเดีย มาบริหารสนามบิน และ China Harbour Engineering Company Limited


2.วัดค่าพลัง

เดิมพันครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เพราะเป็นโครงการใหญ่ วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติ รองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการบินของประเทศ และเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ภายในพื้นที่EEC และเป้าหมายพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน(Aviation Hub) ในระดับภูมิภาค

ในมูลค่าการลงทุน 2.9แสนล้านประกอบไปด้วย1.อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3รองรับผู้โดยสารสูงสุด60 ล้านคนต่อปี2.ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน สร้างลานจอดรถและมีสถานีรถไฟความเร็วสูงด้วย โดยผู้ชนะต้องประสานงานกับผู้ชนะรถไฟความเร็วสูง3.ศูนย์ธุรกิจการค้า 4.เขตประกอบการค้าเสรี และ 5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ส่วนการกำหนดพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) เนื้อที่พัฒนากว่า 6,500ไร่ อายุสัมปทาน 50 ปี

แต่ละกลุ่มที่รวมพันธมิตรมาเป็นกิจการร่วมค้าจึงล้วนแล้วแต่จัดอยู่ในระดับบริษัทยักษ์ใหญ่ มีศักยภาพสูง มาไล่เรียงแต่ละกลุ่ม เพื่อวัดค่าพลัง และ ความคาดหวังอะไรกับการเอาชนะการประมูลเพื่อเข้าร่วมกับรัฐพัฒนาอู่ตะเภากัน

หากวัดกันตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (RFP) ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติทั่วไป,ข้อเสนอด้านเทคนิค, ข้อเสนอด้านราคา และ ข้อเสนออื่นๆ สามารถวิเคราะห์กันได้ ดังนี้

1.กลุ่มซีพี

**เป้าหมาย และ แรงจูงใจ ค่าพลัง A++

ซึพีชนะการประมูล รถไฟ ความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม.มูลค่ากว่า 2.2แสนล้านบาท ไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าตอนที่คิดยื่นประมูลรถไฟความเร็วสูงย่อมต้องมองถึงการเข้าร่วมประมูลอู่ตะเภาไปด้วยเพื่อความสมบูรณ์แบบในเชิงการลงทุนและการต่อยอดทางธุรกิจอย่างไม่มีทางเลี่ยง จึงมีแรงจูงใจสูงมากที่ต้องการเป็นผู้ชนะ

ว่ากันว่า เหตุที่เครือซีพีจะแพ้ไม่ได้ก็เนื่องมาจาก การชนะประมูลรถไฟเชื่อม3สนามบินมาด้วยข้อเสนอราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งเพื่อให้รัฐลงทุนน้อย

ทั้งนี้ ครม.อนุมัติกรอบวงเงินใส่ส่วนที่รัฐต้องลงทุน 152,457 ล้านบาท หรือตามมูลค่าปัจจุบัน (เอ็นพีวี) 119,425 ล้านบาท แต่กลุ่มซีพี เสนอ 149,965 ล้านบาท หรือเอ็นพีวี 117,226 ล้านบาท จากมูลค่าทั้งโครงการตามมูลค่าปัจจุบัน 182,524 ล้านบาท โดยส่วนต่างที่เหลือคือส่วนที่เอกชนต้องลงทุน

เรียกว่า ซีพียอมรับอาจจะต้องควักเนื้อทำกัน ดังนั้นจึงเป็นที่มาของเงื่อนไขอีก12ข้อนอกกรอบที่ไม่ได้อยู่ในเอกสารโครงการที่จะทำให้ไปได้ต่อในเชิงความคุ้มค่าต่อการลงทุน

ที่สุดเจรจากันอยู่นานกับเงื่อนไขทั้ง12ข้อก็ถูกถอนออก เพื่อเดินหน้าได้ ซึ่งหากได้อู่ตะเภามา การพัฒนาที่เกิดขึ้น ตามแผนที่จะมี"คอมเมอร์เชียลเกตเวย์" โรงแรม ค้าปลีก รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ เช่น สัตหีบ พัทยา ที่จะได้รับอานิสงส์ด้วย ทั้งหมดจะเป็นตัวแปรให้ กิจการรถไฟฟ้าที่ประมูลมาได้
รับประโยชน์เต็มที่ คุ้มค่าการลงทุนขึ้นมาทันที

แต่ถ้าไม่ได้ หรือ แพ้ “มีแค่รถไฟฟ้า” ซีพีก็ไม่ต้องการบริหารสัมปทานรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนไปปลายทางที่ให้กลุ่มอื่นรับประทาน

อีกหนึ่งนั้น ว่ากันว่า ในการเจรจาเงื่อนไขเงินกู้กับจีนเพื่อมาลงโครงการรถไฟฟ้า มีข้อเสนอเชิงไฟลท์บังคับว่า ต้องชนะอู่ตะเภาไปด้วยจึงจะได้ต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ

เนื่องเพราะ อู่ตะเภาสำคัญมากต่อซีพีจึงเป็นเกมที่พลาดไม่ได้ แพ้ไม่ได้ แบบนี้ ค่าพลังแรงจูงใจให้เต็มที่ A++

**พันธมิตร และ ประสบการณ์ ค่าพลัง A++

พันธมิตรของซีพี ได้แก่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)หรือ CK, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)หรือ ITD,บริษัท บี.กริม.จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และFraport AGจากเยอรมนี

ด้านการก่อสร้างมี ช.การช่าง กับ อิตาเลียนไทย ตัวท็อปของประเทศเรื่องงานสารณูปโภค โครงการขนาดใหญ่ สนามบิน ประสบการณ์โชกโชน

ขณะที่บี.กริม.เป็นบริษัทข้ามชาติเก่าแก่ที่เชี่ยวชาญด้านพลังงาน งานระบบอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ อีคอมเมิร์ซ และ การขนส่ง

ยิ่งได้ Fraport AG Frankfurt Airport Services Worldwide (ฟราพอร์ท) ซึ่งดำเนินกิจการบริหารท่าอากาศยานแฟรงค์เฟิร์ตในกรุงแฟรงค์เฟิร์ต เยอรมนี เป็นท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนีและใหญ่เป็นอันดับ3 ของยุโรป และ มีความสนใจในการดำเนินงานของท่าอากาศยานอื่น ๆ อีกหลายแห่งทั่วโลก มาเสริมแกร่ง

จัดว่าเป็นทีมอะเวนเจอร์ตัวจริง ค่าพลังสูงสุดA++

**ความแข็งแกร่งด้านการเงิน ค่าพลังA++

แค่ถ้าวัดเฉพาะมูลค่าตามราคาตลาดหุ้นของกลุ่มซีพี ที่มีซีพีเอฟ ซีพีออลล์ ทรู และ แมคโคร มาร์เก็ตแคป ณ ปัจจุบันของกลุ่มอยู่ที่ 1.3ล้านล้านบาท ซึ่งหากรวมกิจการทั้งหมดของในเครือเข้ามามูลค่าตลาดจะมากมายมหาศาลแค่ไหน

บริษัทโอเรียนท์ ซัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ โอเอสไอแอล(Orient Success International Limited: OSIL) ที่ปรากฎในกิจการค้าร่วม บริษัทนี้ตั้งที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิ้นของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทซีพีโภคภัณฑ์ ว่ากันว่า มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับทุนยักษ์ในจีนแน่นปี๊ก

ขณะที่ความแข็งแกร่งของพันธมิตร อย่างช.การช่าง อิตาเลียนไทย และ บีกริม จะระดมทุนเพื่อมาวางหน้าตัก ข้อเสนอผลตอบแทนให้รัฐแบบสบายหายห่วงเป็นที่คาดเดาได้ไม่ยาก ระดับค่าพลังขึ้นสุดA++อาจจะน้อยไปสำหรับกลุ่มนี้

2.กลุ่มหมอเสริฐ

**เป้าหมายและแรงจูงใจ A++
ภายใต้กลุ่มกิจการร่วมค้าของ “หมอเสริฐ” นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ หรือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ซึ่งประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จากัด(มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จากัด(มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จากัด(มหาชน) โดยเป้าหมายและแรงจูงใจในการเสนอตัวเข้าชิงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาหากเทียบกับทั้ง 3รายต้องนับว่า การบินกรุงเทพของหมอเสริฐ มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า

การบินกรุงเทพ เจ้าของบางกอกแอร์เวยส์ อยู่ในธุรกิจการบินมานานเรียกว่าประสบการณ์ในธุรกิจ และ การพัฒนาสนามบินเอกชนรายแรกของไทย ทั้งที่สนามบินสมุย และ สุโขทัยบ่งบอกถึงเหตุผลที่ต้องการเข้ามาพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ไม่เพียงแต่จะพัฒนาให้เป็นฮับการบินของภูมิภาค ในแง่ของฐานที่มั่นของบางกอกแอร์เวยส์ แต่ การต่อยอดธุรกิจเกี่ยวเนื่องของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง และ โครงการใหญ่ขนาดนี้ อายุสัมปทานที่ยาวกว่า 50 ปี นี่เป็นศึกใหญ่ และ เดิมพันอนาคตที่ปูทางวางรากฐานให้กับลูกหลานของ หมอเสริฐ อย่างแท้จริง

ค่าพลังเป้าหมายและแรงจูงใจ ต้องสุดขีดเช่นกันA++

**พันธมิตร และ ประสบการณ์ ค่าพลัง A++
ในส่วนของพันธมิตร ได้ บีทีเอส ที่รู้จักกันดีถึงคุณสมบัติการบริหารจัดการขนส่งมวลชนรถไฟฟ่า แต่ประสบการณ์ของตระกูล “กาญจนพาสน์” ในการลงทุนโครงการใหญ่อื่นๆ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย และ ฮ่องกง เป็นที่ยอมรับในแวดวงธุรกิจว่าไม่เป็นสองรองใคร และได้ชิโน-ไทย ยักษ์ใหญ่ด้านก่อสร้างที่รับงานสัมปทานรัฐ และ การก่อสร้างขนาดใหญ่หลายต่อหลายโครงการ บวกกับตระกูล “ชาญวีรกูล” คลุกวงในการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง จากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล มาถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ ว่าที่รองนายกฯในครม.ประยุทธ ภาค2ย่อมฉายภาพความลงตัวของพันธมิตรกลุ่มนี้

ขณะที่แผนธุรกิจการบริหารจัดการที่จะเปลี่ยนอู่ตะเภาเป็นเมืองการบิน ว่ากันว่า ทางกลุ่มได้ศึกษาโมเดลเดียวกับ สนามบินของญี่ปุ่น

ชื่อของ "นาริตะ" จึงผุดขึ้นมา โดยที่จริงหรือไม่จริงยังไม่ใครรู้ได้ แต่ถ้สจริงก็ต้องถือว่าน่าสนใจมาก เพราะนาริตะ เป็นสนามบินนานาชาติ ตั้งอยู่ที่เมืองนาริตะ จังหวัดชิบะเป็นฮับทางการบินเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างทวีปเอเชียและอเมริกามีระบบการจัดการ และ การออกแบบติดอันดับของโลกรองรับการขนส่งทางอากาศเป็นอันดับ1 ของญี่ปุ่นและอันดับ 3 ของโลก

ดีกรีความสามารถในการบริหารจัดการประสบการณ์ของกลุ่มนี้ สูสูกับซีพี ค่าพลังได้จากประสบการณ์มากกว่า เหมาะสมกับระดับA++

**ความแข็งแกร่งด้านการเงิน ค่าพลังA++
กลุ่มนี้นำโดย หมอเสริฐ ได้ชื่อว่า “จัดหนัก” จัดเต็มในทุกสนามการแข่งขันการประมูล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การประมูลโครงการรัฐ ทั้งทีวีดิจิตัล และ ดิวตี้ฟรี ซึ่งหากมองว่า นี่เป็นศึกที่แพ้ไม่ได้ด้วยแรงจูงใจย่อมทำให้กลุ่มนี้ศึกษาทำการบ้านมาอย่างดีที่จะพิชิตการประมูลในทุกข้อเสนอ ซึ่งแน่นอนต้องรวมซอง “ผลตอบแทน” ที่ทุ่มหน้าตักจัดหนักอย่างไม่ต้องสงสัย

การระดมทุนเพื่อมาทำโครงการนี้ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับกลุ่มนี้ เบิ้องต้นประเมินว่าต้องใช้100,000ล้าน โดยบางกอกแอร์เวย์สเป็นแกนนำเรื่องนี้ย่อมหายห่วง ค่าพลัง A++

3.กลุ่มแกรนด์
ประกอบไปด้วย บมจ.แกรนด์ แอสเสท โอเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND)อยู่ในกลุ่ม บมจ.พร็อพเพอร์ซี่ เพอร์เฟค(PF) สัดส่วน80%, บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (บ.ย่อยของ บมจ.เอเชียเอวิเอชั่น(AAV)) ถือ10% และบมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น(ไทย) (CNT)ถือ 10% โดยมีGMR Airport Limited จากอินเดีย มาบริหารสนามบิน และ China Harbour Engineering Company Limited

**เป้าหมายและแรงจูงใจ ค่าพลัง A++
ว่ากันว่า กลุ่มแกรนด์ พร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟคเป็นแกนนำอาจจะดูเป็นรองสองกลุ่มแรกในเรื่องของขนาด แต่เป้าหมายและแรงจูงใจเชื่อว่าไม่ด้อยไปกว่ากันแน่นอน

สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง นำทีมออกนำทัพการันตีได้ในเรืองการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเชิงพาณิชย์ เป็น"รายใหญ่"ที่มีที่ดินทั่วภาคตะวันออกหรือ พื้นที่อีอีซี ที่ดินทั้งในนิคมอุตสาหกรรม และ ท่าเรือ ความพร้อมสรรพที่จะต่อยอดจากเมืองการบินถือว่าได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ

นับเป็นจุดเด่นของกลุ่มของกลุ่มนี้เลยก็ว่าได้ เป้าหมายหลักคือการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาควบคู่ไปกับพื้นที่โดยรอบ อย่างที่รู่กัน ตามโครงการพัฒนาเมืองการบิน รัฐมีแผนจะใช้เมืองการบินอู่ตะเภาในการเป็นศูนย์กลางต่อยอดให้บริเวณโดยรอบ 60 กิโลเมตร กลุ่มแกรนด์ก็พร้อมจะนำมาผนวกเข้าแผนธุรกิจพัฒนาของอู่ตะเภา6,500ไร่ได้ทันที

ขณะเดียวกัน สายการบินแอร์เอเชีย แม้จะครองส่วนแบ่งตลาด โลว์คอสต์ แต่จากสถานการณ์การแข่งขันในไทยขณะนี้ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง ทำให้สายการบินโลว์คอสต์ต้องเร่งปรับตัวด้วยวิธีต่างๆ ทั้งการเปิดเส้นทางบินใหม่ เพิ่มความถี่ในเส้นทางยอดนิยม รวมถึงการปรับปรุงบริการ เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการเป็นแบบลูกผสม ระหว่างสายการบินโลว์คอสต์กับฟูลเซอร์วิสมากยิ่งขึ้น ฐานที่มั่นซึ่งดอนเมืองคับแคบไปแล้ว หากจะมองถึงอนาคตต้องเป็นสนามบินอู่ตะเภาที่ขยายและต่อยอดได้มากกว่า

ต้องไม่ลืมว่า สายการบินไทยแอร์เอเชีย ดำเนินแผนธุรกิจเชิงรุกมาตลอดทั้งตลาดภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ CLMVโดยคาดหวังจะจุดบินให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน โดยวางนโยบายว่า สนามบินไหนมีรันเวย์ที่เครื่องบินขนาด A320และโบอิ้ง 737สามารถลงได้ ไทยแอร์เอเชียจะเปิดเส้นทางบินเข้าทั้งหมด เมืองเล็กเมืองน้อยจะไล่เก็บให้หมด เพื่อปิดรอยรั่วตลาดในประเทศและในCLMV ให้เบ็ดเสร็จ และสอดรับกับแผนการรับมอบเครื่องบินใหม่เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ศูนย์ซ่อมบำรุงที่อู่ตะเภาจะกลายเป็นฮับรองรับของแอร์เอเชียที่จะเอื้อประโยชน์อย่างยิ่ง

ดังนั้น มองในแง่ ความเป็นนักพัฒนาอสังหาฯที่มีแลนด์แบงก์รออยู่ และ การหาฐานที่มั่นที่มั่นคงของธุรกิจสอดรับกับแผนธุรกิจของการใช้อู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติ ที่กลุ่มเชื่อว่า คงต้องสู่ถึงไหนถึงกันแน่ ค่าพลัง A++

**พันธมิตรและประสบการณ์A++
นอกจากสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง พร็อพเพอร์ตี้เฟอร์เฟค ในด้านอสังหาฯ และ เอวิเอชั่น ของไทยแอร์เอเชียคริสเตียนีและนีลเส็น พันธมิตรด้านการก่อสร้างก็มีประสบการณ์มายาวนาน เสริมเข้ามา ทำให้แผนธุรกิจและข้อเสนอด้านเทคนิคของกลุ่มมั่นใจได้ว่า จะไม่แพ้ ซีพีและบางกอกแอร์เวยส์

ขณะเดียวกันGMR Airportจาก กลุ่ม GMRอินเดีย ซึ่งนับเป็นหนึ่งใน 5 ผู้พัฒนาสนามบินและผู้ประกอบการสนามบินเอกชนชั้นนำของโลก กลุ่ม GMRปัจจุบันดำเนินการสนามบินนานาชาตินิวเดลีและท่าอากาศยานนานาชาติไฮเดอราบาด

วัดค่าพลัง A++

**ความแข็งแกร่งด้านการเงิน ค่าพลังA++

โครงการพัฒนาสนามบินและเมืองการบินอู่ตะเภามีมูลค่าสูง การระดมทุนของกลุ่มแกรนด์ถูกมองว่าขนาดทุนเสียเทียบกับสองกลุ่ม แต่ด้วย ศักยภาพของสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง บวกกับ แอร์เอเชีย การระดมทุนจากสถาบันการเงินเชื่อว่าเหลือเฟือ

ยิ่งแอร์เอเชียที่มุ่งหวังวางแผนใช้อู่ตะเภาเป็นฮับของภูมิภาคที่เดียว และทางมาเลเซียก็หนุนหลังเต็มที่กับโครงการนี้ แว่วว่า มีการพยายามลอบบี้กันอย่างไม่เป็นทางการจากคนระดับสูงของทางการมาเลเซีย

ดังนั้น เรื่องทุ่มทุน หน้าตักแสดงศักยภาพด้าน "ทุน" ค่าพลังจัดอยู่ในระดับ A++

3.วิเคราะห์โอกาส ใครชนะก็ไม่ธรรมดา!

เกมที่เห็นอยู่ระหว่างช่วงกรำศึกกันมา หลังการเปิดประมูลและขับเคี่ยวกัน ปรากฎว่า เครือซีพี ต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรม ฟ้องศาลปกครองรักษาสิทธิ์ เมื่อคณะกรรมการฯมีมติไม่รับเอกสารเพราะส่งช้าไป 9 นาที ในวงการถึงกับถกเถียงกันว่า เป็นปฎิบัติการ "เขี่ยขั้นเทพ" หรือเพราะซีพีพลาดเอง?

ไหนจะเรื่องจู่ๆก็มีการตั้งคณะอนุกรรมการมารับเรื่องอุทธรณ์ในอีอีซี อุบัติการณ์นี้ทำเพื่ออุ้มเครือซีพีหรือไม่?

เท่านั้นยังไม่พอ กลุ่ม BBS ของหมอเสริฐเอง ก็ถูกตั้งข้อสังเกต ชื่อ"นาริตะ" มาได้อย่างไรหลังยื่นประมูลไปแล้วกว่าเดือน

เมื่อสงสัยเช่นนี้ ลองว่ากันตามข้อเท็จจริง ไล่เรียงตามไทม์ไลน์สิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือก ต้องบอกว่า มีความใกล้เคียงกันมาก

ทั้งคุณสมบัติทั่วไป,ข้อเสนอด้านเทคนิค, ข้อเสนอด้านราคา เชื่อว่าแทบจะขี่กันไม่มาก แข็งแกร่งพอๆกัน

จุดที่จัดตัดสินกันจึงอยู่ที่ "ความพิเศษ" บางประการหรือไม่

ว่ากันว่า แค่ซองที่ 1 ว่าด้วยคุณสมบัติทั่วไป คณะกรรมการฯประชุมพิจารณาซอง ถึง 4 ครั้ง เพราะมีข้อมูลค่อนข้างมาก อีกทั้งต้องตรวจสอบคุณสมบัติทั้งผู้นำกลุ่มและเอกชนผู้รับจ้างงาน เมื่อรวมพันธมิตรของทั้ง3 กลุ่ม พบว่า มีนิติบุคคลที่เป็นสมาชิก 11บริษัท และยังมีซับคอนแทรค 6บริษัท รวมมีเอกชนที่ต้องพิจารณาคุณสมบัติถึง 17 บริษัท

ล่าสุด ต้องบอกว่า ตัวเต็งสองกลุ่ม ระหว่าง กลุ่ม BBS ของหมอเสริฐ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ออกสตาร์ทได้สวยงามกว่าและได้เปรียบตรงที่อยู่ในเส้นทางการพิจารณาของคณะกรรมการ

ขณะที่ กลุ่มซีพี แม้ว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ มีมติไม่รับข้อเสนอ ในส่วนของซองที่2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6และ ซองที่ 3ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9เนื่องจากเป็นเอกสารที่ยื่นภายหลังกำหนดเวลาการยื่นข้อเสนอ ซึ่งกำหนดไว้ 15.00 น. โดยระบุว่า ได้ตรวจสอบหลักฐานอย่างถี่ถ้วน ผ่านการเปิดกล้องวงจรปิด เพื่อย้อนดูเวลาในการยื่นข้อเสนอแล้ว ระบุว่าช้าไป 9 นาที

ต่อมา กลุ่มซีพีจึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอรักษาสิทธิของตัวเอง แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งยกคำร้อง “ขอทุเลา” ในยกแรก แต่ขณะเดียวกัน ศาลก็รับคำฟ้องของกลุ่มซีพีทำให้ สิ่งที่ซีพีฟ้องต่อศาลปกครองรักษาสิทธิตัวเองยังอยูในกระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้ สิ่งที่ซีพียื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลวินิจฉัย ยกเลิกมติที่ประชุมคณะกรรมพิจารณาซองและขอให้ยังคงพิจารณาซองเอกสารทั้งหมดของซีพี ซึ่งประเด็นสำคัญนี้ศาลรับคำฟ้องของกลุ่มซีพี ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2562 แต่เมื่อศาลรับคำฟ้องก็จะต้องใช้เวลาในการพิจารณาไม่น้อย และหากมีผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาล ก็อาจใช้เวลามากขึ้นไปอีก ทำให้กลุ่มซีพี ต้องยื่น “คำขอทุเลา” เพิ่มเติมควบคู่ เพื่อรักษาเส้นทางการประมูล กับการที่จะได้รับการพิจารณาซองของซีพีอย่างทัดเทียมกับกลุ่มอื่น

คำถาม คือ เกมจะพลิกเป็นอย่างไร?

ทางคณะกรรมการฯเองก็ยืนยัน ยังไม่ตัดสิทธิ์กลุ่มซีพี แต่การพิจารณากระบวนการคัดเลือกก็ยังเดินหน้าต่อไปตามปกติ เพียงแต่ยังไม่มีการพิจารณาของกลุ่มซีพี ต้องรอการตัดสินของศาลปกครอง

เรื่องนี้วิพากษ์วิจารณ์กันหนัก แต่ก็มีมุมมองว่า การเปิดซองประมูลทั้ง 3 กลุ่ม ให้มีการเปรียบเทียบแข่งขันย่อมดีกว่า การตัดสิทธิ์เพราะส่งซองช้าไป 9 นาทีหรือไม่?

ขณะเดียวกันระหว่างรอการตัดสิน แว่วว่าในกลุ่มผู้ประมูลที่รู้เขารู้เราก็สงสัย ตั้งข้อสังเกตเกิดเป็นกระแสในโซเซียลว่า ในพันธมิตรของบางกลุ่มมีชื่อ นาริตะ โผล่มาทีหลังได้อย่างไรทั้งที่เวลาผ่านไปแล้วเกือบเดือน

การเดินเข้าสู่การตัดสินของศาล ถือว่า เป็นทางออกที่ดี แต่เมื่อกระบวนการคัดเลือกเดินหน้าไปตามปกติ อาจจะไม่รอผลการพิพากษาของศาลปกครอง กลุ่มซีพีย่อมมีความกังวลมากกว่าอีกสองกลุ่ม

ทว่า จู่ๆก็ปรากฎข่าวว่า เมื่อวันที่ 7มิ.ย.2562พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ลงนามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่ 1/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมี นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ทำหน้าที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ

เจตนาการตั้งคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ถูกมองว่า เปิดช่องให้แก่กลุ่มซีพีหรือไม่ คล้ายๆกับเป็นเทคนิคทางกฎหมายอีกทางที่จะยื้อเวลาการประมูลครั้งนี้ออกไปให้นานที่สุด ในการหาผู้ชนะ หรือไม่

ว่ากันว่า การมีคณะกรรมอนุกรรมการฯอุทธรณ์ชุดนี้ขึ้นมารับเรื่องของเครือซีพี สร้างความประหลาดใจและถูกนำไปเชื่อมโยงกับข่าวก่อนหน้านี้ในโลกออนไลน์ที่ว่า ผู้เข้าประมูลบางกลุ่มมีผู้หนุนหลังที่ใหญ่มาก

"บิ๊ก"ที่ว่าพยายามต่อสายตรงถึง
พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกหลายครั้งแต่ ผบ.ทร.ไม่ตอบสนองยังคงยึดมั่นในหลักการและเงื่อนไขการประมูลเคร่งครัดอย่างโปร่งใส และ ตรวจสอบได้

เพียงแต่อีอีซีที่เป็นผู้ดูแลพื้นที่และการพัฒนาก็มิอาจปฎิเสธได้ เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ไม่ได้กระทำไปเพื่อตอบสนอง “ผู้ใหญ่” ที่ต้องการให้สบายใจว่ามีอีกหนึ่งก๊อก ต่อความหวังในการอยู่ในเส้นทางการประมูลเท่านั้น

แต่เอาเข้าจริงๆไม่ได้มีอำนาจหรือตั้งขึ้นมาเพื่อจะพลิกการประมูลแต่อย่างใด

โดยการประชุมคณะอนุกรรมการฯครั้งแรกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ระบุว่า ทุกอย่างว่ากันไปตามปกติ การเปิดประมูลยังอยู่ที่การพิจารณาของศาลปกครอง

ส่วนข้อครหา ได้ขี้แจงว่า การการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง เป็นไปตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการกับทุกกรณีที่มีการขออุทธรณ์ ไม่ได้มีจะเอื้อผลประโยชน์ให้กับโครงการใดหรือกลุ่มภาคเอกชนใด

เมื่อเป็นเช่นนี้ หนทางความเป็นไปได้ของการประมูลจึงสองทาง

ทางหนึ่งซึ่งที่จับจากท่าทีของอีอีซีว่า "การประกาศผู้ชนะที่ผ่านการคัดเลือกอาจจะยังทำไม่ได้ จนกว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาออกมา"

อีกทางหนึ่ง คือ ไปต่อไม่รอแล้วนะเมื่อมีข่าวว่า สัปดาห์นี้ คณะกรรมการฯจะประขุมเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะ ซึ่งส่งมาจากกลุ่มBBS ที่มั่นใจว่ามีความหวังจะเป็นผู้ชนะ

ถ้าเป็นทางที่สอง คำพูดก็ต้องย้อนมากล่าว นั่นหมายถึง กระบวนการพิจารณาซองฝืนเดินหน้าต่อไปโดยไม่มีซองของซีพี และไม่รอผลการพิจารณาของศาล

อันนี้น่าเป็นห่วงและน่าเห็นใจคณะกรรมการพิจารณาซอง เพราะหากได้ผู้ชนะไปแล้ว แต่ในภายหลังหากศาลวินิจฉัยว่า ซีพียังมีสิทธิ์ ...ปัญหาก็จะตามมา อาจมีการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหาย และ ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อใด

ศึกการประมูลอู่ตะเภา 2.9 แสนล้านจึงเหมือนหนังชีวิตที่ต้องติดตามกันยาวๆ โอกาสของทุกกลุ่มตราบเท่าที่คณะกรรมการยังไม่ประกาศยังเท่าเทียมกัน

จากเป้าหมายและแรงจูงใจของทั้ง 3 กลุ่ม ซึ่งวัดค่าพลังได้เท่าๆกันที่ A++ต้องบอกว่า สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของทุกกลุ่มอยากเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสนามบินและเมืองการบินอู่ตะเภา

ชัดเจนว่าถ้าชนะประมูล=เสือติดปีกเพิ่มมูลค่าได้อีกไม่รู้เท่าไร

สุดท้าย ใครชนะ หวยออกที่ใคร ย่อมไม่ธรรมดา!.

ทว่า รบกันแบบนี้ใครประมูลได้คงมีการเจรจากันลงทุนเพิ่มอยู่ดี พันธมิตรทางธุรกิจก็คงถูกทาบทามหรือมีติดต่อขอเข้าร่วมภายหลัง ตัวอย่างเช่น ปตท.ที่พร้อมจะลงทุนร่วมเมื่อทุกอย่างชัดเจน ซึ่งเคยประกาศจะเข้าร่วมในส่วนโครงการรถไฟเชื่อม3สนามบิน และ โครงการนี้ก็มีความเป็นไปได้ เพราะฐานที่มั่นธุรกิจของปตท.ก็อยู่ในอีอีซีแถมเข้าประมูลท่าเรือมาบตาพุตและแหลมฉบังซึ่งก็ไม่น่าพลาด

เพราะโครงการพัฒนาอู่ตะเภาและเมืองการบินยังมีภาคต่อ ใหญ่เสียจนทำคนเดียวไม่มีทางพอแน่ แต่รบกันครั้งนี้ให้รู้ว่าใครเป็นหัวก่อน แล้วค่อยเข้าร่วมกัน Win-Win

ประเทศและประชาชนได้ นักลงทุนคุ้มค่า เกมนี้ต้องรอดูกันต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น